พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


420 ทำบาปแล้วได้รับทุกข์ในปัจจุบันเสมอไปหรือ

ปัญหา สมณะพราหมณ์บางพวกมีความเห็น และแนวคำสอนว่าบุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จทุกคน ต้องได้เสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบันดังนี้ ทางพระพุทธศาสนามีทัศนะอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผมและหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตี ดุจดังพระราชา ชนทั้งหลายพูดถึงเขาว่า.... ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงได้รับการบำเรอในความใคร่ด้วยสตีดุจดังพระราชา? ชนทั้งหลายพูดถึง เขาว่า.... ชายคนนี้ ข่มข้าศึกของพระราชาแล้วฆ่ามันเสีย.....ข่มขี่ ลักเอาทรัพย์ของข้าศึกของพระราชา.... ประพฤติผิดในภารยาของข้าศึกของพระราชา... ทำพระราชาให้ทรงพระสรวลได้ด้วยการพูดเท็จ.... พระราชาทรงพอพระทัย ได้ทรงพระราชทานรางวัล ฉะนั้น ชายคนนี้จึงได้รับการบำเรอด้วยความใคร่กับสตรีดุจดังพระราชา
“ดูก่อนนายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ปรากฏว่า ถูกเขามัดแขนไพล่หลังอย่างหนาแน่นด้วยเชือกที่เหนียวแน่น ถูกโกนศีรษะแล้วถูกพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงดังสนั่น แล้วออกประตูทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเลียบทางด้านทักษิณ ของพระนคร ชนทั้งหลายได้พูดถึงเขาว่า.... ชายคนนี้ได้ทำอะไรไว้ จึงถูกเขาตัดศีรษะ เสียบทางด้านทักษิณแห่งพระนคร? ชนทั้งหลายกล่าวว่า....ชายคนนี้เป็นคู่เวรของพระราชา ได้ฆ่าชายคนหนึ่งกับหญิงคนหนึ่ง.... ได้ถือเอาของที่เขามิได้ให้จากบ้านบ้างจากป่าบ้าง อันนับเป็นโจรกรรม ประพฤติผิดในกลุสตรีในกุลธิดา.... ทำลายประโยชน์ของคฤหบดีบ้างของบุตรคฤหบดีบ้างด้วยการพูดเท็จ...ฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำกรรมการณ์เห็นปานนี้.... ดูก่อนนายคามณี ท่านจะเห็นความข้อนี้อย่างไรเหตุการณ์เช่นนี้ท่านเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินมาบ้างหรือไม่ ?”
นายคามณี “ข้าพระองค์ทั้งได้เห็น ทั้งได้ยิน ทั้งจักได้ยินฟังต่อไปอีกด้วยพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้า “ดูก่อนนายคามณี ในบรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้กล่าวว่า...บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤตผิดในกาม พูดเท็จทุกคนต้องเสวยทุกขโทมนัสในปัจจุบันดังนี้ เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ?
นายคามณี “พูดเท็จ พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า “ก็คนทุศีล มีธรรมเลวทรามนั้นเป็นคนปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติชอบเล่า ?”
นายคามณี “ปฏิบัติผิด พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้า “ก็พวกที่ปฏิบัติผิดนั้น มีความเห็นผิดหรือเห็นชอบเล่า?”
นายคามณี “มีความเห็นผิด พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้า “เป็นการสมควรละหรือที่จะเลื่อมใสศรัทธาในคนที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น ?”
นายคามณี “ไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า”

ปาฏลิยสูตร สฬา. สํ. (๖๕๒-๖๕๙)
ตบ. ๑๘ : ๔๒๒-๔๒๖ ตท. ๑๘ : ๓๗๓-๓๗๗
ตอ. K.S. ๔ : ๒๔๗-๒๕๐

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :