ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

หน้าต่างที่ ๖ / ๖.

               โพชฌงคบรรพ               
               [๑๔๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยอายตนะที่เป็นไปในภายในและภายนอกอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยโพชฌงค์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โพชฺฌงฺเคสุ ได้แก่ องค์แห่งบุคคลผู้ข้องอยู่ในการตรัสรู้.
               บทว่า สนฺตํ ได้แก่ มีอยู่โดยการกลับได้.
               บทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ได้แก่ องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้กล่าวคือสติ.

               ความหมายของสัมโพธิ               
               อธิบายว่า พระโยคาวจรย่อมรู้พร้อมสรรพในธรรมทั้ง ๗ นี้ จำเดิมแต่ปรารภวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง ๗ นั้นจึงชื่อว่าสัมโพชฌงค์.
               อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นตื่น คือลุกขึ้นจากกิเลสนิทรา หรือแทงตลอดสัจจะทั้งหลายด้วยธรรมสามัคคี ๗ ประการใดมีสติเป็นต้น ธรรมสามัคคีนั้นชื่อว่าสัมโพธิ. ชื่อว่าสัมโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งสัมโพธิธรรมหรือสัมโพธิธรรมสามัคคีนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สัมโพชฌงค์กล่าวคือสติ. แม้ในสัมโพชฌงค์ที่เหลือก็พึงทราบอรรถพจน์โดยนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อสนฺตํ ความว่า ไม่มีโดยการไม่กลับได้.
               ก็ในบททั้งหลายมีอาทิว่า ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               การเกิดของสติสัมโพชฌงค์               
               อันดับแรก สติสัมโพชฌงค์จะมีการเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ย่อมเป็นไปเพื่อให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความบริบูรณ์แห่งการเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               เมื่อสตินั้นมีอยู่นั่นเอง ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ โยนิโสมนสิการมีลักษณะดังกล่าวแล้วนั่นแหละ เมื่อพระโยคาวจรยังโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปในธรรมเหล่านั้นบ่อยครั้งเข้า สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๔ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ คือ
                         สติสัมปชัญญะ ๑
                         การเว้นจากบุคคลผู้มีสติหลงลืม ๑
                         การคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ๑
                         ความเป็นผู้น้อมไปหาสตินั้น ๑.
               จริงอยู่ สติสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นในที่ ๗ สถานมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เพราะมีสติสัมปชัญญะ เพราะเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม เช่นกับกาเก็บอาหารไว้ เพราะคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เช่นพระติสสทัตตเถระ และพระอภยเถระเป็นต้น และเพราะเป็นผู้มีจิตโอนเอียงโน้มน้อมไปเพื่อให้สติตั้งขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการนั่ง การนอนเป็นต้น. เธอย่อมรู้ชัดว่า ก็ความบริบูรณ์แห่งการเจริญสติสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดขึ้นแล้วด้วยเหตุ ๔ อย่างอย่างนี้ จะมีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

               การเกิดของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์               
               ส่วนธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีการเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ธรรมที่มีส่วนคล้ายคลึงกับกัณหธรรมและสุกกธรรมเหล่าใด การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เป็นไปเพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์บริบูรณ์บ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๗ ประการ คือ
                         การสอบถาม ๑
                         การทำวัตถุให้ผ่องใส ๑
                         การปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ๑
                         การเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม ๑
                         การคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญา ๑
                         การพิจารณาความประพฤติด้วยญาณอันลึกซึ้ง ๑
                         การน้อมใจไปในธัมมวิจยะนั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์. ความเป็นผู้มากด้วยการสอบถามเกี่ยวกับเนื้อความของขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค องค์ฌาน สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าปริปุจฉกตา ในบรรดาธรรม ๗ เหล่านั้น.
               การกระทำวัตถุทั้งภายในและภายนอกให้ผ่องใส ชื่อว่า วตฺถุวิสทกิริยา. เพราะว่า เมื่อใด ผม เล็บและขนของเธอยาวเกินไป หรือร่างกายของเธอมีโรค (โทส) มาก และแปดเปื้อนไปด้วยมลภาวะคือเหงื่อ. เมื่อนั้น วัตถุอันมีอยู่ในภายในใจจะไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์. แต่เมื่อใด จีวรของเธอเก่า เศร้าหมอง มีกลิ่น หรือเสนาสนะเปรอะเปื้อน เมื่อนั้น วัตถุที่มีในภายนอกจะไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น วัตถุภายใน เธอต้องกระทำให้ผ่องใสโดยการปลงผมเป็นต้น โดยการทำร่างกายให้เบาสบาย ด้วยการชำระทั้งข้างบนข้างล่างเป็นต้น (และ) โดยการอบ อาบ.
               วัตถุภายนอกต้องทำให้ผ่องใสด้วยการเย็บ การซัก การย้อมและการทำเครื่องใช้เป็นต้น. เพราะว่า แม้ญาณในจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นในเพราะวัตถุภายในและภายนอกนี้ที่ไม่ผ่องใส ก็จะไม่ผ่องใส (ไปด้วย) เหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตะเกียงไส้และน้ำมันที่ไม่สะอาดฉะนั้น.
               ส่วนแม้ญาณในจิตและเจตสิกทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในเพราะวัตถุภายในและภายนอกที่ผ่องใส ก็จะผ่องใส (ไปด้วย) เหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตะเกียงไส้และน้ำมันที่สะอาดฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การทำวัตถุให้ผ่องใส ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์.
               การทำอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความเสมอกัน ชื่อว่าการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน. เพราะถ้าว่าสัทธินทรีย์ของเธอมีพลัง อินทรีย์นอกนี้อ่อน. ต่อนั้นไป วิริยินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ประคองไว้ได้ สตินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ปรากฏได้ สมาธินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ ปัญญินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่พิจารณาเห็นได้. เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้สัทธินทรีย์นั้นเสื่อมไปโดยพิจารณาถึงสภาวธรรม หรือโดยไม่ใส่ใจถึงโดยทำนองที่เมื่อใส่ใจถึง สัทธินทรีย์จะมีพลัง.
               ก็ในข้อนี้ มีเรื่องของพระวักกลิเถระเป็นตัวอย่าง.
               แต่ถ้าวิริยินทรีย์มีพลัง ภายหลังสัทธินทรีย์จะไม่สามารถทำหน้าที่น้อมใจเชื่อได้เลย อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำหน้าที่ต่างประเภทนอกนี้ได้ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้วิริยินทรีย์นั้นเสื่อมไปด้วยการเจริญปัสสัทธิเป็นต้น.
               แม้ในข้อนั้นพึงแสดงเรื่องของพระโสณเถระให้เห็น.
               แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็พึงทราบอย่างนั้น. เมื่ออินทรีย์อย่างเดียวมีพลัง พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้ก็หมดสมรรถภาพในหน้าที่ของตน.
               แต่ในเรื่องนี้ ท่านสรรเสริญความที่ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน และสมาธิกับวิริยะเสมอกันไว้โดยพิเศษ. เพราะว่า ผู้มีศรัทธามีพลัง แต่มีปัญญาอ่อน จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย คือเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ผู้มีปัญญามีพลัง (แต่) มีศรัทธาหย่อน ย่อมจะกระเดียดไปทางข้างเกเร แก้ไขยาก เหมือนโรคดื้อยา ไม่ทำกุศลมีทานเป็นต้น โดยคิดเลยเถิดไปว่า กุศลจะมีได้ด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเท่านั้น ย่อมเกิดในนรก.
               (แต่) เพราะศรัทธาและปัญญาทั้งคู่เสมอกัน เขาจะเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทีเดียว. ส่วนสมาธิมีพลัง แต่วิริยะหย่อน โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) จะครอบงำ (เธอ) เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ ความเกียจคร้าน. (ถ้า) วิริยะมีพลัง แต่สมาธิหย่อน อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) จะครอบงำเธอ เพราะวิริยะเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ. ก็สมาธิที่ประกอบไปด้วยวิริยะจะไม่มีตกไปในโกสัชชะ ความเกียจคร้าน. วิริยะที่ประกอบไปด้วยสมาธิจะไม่มีตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ควรทำสมาธิและวิริยะทั้งคู่นั้นให้เสมอกัน. ด้วยว่า อัปปนาจะมีได้เพราะวิริยะและสมาธิทั้งคู่นั้นเสมอกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ศรัทธาถึงจะมีพลังก็ใช้ได้. เมื่อเชื่ออย่างนี้ กำหนดอยู่ จะถึงอัปปนา. ในสมาธิและปัญญาสำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ เอกัคคตา (สมาธิ) มีพลังย่อมใช้ได้. ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะบรรลุอัปปนา. สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาปัญญามีพลังย่อมใช้ได้. ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะถึงการแทงตลอดลักษณะ (พระไตรลักษณ์). ก็เพราะทั้งสองอย่างนั้นเสมอกัน อัปปนาก็จะมีทีเดียว. ส่วนสติมีพลังใช้ได้ในที่ทุกสถาน เพราะว่า สติจะรักษาจิตไว้ได้จากการตกไปสู่อุทธัจจะ ด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะและปัญญาซึ่งเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ จะรักษาจิตไว้ได้จากการตกไปสู่โกสัชชะ ด้วยสมาธิที่เป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ เพราะฉะนั้น สตินั้นจึงจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนในแกงทุกอย่าง ต้องเหยาะเกลือ และเหมือนในราชกิจทุกชนิด ต้องประสงค์ผู้สำเร็จราชการ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็แลสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะว่า จิตมีสติเป็นที่พึ่งอาศัย และสติมีการอารักขาเป็นเครื่องปรากฏ. เว้นสติเสียแล้ว การประคองและการข่มจิตจะมีไม่ได้.
               การเว้นให้ห่างไกลซึ่งบุคคลผู้มีปัญญาทราม คือผู้มีปัญญาไม่หยั่งลงในธรรมประเภทมีขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าการเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม. การคบหาบุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับที่กำหนดลักษณะ (ความเกิดความดับ) ๕๐ ถ้วน ชื่อว่าการคบหาบุคคลผู้มีปัญญา. การพิจารณาประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ้งที่เป็นไปแล้วในขันธ์ทั้งหลายอันลึกซึ้ง ชื่อว่าการพิจารณาความเป็นไปแห่งญาณอันลึกซึ้ง. ความที่จิตโน้มน้อมและโอนไปเพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ตั้งขึ้น ในอิริยาบถนั่ง และอิริยาบถนอนเป็นต้น ชื่อว่าความน้อมจิตไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น. เธอรู้ชัดว่า ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ จะมีการให้ภาวนาบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.

               การเกิดของวิริยสัมโพชฌงค์               
               วิริยสัมโพชฌงค์มีการเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในอารัพภธาตุเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) จะเป็นไปเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ คือ
                         การพิจารณาเห็นภัยในอบาย ๑
                         การเห็นอานิสงส์ ๑
                         การพิจารณาเห็นทางดำเนินไป ๑
                         การประพฤติอ่อนน้อมต่อบิณฑบาต ๑
                         การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยความเป็นทายาท ๑
                         การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่ของพระศาสดา ๑
                         การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑
                         การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยเป็นเพื่อนสพรหมจารี ๑
                         การเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน ๑
                         การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร ๑
                         ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่งวิริยสัมโพชฌงค์.
               ในธรรม ๑๑ ประการนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               เราไม่อาจเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น ในเวลาเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง จำเดิมแต่ต้องกรรมกรณ์ด้วยเครื่องจองจำครบ ๕ ประการในนรกทั้งหลายก็ดี ในเวลาถูกจับด้วยเครื่องจับสัตว์น้ำมีการทอดแหและดักไซเป็นต้น และในเวลาที่ลากเกวียนเป็นต้นไปของสัตว์ผู้ถูกบังคับด้วยการแทงด้วยปฏักและตีด้วยเรียวหนามเป็นต้นในกำเนิดเดียรัจฉานก็ดี ในเวลาอาดูรด้วยความหิว ความกระหายเป็นเวลาหลายพันปีบ้าง พุทธันดรหนึ่งบ้าง ในวิสัยแห่งเปรตก็ดี. ในเวลาเสวยทุกข์มีลมและแดดเป็นต้นด้วยอัตภาพที่มีเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น (สูง) ประมาณ ๖๐ ศอกและ ๘๐ ศอก ในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกะก็ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวลานี้นั่นแหละเป็นเวลาที่เธอจะบำเพ็ญความเพียร๑- แม้เมื่อเธอพิจารณาเห็นภัยในอบายดังที่พรรณนามานี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็จะเกิดขึ้น.
____________________________
๑- ปาฐะว่า กาโลติ เอวํ ฉบับพม่าเป็น กาโล วิริยกรณายาติ เอวํ แปลตามฉบับพม่า.

               วิริยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้น แม้แก่ผู้เห็นอานิสงส์ (ของความเพียร) อย่างนี้ว่า คนเกียจคร้านไม่อาจจะได้นวโลกุตตรธรรม คนปรารภความเพียรเท่านั้นจึงอาจได้ นี้เป็นอานิสงส์ของวิริยะ.
               วิริยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาเห็นทางดำเนินอย่างนี้ว่า เธอพึงเดินทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ได้เสด็จดำเนินไปและเดินไปแล้ว และทางนั้นคนเกียจคร้านไม่อาจจะดำเนินไปได้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความยำเกรงซึ่งบิณฑบาต เหมือนที่เกิดขึ้นแก่พระมหามิตตเถระอย่างนี้ว่า เหล่าชนผู้บำรุงท่านด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ใช่ญาติของท่านเลย ไม่ใช่ทาสกรรมกรของท่าน ทั้งเขาไม่ได้ให้บิณฑบาตเป็นต้นอันประณีตแก่ท่าน ด้วยคิดว่า พวกเราจักดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยท่าน โดยที่แท้เขาหวังว่า สักการะของตนจะมีผลมาก จึงพากันถวาย แม้พระศาสดาก็มิได้ทรงเห็นอย่างนี้ว่าภิกษุนี้ฉันปัจจัยเหล่านี้แล้วจักเป็นผู้มีกายมั่นคงมาก อยู่อย่างสบาย ได้ทรงอนุญาตไว้แก่ท่าน โดยที่แท้ทรงอนุญาตปัจจัยเหล่านั้น ด้วยทรงพระประสงค์ว่า ภิกษุนี้เมื่อบริโภคปัจจัยเหล่านี้จักบำเพ็ญสมณธรรมแล้วพ้นจากทุกข์ บัดนี้ เธอเกียจคร้านอยู่ จักไม่ยำเกรงบิณฑบาตนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าความยำเกรงบิณฑบาตจะมีแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเท่านั้น.

               เรื่องพระมหามิตตเถระ               
               ได้ทราบว่า พระเถระอาศัยอยู่ในที่ชื่อว่ากัสสกเลณะ และมหาอุบาสิกาคนหนึ่งในโคจรคามของพระเถระนั้น ได้ปฏิบัติพระเถระอย่างลูกชาย. วันหนึ่ง นางเมื่อจะเข้าป่าได้บอกลูกสาวว่า แม่หนู ข้าวเก่าอยู่ในที่โน้น น้ำนมอยู่ที่โน้น เนยใสอยู่ที่โน้น น้ำอ้อยอยู่ที่โน้น ในเวลาที่คุณมิตร พี่ชายของเจ้ามา เจ้าจงหุงข้าวถวายพร้อมกับนมเนยใสและน้ำอ้อย เจ้าก็ควรกินด้วย ส่วนแม่ เมื่อวานกินข้าวตังกับน้ำผักดอง.
               ลูกสาวถามว่า กลางวัน แม่จะกินอะไรเล่าแม่?
               เจ้าจงเอาข้าวป่น (ปลายข้าว) ต้มให้เป็นข้าวยาคูเปรี้ยว เติมผักดองลงไป ตั้งไว้เถิดลูก แม่บอก.
               พระเถระห่มจีวรแล้วนำบาตรออก ได้ยินเสียงนั้นแล้วกล่าวสอนตนว่า ได้ยินว่า มหาอุบาสิกาบริโภคข้าวตังกับน้ำผักดอง แม้ตอนกลางวันจักต้องบริโภคข้าวยาคูเติมน้ำผักดองอีก. แต่บอก (ให้หุง) ข้าวเก่าเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่เจ้า ก็แลนางไม่ได้ปรารถนานา สวน ภัตร ผ้า เพราะอาศัยเธอ แต่ปรารถนาสมบัติ ๓ จึงถวาย เจ้าจักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่เธอหรือว่าจักไม่สามารถ ก็แลบิณฑบาตนี้อันเจ้าผู้ยังมีราคะโทสะและโมหะ ไม่สามารถจะรับได้ จึงเก็บบาตรเข้าถุง ปล่อยเงื่อนงำไว้ กลับไปยังกัสสกเลณะตามเดิม เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้บนราวจีวร คิดว่า เรายังไม่บรรลุพระอรหัตแล้ว จักไม่ออกไป นั่งบำเพ็ญเพียรแล้ว. ท่านไม่ประมาท เป็นพระเก็บตัวอยู่อย่างไม่ประมาทตลอดกาลนาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตก่อนฉันนั่นเอง เป็นพระมหาขีณาสพ ยิ้มแย้มออกมาเหมือนดอกปทุมที่แย้มบานฉะนั้น
               เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำ (เห็นท่านแล้ว) เปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
                         ข้าแต่บุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
                         ข้าแต่ท่านผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
                         ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละอาสวะได้แล้ว
                         จึงเป็นผู้สมควรรับทักษิณา.
               ดังนี้แล้ว กล่าวว่า ท่านเจ้าขา พวกหญิงแก่ถวายภิกษาแด่พระอรหันต์เช่นท่านผู้เข้าไปรับบิณฑบาตแล้ว จักพ้นทุกข์ได้.
               พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูดูเวลา ทราบว่ายังเช้าอยู่ จึงอุ้มบาตร ครองจีวรเข้าไปยังหมู่บ้าน. ฝ่ายลูกสาวเตรียมภัตรแล้ว (ก็ออกมา) นั่งมองดูที่ประตู ด้วยหวังว่า หลวงพี่ของเราจักมาเดี๋ยวนี้ จักมาเดี๋ยวนี้.
               เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือน เธอก็รับบาตรไปใส่ข้าวก้อนเจือด้วยน้ำนมผสมด้วยเนยใสและน้ำอ้อยจนเต็มแล้ว นำมาประเคนที่มือ. พระเถระทำการอนุโมทนาว่า จงมีความสุขเถิด ดังนี้ หลีกไป. ฝ่ายลูกสาวนั้นก็ได้ยืนมองท่านเพลินอยู่. เพราะเวลานั้น ฉวีวรรณของพระเถระผุดผ่องยิ่งนัก อินทรีย์ทั้งหลายก็ผ่องใส ดวงหน้าก็แจ่มใสอย่างยิ่ง เหมือนผลตาลสุกที่เพิ่งหล่นจากขั้วฉะนั้น.
               มหาอุบาสิกากลับมาจากป่า ถามว่า แม่หนู หลวงพี่ของเจ้ามาแล้วหรือ?
               นางได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง. อุบาสิกาทราบว่า วันนี้ กิจบรรพชิตของพระลูกชายเรา ถึงที่สุดแล้ว จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย หลวงพี่ของเจ้ายังอภิรมย์ ไม่เบื่อหน่ายในพระพุทธศาสนา.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความยิ่งใหญ่แห่งมรดก แลมรดกของพระศาสดานี้ คืออริยทรัพย์ ๗ เป็นของใหญ่หลวง ผู้เกียจคร้านไม่สามารถจะรับมรดกนั้นไว้ได้ เหมือนอย่างว่า มารดาบิดาย่อมขจัดบุตรผู้เกเรให้ออกจากกองมรดก ด้วยสำคัญว่า เจ้านี่ไม่ใช่ลูกของเรา (อีกต่อไป) เพราะปัจจัย (คือการตัดขาด) ของพ่อแม่นั้น บุตรผู้เกเรนั้นย่อมไม่ได้รับมรดกฉันใด ถึงภิกษุผู้เกียจคร้านก็ฉันนั้น จะไม่ได้รับมรดก คืออริยทรัพย์นี้ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงจะได้รับ.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระศาสดาอย่างนี้ว่า ก็แลพระศาสดาของเจ้ายิ่งใหญ่นัก เพราะว่าในเวลาที่พระศาสดาทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี ในเวลาเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี ในเวลาตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณก็ดี ในเวลาแสดงพระธรรมจักรก็ดี ในเวลาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากเทวโลก และปลงพระชนมายุสังขารก็ดี หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหวแล้ว ควรแล้วหรือที่เจ้าบวชในศาสนาของพระศาสดาเห็นปานนี้ แล้วจะมาเกียจคร้านอยู่.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งชาติ (กำเนิด) อย่างนี้ว่า แม้ว่าโดยกำเนิด บัดนี้ เจ้าก็ไม่ใช่คนที่มีกำเนิดต่ำ เจ้ามาจากเชื้อสายของพระเจ้ามหาสมมต ไม่เจือปน (กับคนวรรณะอื่น) ทั้งได้เกิดในราชวงศ์ของพระเจ้าโอกากราช ได้เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราชกับพระนางมหามายาเทวี (และ) เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าพี่ราหุล อันธรรมดาว่าเจ้าได้เป็นชินบุตรเห็นปานนี้ จะมามัวเกียจคร้านอยู่ ไม่สมควรเลย.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีอย่างนี้ว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอสีติมหาสาวกแทงตลอดโลกุตตรธรรมด้วยความเพียรโดยแท้ เจ้าจักดำเนินไปตามทางของเพื่อนสพรหมจารีเหล่านั้น หรือจักไม่ดำเนินตาม.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้หลีกเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน สลัดทิ้งความเพียรทางกายและทางจิต ผู้เป็นเช่นกับงูเหลือม อึดอัดเพราะกินเหยื่อจนเต็มท้องแก่ภิกษุผู้คบหาบุคคลผู้มีตนตั้งมั่น ปรารภความเพียร ทั้งแก่ภิกษุผู้มีจิตน้อม โน้ม นำไป เพื่อให้เกิดความเพียรในอิริยาบถทั้งหลาย มีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.
               ก็เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งวิริยสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยพระอรหัตตมรรค.

               การเกิดขึ้นของปีติสัมโพชฌงค์               
               ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในธรรม นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือเป็นไปเพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.
               ในพระพุทธพจน์นั้น ปีตินั่นเอง ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจที่ให้ปีติสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้น ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ คือ
                         พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑
                         สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ และเทวตานุสสติ ๑
                         อุปสมานุสสติ ๑ การหลีกเว้นบุคคลผู้เป็นโทษ ๑
                         การคบหาบุคคลผู้เป็นคุณ ๑
                         การพิจารณาถึงพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑
                         ความเป็นผู้น้อมไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น ๑.
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์.
               อธิบายว่า สำหรับภิกษุผู้แม้หมั่นระลึกถึงพระพุทธคุณ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วร่างจนถึงอุปจารสมาธิ. สำหรับภิกษุผู้หมั่นระลึกถึงพระธรรมคุณ พระสังฆคุณก็ดี ผู้พิจารณาถึงจตุปาริสุทธิศีลที่รักษาไว้ไม่ขาด ตลอดกาลนานก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้.
               แม้สำหรับคฤหัสถ์ผู้พิจารณาถึงศีล ๑๐ ศีล ๕ ก็ดี ผู้ถวายโภชนะอันประณีตแก่ท่านผู้เป็นสพรหมจารี ในคราวเกิดทุพภิกขภัยเป็นต้น แล้วพิจารณาถึงการบริจาค (ของตน) ว่า เราได้ถวายอย่างนี้ก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นได้.
               อนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ผู้พิจารณาถึงทานที่ถวายแก่ท่านผู้มีศีลในการเช่นนี้ก็ดี ผู้พิจารณาเห็นว่าเทวดาประกอบด้วยคุณเหล่าใด จึงถึงความเป็นเทวดา คุณเหล่านั้นมีอยู่ในตนก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้นได้.
               สำหรับภิกษุผู้พิจารณาเห็นกิเลสที่ข่มได้แล้วด้วยสมาบัติว่า (กิเลสเหล่านี้) ไม่ฟุ้งขึ้นเป็นเวลา ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้างก็ดี ผู้หลีกเว้นบุคคลผู้เศร้าหมองอันปรากฏชัดด้วยการไม่กระทำโดยความเคารพ ในเมื่อได้เห็นพระเจดีย์ เห็นต้นโพธิ์ และเห็นพระเถระ ผู้ชื่อว่าเป็นเช่นกับฝุ่นละออง (ที่จับเกาะ) บนหลังคา เพราะไม่มีความเลื่อมใสและความรักในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ผู้คบหาบุคคลผู้ผ่องใส มีจิตอันอ่อนโยน มากด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ผู้พิจารณาถึงพระสูตรอันก่อให้เกิดความเลื่อมใส แสดงคุณของพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีจิตโน้มน้อม นำไปเพื่อให้เกิดปีติในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นได้.
               ก็เมื่อปีติสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งปีติสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

               การเกิดขึ้นของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์               
               ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ การทำในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในกายปัสสัทธินั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ คือ
                         การบริโภคโภชนะอันประณีต ๑
                         การเสพสุขตามฤดู ๑
                         การเสพสุขตามอิริยาบถ ๑
                         ความเป็นผู้มีมัชฌัตตัปปโยคะ ๑
                         การหลีกเว้นบุคคลผู้มีกายกระสับกระส่าย ๑
                         การคบหาบุคคลผู้มีกายสงบ ๑
                         ความเป็นผู้น้อมไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์.
               อธิบายว่า สำหรับภิกษุผู้บริโภคโภชนะที่เป็นสัปปายะ มีรสกลมกล่อมประณีตก็ดี ผู้เสพฤดูที่เป็นสัปปายะในบรรดาฤดูหนาวและร้อน และอิริยาบถที่เป็นสัปปายะในบรรดาอิริยาบถยืนเป็นต้นก็ดี ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้น.
               ส่วนภิกษุใดมีลักษณะนิสัยเป็นมหาบุรุษย่อมอดทนต่อฤดูและอิริยาบถทั้งปวงได้ทีเดียว คำนี้ท่านไม่ได้กล่าวหมายเอาภิกษุนั้น.
               สำหรับภิกษุใดมีฤดูและอิริยาบถที่เป็นสภาค (ที่เป็นสัปปายะ) และวิสภาค (อสัปปายะ) ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นนั่นแล ผู้แม้เว้นฤดูและอิริยาบถที่เป็นวิสภาคเสีย แล้วเสพฤดูและอิริยาบถที่เป็นสภาค.
               การพิจารณาเห็นว่า ตนและบุคคลอื่นมีกรรมเป็นของตน ท่านเรียกว่ามัชฌัตตัปปโยคะ ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะมัชฌัตตัปปโยคะนี้.
               สำหรับภิกษุผู้หลีกเว้นบุคคลผู้มีกายกระสับกระส่าย ผู้เที่ยวเบียดเบียนบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ผู้คบหาบุคคลผู้มีกายสงบ ผู้สำรวมมือและเท้าก็ดี ผู้มีจิตโน้ม น้อมนำไปเพื่อให้เกิดปัสสัทธิในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นก็ดี ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นได้.
               ก็เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (ของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ย่อมมีด้วยอรหัตตมรรค.

               การเกิดขึ้นของสมาธิสัมโพชฌงค์               
               สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ สมถนิมิตที่เป็นอัพยัคคนิมิต การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในสมถนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.
               ในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น สมถนิมิตเป็นสมถะด้วย ชื่อว่าเป็นอัพยัคคนิมิต เพราะหมายความว่าไม่ฟุ้งซ่านด้วย.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ คือ
                         การทำวัตถุให้สะอาดหมดจด ๑
                         การประคับประคองอินทรีย์ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ๑
                         ความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต ๑
                         การยกจิตในสมัย (ที่ควรยก) ๑
                         การข่มจิตในสมัย (ที่ควรข่ม) ๑
                         การทำจิตให้ร่าเริงในสมัย (ที่ควรทำจิตให้ร่าเริง) ๑
                         การเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัย (ที่ควรเพ่งดู) ๑
                         การหลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ๑
                         การคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ๑
                         การพิจารณาฌานและวิโมกข์ ๑
                         ความเป็นผู้น้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์.
               บรรดาธรรม ๑๑ ประการนั้น การทำวัตถุให้สะอาดหมดจด และการประคับประคองอินทรีย์ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว.
               ความเป็นผู้ฉลาดในการเรียน กสิณนิมิต ชื่อว่าความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต.
               บทว่า สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา (การประคองจิตใจในสมัยที่ควรประคอง).
               มีอธิบายว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติหดหู่ด้วยเหตุทั้งหลายมีการทำย่อหย่อนเกินไปเป็นต้น การยกจิตนั้นในสมัยนั้นด้วยการยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์ให้เกิดพร้อมกัน.
               บทว่า สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา (การข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม) ความว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติฟุ้งซ่านด้วยเหตุทั้งหลายมีการปรารภความเพียรมากเกินไปเป็นต้น การข่มจิตนั้นในสมัยนั้นด้วยการยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน.
               บทว่า สมเย สมฺปหํสนตา (การประคองจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรประคองจิตให้ร่าเริง) ความว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติไม่สดชื่น เพราะมีปัญญาและความเพียรน้อย หรือเพราะไม่ได้บรรลุถึงความสุขอันเกิดจากความเข้าไปสงบ ในสมัยนั้น พระโยคาวจรย่อมยังจิตให้สังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ (ที่ตั้งแห่งความสังเวช) ๘ อย่าง ที่ชื่อว่า สังเวควัตถุ ๘ ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิและมรณะ รวมเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน (ธรรมเป็น ๓) และให้เกิดความเลื่อมใสด้วยการหมั่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย. นี้เรียกว่าการประคองจิตให้ร่าเริง ในสมัย (ที่ควรประคองจิตให้ร่าเริง).
               ที่ชื่อว่าการเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัยที่ (ควรเพ่งดูจิตเฉยๆ) ได้แก่ ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความสดชื่น เป็นไปในอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ ดำเนินไปตามวิถีทางของสมถะเพราะอาศัยการปฏิบัติชอบ ในการยก การข่ม และการประคองจิตนั้นให้ร่าเริง เปรียบเหมือนนายสารถีไม่ต้องวุ่นวายในม้าที่วิ่งไปสม่ำเสมอ นี้เรียกว่าการเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัย (ที่ควรเพ่งดูเฉยๆ).
               ที่ชื่อว่าการหลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ได้แก่การหลีกเว้นให้ไกลซึ่งบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน.
               ที่ชื่อว่าการคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ได้แก่การซ่องเสพ การคบหา การเข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ.
               ที่ชื่อว่าความเป็นผู้น้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ได้แก่ความเป็นผู้มีจิตน้อม โน้มนำไปในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นแท้ทีเดียว.
               ก็เมื่อพระโยคาวจรปฏิบัติอยู่อย่างนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์นั้นย่อมเกิดขึ้น. ก็เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นอย่างนั้น พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (ของสมาธิสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

               การเกิดขึ้นของอุเบกขาสัมโพชฌงค์               
               อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายและการทำให้มากในธรรมนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.
               ในพระดำรัสนั้น อุเบกขานั่นแหละ ชื่อว่าธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๕ ประการ คือ
                         ความเป็นผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์ ๑
                         ความเป็นผู้วางตนเป็นกลางในสังขาร ๑
                         การหลีกเว้นบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์สังขาร ๑
                         การคบหาบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์สังขาร ๑
                         ความเป็นผู้น้อมไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               บรรดาธรรม ๕ ประการนั้น พระโยคาวจรย่อมยังความวางตนเป็นกลางในสัตว์ให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยการพิจารณาเห็นว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า เจ้ามาตามกรรมของตนแล้ว ก็จักไปตามกรรมของตน (เหมือนกัน) เจ้าจะไปผูกพันใครกันเล่า? และด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่สัตว์อย่างนี้ว่า ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สัตว์ไม่มีเลย เจ้านั้นจะไปผูกพันใครเล่า?
               ย่อมยังความวางตนเป็นกลางในสังขารให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยพิจารณาเห็นว่าไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า จีวรผืนนี้เข้าถึงการเปลี่ยนสีและความคร่ำคร่าตามลำดับ จักกลายเป็นผ้าเช็ดเท้า ถูกเขาเขี่ยทิ้งด้วยปลายไม้เท้า ก็ถ้าว่า จีวรนั้นจะพึงมีเจ้าของไซร้ เจ้าของก็จะไม่ยอมให้จีวรนั้นพินาศไปอย่างนั้น ๑ และด้วยการพิจารณาเห็นว่าเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ชั่วคราว ๑.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทำการประกอบความ แม้ในบาตรเป็นต้นเหมือนอย่างในจีวรฉะนั้น.
               ในคำว่า สตฺตสงฺขารเกฬายนปุคฺคลปริวชฺชนตา (การหลีกเว้นบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์และสังขาร) พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ ย่อมยึดถือปิยชนทั้งหลายมีบุตรและธิดาเป็นต้นของตน ว่าเป็นของเรา หรือเป็นบรรพชิตย่อมยึดถืออันเตวาสิกสัทธิวิหาริกและผู้ร่วมอุปัชฌาย์เป็นต้นของตน ว่าเป็นของเรา ลงมือทำการงานทั้งหลายมีการปลงผม เย็บผ้า ซักจีวร ย้อมจีวรและระบมบาตรเป็นต้นให้แก่บุคคลเหล่านั้นเองทีเดียว ไม่เห็นเพียงชั่วครู่ ก็เที่ยวตามหาให้จ้าละหวั่น ไม่ผิดอะไรกับเนื้อตื่นภัย (ร้องถามว่า) สามเณรรูปโน้นไปไหน? ภิกษุหนุ่มรูปโน้นไปไหน? แม้ถูกผู้อื่นขอว่า ขอท่านจงส่งภิกษุหนุ่ม หรือสามเณรรูปโน้นไปให้ ช่วยปลงผมเป็นต้นสักหน่อยเถิด ก็ไม่ยอมให้ไป ด้วยอ้างว่า แม้พวกเรายังไม่ยอมใช้เขาให้ทำงานของตนเลย พวกท่านยังจะมาเอาเขาไป (ใช้งาน) ให้ลำบาก บุคคลนี้ชื่อว่าผู้ผูกพันในสัตว์.
               ส่วนบุคคลใดยึดถือบาตร จีวร ถาดและไม้เท้าคนแก่เป็นต้น ว่าเป็นของเรา ไม่ยอมให้ผู้อื่นแม้แต่จะเอามือแตะ พอถูกขอยืมเข้า ก็พูดว่า พวกเราทั้งหลายรักสิ่งของนี้ ไม่ยอมใช้สอย พวกเราจักให้พวกท่านได้อย่างไร บุคคลนี้ชื่อว่าผู้ผูกพันอยู่ในสังขาร.
               ส่วนบุคคลใดเป็นผู้มีตนเป็นกลาง วางเฉยในวัตถุทั้ง ๒ นั้น บุคคลนี้ชื่อว่าผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร.
               อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้หลีกเว้นห่างไกลบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์และสังขารเห็นปานนี้บ้าง ผู้คบหาบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารบ้าง ผู้มีจิตโน้มน้อม นำไปเพื่อให้เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นบ้าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นอย่างนั้น พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรนั้นกำหนดโพชฌงค์ ๗ ของตน หรือของบุคคลอื่นอย่างนี้แล้ว คือกำหนดโพชฌงค์ของตนตามกาล หรือโพชฌงค์ของบุคคลอื่นตามกาล เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างนี้.
               ส่วนความเกิดขึ้นและความดับไปในโพชฌงคบรรพนี้ พึงทราบด้วยอำนาจการเกิดและการดับของสัมโพชฌงค์ทั้งหลาย.
               คำอื่นจากนี้มีนัยดังกล่าวมาแล้ว.

               อริยสัจในโพชฌงค์               
               ด้วยว่า ในโพชฌงคบรรพนี้ สติที่กำหนดโพชฌงค์เป็นทุกขสัจอย่างเดียว นักศึกษาพึงทราบทางแห่งธรรมเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดโพชฌงค์ เพราะการประกอบความดังว่ามานี้แล.
               คำที่เหลือเป็นเช่น (กับที่กล่าวมาแล้ว) นั้นเหมือนกัน.
               จบโพชฌงคบรรพ               

               สัจจบรรพ               
               ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนาด้วยอำนาจโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจสัจจะ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปุน จปรํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ ยถาถูตํ ปชานาติ ความว่า พระโยคาวจรย่อมทราบชัดธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ยกเว้นตัณหา ตามสภาพที่เป็นจริงว่านี้ทุกข์. ก็แลย่อมทราบชัดตัณหาเก่าที่เป็นตัวการให้ทุกข์นั้นแลเกิด คือตั้งขึ้น ตามสภาพเป็นจริงว่านี้ทุกขสมทัย. ย่อมทราบชัดพระนิพพาน คือความไม่เป็นไปของทุกข์และตัณหาทั้ง ๒ ตามสภาพที่เป็นจริงว่านี้ทุกขนิโรธ. ย่อมทราบชัดอริยมรรคอันเป็นตัวกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย กระทำนิโรธให้แจ้ง ตามสภาพที่เป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
               กถาว่าด้วยอริยสัจที่เหลือ ได้อธิบายให้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรกำหนดสัจจะ ๔ ของตนหรือของบุคคลอื่นแล้ว คือกำหนดสัจจะทั้ง ๔ ของตนตามกาล หรือของบุคคลอื่นตามกาล เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ส่วนความเกิดขึ้นและความดับไปในจตุสัจจบรรพนี้ พึงทราบด้วยอำนาจความเกิดและความดับของสัจจะทั้ง ๔ ตามสภาพที่เป็นจริง.
               คำอื่นจากนี้มีนัยดังกล่าวแล้วแล.

