ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
เตรสกัณฑ์
ท่านทั้งหลาย ก็ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ.
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระเสยยสกะ
[๓๐๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระเสยยสกะ ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ เพราะความกระสันนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกาย สะพรั่งด้วยเอ็น ท่านพระอุทายีได้เห็นท่านพระเสยยสกะ ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้นแล้วจึงได้ถามว่า อาวุโส เสยยสกะ เพราะเหตุไร คุณจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น คุณจะ ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ? ท่านพระเสยยสกะรับสารภาพว่า จริงอย่างนั้น ขอรับ ท่านพระอุทายีแนะนำว่า ดูกรคุณเสยยสกะ ถ้าอย่างนั้น คุณจงฉันอาหารให้พอแก่ความ ต้องการ จำวัดให้พอแก่ความต้องการ สรงน้ำให้พอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร จำวัด สรงน้ำ พอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความกระสันบังเกิดแก่คุณ ราคะรบกวนจิตคุณ เมื่อนั้นคุณจง ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ เส. ทำเช่นนั้น ควรหรือ ขอรับ? อุ. ควรซิ คุณ แม้ผมก็ทำเช่นนั้น ต่อมา ท่านพระเสยยสกะฉันอาหารพอแก่ความต้องการ จำวัดพอแก่ความต้องการ สรงน้ำพอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร จำวัด สรงน้ำพอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความ กระสันบังเกิด ราคะรบกวนจิต เมื่อนั้นก็ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ สมัยต่อมา ท่านพระเสยยสกะ ได้เป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง จึงพวกภิกษุสหาย ของท่านพระเสยยสกะถามท่านพระเสยยสกะว่า อาวุโส เสยยสกะ เมื่อก่อนคุณซูบผอม เศร้า หมองมีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น เดี๋ยวนี้คุณมีผิวพรรณมีอินทรีย์ อิ่มเอิบ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง คุณทำยาอะไรฉันหรือ? เส. ผมไม่ได้ทำยาฉัน แต่ผมฉันอาหารพอแก่ความต้องการ จำวัดพอแก่ความต้องการ สรงน้ำพอแก่ความต้องการ ครั้นฉันอาหาร สรงน้ำ จำวัดพอแก่ความต้องการแล้ว เมื่อใดความ กระสันบังเกิดแก่ผม ราคะรบกวนจิตผม เมื่อนั้นผมก็ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ ภิ. อาวุโส เสยยสกะ คุณพยายามปล่อยอสุจิ ด้วยมือซึ่งเป็นเครื่องฉันอาหารที่เขา ถวายด้วยศรัทธาเทียวหรือ? เส. เป็นอย่างนั้น ขอรับ บรรดาภิกษุที่มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระเสยยสกะจึงได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิเล่า ภิกษุ เหล่านั้น พากันติเตียนท่านพระเสยยสกะโดยอเนกปริยาย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระเสยยสกะว่า ดูกรเสยยสกะ ข่าวว่า เธอใช้มือ พยายามปล่อยอสุจิ จริงหรือ? ท่านพระเสยยสกะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ใช้มือพยายามปล่อย อสุจิเล่า ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่ เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี ความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิด เพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ ไม่ถือมั่น เธอจักคิดเพื่อมีความถือมั่น ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่บรรเทาความระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อสิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดย อเนกปริยาย มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่ เลื่อมใสแล้ว ครั้นผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระเสยยสกะโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคล ผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อ ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตาม พระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๕. ๑. ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการฉะนี้.
เรื่องพระเสยยสกะ จบ.
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๐๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนะอันประณีตแล้ว จำวัดปล่อยสติไม่มี สัมปชัญญะ เมื่อเธอจำวัดปล่อยสติไม่มีสัมปชัญญะ อสุจิเคลื่อนโดยฝัน เธอมีความรังเกียจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส แต่อสุจิของพวกเราเคลื่อนโดยฝัน ทั้งเจตนาในความฝันนี้จะว่ามีก็ได้ ชะรอยพวกเรา ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนานี้มีอยู่ แต่นั่นเป็นอัพโพหาริก
ทรงบัญญัติพระอนุบัญญัติ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติ สิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๕. ๑. ก. ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝันเป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๓] บทว่า เป็นไปด้วยความจงใจ ความว่า รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจละเมิด บทว่า สุกกะ อธิบายว่า สุกกะมี ๑๐ อย่าง คือ สุกกะสีเขียว ๑ สุกกะสีเหลือง ๑ สุกกะสีแดง ๑ สุกกะสีขาว ๑ สุกกะสีเหมือนเปรียง ๑ สุกกะสีเหมือนน้ำท่า ๑ สุกกะสีเหมือน น้ำมัน ๑ สุกกะสีเหมือนนมสด ๑ สุกกะสีเหมือนนมส้ม ๑ สุกกะสีเหมือนเนยใส ๑ การกระทำอสุจิให้เคลื่อนจากฐานตรัสเรียกว่า การปล่อย ชื่อว่าปล่อย บทว่า เว้นไว้แต่ฝัน คือ ยกเว้นความฝัน บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นได้ ชักเข้าหาอาบัติ เดิมได้ ให้มานัตได้ เรียกเข้าหมู่ได้ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของหมวดอาบัติ นั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.
บทภาชนีย์
(อุบาย ๔)
[๓๐๔] ภิกษุปล่อยสุกกะในรูปภายใน ๑ ปล่อยสุกกะในรูปภายนอก ๑ ปล่อยสุกกะ ในรูปทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก ๑ ปล่อยเมื่อยังสะเอวให้ไหวในอากาศ ๑
(กาล ๕)
ปล่อยเมื่อเวลาเกิดความกำหนัด ๑ ปล่อยเมื่อเวลาปวดอุจจาระ ๑ ปล่อยเมื่อเวลาปวด ปัสสาวะ ๑ ปล่อยเมื่อเวลาต้องลม ๑ ปล่อยเมื่อเวลาถูกบุ้งขน ๑
(ความประสงค์ ๑๐)
ปล่อยเพื่อประสงค์ความหายโรค ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์ความสุข ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์เป็น ยา ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์ให้ทาน ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์เป็นบุญ ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์บูชายัญ ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์ไปสวรรค์ ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์เป็นพืช ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์จะทดลอง ๑ ปล่อยเพื่อประสงค์ความสนุก ๑
(วัตถุประสงค์ ๑๐)
ปล่อยสุกกะสีเขียว ๑ ปล่อยสุกกะสีเหลือง ๑ ปล่อยสุกกะสีแดง ๑ ปล่อยสุกกะสีขาว ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนเปรียง ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนน้ำท่า ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนน้ำมัน ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนนมสด ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนนมส้ม ๑ ปล่อยสุกกะสีเหมือนเนยใส ๑ [๓๐๕] บทว่า รูปภายใน ได้แก่รูปที่มีวิญญาณครอง เป็นภายใน บทว่า รูปภายนอก ได้แก่รูปที่มีวิญญาณครอง หรือรูปที่ไม่มีวิญญาณครอง เป็นภายนอก บทว่า รูปทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก ได้แก่รูปทั้งสองนั้น บทว่า เมื่อยังสะเอวให้ไหวในอากาศ คือเมื่อพยายามในอากาศ องค์กำเนิดเป็นอวัยวะ ใช้การได้ บทว่า เมื่อเวลาเกิดความกำหนัด คือเมื่อถูกราคะบีบคั้นแล้ว องค์กำเนิดเป็นอวัยวะ ใช้การได้ บทว่า เมื่อเวลาปวดอุจจาระ คือเมื่อปวดอุจจาระ องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ บทว่า เมื่อเวลาปวดปัสสาวะ คือเมื่อปวดปัสสาวะ องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ บทว่า เมื่อเวลาต้องลม คือเมื่อถูกลมโชยแล้ว องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ บทว่า เมื่อเวลาถูกบุ้งขน คือเมื่อถูกบุ้งขนเบียดเบียนแล้ว องค์กำเนิดเป็นอวัยวะ ใช้การได้ บทว่า เพื่อประสงค์ความหายโรค คือเพื่อหวังว่าจักเป็นคนไม่มีโรค บทว่า เพื่อประสงค์ความสุข คือเพื่อหวังว่าจักยังสุขเวทนาให้เกิด บทว่า เพื่อประสงค์เป็นยา คือเพื่อมุ่งว่าจักเป็นยา บทว่า เพื่อประสงค์ให้ทาน คือเพื่อมุ่งว่าจักให้ทาน บทว่า เพื่อประสงค์เป็นบุญ คือเพื่อมุ่งว่าจักเป็นบุญ บทว่า เพื่อประสงค์บูชายัญ คือเพื่อมุ่งว่าจักบูชายัญ บทว่า เพื่อประสงค์ไปสวรรค์ คือเพื่อมุ่งว่าจักได้ไปสวรรค์ บทว่า เพื่อประสงค์เป็นพืช คือเพื่อมุ่งว่าจักเป็นพืช บทว่า เพื่อประสงค์ทดลอง คือเพื่อมุ่งว่าจักทดลองดูว่า สุกกะจักเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีเหมือนเปรียง สีเหมือนน้ำท่า สีเหมือนน้ำมัน สีเหมือนนมสด สีเหมือน นมส้ม หรือสีเหมือนเนยใส บทว่า เพื่อประสงค์ความสนุก คือมีความมุ่งหมายจะเล่น.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๑๓๗๙-๑๑๕๒๐ หน้าที่ ๔๓๘-๔๔๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=11379&Z=11520&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=1&siri=34              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=301              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [301-305] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=1&item=301&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [301-305] https://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=1&item=301&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss1/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :