ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๖๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์ เรื่องหนึ่ง โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าจัณฑกาลีถูก ตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว โกรธ ขัดใจ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ ... และภยาคติ ดังนี้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีจัณฑกาลี ถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุไฉนภิกษุณีจัณฑกาลี ถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้วจึงได้โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้เล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๙. ๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้วโกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว อย่า โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ แม่เจ้าต่างหาก ถึงฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง โมหาคติบ้าง ภยาคติบ้าง และภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณี ทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้น หากเธอถูกสวดสมนุภาส กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี หากเธอ ไม่สละ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อ สวดสมนุภาสครบสามจบ.
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๗๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ในบทว่า อธิกรณ์เรื่องหนึ่งนั้น ได้แก่อธิกรณ์ ๔ คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑. ที่ชื่อว่า ถูกตัดสินให้แพ้ ได้แก่ ที่เขาเรียกกันว่าผู้แพ้คดี. สองบทว่า โกรธ ขัดใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ. บทว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และ ภยาคติ ดังนี้. [๗๑] บทว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีรูปที่กล่าวอย่างนั้น. บทว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีพวกอื่น คือ พวกที่ได้เห็น ได้ทราบเหล่านั้น พึงว่ากล่าวว่า แม่เจ้าถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว อย่าได้โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ แม่เจ้าต่างหากถึงฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง โมหาคติบ้าง ภยาคติบ้าง ดังนี้ พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม. หากนางสละได้ การสละได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีทั้งหลายทราบข่าวแล้วไม่ว่า กล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงคุมตัวมาแม้สู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วว่ากล่าวว่า แม่เจ้าถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว อย่าได้โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณี ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ แม่เจ้าต่างหากถึงฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง โมหาคติบ้าง ภยาคติบ้าง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม. หากภิกษุณีนั้นสละได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ.
วิธีสวดสมนุภาส
[๗๒] ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ดูกรภิกษุทั้งหลายก็แลสมนุภาสนั้น พึงสวดอย่างนี้ อันภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
กรรมวาจาสมนุภาส
แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีมีชื่อนี้ ผู้นี้ถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์ เรื่องหนึ่งแล้ว โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีสงฆ์ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ นางยังไม่สละวัตถุนั้น. หากความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวด สมนุภาสภิกษุณีมีชื่อนี้ เพื่อสละวัตถุนั้น นี่เป็นญัตติ. แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีมีชื่อนี้ ผู้นี้ถูกตัดสินให้แพ้ ในอธิกรณ์ เรื่องหนึ่งแล้ว โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และ ภยาคติดังนี้ นางยังไม่สละวัตถุนั้น. สงฆ์สวดสมนุภาสภิกษุณีมีชื่อนี้ เพื่อสละวัตถุนั้น. การ สวดสมนุภาสภิกษุณีมีชื่อนี้ เพื่อสละวัตถุนั้น ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงพูด. ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม ... ภิกษุณีมีชื่อนี้ อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อสละวัตถุนั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง. ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. [๗๓] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรม- *วาจาครั้งสุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติ ถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ. [๗๔] บทว่า แม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน. บทว่า มีอันให้ต้องอาบัติ ในเมื่อสวดสมนุภาสครบสามจบ คือ ต้องอาบัติเพราะสวด- *สมนุภาสจบครั้งที่สาม ไม่ใช่ต้องพร้อมกับการล่วงวัตถุ. ที่ชื่อว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ถูกขับออกจากหมู่. บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ... แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า สังฆา- *ทิเสส.
บทภาชนีย์
ติกะสังฆาทิเสส
[๗๕] กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
ติกะทุกกฏ
กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๗๖] ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑ ยอมสละ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐๐๖-๑๐๙๖ หน้าที่ ๔๒-๔๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=3&A=1006&Z=1096&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=3&siri=12              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=69              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [69-76] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=3&item=69&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11092              The Pali Tipitaka in Roman :- [69-76] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=3&item=69&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11092              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.069 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-ss11/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-ss11/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :