ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
เถรีคาถา จัตตาฬีสนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในจัตตฬีสนิบาต
อิสิทาสีเถรีคาถา
คาถาสุภาษิตของนางอิสิทาสี-โพธีเถรี
[๔๗๓] ภิกษุณี ๒ รูปผู้ทรงคุณธรรม เป็นกุลธิดาในศากยสกุล ในนคร อันมีชื่อว่าโกสุม คือ เมืองปาตลีบุตร เดี๋ยวนี้ จักเป็นมณฑลแห่ง แผ่นดิน ในภิกษุณี ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งชื่ออิสิทาสี รูปหนึ่งชื่อโพธี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีในการเพ่งฌาน เป็นพหูสูต เป็นผู้ กำจัดกิเลสได้แล้ว ภิกษุณีทั้ง ๒ รูปนั้น ไปเที่ยวบิณฑบาตกลับมา แล้ว ทำภัตกิจเสร็จล้างบาตรแล้ว นั่งพักสบายอยู่ในที่อันสงัด ได้ ไต่ถามและแก้ไขต่อกันอย่างนี้. พระโพธีถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าอิสิทาสี พระแม่เจ้าเป็นที่น่าเลื่อมใสอยู่ แม้วัยของท่าน ก็ยังไม่เสื่อม ก็พระแม่เจ้าเห็นโทษอะไรจึงประกอบเนกขัมมะ? พระอิสิทาสีนั้นเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมในฐานะแห่งบุญ เมื่อถูก ถามอย่างนี้ จึงได้กล่าวตอบอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าโพธี ขอพระ- แม่เจ้าจงฟังตามเรื่องที่ฉันบวชแล้ว. ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนา โยมบิดาของดิฉันอยู่ในบุรีอันประเสริฐชื่อว่าอุชเชนี เป็นเศรษฐีผู้สำรวม แล้วด้วยศีล ดิฉันเป็นธิดาผู้เดียวของท่าน ซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจและเป็น ผู้อันท่านเอ็นดู ในเวลาที่ดิฉันเจริญวัยแล้ว เศรษฐีผู้มีรัตนะมาก เป็นสกุล อันอุดมคนหนึ่งในเมืองสาเกต มาขอดิฉันเป็นสะใภ้ โยมบิดาได้ให้ ดิฉันเป็นสะใภ้ของเศรษฐีนั้น ดิฉันได้ไปสู่สำนักมารดาและบิดาของสามี ทำการนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า ไหว้เท้าท่านทั้ง ๒ ทุกเช้าเย็น ท่านทั้ง ๒ สอนดิฉันอย่างไร ดิฉันก็ทำอย่างนั้น พี่หญิงน้องหญิง พี่ชายน้องชายหรือ บ่าวไพร่ของสามีดิฉัน ไม่ว่าคนใด ดิฉันเห็นแล้วแม้ครั้งเดียว ก็มีความ ยำเกรงให้อาสนะ ดิฉันต้อนรับด้วยข้าวน้ำและของเคี้ยว ซึ่งเป็นของที่ เขาจัดหาไว้ที่เรือน และสิ่งใดควรแก่ผู้ใด ก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น ดิฉัน ลุกขึ้นแต่เช้าเข้าไปยังเรือนสามี ล้างมือล้างเท้าที่ธรณีประตูแล้ว ประนม มือเข้าไปกราบสามี จัดหาหวี เครื่องผัดหน้า ยาหยอดตา แว่นส่องหน้า มาตบแต่งสามีเสียเองเหมือนสาวใช้ ดิฉันหุงข้าวต้มแกงเอง ล้างภาชนะ เอง มารดาบำรุงบำเรอบุตรน้อยคนเดียว ฉันใด ดิฉันก็บำเรอสามี ฉันนั้น ดิฉันมีความจงรักภักดี มีวัตรอันยอดยิ่ง ทำการงานอันหญิงพึง ทำทุกอย่าง ไม่มีความถือเนื้อถือตัว ขยันไม่เกียจคร้าน สมบูรณ์ด้วย ศีลอย่างนี้ สามีก็ยังโกรธ สามีของดิฉันพูดกะมารดาของเขาว่า ฉันจัก ลาไป จักไม่อยู่ร่วมกับนางอิสิทาสี ฉันไม่ควรอยู่ร่วมในเรือนหลัง เดียวกับนางอิสิทาสี. มารดาบิดาของเขาจึงห้ามว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย นางอิสิทาสีเป็นบัณฑิตฉลาดรอบคอบ ขยันไม่เกียจคร้าน ไฉนจึงไม่ชอบใจเจ้าล่ะลูก. นางอิสิทาสีไม่ได้เบียดเบียนอะไรฉันเลย แต่ว่าฉันไม่อยากอยู่ร่วมกับ นางอิสิทาสีเท่านั้น ฉันไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ ฉันจักลาบิดามารดา ไปละ. และบิดาของสามีของดิฉันฟังคำของเขาแล้ว ได้ถามดิฉันว่า เจ้าทำผิด อย่างไร สามีของเจ้าจักละทิ้งเจ้าเช่นนี้ เจ้าจงบอกสิ่งที่เจ้าได้ทำตามจริงเถิด. ดิฉันตอบว่า ดิฉันไม่ได้ทำผิดอะไร ทั้งไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนอะไร และไม่ได้ ดูหมิ่นอะไร ดิฉันจักอาจกล่าวคำชั่วหยาบอะไร อันเป็นเหตุให้สามี โกรธดิฉันได้เล่า มารดาและบิดาแห่งสามีเสียใจ ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว เหมือนกัน แต่หวังจักรักษาบุตรไว้ จึงได้นำดิฉันกลับไปส่งคืนให้โยม บิดาของฉันที่เรือน ดิฉันเป็นหญิงหม้ายมีรูปสวยเที่ยวไป ภายหลัง โยมบิดาของดิฉัน ได้ยกดิฉันให้แก่กุลบุตรผู้มีทรัพย์สมบัติน้อยกว่าสามี เก่าครึ่งหนึ่ง โดยสินสอดครึ่งหนึ่ง ต่อกับสินสอดที่เศรษฐีคนเก่าได้มั่น ดิฉัน ดิฉันอยู่ที่เรือนของสามีคนที่สองนั้นเดือนหนึ่ง ต่อมาเขาได้ขับ ดิฉันผู้บำรุงบำเรออยู่ดังนางทาสี ประพฤติตัวดีมีศีลจากเรือนเขาอีก โยมบิดาของดิฉันบอกกะบุรุษคนหนึ่งเป็นผู้ฝึกจิตแห่งชนเหล่าอื่น มีกาย และวาจาอันฝึกแล้ว เที่ยวขอทานอยู่ว่า เจ้าจงทิ้งผ้าขี้ริ้วและหม้อเสีย จงมาเป็นลูกเขยเราเถิด เขาอยู่กับดิฉันได้ครึ่งเดือน ก็บอกโยมบิดาของ ดิฉันว่า ท่านจงให้ผ้าขี้ริ้ว หม้อ และกระเบื้องขอทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปเที่ยวขอทานอีก ลำดับนั้น โยมบิดามารดากับพวกหมู่ญาติ ของดิฉันทั้งหมดพากันถามคนขอทานนั้นว่า สิ่งใดที่เจ้าทำไม่สำเร็จใน ที่นี้ ขอเจ้าจงรีบบอกเร็วๆ เขาจักทำสิ่งนั้นๆ ให้เจ้า เมื่อโยมบิดา มารดาและพวกญาติของดิฉันพูดอย่างนี้แล้ว คนขอทานนั้นจึงตอบว่า เราอาจทำตัวของเราให้เป็นไทยโดยแท้ แต่ข้าพเจ้าไม่ต้องการอยู่ร่วม เรือนหลังเดียวกับนางอิสิทาสีได้ โยมบิดาของดิฉันปล่อยให้เขาไป ดิฉันผู้เดียวคิดว่า จักลาโยมมารดา โยมบิดาไปตาย หรือไปบวชดีกว่า ลำดับนั้น พระแม่เจ้า ชินทัตตาผู้ทรงไว้ซึ่งวินัย เป็นพหูสูต มีศีล สมบูรณ์ มาเที่ยวบิณฑบาตที่สกุลโยมบิดาของดิฉัน ดิฉันเห็นท่าน จึงลุกไปจัดอาสนะของดิฉันถวายท่าน และเมื่อท่านนั่งเสร็จแล้ว ดิฉัน กราบเท้าและถวายโภชนาหารแก่ท่าน ดิฉันเลี้ยงดูท่านด้วย ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และสิ่งที่จัดไว้ในเรือนให้อิ่มหนำแล้ว จึงกราบเรียนว่า พระแม่เจ้า ดิฉันปรารถนาจะบวช ลำดับนั้น โยมบิดาบอกกะดิฉันว่า ลูกเอ๋ย ขอเจ้าจงอยู่ประพฤติธรรมในเรือนนี้เถิด และเจ้าจงเลี้ยงดู สมณะพราหมณ์ทั้งหลายด้วยข้าวน้ำเถิด ครั้งนั้น ดิฉันประนมอัญชลี ร้องไห้ พูดกะโยมบิดาว่า ขอคุณพ่อจงอนุญาตลูกเถิด ลูกจักยังกรรมที่ ทำมาแล้วให้พินาศ โยมบิดาพูดกะดิฉันว่า ของเจ้าจงบรรลุโพธิญาณ แลธรรมอันประเสริฐ และจงได้นิพพานที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่า สัตว์ทรงทำให้แจ้งแล้ว ดิฉันไหว้โยมบิดามารดาและพวกญาติทั้งปวง แล้วออกบวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ ดิฉันระลึกชาติหนหลัง ของตนได้ ๗ ชาติ วิบากแห่งกรรมอันชั่วช้าใด ซึ่งเป็นผลให้เกิดความ ไม่พอใจแก่สามี ดิฉันจะบอกวิบากแห่งกรรมนั้นแก่ท่าน ขอท่านจง มีใจเป็นหนึ่งแน่นอนฟังวิบากแห่งกรรมนั้นเถิด เมื่อก่อนดิฉันเป็นนาย ช่างทอง มีทรัพย์มาก อยู่ในนครเอรกกัจฉะ เป็นคนมัวเมาเพราะความ มัวเมาด้วยความเป็นหนุ่ม ได้คบชู้ภรรยาของบุคคลอื่น ดิฉันจุติจากชาติ นั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดกาลนาน ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว เกิดในท้องแห่งนางวานร พอคลอดได้ ๗ วัน วานรใหญ่ที่เป็นนายฝูง ก็กัดอวัยวะสืบพันธุ์ของดิฉันเสีย นี่เป็นผลกรรมของดิฉันที่ได้คบชู้ ภรรยาของชายอื่น ดิฉันทำกาละจุติจากกำเนิดวานรนั้นแล้ว เกิดในท้อง นางแพะตาบอดทั้งขาก็ฉิ่งในแคว้นสินธู อยู่มาได้ ๑๒ ปี ก็ถูกเด็กตัด อวัยวะสืบพันธุ์เสีย ต่อมาเป็นโรคถูกหมู่หนอนฟอนที่อวัยวะสืบพันธุ์ นี่ เพราะโทษที่ดิฉันคบชู้ภรรยาของชายอื่น ดิฉันจุติจากกำเนิดแพะนั้นแล้ว เกิดในท้องแม่โคของพ่อค้าคนหนึ่ง เป็นลูกโคมีขนแดงเหมือนสีครั่ง เมื่อล่วงได้ ๑๒ เดือน ก็ถูกตอน ดิฉันถูกเขาใช้เทียมไถและเข็นเกวียน ต่อมาเป็นโคตาบอด เป็นโคกระจอก เป็นโคขี้โรค นี่เพราะโทษที่ดิฉัน คบชู้ภรรยาของชายอื่น ดิฉันจุติจากกำเนิดโคนั้นแล้ว เกิดในเรือนของ นางทาสีในถนน จะเป็นหญิงก็ไม่ใช่ เป็นชายก็ไม่เชิง นี่เพราะโทษที่ ดิฉันคบชู้กับภรรยาของชายอื่น ดิฉันมีอายุได้ ๓๐ ปี ก็ถึงแก่กรรม แล้วมาเกิดเป็นลูกหญิงในสกุลช่างสานเสื่อ เป็นสกุลขัดสน มีทรัพย์ น้อย ถูกแต่เจ้าหนี้รุมทวงอยู่เป็นนิตย์ ต่อมาเมื่อหนี้เจริญมากขึ้น พ่อค้าเกวียนคนหนึ่งมาริบทรัพย์สมบัติแล้ว ฉุดเอาดิฉันลงจากเรือนแห่ง สกุล ภายหลังที่ดิฉันมีอายุครบ ๑๖ ปี บุตรของพ่อค้าเกวียนนั้นมีชื่อว่า คิริทาส ได้เห็นดิฉันเป็นสาวกำลังรุ่น มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ขอไปเป็นภรรยา แต่นายคิริทาสนั้นมีภรรยาอื่นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนมีศีลทรงคุณสมบัติ ทั้งมียศ รักใคร่สามีเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันบังคับนายคิริทาสให้ขับไล่ ภรรยาของตน สามีทุกคนได้หย่าร้างดิฉันผู้บำรุงอยู่เหมือนนางทาสีไป นี่ผลกรรมที่ขับไล่ภรรยาของชายอื่น และการบังคับสามีให้ขับไล่ภรรยา ตน ที่สุดแห่งบาปกรรมนั้นดิฉันทำเสร็จแล้ว.
จบ จัตตาฬีสนิบาต
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๑๐๐๒๙-๑๐๑๓๗ หน้าที่ ๔๓๕-๔๓๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=10029&Z=10137&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=473              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=473              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [473] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=473&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7004              The Pali Tipitaka in Roman :- [473] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=473&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7004              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thig15.1/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :