พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


497 วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

ปัญหา จะเจริญอิทธิบาท ๔ อย่างไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยสมาธิที่เกิดแต่ฉันทะ เกิดแต่วิริยะ เกิดแต่จิตตะ เกิดแต่วิมังสา และความเพียรเด็ดเดี่ยวดังนี้ว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป จักไม่เข้มข้นเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความเข้าใจในเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น...เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใดกลางคืนก็ฉันนั้น.... เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่...
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ย่อหย่อนเกินไปคืออย่างไร ? ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้านเจือปนด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า... ย่อหย่อนเกินไป
“ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เจือปนด้วยความฟุ้งซ่าน นี้เรียกว่า เข้มข้นเกินไป
“ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความหดหู่ง่วงซึม เจือปนคลุกเคล้าด้วยความหดหู่ง่วงซึม นี้เรียกว่า...หดหู่ในภายใน...
“ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไปเข้ายึดกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า...ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
“ความเข้าใจในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว พิจารณาดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญาดีแล้ว ภิกษุชื่อว่ามีความเข้าใจในเบื้องหน้าและเบื้องหลัง...อย่างนี้...
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงไปมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ต่างๆ ... ภิกษุชื่อว่า มีความเข้าใจอยู่ว่าเบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น....อย่างนี้แล...
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิเกิดแต่ฉันทะ และความเพียรเด็ดเดี่ยวในกลางวัน ด้วยอาการ ด้วยลักษณะ ด้วยเครื่องหมายใด ในกลางคืน เธอย่อมเจริญอิทธิบาท ด้วยอาการ ด้วยลักษณะ ด้วยเครื่องหมายเหล่านั้น ภิกษุมีความเข้าใจอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น....อย่างนี้...
“ความสำคัญหมายในแสงสว่าง (อาโลกสัญญา) ของภิกษุในศาสนานี้เป็นอันเธอยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญหมายว่าเป็นเวลากลางวันเป็นอันตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุ...อบรมจิตให้สว่างไสวอยู่อย่างนี้แล....”


วิภังคสูตร มหา. สํ. (๑๑๗๙-๑๒๐๒ )
ตบ. ๑๙ : ๓๕๕-๓๖๐ ตท. ๑๙ : ๓๒๙-๓๓๓
ตอ. K.S. ๕ : ๒๔๘-๒๕๐

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :