ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
สังฆเภทขันธกะ
เรื่องมหานามศากยะและอนุรุทธศากยะ
[๓๓๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ของพวกเจ้ามัลละ ครั้งนั้น พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงออกผนวชตามพระผู้มี พระภาค ผู้ทรงผนวชแล้ว ฯ [๓๓๘] สมัยนั้น มหานามศากยะ และอนุรุทธศากยะทั้ง ๒ เป็นพี่น้อง กัน อนุรุทธศากยะ เป็นสุขุมาลชาติ เธอมีปราสาท ๓ หลัง คือ สำหรับ อยู่ในฤดูหนาวหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูร้อนหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูฝนหลัง ๑ เธออันเหล่าสตรีไม่มีบุรุษเจือปนบำเรออยู่ด้วยดนตรีตลอด ๔ เดือน ในปราสาท สำหรับฤดูฝน ไม่ลงมาภายใต้ปราสาทเลย ครั้งนั้น มหานามศากยะคิดว่า บัดนี้ พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงต่างออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่ สกุลของเราไม่มีใครออกบวชเลย ถ้ากระไร เราหรืออนุรุทธะพึงบวช จึงเข้าไป หาอนุรุทธศากยะกล่าวว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ พวกศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงต่าง ออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่สกุลของเราไม่มีใครออกบวช เลย ถ้าเช่นนั้น น้องจงบวช หรือพี่จักบวช อ. ฉันเป็นสุขุมาลชาติ ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่จงบวชเถิด ม. พ่ออนุรุทธะ น้องจงมา พี่จะพร่ำสอนเรื่องการครองเรือนแก่น้อง ผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไข น้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอน หญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนต้องทำอย่างนี้ๆ แหละต่อไปอีก อ. การงานไม่หมดสิ้น ที่สุดของการงานไม่ปรากฏ เมื่อไรการงานจัก หมดสิ้น เมื่อไรที่สุดของการงานจักปรากฏ เมื่อไรเราจักขวนขวายน้อย เพียบ- *พร้อมบำเรอด้วยเบญจกามคุณ ม. พ่ออนุรุทธะ การงานไม่หมดสิ้นแน่ ที่สุดของการงาน ก็ไม่ปรากฏ เมื่อการงานยังไม่สิ้น มารดา บิดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้ตายไปแล้ว อ. ถ้าเช่นนั้น พี่จงเข้าใจเรื่องการอยู่ครองเรือนเองเถิด ฉันจักออก บวชละ ฯ [๓๓๙] ครั้งนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปหามารดา แล้วกล่าวว่า ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด เมื่ออนุรุทธศากยะกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาได้กล่าวว่า พ่ออนุรุทธะ เจ้าทั้งสอง เป็นลูกที่รักที่พึงใจ ไม่เป็นที่เกลียดชังของแม่ แม้ด้วยการตายของเจ้าทั้งหลาย แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก ไฉนแม่จะยอมอนุญาตให้เจ้าทั้งสองผู้ยังมีชีวิตออก บวชเล่า แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม อนุรุทธศากยะได้กล่าวกะมารดาว่า ท่านแม่ หม่อมฉัน ปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด ฯ
เรื่องพระเจ้าภัททิยศากยะ
[๓๔๐] สมัยนั้น พระเจ้าภัททิยศากยะได้ครองสมบัติเป็นราชาของพวก ศากยะ และพระองค์เป็นพระสหายของอนุรุทธศากยะ ครั้งนั้น มารดาของอนุรุทธ ศากยะคิดว่า พระเจ้าภัททิยศากยะนี้ครองสมบัติเป็นราชาของพวกศากยะ เป็น พระสหายของอนุรุทธศากยะ พระองค์จักไม่อาจทรงผนวช จึงได้กล่าวกะอนุรุทธ ศากยะว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะทรงผนวช เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้า ก็ออกบวชเถิด ลำดับนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยศากยะ แล้วได้ ทูลว่า สหาย บรรพชาของเราเนื่องด้วยท่าน ภ. สหาย ถ้าเช่นนั้น บรรพชาของท่านจะเนื่องด้วยเราหรือไม่เนื่องก็ ตาม นั่นช่างเถอะ ท่านจงบวชตามสบายของท่านเถิด อ. มาเถิด สหาย เราทั้งสองจักออกบวชด้วยกัน ภ. สหาย เราไม่สามารถจักออกบวช สิ่งอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ ท่านได้ เราจักทำสิ่งนั้นให้แก่ท่าน ท่านจงบวชเองเถิด อ. สหาย มารดาได้พูดกะเราอย่างนี้ว่า พ่ออนุรุทธ ถ้าพระเจ้าภัททิย ศากยะทรงผนวช เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าก็ออกบวชเถิดสหาย ก็ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ ว่า สหาย ถ้าบรรพชาของท่านจะเนื่องด้วยเราหรือไม่เนื่องก็ตาม นั้นช่างเถอะ ท่านจงบวชตามความสบายของท่าน มาเถิด สหาย เราทั้งสองจะออกบวชด้วยกัน ก็สมัยนั้น คนทั้งหลายเป็นผู้พูดจริง ปฏิญาณจริง จึงพระเจ้าภัททิย ศากยะได้ตรัสกะอนุรุทธะว่า จงรออยู่สัก ๗ ปีเถิด สหายต่อล่วง ๗ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจักออกบวชด้วยกัน อ. ๗ ปีนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๗ ปี ภ. จงรออยู่สัก ๖ ปีเถิดสหาย ... จงรออยู่สัก ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ต่อล่วง ๑ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจักออกบวชด้วยกัน อ. ๑ ปีก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๑ ปี ภ. จงรออยู่สัก ๗ เดือนเถิด สหาย ต่อล่วง ๗ เดือนแล้ว เราทั้งสอง จักออกบวชด้วยกัน อ. ๗ เดือนก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๗ เดือน ภ. จงรออยู่สัก ๖ เดือนเถิด สหาย ... จงรออยู่สัก ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน ต่อล่วงกึ่งเดือนแล้ว เราทั้งสองจักออก บวชด้วยกัน อ. กึ่งเดือนก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึงกึ่งเดือน ภ. จงรออยู่สัก ๗ วันเถิด สหาย พอเราได้มอบหมายราชสมบัติแก่ พวกลูกๆ และพี่น้อง อ. ๗ วันไม่นานนักดอก สหาย เราจักรอ ฯ
เรื่องคน ๗ คน
[๓๔๑] ครั้งนั้น พระเจ้าภัททิยศากยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และเทวทัต เป็น ๗ ทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา เสด็จออกโดยเสนา ๔ เหล่า เหมือนเสด็จประภาสราชอุทยาน โดยเสนา ๔ เหล่า ในกาลก่อน ฉะนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์เสด็จไปไกลแล้วสั่งเสนาให้กลับ แล้วย่างเข้าพรมแดน ทรง เปลื้องเครื่องประดับ เอาภูษาห่อแล้ว ได้กล่าวกะอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาว่า เชิญ พนาย อุบาลี กลับเถิด ทรัพย์เท่านี้พอเลี้ยงชีพท่านได้ละ ฯ [๓๔๒] ครั้งนั้น อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเมื่อจะกลับ คิดว่าเจ้าศากยะ ทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมาร ทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า เขาแก้ห่อเครื่องประดับเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้ เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเข้าไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงรับสั่งถามว่า พนาย อุบาลีกลับมาทำไม อ. พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าจะกลับมา ณ ที่นี้ คิดว่าเจ้า- *ศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้ พระกุมารทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉน เราจักบวช ไม่ได้เล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นแก้ห่อเครื่องประดับแล้ว เอาเครื่องประดับนั้นแขวน ไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้ว จึงกลับมาจากที่นั้น พระพุทธเจ้าข้า ศ. พนาย อุบาลี ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านกลับไป เจ้าศากยะ ทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าท่านเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมาร ทั้งหลายออกบวช ฯ [๓๔๓] ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น พาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วถวายบังคมประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ อุบาลีผู้เป็น ภูษามาลานี้เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็น ภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ [๓๔๔] ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะได้ทำให้ แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ท่านพระอนุรุทธะได้ยังทิพยจักษุให้เกิด ท่านพระอานนท์ได้ทำให้ แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระเทวทัตได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน ฯ
เรื่องพระภัททิยะ
[๓๔๕] ครั้งนั้น ท่านพระภัททิยะ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่ เรือนว่างก็ดี ย่อมเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ครั้งนั้น ภิกษุมาก รูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูล ว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง ก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระ ภัททิยะ ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย หรือมิฉะนั้นก็ระลึกถึงสุข ในราชสมบัติครั้งก่อนนั้นเอง ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึง เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุ เธอจงมา จงเรียกภัททิยะภิกษุมาตามคำของเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ ครั้นแล้วได้กล่าว ว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน ฯ [๓๔๖] ท่านพระภัททิยะรับคำของภิกษุนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ- *ภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระภัททิยะนั่งเรียบร้อย แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภัททิยะ ข่าวว่า เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคน ไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ จริงหรือ ภ. จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า พ. ดูกรภัททิยะ ก็เธอพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไร ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ ภ. พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ ภายในพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย แม้ภายนอกพระราชวังก็ได้จัด การรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง แม้ภายในพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย แม้ ภายนอกพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างแข็งแรง แม้ภายในชนบทก็ได้จัดการ รักษาไว้เรียบร้อย แม้ภายนอกชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างมั่นคง พระพุทธ- *เจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้านั้น แม้เป็นผู้อันเขาทั้งหลายรักษาคุ้มครองแล้ว อย่างนี้ก็ ยังกลัว ยังหวั่น ยังหวาด ยังสะดุ้งอยู่ แต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปสู่ป่าก็ดี ไป สู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ลำพังผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวั่น ไม่หวาด ไม่ สะดุ้ง ขวนขวายน้อย มีขนอันราบเรียบ เป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจ มฤคอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์นี้แล ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่ โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ... จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานใน เวลานั้น ว่าดังนี้:-
อุทานคาถา
[๓๔๗] บุคคลใดไม่มีความโกรธภายในจิต และก้าวล่วงภพน้อยภพ ใหญ่มีประการเป็นอันมากเสียได้ เทวดาทั้งหลายไม่อาจเล็งเห็น วาระจิตของบุคคลนั้น ผู้ปลอดภัย มีสุข ไม่มีโศก ฯ [๓๔๘] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอนุปิยนิคม ตามพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางเมืองโกสัมพี เสด็จจาริกโดยลำดับถึงเมืองโกสัมพีแล้ว ทราบ ว่า พระองค์ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพีนั้น ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๓๐๗๐-๓๒๑๗ หน้าที่ ๑๒๘-๑๓๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=3070&Z=3217&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=47              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=337              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [337-348] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=337&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=8764              The Pali Tipitaka in Roman :- [337-348] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=7&item=337&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=8764              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :