ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
มโหสถชาดก
พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
[๖๐๐] ดูกรพ่อมโหสถ พระเจ้าพรหมทัตต์ผู้ครองกรุงปัญจาละ เสด็จยาตราทัพมา พร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า กองทัพของพระเจ้าปัญจาลราชนั้นพึง ประมาณไม่ได้ มีกองช่างโยธา กองราบ ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทั้งปวง สามารถจะนำข้าศึกมาได้ มีเสียงอื้ออึง ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลอง และเสียงสังข์ มีวิทยาทางโลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน ธงทิว สลอนเกลื่อนกล่นด้วยช้างประมาณมิได้ สมบูรณ์ด้วยคนมีศิลป์ กองทัพ นั้นตั้งมั่นอยู่ด้วยทหารผู้แกล้วกล้า กล่าวกันว่าในกองทัพนี้ มีราชบุรุษ ๑๐ นาย เป็นผู้ฉลาด มีปัญญากว้างขวาง มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ พระชนนีของพระเจ้าปัญจาลราชเป็นที่ ๑๑ ย่อมทรงสั่งสอนชาวปัญจาล- นครที่นั้น ในชนเหล่านี้ กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระนครผู้เรืองยศ ตามเสด็จ พระเจ้าปัญจาลราช ถูกชิงแว่นแคว้น กลัวภัยจึงตกอยู่ในอำนาจของ ชาวปัญจาลนคร เป็นผู้สามารถทำตามที่พระราชารับสั่ง ไม่มีความปรารถนา ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาลราช เป็นผู้มีอำนาจ มาก่อน ไม่ปรารถนาก็ต้องอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาลราช มิถิลานคร อันแวดล้อมด้วยกองทัพนั้น เป็นสามชั้น ราชธานีของชาววิเทหรัฐ ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ ดูกรพ่อมโหสถ กองทัพที่แวดล้อมโดยรอบ มิถิลานครนั้น ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า พ่อจงรู้ว่า จักมีความพ้น ได้อย่างไร. [๖๐๑] ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญ เชิญเสวย และรื่นรมย์อยู่ในกามสมบัติเถิด พระเจ้าพรหมทัตต์จะต้องละกองทัพ ชาวปัญจาลนครเสด็จหนีไป พระเจ้าข้า. [๖๐๒] พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงทำสัมพันธมิตรกับพระองค์ จะพระ- ราชทานรัตนะทั้งหลายแก่พระองค์ตั้งแต่นี้ไป ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจา ไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก จงคุมเครื่องบรรณาการแต่ปัญจาลนครมายัง กรุงมิถิลานคร จงกล่าววาจาอันอ่อนหวาน เป็นวาจาที่น่ายินดี ปัญจาล นครกับวิเทหรัฐทั้งสองนั้น จงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. [๖๐๓] ดูกรอาจารย์เกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสถเป็นอย่างไรหนอ เชิญกล่าว ต่อไปเถิด มโหสถกับท่านต่างงดโทษกันแล้วกระมัง มโหสถยินดีแล้ว กระมัง. [๖๐๔] ข้าแต่พระจอมประชาชน บุรุษชื่อมโหสถเป็นคนเลว ไม่น่าชื่นชม เป็นคนกระด้าง ไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่กล่าวข้อความอะไรๆ เหมือนคนใบ้ และคนหนวกฉะนั้น พระเจ้าข้า. [๖๐๕] บทมนต์นี้อันมโหสถบุตรของเราเห็นแล้วโดยแท้ คนอื่นก็เห็นได้โดยง่าย ข้อความอันดี อันนรชนผู้มีความเพียรเห็นแล้ว ความจริง กายของเรา ก็หวั่นไหว ใคร่จักละแคว้นของตนไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่นเล่า. [๖๐๖] ก็ความคิดของเราทั้งหกคนผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญากว้างขวางสูงสุด สมเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน ดูกรมโหสถ แม้เธอก็จงลงมติว่าไปหรือไม่ไป หรือว่าจะอยู่ในที่นี้. [๖๐๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์จงทรงทราบพระเจ้าจุลนี้พรหมทัตต์ ทรงมีอานุภาพ มาก มีพลมาก ปรารถนาเพื่อปลงพระชนม์พระองค์ ดุจนายพรานฆ่าเนื้อ ด้วยนางเนื้อฉะนั้น ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่คด อันปิดไว้ด้วยเหยื่อ มันย่อมไม่รู้จักความตายของตน ฉันใด ข้าแต่ พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของ พระเจ้าจุลนี เหมือนปลาไม่รู้จักความตายของตนฉะนั้น ถ้าพระองค์ จะเสด็จไปยังปัญจาลนคร จักต้องทรงละเสียทันที ภัยใหญ่จักถึงแก่ พระองค์ เหมือนภัยคือความตายถึงแก่มฤคผู้ตามไปถึงทางที่ประตูบ้าน ฉะนั้น ขอเดชะ. [๖๐๘] พวกเราทั้งนั้น ซึ่งกล่าวถึงเหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงสุดในสำนัก เจ้าเป็น คนเขลา บ้าน้ำลาย เจ้าเป็นบุตรคฤหบดีถือหางไถเจริญมาตั้งแต่เยาว์ เจ้าจะรู้เหตุที่ให้ได้รัตนะเหมือนคนอื่นเขาละหรือ. [๖๐๙] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสถนี่ ซึ่งเขาพูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะ ของเรา ให้หายไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา. [๖๑๐] แต่นั้นมโหสถบัณฑิต ได้หลีกไปจากราชสำนัก ของพระเจ้าวิเทหราช ที่นั้นได้เรียกนกสุวบัณฑิตชื่อมาธุระผู้เป็นทูตมาสั่งว่า ดูกรนกผู้มีขนปีก เขียวผู้สหาย เจ้าจงมากระทำความขวนขวายเพื่อเรา นางนกสาลิกาที่ เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาลราชมีอยู่ ก็นางนกสาลิกานั้น เป็นผู้ฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามนางนกสาลิกานั้นโดยพิสดาร นางนก สาลิกานั้นรู้ความลับทุกอย่างของพระเจ้าปัญจาลราช และของเกวัฏ- พราหมณ์ผู้โกสิยโคตร นกสุวบัณฑิตชื่อมาธุระ มีขนปีกเขียว รับคำ มโหสถบัณฑิต แล้วได้ไปสู่สำนักนางนกสาลิกา แต่นั้น นกมาธุรสุว- บัณฑิตครั้นไปถึงแล้ว ได้ถามนางนกสาลิกาผู้มีกรงอันงาม พูดเพราะว่า เธอสบายดีอยู่ในกรงงามแลหรือ เธอมีความผาสุกในเพศแลหรือ เธอ ได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงงามของเจ้าและหรือ. นางนกสาลิกาตอบว่า ดูกรสุวบัณฑิตผู้สหาย ฉันมีความสุขดี ฉัน สบายดี อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งเพียงพอ ดูกรสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือใครใช้ให้มา ก่อนแต่นี้เราไม่เคยเห็นท่านหรือไม่เคยได้ยินเลย. [๖๑๑] ฉันเป็นผู้ที่เขาเลี้ยงอยู่ใกล้ที่บรรทมบนปราสาท ของพระเจ้าสีวิราช พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายผู้ถูก ขังอยู่จากที่ขังนั้นๆ นางนกสาลิกาตัวหนึ่งพูดอ่อนหวาน เป็นภรรยา ของฉัน เหยี่ยวได้ฆ่านางนกสาลิกานั้นเสียในห้องที่บรรทม ต่อหน้า ของฉันผู้อยู่ในกรงงามซึ่งเห็นอยู่ ฉันรักใคร่ต่อเธอจึงมาในสำนักของเธอ ถ้าเธอพึงให้โอกาส เราทั้งสองก็จะได้อยู่ร่วมกัน. [๖๑๒] ก็นกแขกเต้าพึงรักใคร่กับนางนกแขกเต้า และนกสาลิกาก็พึงรักใคร่กับ นางนกสาลิกา การที่นกแขกเต้าจะอยู่ร่วมกันกับนางนกสาลิกาจะเป็น เช่นไร. [๖๑๓] เออก็ ผู้ใดใคร่ในกามกับนางจัณฑาล ผู้นั้นทั้งหมดย่อมเป็นเช่นกับนาง จัณฑาลนั้น บุคคลไม่เป็นเช่นเดียวกันในเพราะกามย่อมไม่มี พระชนนี ของพระเจ้าสีวี พระนามว่าชัมพาวดีมีอยู่ พระนางเป็นจัณฑาล ได้เป็น พระมเหสีที่รักของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร นางกินนรีชื่อรัตนวดี มีอยู่ แม้นางกินนรีนั้นก็ร่วมรักกับดาบสชื่อวัจฉะ มนุษย์ได้ร่วมอภิรมย์ กับนางเนื้อก็มี มนุษย์หรือสัตว์ต่างกันเพราะกามย่อมไม่มี เอาเถอะ ดูกรนางนกสาลิกาผู้พูดเพราะ เราจักไปละ เพราะถ้อยคำของเธอเป็น เหตุให้รู้ประจักษ์ เธอดูหมิ่นฉันนัก. [๖๑๔] ดูกรมาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ ใจเร็ว เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าจะได้เห็นพระราชา จนได้ฟังเสียงตะโพนและอานุภาพของ พระราชา. [๖๑๕] เสียงอันเซ็งแซ่นี้ ฉันได้ฟังมาแล้วภายนอกชนบทว่า พระราชธิดาของ พระเจ้าปัญจาลราช มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพฤกษ์ พระเจ้าปัญ- จาลราช จักพระราชทานพระราชธิดานั้นแก่ชาวแคว้นวิเทหะ คือ จักมี การอภิเษกระหว่างพระเจ้าวิเทหราชกับพระราชธิดานั้น. [๖๑๖] ดูกรมาธุระ วิวาหมงคลของเหล่าชนผู้เป็นข้าศึก จงมีเหมือนกับพระเจ้า ปัญจาลราช จักทรงทำวิวาหมงคลพระราชธิดากับพระเจ้าวิเทหราช พระ ราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวปัญจาลนคร จักทรงนำพระเจ้าวิเทหราชมาแล้ว แต่นั้น จักทรงรับสั่งให้ปลงพระชนม์เสีย พระเจ้าวิเทหราชไม่ได้เป็นพระ สหายของพระปัญจาลราช. [๖๑๗] เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปประมาณสัก ๗ ราตรี เพียงให้ฉันได้ กราบทูลพระเจ้าสีวิราช ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ฉันได้การอยู่ในสำนัก ของนางนกสาลิกาแล้ว. [๖๑๘] เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปประมาณ ๗ ราตรี ถ้าท่านไม่กลับมายังสำนัก ของฉันโดย ๗ ราตรี ฉันจะสำคัญตัวฉันว่าหยั่งลงแล้ว สงบแล้ว ท่าน จักมาในเมื่อเราตายแล้ว. [๖๑๙] ลำดับนั้นแล นกมาธุรสุวบัณฑิตบินไปแล้ว ไปบอกถ้อยคำของนางนก สาลิกานี้แก่มโหสถบัณฑิต. [๖๒๐] บุรุษพึงได้บริโภคสมบัติในเรือนของผู้ใด ควรกระทำประโยชน์ให้แก่ ผู้นั้นแท้. [๖๒๑] ข้าแต่พระจอมประชาชน เอาเถิด ข้าพระองค์จักไปสู่พระนครอันน่า รื่นรมย์ของพระเจ้าปัญจาลราชก่อน เพื่อสร้างนิเวศน์ถวายพระองค์ผู้ทรง พระนามว่าวิเทหราชผู้เรืองยศ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ครั้น ข้าพระองค์สร้างนิเวศน์ถวายพระองค์เสร็จแล้ว พึงส่งข่าวมากราบทูล พระองค์ได้เมื่อใด เชิญพระองค์เสด็จไปเมื่อนั้น. [๖๒๒] ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้ไปสู่พระนครอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้า- ปัญจาลราชก่อน เพื่อสร้างนิเวศน์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ ครั้น สร้างนิเวศน์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศเสร็จแล้ว ภายหลังจึงส่งทูต ไปทูลพระเจ้าวิเทหราชผู้ครองกรุงมิถิลาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เชิญ พระองค์เสด็จมาบัดนี้เถิด พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว ขอเดชะ. [๖๒๓] ลำดับนั้น พระราชาพร้อมด้วยจตุรงคเสนาได้เสด็จไปสู่นครอันมั่งคั่ง ที่มโหสถบัณฑิตสร้างไว้ในแคว้นกัปปิละ เพื่อทอดพระเนตรพาหนะอัน หาที่สุดมิได้. [๖๒๔] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราช เสด็จไปถึงแคว้นกัปปิละแล้ว ทรงส่ง พระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าพรหมทัตต์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันมาเพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ พระเจ้าข้า ขอได้ โปรดพระราชทานพระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ ซึ่งประดับด้วยเครื่อง อลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสี ของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า. [๖๒๕] ดูกรพระเจ้าวิเทหราช แม้พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์ไม่เสด็จ มาร้าย เชิญพระองค์ทรงหาพระฤกษ์อาวาหมงคลไว้ หม่อมฉันจะถวาย ราชธิดาผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นาง ข้าหลวงแก่พระองค์ พระเจ้าข้า. [๖๒๖] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงหาพระฤกษ์ ครั้นหาพระฤกษ์ได้แล้ว ทรงส่งพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าพรหมทัตต์ว่า ขอพระองค์ทรงพระ- ราชทานพระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ ซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการล้วน แต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า. [๖๒๗] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ อันประดับด้วยเครื่อง อลังการล้วนด้วยทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่ข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของ พระองค์ ณ บัดนี้. [๖๒๘] กองช้าง กองม้า กองรถ กองพลราบ อันเป็นกองทัพสวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสว บัณฑิตทั้งหลายย่อมสำคัญอย่างไรกันหนอ. [๖๒๙] กองช้าง กองม้า กองรถ กองพลราบ อันเป็นกองทัพสวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสว ดูกรมโหสถบัณฑิต กองทัพเหล่านี้จักทำอะไรหนอ. [๖๓๐] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตต์มีพลนิกายมาก รักษา พระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายต่อพระองค์ รุ่งเช้าจักรับสั่งให้ปลง พระชนม์พระองค์. [๖๓๑] หทัยของเราสั่น และปากของเราแห้งผาก เราเป็นเหมือนถูกไฟไหม้ที่ กลางแดด ไม่ถึงความเย็นใจ เตาของช่างทองรุ่งเรืองอยู่ภายในไม่ปรากฏ ในภายนอก ฉันใด แม้หทัยของเราก็รุ่งเรืองอยู่ในภายใน ไม่ปรากฏ ในภายนอก ฉันนั้น. [๖๓๒] ข้าแต่พระจอมขัตติยราช พระองค์เป็นผู้ประมาทเป็นไปล่วงความคิด มี ความคิดอันทำลายเสียแล้ว บัดนี้แล อาจารย์ทั้ง ๔ ผู้เป็นบัณฑิตมี ความคิด จงป้องกันพระองค์เถิด พระองค์ไม่ทรงกระทำตามคำของ ข้าพระบาท ผู้เป็นอำมาตย์ใคร่ประโยชน์แสวงหาความเกื้อกูล ทรงยินดี ด้วยปีติอันเศร้าหมองของพระองค์ ดังเนื้อตกลงในหลุมล่อ ฉะนั้น ปลา อยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่คดอันปิดไว้ด้วยเหยื่อ มันย่อม ไม่รู้จักความตายของตน ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนา กามย่อมไม่ทรงทราบ พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี เหมือนปลาไม่รู้จัก ความตายของตน ฉันนั้น ถ้าพระองค์จะเสด็จไปยังปัญจาลนคร จักต้อง ทรงละเสียทันที ภัยใหญ่จักถึงแก่พระองค์เหมือนภัย คือความตายถึง แก่มฤคผู้ตามไปถึงทางที่ประตูบ้าน ข้าแต่พระจอมประชากร บุรุษผู้ไม่ ประเสริฐพึงเป็นเหมือนงูอยู่ในพกกัดเอา นักปราชญ์ไม่พึงทำไมตรีกับ บุรุษเช่นนั้น เพราะการสังคมกับบุรุษชั่ว นำทุกข์มาให้โดยแท้ ข้าแต่ พระจอมประชากร บุรุษผู้มีศีล เป็นพหูสูตพึงรู้คุณแห่งไมตรีใด นักปราชญ์พึงกระทำไมตรีกับบุรุษเช่นนั้นเท่านั้น เพราะการสังคมกับ สัปบุรุษ นำความสุขมาให้โดยแท้. [๖๓๓] ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ตรัสถึงเหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงสุดในสำนัก ข้าพระบาท ทรงเป็นผู้เขลา บ้าน้ำลาย ข้าพระบาทเป็นบุตรคฤหบดีถือ หางไถเจริญมาแต่ยังเยาว์ จะรู้เหตุที่จะให้ได้รัตนะเหมือนคนอื่นๆ เขา อย่างไรเล่า ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสถบัณฑิตนี้ ซึ่งเขาพูดเป็นอันตราย แก่การได้รัตนะของเรา ให้หายไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา. [๖๓๔] ดูกรมโหสถ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ทิ่มแทงเพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว เจ้าจะทิ่มแทงเราเป็นดังม้าที่เขาผูกไว้ถูกทิ่มแทงด้วยประตักทำไม ถ้าเห็น ว่าเราจะพ้นภัยได้หรือเห็นว่าเราจะปลอดภัยได้ ขอเจ้าจงสั่งสอนเราโดย ความสวัสดีนั้นแล เจ้าจะทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วทำไม. [๖๓๕] ข้าแต่พระบรมกษัตริย์ กรรมของมนุษย์อันเป็นไปล่วงแล้วทำได้ยาก มี ความยินดีได้ยาก เป็นแดนเกิด ข้าพระบาทไม่สามารถจะปลดเปลื้อง พระองค์ได้ ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบเถิด พระเจ้าข้า ช้างทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์ มียศสามารถเหาะไปได้ทางอากาศ เป็นช้างเกิดในตระกูลช้าง ฉัททันต์ หรือในตระกูลช้างอุโบสถของพระองค์มีอยู่ แม้ช้างเหล่านั้น พึงพาพระองค์ไปได้ ม้าทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มียศสามารถเหาะไปได้ทาง อากาศ เป็นม้าเกิดในตระกูลพระยาม้าวลาหกของพระองค์มีอยู่ แม้ม้า เหล่านั้นพึงพาพระองค์ไปได้ นกทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มียศสามารถบินไปได้ ทางอากาศของพระองค์มีอยู่ แม้นกเหล่านั้นก็พึงพาพระองค์ไปได้ ยักษ์ ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มียศสามารถเหาะไปได้ทางอากาศของพระองค์มีอยู่ แม้ยักษ์เหล่านั้นก็พึงพาพระองค์ไปได้ ข้าแต่พระบรมกษัตริย์ กรรมของ มนุษย์อันเป็นไปล่วงแล้วทำได้โดยยาก มีความยินดีได้ยาก เป็นแดน เกิด ข้าพระบาทไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์ โดยทางอากาศได้ พระเจ้าข้า. [๖๓๖] บุรุษผู้ยังมองไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ย่อมได้ที่พำนักในประเทศใด เขา ย่อมได้ความสุขในประเทศนั้น ฉันใด ท่านมโหสถ ขอท่านได้เป็นที่ พึ่งของข้าพระเจ้าทั้งหลาย และของพระราชาฉันนั้นเถิด ท่านเป็นผู้ ประเสริฐสุดกว่าพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี ขอท่านช่วยปลดเปลื้องเรา ให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด. [๖๓๗] ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์อันเป็นไปล่วงแล้วทำได้ยาก มีความ ยินดีโดยยาก เป็นแดนเกิด ข้าพเจ้าไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องท่านได้ ท่านจงรู้เอาเองเถิด. [๖๓๘] ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ข้าพเจ้าขอถาม ท่านอาจารย์เสนกะ เวลานี้ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร. [๖๓๙] เราทั้งหลายจงเอาไฟเผาเสียตั้งแต่ประตู หรือจงจับมีดฆ่ากันและกัน ละชีวิตเสียฉับพลัน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตต์ฆ่าเราทั้งหลายให้ลำบาก นานเลย. [๖๔๐] ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ข้าพเจ้าขอถามท่าน อาจารย์ปุกกุส ณ บัดนี้ เวลานี้ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร. [๖๔๑] เราทั้งหลายควรกินยาพิษตาย ละชีวิตเสียฉับพลัน อย่าให้พระเจ้า- พรหมทัตต์ฆ่าเราทั้งหลายให้ลำบากนานเลย. [๖๔๒] ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ข้าพเจ้าขอถามท่าน อาจารย์กามินท์ ณ บัดนี้ เวลานี้ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร. [๖๔๓] เราทั้งหลายพึงเอาเชือกผูกหรือพึงโดดลงบ่อให้ตายเสีย อย่าให้พระเจ้า- พรหมทัตต์ฆ่าเราทั้งหลายให้ลำบากนานเลย. [๖๔๔] ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ข้าพเจ้าขอถามท่าน อาจารย์เทวินท์ ณ บัดนี้ เวลานี้ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร. [๖๔๕] เราทั้งหลายจงเอาไฟเผาเสียตั้งแต่ประตู หรือ จงจับมีดฆ่ากันและกัน ละชีวิตไปเสียฉับพลัน ถ้าท่านมโหสถไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องเรา ทั้งหลายได้โดยง่าย. [๖๔๖] บุคคลแสวงหาแก่นแห่งต้นกล้วยย่อมหาไม่ได้ ฉันใด เราทั้งหลาย แสวงหาอุบายเครื่องพ้นจากทุกข์ ก็ย่อมไม่ประสบปัญหานั้น ฉันนั้น บุคคลแสวงหาแก่นแห่งไม้งิ้ว ย่อมหาไม่ได้ ฉันใด เราทั้งหลาย แสวงหาอุบายเครื่องพ้นจากทุกข์ ก็ย่อมไม่ประสบปัญหานั้น ฉันนั้น การอยู่ของช้างทั้งหลายในสถานที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าอยู่ในที่มิใช่ประเทศ เพราะช้างเหล่านั้นอยู่ในสถานที่อันไม่มีน้ำ ชื่อว่ามิใช่ประเทศ ย่อมตก อยู่ในอำนาจของปัจจามิตรเร็วพลัน ฉันใด แม้การที่เราทั้งหลายอยู่ในที่ ใกล้ของมนุษย์ชั่ว เป็นคนพาลหาความรู้มิได้ ก็ชื่อว่าอยู่ในสถานที่มิใช่ ประเทศ ฉันนั้น หทัยของเราสั่น และปากของเราก็แห้งผาก เราเป็น เหมือนถูกไฟไหม้ที่กลางแดด ไม่ถึงความเย็นใจ เตาของช่างทองรุ่งเรือง อยู่ภายใน ไม่ปรากฏในภายนอก ฉันใด แม้หทัยของเราก็รุ่งเรืองอยู่ใน ภายใน ไม่ปรากฏในภายนอก ฉันนั้น. [๖๔๗] ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตมีปัญญาเห็นประโยชน์ เห็นพระเจ้าวิเทหราช ทรงได้รับทุกข์ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าพระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่างทรงกลัวเลย ข้าพระบาท จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ผู้ดุจดวงจันทร์อันราหูจับแล้ว ข้าแต่พระ- มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจักช่วยปลดเปลื้อง พระองค์ผู้ดุจช้าง จมอยู่ในหล่ม ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจักช่วย ปลดเปลื้องพระองค์ผู้ดุจติดอยู่ในตะกร้า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่างทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ผู้ดุจนกติดอยู่ในกรง ข้าแต่พระ- มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจักช่วยปลดเปลื้อง พระองค์ผู้ ดุจปลาติดอยู่ที่ข่าย ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจะ ช่วยปลดเปลื้องพระองค์ผู้มีพลและพาหนะคุ้มกันอยู่ ข้าแต่พระมหาราช เจ้า พระองค์อย่ากลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่า ทรงกลัวเลย ข้าพระบาทจักขับไล่กองทัพของพระเจ้าปัญจาลราชให้หนีไป ดุจไล่กาและเหยี่ยวให้หนีไปด้วยก้อนหิน ปัญญาของข้าพระบาท หรือ อำมาตย์ เช่นกับข้าพระบาท ซึ่งมิได้ช่วยปลดเปลื้องพระองค์ผู้ตกอยู่ใน ที่คับขันให้พ้นทุกข์ จะมีประโยชน์อะไร. [๖๔๘] ดูกรคนหนุ่มๆ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นมา จงช่วยกันเปิดประตู อุโมงค์ และประตูห้องติดต่อเครื่องยนต์ พระเจ้าวิเทหราชจักเสด็จไป ทางอุโมงค์ พร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งหลาย. [๖๔๙] พวกคนรับใช้ของมโหสถบัณฑิต ได้ฟังคำของมโหสถแล้วช่วยกันเปิด ประตูอุโมงค์ และถอดลูกดานประกอบด้วยเครื่องยนต์. [๖๕๐] เสนาเดินไปก่อน มโหสถเดินไปข้างหลัง พระเจ้าวิเทหราชอันอำมาตย์ แวดล้อม เสร็จดำเนินไปท่ามกลาง. [๖๕๑] พระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์แล้ว เสด็จขึ้นสู่เรือ มโหสถบัณฑิต รู้ว่าพระเจ้าวิเทหราชเสด็จขึ้นเรือแล้ว ได้ถวายอนุศาสน์ว่า ขอเดชะ พระองค์ผู้จอมประชากร พระเจ้าจุลนี เป็นพระสัสสุระของพระองค์ พระนางนันทาเทวีนี้ เป็นพระสัสสุของพระองค์ การปฏิบัติพระราช มารดาของพระองค์ ฉันใด การปฏิบัตินั้นขอจงมีแด่พระสัสสุของพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ อนึ่ง พระภาดาร่วมพระอุทรพระชนนี เดียวกันโดยตรง พระองค์ทรงรักใคร่ ฉันใด พระปัญจาลจันทราชกุมาร พระองค์ก็ควรทรงรักใคร่ ฉันนั้น พระนางปัญจาลจันทีราชบุตรี ของ พระเจ้าพรหมทัตต์ ที่พระองค์ทรงปรารถนานี้ ขอพระองค์ทรงรักใคร่ใน พระนางของพระองค์ พระนางจักเป็นพระมเหสีของพระองค์ อย่าทรง ดูหมิ่น. [๖๕๒] ดูกรมโหสถ เจ้าจงรีบขึ้นเรือ จะยืนอยู่ที่ฝั่งทำไมหนอ เราทั้งหลายพ้น จากทุกข์ได้โดยยาก จงไปกัน ณ บัดนี้เถิด. [๖๕๓] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า การที่ข้าพระองค์เป็นนายกของเสนาจะทอดทิ้ง กองทัพเอาแต่ตัวรอด นี้ไม่สมควร ขอเดชะ พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระบาทจักนำมาซึ่งกองทัพ ที่พระองค์ทรงละทิ้งไว้ในปัญจาลนคร และสิ่งของที่พระเจ้าพรหมทัตต์พระราชทาน พระเจ้าข้า. [๖๕๔] ดูกรบัณฑิต เจ้ามีเสนาน้อย จักข่มพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้มีเสนามากได้ อย่างไร เจ้าไม่มีกำลัง จักลำบาก เพราะพระเจ้าพรหมทัตต์มีกำลัง. [๖๕๕] ถ้าบุคคลผู้มีความคิด ถึงจะมีเสนาน้อย ก็เอาชนะบุคคลผู้มีเสนามาก แต่ไม่มีความคิดได้ พระราชาพระองค์เดียวทรงฉลาดในอุบาย ย่อมทรง เอาชนะ พระราชาทั้งหลายผู้ไม่ทรงฉลาดในอุบายได้ ดังอาทิตย์อุทัย กำจัดความมืดส่งแสงสว่างจ้า ฉะนั้น ขอเดชะ. [๖๕๖] ดูกรท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายเป็นสุขดีหนอ เพราะว่ามโหสถบัณฑิต ช่วยปลดเปลื้องเราทั้งหลายผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือ ของศัตรูได้ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยฝูงนกถูกขังอยู่ในกรง และ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยปลาอันติดอยู่ในแห ฉะนั้น. [๖๕๗] ข้าแต่พระมหาราชา บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง เทียว มโหสถบัณฑิตช่วยปลดเปลื้องเราทั้งหลายผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของ ศัตรูได้ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยฝูงนกที่ถูกขังอยู่ในกรง และ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยฝูงปลาอันติดอยู่ในแห ฉะนั้น ขอเดชะ. [๖๕๘] พระเจ้าจุลนีผู้มีกำลังมาก ทรงรักษาอยู่ตลอดราตรีทั้งสิ้น ครั้นอรุณขึ้น ได้เสด็จถึงเมืองอุปการ พระเจ้าปัญจาลราชทรงพระนามว่าจุลนีผู้มีกำลัง มาก เสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ เป็นช้างมีกำลังอายุ ๖๐ ปี ได้ รับสั่งกับเสนาของท้าวเธอ ท้าวเธอทรงสวมเกราะแก้วมณี พระหัตถ์ จับศร ได้ตรัสกะทวยหาญผู้รับใช้ซึ่งชำนาญในศิลป คือ ธนู ยิงแม่นยำ ยิงขนทรายไม่พลาด ซึ่งประชุมกันอยู่. [๖๕๙] ว่าท่านทั้งหลาย จงไสช้างพลาย มีกำลังอายุ ๖๐ ปีไป ช้างทั้งหลาย จงย่ำยีเมืองที่พระเจ้าวิเทหราชรับสั่งให้สร้างไว้ ลูกศรอันขาวเช่นเขี้ยวงา ปลายแหลมคม สามารถแทงทำลายกระดูกได้ เกลี้ยงเกลาเหล่านี้ จงตกลงด้วยกำลังธนู พวกทหารรุ่นหนุ่ม สวมเกราะล้วนแกล้วกล้า มี อาวุธประกอบด้วยด้ามอันวิจิตร ฝูงช้างใหญ่แล่นมาจงเป็นผู้หันหน้าสู้ ช้างทั้งหลาย หอกทั้งหลายที่ขัดด้วยน้ำมันแล้วมีแสงเป็นประกายวะวับ ดังดาวประกายพฤกษ์มีแสงตั้งร้อย เมื่อพวกทหารของเราล้วนมีกำลัง อาวุธสวมสังวาลคือเกราะ ไม่ล่าหนีในสงครามเช่นนี้ พระเจ้าวิเทหราช- จักพ้นไปที่ไหน หากจะเป็นเหมือนนกบินไปในอากาศได้ก็จะพ้นไปได้ อย่างไร ทหารของเราล้วนแต่เป็นชายฉกรรจ์ประมาณ ๓๙,๐๐๐ ซึ่งเรา เที่ยวไปทั่วแผ่นดิน ไม่เห็นทหารอื่นใดเทียมทัน สามารถตัดศีรษะข้าศึก เอามาคนละศีรษะได้ อนึ่ง ช้างพลายทั้งหลายอันประดับแล้ว เป็นช้างมี กำลังอายุ ๖๐ ปี เหล่าทหารหนุ่มๆ มีผิวพรรณดังทองคำงดงามอยู่บนคอ ทหารทั้งหลายมีเครื่องประดับสีเหลือง นุ่งผ้าสีเหลือง งดงามอยู่บนคอ ช้าง ดังเทพบุตรในนันทนวัน ฉะนั้น ดาบทั้งหลายมีสีดังปลาสลาด ขัดถูด้วยน้ำมัน แสงวาบวับ อันทหารผู้แกล้วกล้าทำสำเร็จแล้ว มี คมเสมอคมนัก ส่งแสงจัดปราศจากสนิม ทำด้วยเหล็กกล้า มั่นคง อัน เหล่าทหารผู้มีกำลังเชี่ยวชาญในการฟันดาบถือเป็นคู่มือ ดาบทั้งหลาย ล้วนแต่ด้ามทองคำประกอบด้วยฝักสีแดง กวัดแกว่งไปมา ย่อมงดงาม ดังสายฟ้าแวบวาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ ฉะนั้น เหล่าทหารดาบผู้ แกล้วกล้าสวมเกราะ กวัดแกว่งอยู่ในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและ โล่ห์ ฝึกมาอย่างชำนาญสามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลง (ดูกรพระ- เจ้าวิเทหราช เมื่อก่อน) พระองค์อันเหล่าทหารเช่นนี้แวดล้อมแล้ว (แต่บัดนี้) การที่พระองค์จะพ้นไปจากที่นี้ย่อมไม่มี. [๖๖๐] พระองค์ทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ พระองค์มี พระหฤทัยอันร่าเริงเสด็จมา คงจะทรงเข้าพระทัยว่าทรงเป็นผู้ได้ประโยชน์ แล้ว ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นเสียเถิด ทรงทิ้งลูกธนูเสียเถิด ทรง เปลื้องเกราะอันงดงามปานดังแก้วไพฑูรย์นั้นออกเสียเถิด พระเจ้าข้า. [๖๖๑] เจ้าเป็นผู้มีสีหน้าอันผ่องใส และกล่าวถ้อยคำเคยยิ้มแย้ม ความถึงพร้อม แห่งผิวพรรณเช่นนี้ย่อมมีในมรณกาล. [๖๖๒] ข้าแต่พระขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสคุกคามไร้ประโยชน์เสีย แล้ว พระองค์เป็นผู้มีพระดำริกระจายไปทั่วแล้ว พระองค์ไม่สามารถ จะจับ พระราชาของข้าพระองค์ได้หรอกดังม้าสินธพอันม้ากระจอกไล่ไม่ ทัน ฉะนั้น พระราชาของข้าพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริษัท เสด็จข้ามแม่น้ำไปแล้วแต่วานนี้ ถ้าพระองค์จักเสด็จติดตามไป พระองค์ ก็จักตก คือถึงความพินาศในระหว่าง เปรียบเหมือนกาบินไล่ติด ตามพระยาหงส์ จักต้องตกลงในระหว่าง ฉะนั้น. [๖๖๓] สุนัขจิ้งจอก เป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวด้วยแสงจันทร์ ก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ เข้าล้อมต้นอยู่ ครั้นเมื่อราตรีล่วงไปแล้ว เมื่อพระ- อาทิตย์ขึ้นแล้ว สุนัขจิ้งจอกซึ่งเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค ได้เห็นดอก- ทองกวาวบานแล้ว เป็นสัตว์หมดความหวังฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหราช ก็จักทรงหมดความหวังเสด็จกลับไป เปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอกล้อมต้นทองกวาวหมดความหวังกลับไป ฉะนั้น. [๖๖๔] เจ้าทั้งหลายจงช่วยกันตัดมือ เท้า หู และจมูกของมโหสถ ผู้ปล่อยให้ พระเจ้าวิเทหราชศัตรูของเราซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือไปเสีย เจ้าทั้งหลายจง เสียบมโหสถ ผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของเรา ซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือ ไปเสียในหลาวแล้วจงย่างมันให้ร้อน เหมือนดังย่างเนื้อฉะนั้น บุคคล แทงหนังวัวลงบนแผ่นดิน หรือบุคคลเกี่ยวหนังราชสีห์หรือเสือโคร่งฉุด มาด้วยขอฉันใด เราจักให้เจ้าทั้งหลายช่วยกันทิ่มแทงมโหสถ ผู้ ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของเราซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือไปฆ่าเสียด้วยหอก ฉันนั้น. [๖๖๕] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้า- วิเทหราชก็จักรับสั่งให้ตัดพระหัตถ์เป็นต้น ของพระปัญจาลจันทราชโอรส ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ตัดพระหัตถ์เป็นต้นของพระปัญจาลจันที ราชธิดา ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้า พระองค์ พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ตัดพระหัตถ์เป็นต้นของพระ นางนันทาเทวีอัครมเหสี ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือเท้า หูและ จมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ตัดพระหัตถ์เป็น ต้นของพระราชบุตร ราชบุตรีและพระมเหสีแห่งพระองค์ ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์ในหลาว แล้วย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราช ก็จักรับสั่งให้เสียบเนื้อของพระปัญจาลจันทราชโอรส ในหลาว แล้วย่างให้ร้อน ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของ ข้าพระองค์ในหลาว แล้วย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ เสียบเนื้อของพระปัญจาลจันทีราชธิดา แล้วย่างให้ร้อน ฉันนั้น ถ้าพระ- องค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์ในหลาว แล้วย่างให้ร้อน พระเจ้า วิเทหราชก็จักรับสั่งให้เสียบเนื้อพระนางนันทาเทวีอัครมเหสี แล้วย่าง ให้ร้อน ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์ในหลาว แล้วย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้เสียบเนื้อของพระราช- บุตรพระราชบุตรีและพระมเหสีของพระองค์ แล้วย่างให้ร้อน ฉันนั้น ถ้าพระองค์จักรับสั่งให้ทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็ จักรับสั่งให้ทิ่มแทงพระปัญจาลจันทราชโอรสด้วยหอก ฉันนั้น ถ้าพระ- องค์จักรับสั่งให้ทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็รับสั่งให้ ทิ่มแทง พระปัญจาลจันทีราชธิดาด้วยหอก ฉันนั้น ถ้าพระองค์จักรับ สั่งให้ทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง พระนางนันทาเทวีอัครมเหสีด้วยหอก ฉันนั้น ถ้าพระองค์รับสั่งให้ ทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง พระราชบุตร พระราชบุตรีและพระมเหสีของพระองค์ ฉันนั้น ข้อความ ดังกราบทูลมาอย่างนี้ อันข้าพระองค์ทั้งสอง คือพระเจ้าวิเทหราชกับ ข้าพระองค์ ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วในที่ลับ โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปะละ อันช่างหนังทำสำเร็จแล้ว ด้วยมีดของช่างหนังย่อมช่วยป้องกัน ตัวเพื่อห้ามลูกศรทั้งหลาย ฉันใด ข้าพระองค์ เป็นผู้นำความสุขบรรเทา ทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ ก็จำต้องทำลายลูกศรคือพระดำริของ พระองค์ ด้วยโล่ คือความคิดของข้าพระองค์ ฉันนั้น ขอเดชะ. [๖๖๖] ข้าแต่พระมหาราช เชิญพระองค์ทอดเนตรพระราชนิเวศน์อันว่างเปล่า ของพระองค์ ข้าแต่บรมกษัตริย์ นางสนม กุมารทั้งหลาย และ พระราชชนนีของพระองค์ ข้าพระองค์ให้นำออกทางอุโมงค์ นำไป ถวายพระเจ้าวิเทหราชแล้ว พระเจ้าข้า. [๖๖๗] เชิญพวกเจ้าจงไปสู่ราชนิเวศน์ของเรา แล้วตรวจตราดู คำของมโหสถนี้ จริงหรือเท็จอย่างไร. [๖๖๘] ข้าแต่พระมหาราชา มโหสถกราบทูลว่า ฉันใด คำนั้นเป็นจริง ฉันนั้น พระราชนิเวศน์ทุกแห่งว่างเปล่า ดุจที่ลงกินของฝูงกา ขอเดชะ. [๖๖๙] ข้าแต่พระมหาราชา พระนางเจ้านันทาเทวี ทรงโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีพระโสณีงาม ดังแผ่นทองคำธรรมชาติ มีปกติตรัสด้วยพระสำเนียง อันอ่อนหวาน ดังเสียงลูกหงส์เสด็จไปทางอุโมงค์นี้แล้ว ข้าแต่พระ- มหาราชา พระนางนันทาเทวีทรงโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ ทรงพระภูษา โกสัย มีพระสรีระเหลืองอร่าม มีสายรัดพระองค์งดงามด้วยทองคำ ข้าพระองค์นำออกไปแล้วจากอุโมงค์นี้ พระนางนันทาเทวีมีพระบาทแดง สดใส ทรงโฉมงดงาม มีสายรัดพระองค์ แก้วมณีแกมสุวรรณ ดวง- พระเนตรดังตานกพิราบ มีพระสรีระงดงาม พระโอฐแดงดังผลตำลึงสุก สะโอดสะอง มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดังเถานาคลดา อันเกิดดีแล้ว และกาญจนไพรที มีพระเกสายาวดำ มีปลายช้อนขึ้นเล็กน้อย มีดวง- พระเนตรเขื่อง ดังดวงตาของลูกเนื้อทรายอันเกิดดีแล้ว และดุจเปลว- เพลิงในฤดูเหมันต์ พระนางนันทาเทวี ย่อมงดงามด้วยเส้นพระโลมา เล็กๆ ดังแม่น้ำใกล้ภูผาอันดาดาษไปด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ฉะนั้น พระ- นางมีพระเพลางามดังงวงอัยรา มีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับทองงาม เป็นที่หนึ่ง พระสัณฐานสันทัด ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก มีพระโขนงพอ งาม ไม่มากนัก ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะสมบูรณ์ด้วยสิริ พระองค์คง ทรงยินดี ด้วยการทิวงคตของพระนางเจ้านันทาเทวีเป็นแน่ ข้าพระองค์ และพระนางเจ้านันทาเทวี ก็จักไปสู่สำนักยมราชเป็นแน่. [๖๗๐] มโหสถ ได้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของเรา ซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือ เรา ทำเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ หรือว่าได้ทำอุบายบังตา. [๖๗๑] ข้าแต่พระมหาราชา บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมทำเล่ห์กลอันเป็น ทิพย์โดยแท้ บัณฑิตผู้มีความรู้เหล่านั้น ย่อมปลดเปลื้องตนได้ เหล่า ทหารรุ่นหนุ่มเป็นคนฉลาด เป็นทหารขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์มีอยู่ พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปยังพระนครมิถิลา โดยทางที่ทหารเหล่านั้นทำไว้ พระเจ้าข้า. [๖๗๒] ข้าแต่พระมหาราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ซึ่งสร้างไว้ดีแล้ว งามรุ่งเรืองด้วยระเบียบแห่งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ กองพลราบ ซึ่งสำเร็จดีแล้วเถิด พระเจ้าข้า. [๖๗๓] ดูกรมโหสถ เป็นลาภของชนชาววิเทหรัฐหนอ บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ ย่อมอยู่ในเรือน ในแว่นแคว้นของผู้ใด เป็นลาภของผู้นั้น เหมือนเจ้า ฉะนั้น. [๖๗๔] เราจะให้เครื่องเลี้ยงชีพ การบริหาร เบี้ยเลี้ยง และบำเหน็จเพิ่มขึ้น สองเท่า และให้โภคสมบัติอันไพบูลย์อีก เจ้าจงใช้สอยและจงรื่นรมย์ อยู่ในกามเถิด เจ้าอย่ากลับไปหาพระเจ้าวิเทหราชเลย พระเจ้าวิเทหราช จะทรงทำประโยชน์อะไร. [๖๗๕] ข้าแต่พระมหาราชา ผู้ใดพึงสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตนเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและคนอื่นติเตียนได้ทั้งสองฝ่าย พระเจ้าวิเทหราชยัง ทรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแว่นแคว้นของผู้อื่นเพียง นั้น ข้าแต่พระมหาราชา ผู้ใดพึงสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่ง ทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและคนอื่นติเตียนได้ทั้งสองฝ่าย พระเจ้า- วิเทหราชยังดำรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของ พระราชาอื่นเพียงนั้น ขอเดชะ. [๖๗๖] ดูกรมโหสถ เราจะให้ทองพันแท่ง บ้าน ๘๐ หลังในแคว้นกาสีแก่ท่าน เราจะให้ทาสี ๔๐๐ คน ภรรยา ๑๐๐ คนแก่ท่าน จงพากองทัพทั้งปวง ไปโดยสวัสดี. [๖๗๗] พวกเจ้าจงให้อาหารแก่ช้างและม้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพียงใด จงเลี้ยงดู กองรถและกองราบให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ เพียงนั้น. [๖๗๘] ดูกรมโหสถบัณฑิต ท่านจงพาเอากองช้าง กองม้า กองรถ กองราบไป พระเจ้าวิเทหราช จงทอดพระเนตรท่านผู้ไปถึงมิถิลานคร. [๖๗๙] เสนา คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ปรากฏมากมาย เป็น จตุรงคินีที่น่ากลัว บัณฑิตทั้งหลายจะสำคัญอย่างไรหนอ. [๖๘๐] ข้าแต่พระมหาราชา ความยินดีอย่างสูงสุด จักปรากฏแด่พระองค์ มโหสถ พากองทัพทั้งปวงมาถึงแล้วโดยสวัสดี. [๖๘๑] คน ๔ คน นำคนตายไปทิ้งไว้ในป่าช้าแล้วกลับไป ฉันใด พวกเราทิ้ง เจ้าไว้ในกัปปิลรัฐแล้ว กลับมาในที่นี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้า เปลื้องตนพ้นมาได้เพราะเหตุอะไร เพราะปัจจัยอะไร หรือเพราะผล อะไร. [๖๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จอมวิเทหรัฐ ข้าพระองค์ป้องกันกลศึกที่ พวกนั้นกีดกันไว้ ด้วยกลศึกที่ข้าพระองค์คิดแล้ว ข้าพระองค์ป้องกัน ความลับที่พวกนั้นปรึกษากันไว้ ด้วยความลับที่ข้าพระองค์คิดไว้ (ใช่ แต่เท่านั้น) ข้าพระองค์ยังได้ช่วยป้องกันพระราชาไว้ ดังสาครกั้นล้อม ชมพูทวีปไว้ ฉะนั้น พระเจ้าพรหมทัตต์ทรงพระราชทานทองคำพันแท่ง บ้าน ๘๐ หลังในแคว้นกาสี ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คน แก่ ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้พากองทัพทั้งปวงมาถึง ณ ที่นี้โดยสวัสดีแล้ว พระเจ้าข้า. [๖๘๓] ดูกรท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิต เป็นสุขดีหนอ เพราะว่า มโหสถบัณฑิต ปลดเปลื้องเราทั้งหลายผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูได้ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยฝูงนกที่ถูกขังอยู่ในกรง และเปรียบ เหมือนบุคคลช่วยปล่อยปลาอันติดอยู่ในแห ฉะนั้น. [๖๘๔] ข้าแต่พระมหาราชา ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลาย เป็น ผู้นำความสุขมาให้ มโหสถบัณฑิตปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือ ของศัตรูได้ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยฝูงนกที่ขังอยู่ในกรง และ เปรียบเหมือนบุคคลช่วยปล่อยตัวติดอยู่ในแห ฉะนั้น. [๖๘๕] ชาวเมืองผู้นับว่าเกิดในแคว้นมคธ จงดีดพิณทั้งปวง จงตีกลองเล็กกลอง ใหญ่และมโหรทึก จงพากันโห่ร้องบันลือเสียงให้เซ็งแซ่. [๖๘๖] พวกนางสนม พวกกุมาร พวกพ่อค้า และพวกพราหมณ์ต่างก็นำเอา ข้าวน้ำเป็นอันมากมาให้แก่มโหสถบัณฑิต พวกกองช้าง พวกกองม้า พวกกองรถ พวกกองราบ ต่างก็นำเอาข้าวน้ำเป็นอันมากมาให้แก่ มโหสถบัณฑิต ชาวชนบทและชาวนิคมประชุมพร้อมกัน ต่างนำเอา ข้าวน้ำเป็นอันมากมาให้มโหสถบัณฑิต ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสถ- บัณฑิตกลับมา ต่างก็พากันเลื่อมใส ครั้นมโหสถบัณฑิตมาถึงมิถิลานคร พากันยกธงขึ้นโบกอยู่ไปมา.
จบ มโหสถชาดกที่ ๕.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๓๘๖๑-๔๓๒๗ หน้าที่ ๑๔๙-๑๖๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=3861&Z=4327&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=28&A=3861&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=17              ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=600              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=28&A=4644              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=28&A=4644              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja542/en/cowell-rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]