พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


370 วิธีบวชได้ตลอดชีวิต

ปัญหา เพราะเหตุไรพระภิกษุจึงลาสิกขา (สึก) ทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดชีวิตได้ ?

พระสารีบุตรตอบ “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผู้ที่ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร.... จักประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ติดต่อกันไปจนตลอดชีวิตนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
“ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผู้ที่ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร.... จักประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ติดต่อกันไปจนตลอดชีวิตนั้นเป็นฐานะที่จะเป็นไปได้
“.....ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลายอย่างไร.....? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่เอาใจใส่ต่อเครื่องหมายใหญ่ ไม่เอาใจใส่ต่อรายละเอียดปลีกย่อย เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์..... โสตินทรีย์....
ฆานินทรีย์... ชิวหินทรีย์...กายินทรีย์... มนินทรีย์.... ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือความเพ่งเล็งอยากได้และความขุ่นเคืองใจครอบงำ นี้ชื่อว่ารักษา สำรวมจักขุนทรีย์..... โสตินทรีย์....
ฆานินทรีย์... ชิวหินทรีย์...กายินทรีย์... มนินทรีย์....
“.....ภิกษุเป็นผู้ประมาณในโภชนะอย่างไร.....? ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง ย่อมฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อกำจัดความเจ็บปวดเสียดแทง เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดว่า ด้วยเหตุที่ฉันอาหารนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น เราจักมีกายที่ไปได้นานไม่มีโทษมีแต่ความสุขสำราญ.....
“.....ภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างไร.....? ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิตทั้งหลายด้วยการเดิน ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ในมัชฌิมกามแห่งราตรี นอนตะแคงขวาแบบราชสีห์ ช้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะกำหนดหมายไว้ในใจถึงความจำหมายว่าจะลุกขึ้น รับลุกขึ้นไปในปัจฉิมยามแห่งราตรี ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการเดิน ด้วยการนั่ง ดูก่อนภิกษุ ภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้แล....”

สารีปุตตสูตร สฬา. สํ. (๑๘๓-๑๘๖)
ตบ. ๑๘ : ๑๓๐-๑๓๒ ตท. ๑๘ : ๑๑๓-๑๑๖
ตอ. K.S. ๔ : ๖๓-๖๔

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :