ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สีหสูตร
[๑๐๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน ใกล้นครเวสาลี สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่ง ประชุมกันที่สัณฐาคาร กล่าวสรรเสริญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดย อเนกปริยาย ฯ ก็สมัยนั้นแล สีหเสนาบดี สาวกของนิครนถ์นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ลำดับนั้น สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จริงอย่างนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อจำนวนมาก ประชุมกันที่สัณฐาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดย อเนกปริยาย ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นเถิด ลำดับนั้น สีหเสนาบดีเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ครั้น แล้ว จึงกล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้า ไปเฝ้าพระสมณโคดม ฯ นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า ดูกรสีหะ ก็ท่านเป็นกิริยวาท จักเข้าไปเฝ้า พระสมณโคดมผู้เป็นอกิริยวาททำไม เพราะพระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท จึงแสดง ธรรมเพื่ออกิริยวาท และแนะนำพวกสาวกด้วยอกิริยวาทนั้น ครั้งนั้น การตระ เตรียมที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดี ระงับไป ฯ แม้ครั้งที่สอง เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ได้นั่งประชุมกันที่ สัณฐาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย แม้ครั้งที่สอง สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จัก เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย ... การตระเตรียมที่จะเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีระงับไป ฯ แม้ครั้งที่สาม เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่งประชุมกันที่ สัณฐาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย แม้ครั้งที่สาม สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จัก เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จริงอย่างนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มี ชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่งประชุมกันที่สัณฐาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย พวกนิครนถ์ทั้งหลาย เราจะลาหรือไม่ลา จักทำอะไรเราได้ ผิฉะนั้นเราจะไม่ลาละ พึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ฯ ลำดับนั้น สีหเสนาบดีออกจากกรุงเวสาลี ในเวลายังวัน พร้อมด้วยรถ ประมาณ ๕๐๐ คัน เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นไปด้วยยานเท่าที่ยานจะ ไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปยังอาราม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณ- *โคดมเป็นอกิริยวาท ย่อมแสดงธรรมเพื่ออกิริยวาท และแนะนำสาวกด้วย อกิริยวาทนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม เป็นอกิริยวาท ย่อมแสดงธรรมเพื่ออกิริยวาท และแนะนำสาวกด้วยอกิริยวาทนั้น คนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว มิใช่กล่าวตู่พระผู้มี พระภาคด้วยคำอันไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมหรือ การคล้อยตาม วาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ จะไม่มาถึงฐานะอันสมควรติเตียนแลหรือ เพราะ ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณ- *โคดมเป็นอกิริยวาท ผู้กล่าวกรรมอันบุคคลทำอยู่ว่า ไม่เป็นอันทำ แสดงธรรม- *เพื่ออกิริยวาท และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยอกิริยาวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ นั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นกิริยวาท ผู้กล่าวกรรมอัน บุคคลทำอยู่ว่า เป็นอันทำ ย่อมแสดงธรรมเพื่อกิริยวาทและแนะนำสาวกทั้งหลาย ด้วยกิริยวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอุจเฉทวาท ผู้กล่าวความ ขาดสูญ ย่อมแสดงธรรมเพื่ออุจเฉทวาท และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยอุจเฉทวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นเชคุจฉี คนช่างเกลียด ย่อมแสดงธรรมเพื่อเชคุจฉี และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยเชคุจฉี ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นเวนยิกะ คนกำจัด ย่อม แสดงธรรมเพื่อกำจัด และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าว ชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นตปัสสี คนเผาผลาญ ย่อม แสดงธรรมเพื่อเผาผลาญ และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอัปปคัพภะ ไม่ผุดไม่เกิด ย่อมแสดงธรรมเพื่อไม่ผุดไม่เกิด และแนะนำพวกสาวกทั้งหลายด้วยการไม่ผุดไม่ เกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอัสสัตถะ คนใจเบา ย่อม แสดงธรรมเพื่อความใจเบา และแนะนำสาวกทั้งหลาย ด้วยการใจเบา ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น มีอยู่ ฯ ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท ย่อม แสดงธรรมเพื่ออกิริยวาท และแนะนำพวกสาวกด้วยอกิริยวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าว ชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโน ทุจริต เรากล่าวการไม่ทำซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเป็นเหตุที่ เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท ย่อมแสดงธรรมเพื่ออกิริยวาท และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยอกิริยวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นกิริยวาท ย่อม แสดงธรรมเพื่อกิริยวาท และแนะนำพวกสาวกด้วยกิริยวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าว ชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโน สุจริต กล่าวการทำกุศลธรรมหลายอย่าง นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระ สมณโคดมเป็นกิริยวาท ย่อมแสดงธรรมเพื่อกิริยวาท และแนะนำสาวกทั้งหลาย ด้วยกิริยวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นอุจเฉทวาท ย่อม แสดงธรรมเพื่ออุจเฉทวาท และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยอุจเฉทวาท ดังนี้ ชื่อ ว่ากล่าวชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ และธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าว หาเราว่าพระสมณโคดมเป็นอุจเฉทวาท ย่อมแสดงธรรมเพื่ออุจเฉทวาทและแนะนำ สาวกทั้งหลายด้วยอุจเฉทวาท ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนช่างเกลียด ย่อมแสดงธรรมเพื่อความช่างเกลียด และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยความ ช่างเกลียด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้นเป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเราเกลียดชัง กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และเกลียดชังการเข้าถึงธรรมอันเป็นบาปอกุศล หลายอย่าง นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนช่างเกลียด ย่อมแสดงธรรมเพื่อความช่างเกลียด และแนะนำสาวกด้วยความช่างเกลียด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกำจัด ย่อม แสดงธรรมเพื่อกำจัด และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าว ชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกำจัด ย่อมแสดงธรรมเพื่อกำจัด และแนะนำสาวก ทั้งหลายด้วยการกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนเผาผลาญ ย่อมแสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวธรรมอันเป็นบาป อกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมควรเผาผลาญ ดูกรสีหะ ผู้ใดแลละธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่ควรเผาผลาญได้แล้ว ตัดรากขาด แล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้เผาผลาญ ดูกรสีหะ ตถาคตละธรรมอันเป็นบาปอกุศล ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด อีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคน เผาผลาญ ย่อมแสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วย การเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด ย่อมแสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดไม่เกิด และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการไม่ผุด ไม่เกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ ผู้ใดแลละการนอน ในครรภ์ การเกิดในภพใหม่ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า ผู้ไม่ผุด ไม่เกิด ตถาคตละการนอนในครรภ์ การเกิดในภพใหม่ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด ย่อมแสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการไม่ผุดไม่เกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ ฯ ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนใจเบา ย่อมแสดงธรรมเพื่อความใจเบา และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการใจเบา ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้น เป็นไฉน ดูกรสีหะ เพราะเราเป็นคนใจเบา ย่อมแสดงธรรม เพื่อความใจเบา ด้วยความใจเบา๑- อย่างยิ่ง และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการ ใจเบา นี้แลเป็นเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนใจเบา ย่อม แสดงธรรมเพื่อความใจเบา และแนะนำสาวกทั้งหลายด้วยการใจเบา ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวชอบ ฯ ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงกระทำ การใคร่ครวญ ก่อนแล้วกระทำ เป็นความดีของคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พอใจชื่นใจอย่างล้นเหลือต่อ พระผู้มีพระภาค แม้ด้วยพระดำรัสที่ตรัสกะข้าพระองค์ว่า ดูกรสีหะ ท่านจง ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงกระทำ การใคร่ครวญก่อนแล้วกระทำ เป็นความดีของ คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว พึงยกธงเที่ยวประกาศทั่วเมืองเวสาลีว่า สีหเสนาบดียอมเป็นสาวกพวกเราแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคกลับตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรสีหะ ท่านจงใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วจึงกระทำ การใคร่ครวญก่อนแล้วกระทำ เป็นความดีของคนที่มีชื่อ @๑. เบาจากกิเลสด้วยมรรค ๔ ผล ๔ เสียงเช่นท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่สอง ขอพระผู้มีพระภาคโปรด ทรงจำข้าพระองค์ไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ พ. ดูกรสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มา นานแล้ว ท่านควรสำคัญบิณฑบาตที่ท่านจะพึงให้แก่พวกนิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้า ไปแล้ว ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พอใจชื่นใจอย่างล้นเหลือต่อ พระผู้มีพระภาค แม้ด้วยพระดำรัสที่ตรัสกะข้าพระองค์ว่า ดูกรสีหะ ตระกูล ของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านควรสำคัญบิณฑบาต ที่ท่านจะพึงให้แก่พวกนิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า พระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่สาวกของ พวกอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ให้แก่พวกอื่นไม่มีผลมาก ให้แก่สาวก ของเราเท่านั้นมีผลมาก ให้แก่สาวกของพวกอื่นไม่มีผลมาก แต่พระผู้มีพระภาค กลับตรัสชักชวนข้าพระองค์ในการให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์ด้วย อนึ่ง ข้าพระองค์ จักรู้กาลอันควร ที่จะให้ทานนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึง พระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่สาม ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาโปรดสีหเสนาบดี คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และอานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใด พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สีหเสนาบดี มีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ บันเทิง เลื่อมใสแล้ว เมื่อนั้น จึงทรง ประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงเอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ สีหเสนาบดี ณ ที่นั่งนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากดำ จะพึงย้อมติดดี ฉะนั้น ฯ ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีผู้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรม แล้ว หยั่งซึ้งถึงธรรมแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ เคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในพระศาสนา ของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ ผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์รับนิมนต์ฉันอาหารบิณฑบาตในวันพรุ่งนี้ พระผู้มี พระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ฯ ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้น แล สีหเสนาบดีเรียกชายคนหนึ่งมาบอกว่า พ่อมหาจำเริญ พ่อจงไปหาเนื้อ เลือกเอาเฉพาะที่ขายทั่วไป พอล่วงราตรีนั้น สีหเสนาบดีสั่งให้จัดขาทนียโภชนี- *ยาหารอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตนแล้ว ให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่ พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้วพระเจ้าข้า ภัตตาหารใน นิเวศน์ของท่านสีหเสนาบดีสำเร็จแล้ว ฯ ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสีหเสนาบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ก็สมัยนั้น นิครนถ์เป็นจำนวนมาก พากันประคองแขน คร่ำครวญตามถนนต่างๆ ตามสี่แยกต่างๆ ในกรุงเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดี ฆ่าสัตว์อ้วนพีปรุงเป็นภัตตาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้ ทรงฉันอุทิศมังสะที่เขาอาศัยตนทำ ฯ ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดีกระซิบบอกว่า พระเดช พระคุณได้โปรดทราบ นิครนถ์เป็นจำนวนมากเหล่านี้ พากันประคองแขน คร่ำครวญตามถนนต่างๆ ตามสี่แยกต่างๆ ในกรุงเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดี ฆ่าสัตว์อ้วนพีปรุงเป็นภัตตาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ ทรงฉันอุทิศมังสะที่เขาอาศัยตนทำ ฯ สีหเสนาบดีกล่าวว่า อย่าเลย เพราะเป็นเวลานานมาแล้วที่พระคุณเจ้า เหล่านั้น ใคร่จะกล่าวโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ท่านเหล่านี้ไม่ กระดากอายเสียเลย ย่อมกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง เป็นคำ ไม่มี คำเปล่า คำเท็จ และเราเองก็หาได้แกล้งปลงชีวิตสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่ง ชีวิตไม่ ลำดับนั้น สีหเสนาบดีได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน และเมื่อ พระผู้มีพระภาคฉันเสร็จแล้ว ชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว สีหเสนาบดี นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจง สีหเสนาบดี ผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่นั่งหลีกไป ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๓๖๕๙-๓๘๖๑ หน้าที่ ๑๕๙-๑๖๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=3659&Z=3861&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=23&A=3659&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=85              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=102              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=3886              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5124              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=3886              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5124              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i101-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an8.12/en/sujato https://suttacentral.net/an8.12/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]