พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


076 การตำหนิและการยกยอ

ปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักในการตำหนิ หรือให้การยกยอบุคคลอื่นไว้อย่างไรหรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้การยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม? คือเมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด กระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง
“เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด ไม่กระทำการประกอบเนืองๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบดังนี้ ชื่อว่ายกยอคนพวกหนึ่ง
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้? คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดกระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส...... ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์...... กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์..... ดังนี้ เชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
“ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่กระทำการตามประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กาม..... ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนใจ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ..... อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้.....”

อรณวิภังคสูตร อุ. ม. (๖๕๗-๖๕๘)
ตบ. ๑๔ : ๔๒๕-๔๒๗ ตท. ๑๔ : ๓๖๒-๓๖๔
ตอ. MLS. III : ๒๗๙-๒๘๐


<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :