พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


161 ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน

ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้น การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่า
เราปรารถนาชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขสบายเกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น....... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต......
“บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงขอนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...
“บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรยาของเรา ข้อนั้นไม่ถึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะถึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และพรรณนาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร....
“บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปดแลกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการพูดปด....
“บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกการกล่าวส่อเสียด และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด
“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงร้องเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า พึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าวว่าจากหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ....
“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ และพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์
“สาวกของพระอริยเจ้านั้น ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยศีล ทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแหงตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญอันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำได้เป็นไปเพื่อสมาธิ
“เมื่อใด สาวกของพระอริยเจ้า ประกอบด้วยสัทธรรมความชอบเหล่านี้แล้ว... ก็จะพึงพยากรณ์ได้ด้วยตนเองว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว เรามีกำเนิดเดียรัจฉานเปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงต้นกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ไม่มีทางที่จะตกไปในอบายทั้งสี่อย่างแน่นอน เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า” ดังนี้

เวฬุทวารสูตร ม. สํ. (๑๔๕๙-๑๔๖๗)
ตบ. ๑๙ : ๔๔๓-๔๔๖ ตท. ๑๙ : ๔๐๓-๔๐๖
ตอ. K.S. V : ๓๐๘-๓๑๑


<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :