ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ ปริวาร
การกรานกฐิน
[๑๑๔๓] ถามว่า บุคคลพวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น? บุคคลพวกไหนกรานกฐินขึ้น? ตอบว่า บุคคล ๓ พวกกรานกฐินไม่ขึ้น บุคคล ๓ พวกกรานกฐินขึ้น. ถ. บุคคล ๓ พวกเหล่าไหน กรานกฐินไม่ขึ้น. ต. บุคคลอยู่นอกสีมาอนุโมทนา ๑ เมื่ออนุโมทนาไม่เปล่งวาจา ๑ เมื่อเปล่งวาจาไม่ ให้ผู้อื่นรู้ ๑ บุคคล ๓ พวกเหล่านี้ กรานกฐินไม่ขึ้น. ถ. บุคคล ๓ พวกเหล่าไหน กรานกฐินขึ้น? ต. บุคคลอยู่ในสีมาอนุโมทนา ๑ เมื่ออนุโมทนาเปล่งวาจา ๑ เมื่อเปล่งวาจาให้ผู้อื่น รู้ ๑ บุคคล ๓ พวกนี้กรานกฐินขึ้น.
วัตถุวิบัติเป็นต้น
[๑๑๔๔] ถามว่า การกรานกฐินเท่าไร ไม่ขึ้น? การกรานกฐินเท่าไร ขึ้น? ตอบว่า การกรานกฐิน ๓ อย่าง ไม่ขึ้น การกรานกฐิน ๓ อย่าง ขึ้น. ถ. การกรานกฐิน ๓ อย่างเหล่าไหน ไม่ขึ้น? ต. ผ้าเป็นของวิบัติโดยวัตถุ ๑ วิบัติโดยกาล ๑ วิบัติโดยการกระทำ ๑ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ไม่ขึ้น. ถ. การกรานกฐิน ๓ อย่างเหล่าไหน ขึ้น? ต. ผ้าเป็นของถึงพร้อมด้วยวัตถุ ๑ ถึงพร้อมด้วยกาล ๑ ถึงพร้อมด้วยการกระทำ ๑ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ขึ้น.
ควรรู้กฐินเป็นต้น
[๑๑๔๕] พึงรู้จักกฐิน พึงรู้จักการกรานกฐิน พึงรู้จักเดือนที่กรานกฐิน พึงรู้จักวิบัติ แห่งการกรานกฐิน พึงรู้จักสมบัติแห่งการกรานกฐิน พึงรู้จักการทำนิมิต พึงรู้จักการพูดเลียบ เคียง พึงรู้จักผ้าที่ยืมเขามา พึงรู้จักผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน พึงรู้จักผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์.
วิภาคคำว่าพึงรู้จักกฐินเป็นต้น
[๑๑๔๖] คำว่า พึงรู้จักกฐิน นั้น ความว่า การรวบรวม การประชุมชื่อ การตั้งชื่อ การเรียกชื่อ ภาษา พยัญชนะ การกล่าวธรรมเหล่านั้น รวมเรียกว่า กฐิน. คำว่า พึงรู้จักเดือนที่กรานกฐิน คือ พึงรู้จักเดือนท้ายแห่งฤดูฝน. คำว่า พึงรู้จักวิบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักวิบัติแห่งการกรานกฐิน ด้วย อาการ ๒๔ อย่าง. คำว่า พึงรู้จักสมบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักสมบัติแห่งการกรานกฐิน ด้วยอาการ ๑๗ อย่าง. คำว่า พึงรู้จักการทำนิมิต คือ ทำนิมิตว่า จักกรานกฐิน ด้วยผ้าผืนนี้. คำว่า พึงรู้จักการพูดเลียบเคียง คือ ทำการพูดเลียบเคียงด้วยคิดว่า จักยังผ้ากฐิน ให้เกิด ด้วยการพูดเลียบเคียงนี้. คำว่า พึงรู้จักผ้าที่ยืมเขามา คือรู้จักผ้าที่ทายกมิได้หยิบยกให้. คำว่า พึงรู้จักผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน คือ พึงรู้จักผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ อย่าง คือ ทำค้างคืน ๑ เก็บไว้ค้างคืน ๑. คำว่า พึงรู้จักผ้าเป็นนิสสัคคีย์ นั้น คือ เมื่อภิกษุกำลังทำผ้าอยู่อรุณขึ้นมา.
อธิบายการกรานกฐิน
[๑๑๔๗] คำว่า พึงรู้จักการกรานกฐิน นั้น มีอธิบายว่า ถ้าผ้ากฐินบังเกิดแก่สงฆ์ สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร? ภิกษุผู้กรานพึงปฏิบัติอย่างไร? ภิกษุผู้อนุโมทนาพึงปฏิบัติอย่างไร? สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้กรานกฐินด้วยญัตติทุติยกรรม. ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงซักขยำให้สะอาดแล้ว กะ ตัด เย็บ ย้อม ทำพินทุกัปปะ แล้วกรานกฐินในวันนั้นเทียว ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิ พึงถอนผ้าสังฆาฏิผืนเก่า เสีย พึงอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้, ถ้า ประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์ พึงถอนผ้าอุตราสงค์ผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอุตราสงค์ ผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์ผืนนี้, ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้า อันตรวาสก พึงถอนผ้าอันตรวาสกผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้. อันภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลาย อนุโมทนาเถิด. ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายอนุโมทนา. ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคอง อัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่าน ทั้งหลายอนุโมทนาเถิด. ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายอนุโมทนา. ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคอง อัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่าน อนุโมทนาเถิด. ภิกษุผู้อนุโมทนานั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มี อายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าอนุโมทนา.
กรานกฐิน
[๑๑๔๘] ถามว่า สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน หรือ? ตอบว่า สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน. ถ้า สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน ได้ชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้กราน กฐิน คณะไม่ได้กรานกฐิน แต่บุคคลกรานกฐิน. ถ. สงฆ์สวดปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ หรือ? ต. สงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์, สงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์ ได้ชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้สวดปาติโมกข์ คณะไม่ได้สวดปาติโมกข์ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์. หรือ เพราะ ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เพราะความสามัคคีแห่งคณะ เพราะบุคคลสวด ได้ชื่อว่า สงฆ์สวด ปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ ฉันใด, สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะ หาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน, เพราะสงฆ์อนุโมทนา เพราะคณะอนุโมทนา เพราะ บุคคลกราน ได้ชื่อว่า สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน ฉันนั้นเหมือนกัน.
แก้ปัญหาปลิโพธในมาติกา ๘
[๑๑๔๙] ท่านมหากัสสปถามว่า การเดาะกฐินมีการหลีกไปเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้า ขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? ท่านพระอุบาลีตอบว่า การเดาะกฐินมีการหลีกไปเป็นที่สุด อัน พระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุ หลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในจีวรขาดก่อน, ปลิโพธ ในอาวาสขาดพร้อมกับภิกษุนั้นไปนอกสีมา. [๑๑๕๐] ม. การเดาะกฐินมีการทำเสร็จเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่าน ถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีการทำเสร็จเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจัก ทิ้งอาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน เมื่อจีวรสำเร็จ ปลิโพธใน จีวรขาด. [๑๑๕๑] ม. การเดาะกฐินมีการตกลงใจเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีการตกลงใจเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจัก ทิ้งอาวาสนี้เสียละ ปลิโพธ ๒ อย่าง ขาดพร้อมกัน. [๑๑๕๒] ม. การเดาะกฐินมีความเสียเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีการเสียเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่า พันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจักทิ้ง อาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน ปลิโพธในจีวรขาดเมื่อจีวร เสียหาย. [๑๑๕๓] ม. การเดาะกฐินมีการฟังเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน อุ. การเดาะกฐินมีการฟังเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจักทิ้ง อาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในจีวรขาดก่อน ปลิโพธในอาวาสขาดพร้อมกับ การฟังของภิกษุนั้น. [๑๑๕๔] ม. การเดาะกฐินมีความสิ้นหวังเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่าน ถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีความสิ้นหวังเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจัก ทิ้งอาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน ปลิโพธในจีวรขาดต่อเมื่อ สิ้นความหวังในจีวรแล้ว. [๑๑๕๕] ม. การเดาะกฐินมีการก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้าผู้ เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่าน ถึง การเดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีการก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุด อันพระสุคตเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วย คิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสียละ ปลิโพธในจีวรขาดก่อน ปลิโพธในอาวาส ขาดเมื่อภิกษุนั้นไปนอกสีมา. [๑๑๕๖] ม. การเดาะกฐินมีการเดาะพร้อมกัน อันพระสุคตเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการ เดาะกฐินนั่น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน? อุ. การเดาะกฐินมีการเดาะพร้อมกัน อันพระสุคตเจ้าผู้เป็นเผ่า- พันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่าจักทิ้ง อาวาสนี้เสียละ ปลิโพธทั้ง ๒ ขาดพร้อมกัน.
การเดาะกฐิน
[๑๑๕๗] ถามว่า การเดาะกฐินที่สงฆ์เป็นใหญ่มีเท่าไร? การเดาะกฐินที่บุคคลเป็น ใหญ่มีเท่าไร? การเดาะกฐินที่สงฆ์ไม่เป็นใหญ่บุคคลไม่เป็นใหญ่มีเท่าไร? ตอบว่า การเดาะกฐินที่สงฆ์เป็นใหญ่มีอย่างเดียว คือ การเดาะในระหว่าง. การเดาะกฐินที่บุคคลเป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือ เดาะกฐินมีการหลีกไปเป็นที่สุด ๑ มี การทำเสร็จเป็นที่สุด ๑ มีความตกลงใจเป็นที่สุด ๑ มีความก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุด ๑. การเดาะกฐินที่สงฆ์ไม่เป็นใหญ่ ที่บุคคลไม่เป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือการเดาะกฐินมี การเสียเป็นที่สุด ๑ มีการฟังเป็นที่สุด ๑ มีความสิ้นหวังเป็นที่สุด ๑ มีการเดาะกฐินพร้อมกัน ๑.
การเดาะกฐินภายในสีมาเป็นต้น
[๑๑๕๘] ถามว่า การเดาะกฐินเท่าไร เดาะภายในสีมา? การเดาะกฐินเท่าไร เดาะ ภายนอกสีมา? การเดาะกฐินเท่าไร บางอย่างเดาะภายในสีมา บางอย่างเดาะภายนอกสีมา? ตอบว่า การเดาะกฐิน ๒ อย่าง เดาะภายในสีมา คือ เดาะในระหว่าง ๑ เดาะ พร้อมกัน ๑. การเดาะกฐิน ๓ อย่าง เดาะภายนอกสีมา คือ การเดาะกฐินมีความหลีกไปเป็นที่สุด ๑ มีความฟังเป็นที่สุด ๑ มีความก้าวล่วงสีมาเป็นที่สุด ๑. การเดาะกฐิน ๔ อย่าง บางอย่างเดาะภายในสีมา บางอย่างเดาะภายนอกสีมา คือ การเดาะกฐินมีการทำเสร็จเป็นที่สุด ๑ มีความตกลงใจเป็นที่สุด ๑ มีความเสียเป็นที่สุด ๑ มี ความสิ้นหวังเป็นที่สุด ๑.
การเดาะกฐินเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น
[๑๑๕๙] ถามว่า การเดาะกฐินเท่าไร เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน? การเดาะกฐิน เท่าไร เกิดด้วยกัน ดับต่างกัน? ตอบว่า การเดาะกฐิน ๒ อย่างที่เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน คือ เดาะในระหว่าง ๑ เดาะพร้อมกัน ๑. การเดาะกฐินนอกนั้น เกิดด้วยกัน ดับต่างกัน.
กฐินเภท จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำเรื่อง
[๑๑๖๐] ใคร ด้วยอย่างไร ธรรม ๑๕ อย่าง นิทาน เหตุ ปัจจัย สงเคราะห์ มูล เบื้องต้น ประเภท บุคคล ๘ บุคคล ๓ การเดาะกฐิน ๓ พึงรู้ การกราน การสวด ปลิโพธ เป็นใหญ่ สีมา เกิดขึ้นและดับ.
ปริวาร จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๑๐๓๑๓-๑๐๔๗๕ หน้าที่ ๓๙๕-๔๐๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=10313&Z=10475&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=105              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1143              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1143-1160] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=8&item=1143&items=18              The Pali Tipitaka in Roman :- [1143-1160] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=8&item=1143&items=18              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr16/en/brahmali#pli-tv-pvr16:23.1 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr16/en/horner-brahmali#Prv.16.3.8

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :