ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครพาราณสี มีกุลบุตร ชื่อ ยส เป็นบุตรเศรษฐี สุขุมาลชาติ. ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่ง เป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน. ยสกุลบุตรนั้นรับบำเรอด้วยพวกดนตรี ไม่มี บุรุษเจือปน ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ลงมาเบื้องล่างปราสาท. ค่ำวันหนึ่ง เมื่อ ยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ได้นอนหลับก่อน ส่วนพวกบริวารชนนอน หลับภายหลัง. ประทีปน้ำมันตามสว่างอยู่ตลอดคืน. คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน ได้เห็น บริวารชนของตนกำลังนอนหลับ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีน้ำลายไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ. ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ ในความเบื่อหน่าย จึงยสกุลบุตรเปล่งอุทานว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ แล้วสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย. ลำดับนั้น ยสกุลบุตร เดินตรงไปทางประตูพระนคร. พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ อย่าได้ทำอันตราย แก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตร. ทีนั้น ยสกุลบุตรได้เดินตรงไปทางป่า อิสิปตนมฤคทายวัน. [๒๖] ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะ ที่ปูลาดไว้. ขณะนั้น ยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านผู้เจริญ ที่นี่ วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ. ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยส นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ. ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่า ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ดังนี้ แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระองค์ ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่ง นั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น.
บิดาของยสกุลบุตรตามหา
[๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาของยสกุลบุตรขึ้นไปยังปราสาท ไม่เห็นยสกุลบุตร จึงเข้า ไปหาเศรษฐีผู้คหบดี แล้วได้ถามว่า ท่านคหบดีเจ้าข้า พ่อยสกุลบุตรของท่านหายไปไหน? ฝ่าย เศรษฐีผู้คหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตัวเองไปหาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน. ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ ครั้นแล้วจึงตามไปสู่ที่นั้น. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็น เศรษฐีผู้คหบดีมาแต่ไกล. ครั้นแล้วทรงพระดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขารให้ เศรษฐีคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่นี้ ไม่เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ แล้วทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ดังพระพุทธดำริ. ครั้งนั้น เศรษฐีผู้คหบดีได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นยสกุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคหบดี ถ้าอย่างนั้น เชิญนั่ง บางทีท่านนั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะพึงได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้. ครั้งนั้น เศรษฐีผู้คหบดีร่าเริงบันเทิงใจว่า ได้ยินว่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จักเห็น ยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้ จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. เมื่อ เศรษฐีผู้คหบดีนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และ อานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า เศรษฐีผู้คหบดี มีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตา เห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่เศรษฐีผู้คหบดี ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจาก มลทิน ควรได้รับน้ำย้อม ฉะนั้น. ครั้นเศรษฐีผู้คหบดี ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็น ผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของ ที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ก็เศรษฐีผู้คหบดีนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้างพระรัตนตรัย เป็นคนแรกในโลก.
ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตต์
[๒๘] คราวเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บิดาของยสกุลบุตร จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว ก็พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิตของ ยสกุลบุตร ผู้พิจารณาเห็นภูมิธรรมตามที่ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว พ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขารนั้นได้แล้ว. พระองค์ก็ได้ทรงคลายอิทธาภิสังขาร นั้น. เศรษฐีผู้คหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นแล้วได้พูดกะยสกุลบุตรว่า พ่อยส มารดา ของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด. ครั้งนั้น ยสกุลบุตรได้ชำเลืองดู พระผู้มีพระภาคๆ ได้ตรัสแก่เศรษฐีผู้คหบดีว่า ดูกรคหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมด้วยญาณทัสสนะเพียงเสขภูมิเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตามที่ ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว จิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดูกรคหบดี ยสกุลบุตรควรหรือเพื่อจะกลับเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน?. เศรษฐีผู้คหบดีกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า ดูกรคหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมด้วยญาณทัสสนะ เพียงเสขภูมิเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตามที่ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว จิตพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดูกรคหบดี ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน. เศรษฐีผู้คหบดีกราบทูลว่า การที่จิตของยสกุลบุตรพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น นั้น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตร เป็นปัจฉาสมณะ จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเสวยในวันนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ. ครั้นเศรษฐีผู้คหบดีทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาค แล้ว ได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป. กาลเมื่อเศรษฐีผู้คหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าว ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น สมัยนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๗ องค์.
ยสบรรพชา จบ
-----------------------------------------------------
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรมีท่าน พระยสเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเศรษฐีผู้คหบดี ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย. ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัส อนุปุพพิกถาแก่นางทั้งสอง คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงทราบว่า นางทั้งสองมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใส แล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่นางทั้งสอง ณ ที่นั่ง นั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. มารดาและภรรยาเก่า ของท่านพระยสได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลง แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรง ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ หม่อมฉันทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำหม่อมฉัน ทั้งสองว่า เป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ก็มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส ได้เป็นอุบาสิกา กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็น ชุดแรกในโลก. ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและ ท่านพระยส ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จนให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดา บิดา และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป.
สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ เป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว. ครั้นทราบดังนั้นแล้ว ได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้วนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส อภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงท่านพระยสพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของ ข้าพระองค์ ๔ คนนี้ ชื่อ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ เป็นบุตรของสกุลเศรษฐี สืบๆ มาในพระนครพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้า พระองค์เหล่านี้. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความ ออกจากกาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจาก นิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควร ได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรม แจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาค ว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าว ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระ ผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. สมัยนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์.
สหายคฤหัสถ์ ๔ คน ของพระยสออกบรรพชา จบ.
-----------------------------------------------------
สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา
[๓๑] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน เป็นบุตรของ สกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว. ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วนั้น คงไม่ ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงท่านพระยสพาสหายคฤหัสถ์จำนวน ๕๐ คนนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์เหล่านี้เป็นชาว ชนบท เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหาย ของข้าพระองค์เหล่านี้. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจาก กาม. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยก ขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลง แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจง ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. ต่อมาพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น ด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระ ผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา จิตของภิกษุเหล่านั้นพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. สมัยนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์.
สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา จบ.
-----------------------------------------------------
เรื่องพ้นจากบ่วง
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้ว จากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.
เรื่องพ้นจากบ่วง จบ.
เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีใจบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ท่านเป็นผู้อันบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ผูกพันไว้แล้ว ท่าน เป็นผู้อันเครื่องผูกใหญ่รัดรึงแล้ว แน่ะสมณะ ท่านจักไม่พ้นเรา. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่ เป็นของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกใหญ่ ดูกรมาร ท่านถูกเรากำจัดเสียแล้ว. มารกราบทูลว่า บ่วงนี้เที่ยวไปได้ในอากาศ เป็นของมีในจิต สัญจรอยู่ เราจักผูกรัด ท่านด้วยบ่วงนั้น แน่ะสมณะ ท่านจักไม่พ้นเรา. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดูกรมาร ท่านถูกเรากำจัดเสียแล้ว. ครั้งนั้น มารผู้มีใจบาปรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้แล้ว มีทุกข์ เสียใจ หายไปในที่นั้นเอง.
เรื่องมาร จบ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๕๗๖-๗๗๗ หน้าที่ ๒๔-๓๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=576&Z=777&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=13              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=25              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [25-33] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=25&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=396              The Pali Tipitaka in Roman :- [25-33] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=25&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=396              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic7 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:7.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.7.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :