ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
มูลเหตุอาจริยวัตร
[๔๔๒] สมัยนั้น อันเตวาสิกทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในพระอาจารย์ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน อันเตวาสิกทั้งหลาย จึงไม่ประพฤติชอบในพระอาจารย์ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า อันเตวาสิก ทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติอาจริยวัตรแก่ภิกษุอันเตวาสิก ทั้งหลาย โดยประการที่ภิกษุอันเตวาสิกทั้งหลายพึงประพฤติชอบในอาจารย์ ฯ
อาจริยวัตร
[๔๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์ วิธี ประพฤติชอบในอาจารย์นั้น ดังต่อไปนี้:- อันเตวาสิกพึงลุกแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้ว ถวายไม้ ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้ ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะเสียก่อน แล้ว น้อมยาคูเข้าไป เมื่ออาจารย์ดื่มยาคูแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมา ถือต่ำๆ ล้างให้เรียบร้อย อย่าให้กระทบแล้วเก็บไว้ เมื่ออาจารย์ลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย ถ้าอาจารย์ประสงค์จะเข้าบ้าน พึงถวายผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงถวาย ประคดเอว พึงซ้อนผ้าห่มสองชั้นถวาย พึงล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ถ้า อาจารย์ปรารถนาจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงปกปิดกายให้มีมณฑลสาม นุ่งให้เป็น ปริมณฑลคาดประคดเอว ซ้อนผ้าห่มสองชั้น ห่มคลุม กลัดลูกดุม ล้างบาตร แล้วถือไป เป็นปัจฉาสมณะของอาจารย์ ไม่พึงเดินให้ห่างนัก ให้ชิดนัก พึงรับ วัตถุที่เนื่องในบาตร เมื่ออาจารย์กำลังพูด ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ อาจารย์ กล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย เมื่อกลับ พึงกลับมาก่อน แล้วปูอาสนะ ไว้ พึงวางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ พึงลุกรับบาตร จีวร พึงถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดสักครู่หนึ่ง แต่อย่า ผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับจีวร พึงพับให้เหลื่อมมุมกันสี่นิ้ว ด้วยตั้งใจ มิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงสอดประคดเอวไว้ในขนดจีวร ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ประสงค์จะฉัน พึงถวายน้ำ แล้วน้อม บิณฑบาตเข้าไป พึงถามอาจารย์ถึงน้ำฉัน เมื่ออาจารย์ฉันแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา ถือต่ำๆ ล้างให้เรียบร้อย อย่าให้กระทบ ล้างเช็ดให้หมดน้ำ แล้ว พึงผึ่งไว้ที่แดดสักครู่หนึ่ง แต่อย่าผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียง หรือใต้ตั่งแล้วเก็บบาตร แต่อย่าเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่ง ถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ขนด ไว้ข้างใน แล้วเก็บเถิด เมื่ออาจารย์ลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่ง รองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย ถ้าอาจารย์ใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัด น้ำเย็นถวาย ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนถวาย ถ้าอาจารย์ใคร่จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วเดินตามหลังอาจารย์ไป ถวายตั่ง สำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงถวายจุณ ถวายดิน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปกปิดทั้ง ข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ อย่านั่งเบียดภิกษุผู้เถระ อย่าเกียดกัน อาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์ในเรือนไฟ เมื่อออกจากเรือนไฟ พึง ถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปกปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง ออกจากเรือนไฟ พึงทำ บริกรรมแก่อาจารย์แม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้วพึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้แห่งน้ำ นุ่งผ้าแล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวของอาจารย์ พึงถวายผ้านุ่ง ผ้าสังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ เรือนไฟมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงวางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไว้ใกล้ๆ พึงถามอาจารย์ด้วยน้ำดื่ม ถ้าประสงค์จะเรียนบาลี พึงขอให้อาจารย์แสดงบาลีขึ้น ถ้าประสงค์จะ สอบถามอรรถกถา พึงสอบถาม อาจารย์อยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตร จีวร ออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงขนผ้าปูนั่งและผ้าปูนอน ขนฟูก หมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เตียง ตั่ง อันเตวาสิกพึงยกต่ำๆ ทำให้เรียบ ร้อย อย่าให้ครูดสีกระทบกระแทกบานและกรอบประตู ตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง เขียงรองเท้าเตียง กระโถน พนักอิง พึงขนออกไปวางไว้ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและ มุมห้อง พึงเช็ดเสีย ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึง เอาผ้าชุบน้ำบิดเช็ดเสีย ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้ว เช็ดเสีย ระวัง อย่าให้ฝุ่นฟุ้ง พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เครื่องปูพื้น พึง ผึ่งแดดชำระเคาะปัด แล้วขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเท้าเตียง พึงผึ่งแดดขัด เช็ด แล้วขนกลับไปตั้งไว้ ณ ที่เดิม เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะ ยกต่ำๆ ทำให้ดี อย่าให้ครูดสีกระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับจัดตั้งไว้ตาม เดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน กระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด ชำระ ล้าง ตบ ปัดเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อจะเก็บ บาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียง หรือใต้ตั่งแล้ว เก็บบาตร แต่อย่าเก็บบาตรบนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือ ข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างใน เก็บจีวรเถิด ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิด หน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้า พัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่าง ด้านใต้ ถ้าฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงปิดเสีย ถ้าฤดูร้อน กลางวันพึงปิด กลางคืนพึงเปิด ถ้าบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎีรก พึงปัดกวาดเสีย ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักมาไว้ในหม้อชำระ ถ้าความกระสันบังเกิดแก่อาจารย์ อันเตวาสิกพึงช่วยระงับ หรือพึงวาน ภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงทำธรรมกถาแก่อาจารย์นั้น ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่ อาจารย์ อันเตวาสิกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึง ทำธรรมกถาแก่อาจารย์นั้น ถ้าทิฐิบังเกิดแก่อาจารย์ อันเตวาสิกพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมกถาแก่อาจารย์นั้น ถ้าอาจารย์ต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อันเตวาสิก พึงทำความ ขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อาจารย์ ถ้าอาจารย์ควร แก่การซักเข้าหาอาบัติเดิม อันเตวาสิกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไร หนอ สงฆ์พึงชักอาจารย์เข้าในอาบัติเดิม ถ้าอาจารย์ควรแก่มานัต อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อาจารย์ ถ้า อาจารย์ควรอัพภาน อันเตวาสิกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอาจารย์ ถ้าสงฆ์ใคร่จะทำกรรมแก่อาจารย์ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อาจารย์ หรือสงฆ์พึงน้อมไป เพื่อกรรมเบา หรืออาจารย์นั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยส- *กรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อาจารย์พึงประพฤติชอบ หาย เย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องซัก อันเตวาสิกพึงซัก หรือพึงทำความขวน ขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอาจารย์ ถ้าจีวรของอาจารย์ จะต้องทำ อันเตวาสิกพึงทำ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงทำจีวรของอาจารย์ ถ้าน้ำย้อมของอาจารย์จะต้องต้ม อันเตวาสิก พึงต้ม เอง หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อม ของอาจารย์ ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิกพึงย้อม หรือพึงทำความ ขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์ เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดี เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสายอย่าพึงหลีก ไปเสีย อันเตวาสิกไม่บอกอาจารย์ก่อน อย่าให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป อย่ารับบาตร อย่าให้จีวร อย่ารับจีวร อย่าให้บริขาร อย่ารับบริขารของภิกษุบางรูป อย่าปลงผม ให้แก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ อย่าทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ อย่าทำความขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ ภิกษุบางรูปทำความขวนขวาย อย่าเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป อย่าพาภิกษุ บางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ อย่านำบิณฑบาตไปให้แก่ภิกษุบางรูป อย่าให้ภิกษุ บางรูปนำบิณฑบาตมาให้ อันเตวาสิกไม่บอกลาอาจารย์ก่อน อย่าเข้าบ้าน อย่าไปป่าช้า อย่าหลีก ไปสู่ทิศ ถ้าอาจารย์อาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นอาจาริยวัตรของอันเตวาสิกทั้งหลาย ซึ่ง อันเตวาสิกทั้งหลายพึงประพฤติชอบในอาจารย์ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๔๙๗๑-๕๐๘๖ หน้าที่ ๒๐๖-๒๑๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=4971&Z=5086&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=7&A=4971&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=70              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=442              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=7&A=5203              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=7&A=5203              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd18/en/brahmali#pli-tv-kd18:12.11.13.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd18/en/horner-brahmali#BD.5.321

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]