พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


216 ทำไมพระจึงบวชไม่นาน

ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงมูลเหตุที่ทำให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาลาสิกขาบทไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ด้วยคิดว่าเราถูกชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ครอบงำ ชื่อว่าตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์เป็นเบื้องหน้า แม้ไฉน การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏเธอบวชอย่างนั้นแล้วเพื่อนสพรหมจารีตักเตือนสั่งสอนว่า ท่านพึงก้าวไปอย่างนั้น พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้ พึงเหลียวอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงทรงสังฆาฏิบาตรและจีวรอย่างนี้ เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่าเมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่จะตักเตือนสั่งสอนผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้ คราวลูกคราวหลานของเรา สำคัญเราว่าควรตักเตือนสั่งสอน เธอโกรธเคืองแค้นใจบอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือคลื่นนี้ เป็นชื่อแห่งความโกรธและความแค้นใจ นี้เรียกว่าภัยคือคลื่น
“....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชอย่างนั้นแล้ว เพื่อนสพรหมจารีตักเตือนสั่งสอนว่า สิ่งนี้เธอควรเคี้ยว สิ่งนี้ไม่ควรเคี้ยว สิ่งนี้ควรบริโภค สิ่งนี้ไม่ควรบริโภค สิ่งนี้ควรลิ้ม สิ่งนี้ไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้ควรดื่ม สิ่งนี้ไม่ควรดื่ม ของเป็นกัปปิยะเธอควรเคี้ยว ของเป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรเคี้ยว.... เธอควรเคี้ยวในกาล.... เธอไม่ควรเคี้ยวในวิกาล... เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาสิ่งใดก็เคี้ยวสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่เคี้ยวสิ่งนั้น.... ย่อมเคี้ยวสิ่งเป็นกัปปิยะบ้าง สิ่งเป็นอกัปปิยะบ้าง... ย่อมเคี้ยวในกาลบ้าง ในวิกาลบ้าง.... คฤหบดีผู้มีศรัทธา ย่อมถวายของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภค แม้ใด อันประณีตในกลางวัน ในเวลาวิกาลแก่เราทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ ย่อมกระทำเสมือนหนึ่งปิดปากแม้ในของเหล่านั้น เธอโกรธเคืองแค้นใจ บอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือจระเข้นี้แล เป็นชื่อแห่งความเป็นผู้เห็นแก่ท้องนี้เรียกว่าภัยคือจระเข้
“.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคฤหบดี ในบ้านหรือนิคมนั้น เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ เธอคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ก็บริโภคสมบัติในสกุลของเรามีอยู่พร้อม เราอาจเพื่อจะบริโภคโภคะทั้งหลายแลทำบุญได้ ถ้ากระไรเราพึงบอกคืนสิกขาลาเพศ แล้วบริโภคโภคะทั้งหลายและทำบุญเถิดเธอย่อมบอกคืนสิกขาลาเพศ ภิกษุนี้เรียกว่ากลัวต่อภัยคือน้ำวน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือน้ำวนนี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕ นี้เรียกภัยคือน้ำวน
“.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.... เธอบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม (หญิง) ในบ้านหรือนิคมนั้น นุ่งไม่เรียบร้อย หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะย่อมรบกวนจิตของเธอ เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิต อันราคะรบกวน ย่อมบอกคืนสิกขาลาเพศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าภัยคือปลาฉลามนี้เป็นชื่อของมาตุคาม นี้เรียกว่าภัยคือปลาฉลาม
“ภัย ๔ ประการนี้แล กุลบุตรบางคนในโลกนี้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วย ศรัทธา ในธรรมวินัยนี้จะพึงหวังได้”

ภยสูตร ที่ ๒ จ. อํ. (๑๒๒)
ตบ. ๒๑ : ๑๖๔ ตท. ๒๑ : ๑๔๕-๑๔๘
ตอ. G.S. II : ๑๒๗-๑๒๙

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :