ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๘. มหาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ
[๔๓๑] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะถือมั่นอะไร เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีแบบอย่างอันใครเนรมิต เป็นสภาพไม่มีผล ตั้งอยู่ มั่นคง ดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่ เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์แก่กันและกัน. สภาวะ ๗ กองเป็นไฉน? คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ. สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบ อย่างอันใครทำ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีแบบอย่างอันใครเนรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจ ยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่ เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์แก่กันและกัน. แม้ผู้ใดจะเอาศัสตราอย่างคมตัด ศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร. เป็นแต่ศัสตราสอดเข้าไปตามช่องระหว่าง ๗ กองเท่านั้น. อนึ่ง กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๖,๐๐๐ กรรม ๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ กรรมกึ่ง ปฏิปทา ๖๒ อันตร ๖๒ กัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวะ ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐครรภ์ ๗ สภาวทิพย์ ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏใหญ่ ๗ ปวุฏ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ๘๔๐,๐๐๐ เหล่านี้ ทั้งพาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ ความหวังว่า เราจักอบรมกรรมที่ ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้วจักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสงสารด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อม และความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นและเลื่อนลง. พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไปย่อมคลี่หมดลงไปเอง ฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป จึงเกิดทิฏฐิขึ้น อย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิต เร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไปย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น. เมื่อ เวทนามีอยู่ ... เมื่อสัญญามีอยู่ ... เมื่อสังขารมีอยู่ ... เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่าง อันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้าง ไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น. [๔๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่ เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นในสิ่ง นั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์ เองเหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่ หมดไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม? ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมด ไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม? ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า. พ. สิ่งใดที่ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว แสวงหา แล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ แม้สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ฯลฯ พาลและบัณฑิตเร่ร่อนไป เสวยสุขและทุกข์เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมด ไปเอง ฉะนั้น บ้างไหม? ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ นี้ ชื่อว่าเป็น อันละความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
จบ สูตรที่ ๘.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๕๑๔๓-๕๒๐๗ หน้าที่ ๒๒๔-๒๒๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=5143&Z=5207&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=17&A=5143&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=211              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=431              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=17&A=5251              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=8213              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=17&A=5251              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=8213              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i417-e.php#sutta8 https://suttacentral.net/sn24.8/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]