               อริยสัจในอริยสัจ               
               ด้วยว่า ในจตุสัจจบรรพนี้ สติเครื่องกำหนดสัจจะ๔ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบทางแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดสัจจะ เพราะการประกอบความดังว่ามานี้แล.
               คำที่เหลือเป็นเช่น (กับคำที่กล่าวมานี้แล้ว) นั่นแล.
               จบจตุสัจจบรรพ               

               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกัมมัฏฐานไว้ ๒๑ อย่าง
               คือ อานาปานะ (ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า) ๑ จตุอิริยาบถ (อิริยาบถ ๔) ๑ จตุสัมปชัญญะ (สัมปชัญญะ ๔) ๑ ทวัตติงสาการะ (อาการ ๓๒) ๑ จตุธาตุววัตถานะ (การกำหนดธาตุ ๔) ๑ นวสีวถิกา (ป่าช้า ๙) ๑ เวทนานุปัสสนา (การกำหนดนิวรณ์) ๑ จิตตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นจิต) ๑ นิวรณปริคคหะ (การกำหนดนิวรณ์) ๑ ขันธปริคคหะ (การกำหนดขันธ์) ๑ อายตนปริคคหะ (การกำหนดอายตนะ) ๑ โพชฌังคปริคคหะ (การกำหนดโพชฌงค์) ๑ สัจจปริคคหะ (การกำหนดสัจจะ) ๑.
               บรรดากัมมัฏฐาน ๒๑ อย่างนั้น อานาปานะ ๑ ทวัตติงสาการะ ๑ นวสีวถิกา (ป่าช้า ๙) ๑ รวมเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอัปปนา ๑๑.
               ฝ่ายพระมหาสิวเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกาย กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนวสีวถิกาไว้ ด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นโทษ. เพราะฉะนั้น ตามมติของพระมหาสิวเถระนั้น กัมมัฏฐาน ๒ (คือ อานาปานะและทวัตติงสาการะ) เท่านั้นเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอัปปนา กัมมัฏฐานที่เหลือเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอุปจาร.
               ถามว่า ก็ความยึดมั่น จะเกิดในกัมมัฏฐานเหล่านั้นทั้งหมดหรือไม่เกิด?
               ตอบว่า ไม่เกิด เพราะว่า ความยึดมั่นย่อมไม่เกิดในอิริยาบถ สัมปชัญญะ นิวรณ์และสัมโพชฌงค์ แต่จะเกิดในกัมมัฏฐานที่เหลือ.
               ฝ่ายพระมหาสิวเถระกล่าวว่า ย่อมเกิดความยึดมั่นในกัมมัฏฐานแม้เหล่านั้น (มีอิริยาบถเป็นต้น) เพราะว่า พระโยคาวจรนี้ย่อมกำหนดอย่างนี้ว่า อิริยาบถ ๔ ของเรามีหรือไม่มี สัมปชัญญะ ๔ ของเรามีหรือว่าไม่มี นิวรณ์ ๕ ของเรามีหรือว่าไม่มี โพชฌงค์ ๗ ของเรามีหรือว่าไม่มี เพราะฉะนั้น จึงเกิดความยึดมั่นในกัมมัฏฐานทุกข้อ.

               อานิสงส์การเจริญสติปัฏฐาน               
               บทว่า โย หิ โกจิ ภิกฺขเว ความว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม.
               บทว่า เอวํ ภเวยฺย ความว่า พึงเจริญ (สติปัฏฐาน) ไปตามลำดับแห่งภาวนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่แรก.
               บทว่า ปาฏิกงฺขํ แปลว่า พึงหวัง. อธิบายว่า มีแน่แท้.
               บทว่า อญฺญา ได้แก่ พระอรหัตตผล.
               บทว่า สติ วา อุปาทิเสเส ความว่า หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ คือยังไม่สิ้นไป.
               บทว่า อนาคามิตา ได้แก่ ความเป็นพระอนาคามี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความที่ศาสนธรรมเป็นเครื่องนำออกด้วยอำนาจ (ระยะเวลา) ๗ ปี อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นเข้าไปอีก จึงตรัสคำว่า ติฏฺฐนฺตุ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น และธรรมทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยอำนาจเวไนยบุคคลผู้ (มีสติปัญญา) ปานกลางเท่านั้น.
               ฝ่ายพระโบราณาจารย์หมายเอาบุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า จึงกล่าวไว้ว่า
                         บุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า ได้รับคำสอนในตอนเช้า
                         ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเย็น ได้รับคำสอน
                         ในตอนเย็น ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเช้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศาสนธรรมของเราตถาคตเป็นธรรมเครื่องนำออกอย่างนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงตบแต่งพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยยอดคือพระอรหัต ในฐานะแม้ ๒๑ อย่างแก่พระสาวก จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก ฯลฯ เพราะอาศัยคำที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ เราตถาคตจึงได้กล่าวสติปัฏฐานสูตรนี้ไว้.
               คำที่เหลือมีความหมายง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร               
               พระสูตรที่ ๑๐               
               และจบวรรคที่ ๑ ชื่อมูลปริยายวรรค               
               -----------------------------------------------------               

               ประมวลพระสูตรแห่งวรรคนี้ มีดังนี้.
               วรรคอันประเสริฐประดับด้วย
                         มูลปริยายสูตร
                         สัพพาสวสังวรสูตร
                         ธัมมทายาทสูตร
                         ภยเภรวสูตร
                         อนังคณสูตร
                         อากังเขยยสูตร
                         วัตถูปมสูตร
                         สัลเลขสูตร
                         สัมมาทิฏฐิสูตร และ
                         สติปัฏฐานสูตร
               จบ บริบูรณ์แล้ว.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :