ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
เสลสูตรที่ ๗
[๓๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชาวอังคุตตราปะ ชื่ออาปณะ ฯ เกณิยชฎิลได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมชื่ออาปณะตามลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้ง ชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ฯ ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ฯ ลำดับนั้น เกณิยชฎิล อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตของข้าพระองค์เพื่อเสวยใน วันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า ฯ [๓๗๔] เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะเกณิยชฎิลว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก ฯ แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงรับภัตของ ข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ... แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิล ... พระผู้มี- *พระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล เกณิยชฎิลทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจาก อาสนะ เข้าไปสู่อาศรมของตนแล้ว เรียกมิตร (กรรมกร) อำมาตย์และญาติ สาโลหิตทั้งหลายมากล่าวว่า มิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยภัตใน วันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายช่วยข้าพเจ้าขวนขวายด้วยกาย พวกมิตร อำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลายของเกณิยชฎิลรับคำแล้ว บางพวกขุดเตา บางพวก ผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกช่วยตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูอาสนะ ส่วน เกณิยชฎิลตกแต่งปะรำเอง ฯ [๓๗๕] ก็สมัยนั้นแล เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้รู้จบ ไตรเพทพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์ อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ทั้งบอกมนต์แก่มาณพ ๓๐๐ คนด้วย ก็สมัยนั้น เกณิยชฎิลเป็นผู้เลื่อมใสในเสลพราหมณ์ยิ่งนัก ฯ ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยว พักผ่อนอยู่ ได้เข้าไปสู่อาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกขุดเตา ฯลฯ บางพวกปูอาสนะ ในอาศรมของเกณิยชฎิล ส่วนเกณิยชฎิลตกแต่งโรงปะรำเอง ครั้นแล้วได้ถามเกณิยชฎิลว่า ท่านเกณิยผู้เจริญ จักมีอาวาหะ วิวาหะ หรือเตรียม จัดมหายัญหรือ หรือท่านได้ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพิมพิสาร จอมทัพ พร้อมทั้งรี้พล เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ฯ เกณิยชฎิลตอบว่า ท่านเสละผู้เจริญ อาวาหะหรือวิวาหะจะมีแก่ข้าพเจ้า ก็หามิได้ แม้พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพิมพิสารจอมทัพ พร้อมทั้งรี้พล ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ แต่ข้าพเจ้าจัดมหายัญ พระสมณโคดม ผู้ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมชื่ออาปณะตาม ลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมนั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้านิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อ เสวยภัตในวันพรุ่งนี้ ฯ ส. ท่านเกณิยะผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือ ฯ ก. ท่านเสละผู้เจริญ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ ฯ ส. ท่านเกณิยะผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือ ฯ ก. ท่านเสละผู้เจริญ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ดำริว่า แม้เสียงประกาศว่า พุทโธ หาได้ยาก ในโลก พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ซึ่งมาในมนต์ ของพวกเรา ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นใหญ่ในแผ่นดินมี มหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปรินายกแก้วเป็นที่ ๗ พระราชโอรสของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีระกษัตริย์ สามารถย่ำยีกองทัพของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ทรงครอบครอง แผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ๑ ถ้าแลเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ๑ เสลพราหมณ์ ถามว่า ท่านเกณิยะผู้เจริญ ก็บัดนี้พระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ พระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ฯ [๓๗๖] เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวา ขึ้นชี้แล้ว กล่าวกะเสลพราหมณ์ว่า ท่านเสละผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ที่ทิวไม้มีสีเขียวนั่น ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกล่าวเตือนมาณพเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงเงียบเสียง ค่อยๆ เดินตามกันมา เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนราชสีห์ ให้ยินดีได้ยาก ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลาเราสนทนากับ พระสมณโคดม ท่านทั้งหลายอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างถ้อยคำของเรา จงรอให้ ถ้อยคำของเราจบลงก่อน เสลพราหมณ์ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ ครั้นแล้ว เสลพราหมณ์ได้ตรวจดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ใน พระกายของพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยัง เคลือบแคลงสงสัยไม่เชื่อไม่เลื่อมใสในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า เสลพราหมณ์นี้ เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัยไม่เชื่อไม่เลื่อมใสในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ทันใด นั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้เสลพราหมณ์ได้เห็นพระคุยหะ เร้นอยู่ฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ กลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ กลับไปมา แผ่ปิดมณฑลพระนลาต เสลพราหมณ์ คิดว่าพระสมณโคดม ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เราไม่ทราบว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็แลเราได้ ฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระผู้มี- *พระภาคเป็นผู้พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงทำพระองค์ให้ปรากฏ ในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ ถ้ากระไรเราพึงชมเชยพระสมณโคดม เฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควร ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์มีพระกายบริบูรณ์ สวยงาม ประสูติดีแล้ว มีพระเนตรงาม มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ มีพระเขี้ยวขาวดี มีความเพียร อวัยวะใหญ่น้อยเหล่าใด มีแก่คนผู้เกิดดีแล้ว อวัยวะใหญ่น้อยเหล่านั้นทั้งหมดใน พระกายของพระองค์เป็นมหาปุริสลักษณะ พระองค์มี พระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์งาม มีกายใหญ่ตรง มีรัศมี รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางสมณสงฆ์ดังพระอาทิตย์ พระองค์เป็น ภิกษุมีพระเนตร์งาม มีพระฉวีวรรณงามเปล่งปลั่งดังทองคำ ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นสมณะของพระองค์ผู้มีวรรณะอัน อุดมอย่างนี้ พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ ในราชสมบัติ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบ- เขต ผู้ทรงชนะแล้ว ผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีปมีกษัตริย์ ประเทศราชตามเสด็จ ข้าแต่พระโคดม ขอพระองค์ทรง เป็นพระราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นจอมมนุษย์ ครอง ราชสมบัติเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า [๓๗๗] ดูกรเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาชั้นเยี่ยมเป็นพระธรรม ราชา เรายังจักรที่ใครๆ พึงให้เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไป โดยธรรม ฯ เสลพราหมณ์กราบทูลว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระธรรม ราชาชั้นเยี่ยม ข้าแต่พระโคดม พระองค์ตรัสว่า จะยังจักร ให้เป็นไปโดยธรรม ใครหนอเป็นสาวกเสนาบดีของพระองค์ ผู้ประพฤติตามพระศาสดา ใครจะยังธรรมจักรที่พระองค์ให้ เป็นไปแล้วนี้ ให้เป็นไปตาม ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต จะยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่เรา ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตาม ดูกรพราหมณ์ ธรรมที่ ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว ธรรมที่ควรให้เจริญ เราได้ให้ เจริญแล้วและธรรมที่ควรละ เราละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพระพุทธะ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัย ในเราเสีย จงน้อมใจเชื่อ การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทั้งหลายเนืองๆ เป็นกิจที่ได้โดยยาก ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระสัมมาสัมพุทธะพระองค์ใดแล หาได้ยากในโลก เรา เป็นพระสัมพุทธะองค์นั้น ผู้เป็นศัลยแพทย์ชั้นเยี่ยม เราเป็น ผู้ประเสริฐไม่มีผู้เปรียบ ย่ำยีมารแลเสนามารเสียได้ ทำปัจจา- มิตรทั้งหมดไว้ในอำนาจไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงอยู่ ฯ เสลพราหมณ์กล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังคำนี้ที่พระผู้มีพระภาคมหาวีรบุรุษ ผู้มีจักษุ ผู้เป็นศัลยแพทย์ตรัสอยู่ ดังสีหะบันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น ถึงแม้พระองค์จะเป็นผู้เกิดในสกุลต่ำทราม (ก็ตามที) ใครๆ ได้เห็นพระองค์ผู้ประเสริฐไม่มีผู้เปรียบ ย่ำยีมารและ เสนามารเสียได้ จะไม่พึงเลื่อมใส (ไม่มีเลย) ผู้ใดปรารถนา ก็จงตามเรามา หรือผู้ใดไม่ปรารถนาก็จงไปเถิด เราจักบวช ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธะผู้มีปัญญาอันประเสริฐนี้ ถ้า ท่านผู้เจริญชอบใจคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธะ อย่างนี้ ไซร้ แม้พวกเราก็จักบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธะ ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ฯ พราหมณ์ทั้ง ๓๐๐ เหล่านี้ ได้ประนมอัญชลีทูลขอว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักประพฤติพรหม- จรรย์ในสำนักของพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเสลพราหมณ์ พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ ประกอบด้วยกาล เป็นที่ออกบวชอันไม่เปล่าประโยชน์ ของ บุคคลผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่ ฯ [๓๗๘] เสลพราหมณ์พร้อมกับบริษัทได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เกณิยชฎิล สั่งให้ตกแต่ง ขาทนียะโภชนียาหารอันประณีตไว้ในอาศรมของตน เสร็จแล้วให้กราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว ลำดับ นั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไป ยังอาศรมของเกณิยชฎิล ครั้นแล้ว ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้นเกณิยชฎิล อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว เกณิยชฎิลถืออาสนะ ต่ำแห่งหนึ่ง นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่ เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข ฉันท์ทั้งหลายมีสาวิตติ ฉันท์เป็นประมุข พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สมุทรสาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย พระจันทร์เป็นประมุข ของดาวนักษัตร์ทั้งหลาย พระอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน ทั้งหลาย พระสงฆ์แล เป็นประมุขของบุคคลทั้งหลายผู้มุ่งบุญ บูชาอยู่ ฯ [๓๗๙] ครั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถา เหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ลำดับนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมด้วย บริษัท หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออก บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งๆ ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละ พร้อม ทั้งบริษัทได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ห่มจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระ ภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ทั้งหลายถึง สรณะในวันที่ ๘ แต่วันนี้ไป เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ฝึกฝนตนอยู่ในศาสนาของพระองค์ ๗ ราตรี พระ- องค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดา เป็นมุนีครอบงำมาร ทรง ตัดอนุสัยแล้ว เป็นผู้ข้ามได้เองแล้ว ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์นี้ให้ ข้ามได้ พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิได้แล้ว ทรงทำลายอาสวะ ทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงถือมั่น ทรงละความกลัวและความ ขลาดได้แล้ว ดังสีหะ ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระวีรเจ้า ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทยุคลเถิด ท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย จงถวายบังคมพระบาทยุคลของ- พระศาสดา ฯ
จบเสลสูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๙๐๐๗-๙๒๐๔ หน้าที่ ๓๙๒-๔๐๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=9007&Z=9204&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=25&A=9007&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=260              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=373              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=25&A=9075              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5919              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=25&A=9075              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5919              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/snp3.7/en/mills-sujato https://suttacentral.net/snp3.7/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]