ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ภิกษุมีอาบัติห้ามปวารณา
[๒๔๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์มีอาบัติติดตัวได้ปวารณา. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงปวารณา รูปใดปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีอาบัติติดตัวปวารณา รูปนั้นทำโอกาส โจทด้วยอาบัติ. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อันสงฆ์ให้ทำโอกาส ก็ไม่ปรารถนาจะทำโอกาส. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้งดปวารณาของภิกษุผู้ไม่ยอมทำโอกาส.
วิธีงดปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงงดปวารณาอย่างนี้:- เมื่อถึงวันปวารณา ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ เมื่อบุคคลนั้นอยู่พร้อมหน้า ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บุคคลมีชื่อนี้ มีอาบัติติดตัวปวารณา ข้าพเจ้า ของดปวารณาของเธอเสีย เมื่อเธอยังอยู่พร้อมหน้า สงฆ์ไม่พึงปวารณา. เท่านี้ เป็นอันงดปวารณาแล้ว. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์หารือกันว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก งดปวารณาของ พวกเราก่อน ดังนี้ จึงรีบงดปวารณาของภิกษุที่บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติเสียก่อน เพราะเรื่องอันไม่ สมควร เพราะเหตุอันไม่สมควร แม้ปวารณาของภิกษุที่ปวารณาแล้วก็งดด้วย. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงงดปวารณา ของภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องอันไม่สมควร เพราะเหตุ อันไม่สมควร รูปใดงด ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง แม้ปวารณาของภิกษุ ที่ปวารณาแล้ว ก็ไม่พึงงด รูปใดงด ต้องอาบัติทุกกฏ.
ลักษณะปวารณาที่ไม่เป็นอันงด
[๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ปวารณาเป็นอันงด อย่างนี้ไม่เป็นอันงด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปวารณาไม่เป็นอันงดอย่างไรเล่า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณา ๓ หน อันภิกษุกล่าวว่าจบแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณา ๒ หน .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณาหนเดียว .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณามีพรรษาเท่ากัน อันภิกษุกล่าวว่าจบแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ปวารณาไม่เป็นอันงด.
ลักษณะปวารณาเป็นอันงด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปวารณาเป็นอันงดอย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณา ๓ หน อันภิกษุกล่าวว่ายังไม่ทันจบ จึงงดปวารณา ปวารณาเป็นอันงด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณา ๒ หน .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณาหนเดียว .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อปวารณามีพรรษาเท่ากันอันภิกษุกล่าวว่ายังไม่ทันจบ จึงงด ปวารณา ปวารณาเป็นอันงด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ปวารณาเป็นอันงด.
ภิกษุผู้งดปวารณา
[๒๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้ งดปวารณาของภิกษุ เสีย. ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุรูปนั้นว่า ท่านองค์นี้แล มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูกซักถาม ไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซักถาม. สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า อย่าเลย ภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน อย่าทะเลาะ กัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย ดังนี้ แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้งดปวารณาของภิกษุเสีย. ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุรูปนั้นว่า ท่านองค์นี้แล มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ แต่มีความ ประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูกซักถาม ก็ไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซักถาม. สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า อย่าเลย ภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน อย่าทะเลาะ กัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย ดังนี้ แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้งดปวารณาของภิกษุเสีย. ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุรูปนั้นว่า ท่านองค์นี้แล มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติ ทางวาจาบริสุทธิ์ แต่มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูกซักถาม ก็ไม่อาจให้ คำตอบข้อที่ซักถาม. สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า อย่าเลย ภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย ดังนี้ แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้งดปวารณาของภิกษุเสีย. ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุรูปนั้นว่า ท่านองค์นี้แล มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติ ทางวาจาบริสุทธิ์ มีอาชีวะบริสุทธิ์ แต่เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูกซักถาม ก็ไม่อาจให้คำตอบ ข้อที่ซักถาม. สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า อย่าเลย ภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน อย่าทะเลาะกัน อย่า แก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย ดังนี้ แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เมื่อถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้ งดปวารณาของภิกษุ เสีย. ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุรูปนั้นว่า ท่านองค์นี้แล มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความ ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีอาชีวะบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เมื่อถูกซักถาม สามารถให้คำตอบข้อที่ซักถามได้. ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส คุณงด ปวารณาของภิกษุรูปนี้เพราะอะไร? งดเพราะศีลวิบัติหรือ? งดเพราะอาจารวิบัติหรือ? งดเพราะทิฏฐิวิบัติหรือ? หากเธอจะพึงตอบ อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้างดเพราะศีลวิบัติ ข้าพเจ้า งดเพราะอาจารวิบัติ ข้าพเจ้างดเพราะทิฏฐิวิบัติ. เธออันสงฆ์พึงถาม อย่างนี้ว่า คุณรู้จัก ศีลวิบัติ รู้จักอาจารวิบัติ รู้จักทิฏฐิวิบัติหรือ? หากเธอจะพึงตอบ อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้จักศีลวิบัติ รู้จักอาจารวิบัติ รู้จักทิฏฐิวิบัติ. เธออันสงฆ์พึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ศีลวิบัติเป็นอย่างไร? อาจารวิบัติเป็นอย่างไร? ทิฏฐิวิบัติเป็นอย่างไร? หากเธอ จะพึงตอบ อย่างนี้ว่า ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นี้ชื่อว่าศีลวิบัติ ถุลลัจจัย ปาจิตติยะ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต นี้ชื่อว่าอาจารวิบัติ มิจฉาทิฏฐิ อันตคาหิกทิฏฐิ นี้ชื่อว่า ทิฏฐิวิบัติ. เธออันสงฆ์พึงถาม อย่างนี้ว่า อาวุโส คุณงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยเหตุอะไร? งดด้วยได้เห็นหรือ? งดด้วยได้ฟังหรือ? งดด้วยสงสัยหรือ?. หากเธอจะพึงตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้างดด้วยได้เห็นก็ดี ข้าพเจ้างดด้วยได้ฟังก็ดี ข้าพเจ้างดด้วยสงสัยก็ดี. เธออันสงฆ์พึงถาม อย่างนี้ว่า อาวุโส คุณงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยได้เห็นอย่างไร? คุณเห็นอะไร? คุณเห็นว่า อย่างไร? คุณเห็นเมื่อไร? คุณเห็นที่ไหน? ภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิก คุณเห็นหรือ? ภิกษุนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คุณเห็นหรือ? ภิกษุนี้ต้องอาบัติถุลลัจจัย .... อาบัติปาจิตติยะ .... อาบัติ ปาฏิเทสนียะ .... อาบัติทุกกฏ .... อาบัติทุพภาสิต คุณเห็นหรือ? คุณอยู่ที่ไหน? และภิกษุนี้ อยู่ที่ไหน? คุณทำอะไรบ้าง? ภิกษุนี้ทำอะไรบ้าง?. หากเธอจะพึงตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้งดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยได้เห็น แต่งดปวารณาด้วยได้ฟังต่างหาก. เธออันสงฆ์พึง ถามอย่างนี้ว่า อาวุโส คุณงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยได้ฟังมาอย่างไร? คุณได้ฟังเรื่องอะไร? คุณได้ฟังมาว่าอย่างไร? คุณได้ฟังมาเมื่อไร? คุณได้ฟังที่ไหน? คุณได้ฟังว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติ- *ปาราชิกหรือ? ได้ฟังว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือ? ได้ฟังว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติถุลลัจจัย .... อาบัติปาจิตติยะ .... อาบัติปาฏิเทสนียะ .... อาบัติทุกกฏ .... อาบัติทุพภาสิตหรือ? ได้ฟังมาจากภิกษุ หรือ? ได้ฟังมาจากภิกษุณีหรือ? ได้ฟังมาจากสิกขมานาหรือ? ได้ฟังมาจากสามเณรหรือ? ได้ฟังมาจากสามเณรีหรือ? ได้ฟังมาจากอุบาสกหรือ? ได้ฟังมาจากอุบาสิกาหรือ? ได้ฟังมาจาก พระราชาหรือ? ได้ฟังมาจากราชมหาอำมาตย์หรือ? ได้ฟังมาจากพวกเดียรถีย์หรือ? ได้ฟังมาจาก พวกสาวกเดียรถีย์หรือ?. หากเธอจะพึงตอบ อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้งดปวารณา ของภิกษุนี้ด้วยได้ฟัง แต่ข้าพเจ้างดปวารณาด้วยสงสัยต่างหาก. เธออันสงฆ์พึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโส คุณงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยสงสัยอย่างไร? คุณสงสัยอะไร? สงสัยว่าอย่างไร? สงสัยเมื่อไร? สงสัยที่ไหน? คุณสงสัยว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิกหรือ? สงสัยว่าภิกษุนี้ต้อง อาบัติสังฆาทิเสสหรือ? สงสัยว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติถุลลัจ .... อาบัติปาจิตติยะ .... อาบัติปาฏิเทสนียะ .... อาบัติทุกกฏ .... อาบัติทุพภาสิตหรือ? คุณฟังมาจากภิกษุแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากภิกษุณี แล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากสิกขมานาแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากสามเณรแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากสามเณรีแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากอุบาสกแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากอุบาสิกา แล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากพระราชาแล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากราชมหาอำมาตย์แล้วสงสัย หรือ? คุณฟังมาจากพวกเดียรถีย์แล้วสงสัยหรือ? คุณฟังมาจากพวกสาวกเดียรถีย์แล้วสงสัย หรือ? หากเธอจะพึงตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้งดปวารณาของภิกษุนี้ด้วย สงสัย ความจริงแม้ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบว่า เรางดปวารณาของภิกษุนี้เสียด้วยเหตุไรเล่า?.
ฟังคำปฏิญาณของโจทก์และจำเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุโจทก์นั้นตอบข้อซักถามไม่เป็นที่พอใจของสพรหมจารีผู้รู้ ทั้งหลาย สงฆ์ควรบอกว่า คุณไม่ควรฟ้องภิกษุจำเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุโจทก์นั้นตอบข้อซักถามเป็นที่พอใจของสพรหมจารีผู้รู้ ทั้งหลาย สงฆ์ควรบอกว่า คุณควรฟ้องภิกษุจำเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุโจทก์นั้นปฏิญาณว่า ตนตามกำจัดด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล สงฆ์พึงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุโจทก์นั้นปฏิญาณว่า ตนตามกำจัดด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มี มูล สงฆ์พึงปรับอาบัติตามธรรมแล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุโจทก์นั้นปฏิญาณว่า ตนตามกำจัดด้วยอาบัติถุลลัจจัยไม่มีมูล .... ด้วยอาบัติปาจิตติยะ .... ด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ .... ด้วยอาบัติทุกกฏ .... ด้วยอาบัติทุพภาสิตไม่มีมูล สงฆ์พึงปรับอาบัติตามธรรม แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุจำเลยนั้นปฏิญาณว่า ตนต้องอาบัติปาราชิก สงฆ์พึงนาสนะ เสีย แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุจำเลยนั้นปฏิญาณว่า ตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส สงฆ์พึง ปรับอาบัติสังฆาทิเสส แล้วจึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุจำเลยนั้นปฏิญาณว่า ตนต้องอาบัติถุลลัจจัย .... อาบัติปาจิตติยะ .... อาบัติปาฏิเทสนียะ .... อาบัติทุกกฏ .... อาบัติทุพภาสิต สงฆ์พึงปรับอาบัติตามธรรม แล้วปวารณา เถิด.
มีความเห็นไม่ตรงกันในอาบัติที่ต้อง
[๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ในวันปวารณา. ภิกษุบางพวกมีความเห็นว่า ต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่มีความเห็นว่า ต้องอาบัติถุลลัจจัย พึงนำภิกษุรูปนั้น ออกไปในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปรับอาบัติตามธรรม แล้วเข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติใดแล อาบัตินั้นเธอทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของ สงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ในวันปวารณา. ภิกษุ บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติปาจิตติยะ บางพวก มีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ บางพวกมีความ เห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุกกฏ บางพวกมีความเห็นว่าต้อง อาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่มีความเห็นว่า ต้องอาบัติถุลลัจจัย พึงนำภิกษุรูปนั้น ออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปรับอาบัติตามธรรมแล้ว เข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติใดแล อาบัตินั้นเธอทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของ สงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ ต้องอาบัติปาจิตติยะ .... ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ .... ต้องอาบัติทุกกฏ .... ต้องอาบัติทุพภาสิต ในวันปวารณา. ภิกษุบางพวกมีความเห็นว่าต้อง อาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต พึงนำภิกษุรูปนั้นออกไปใน ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปรับอาบัติตามธรรมแล้ว เข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติใดแล อาบัตินั้นเธอทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ ต้องอาบัติทุพภาสิตในวันปวารณา. ภิกษุ บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวก มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติปาจิตติยะ บางพวกมีความ เห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ บางพวกมีความเห็นว่า ต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต พึงนำภิกษุรูปนั้นออก ไปในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปรับอาบัติตามธรรมแล้ว เข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติใดแล อาบัตินั้นเธอทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา.
วัตถุและบุคคลปรากฏ
[๒๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในวัน ปวารณาว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุนี้ปรากฏ บุคคลไม่ปรากฏ ถ้าความ พร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงงดวัตถุ แล้วปวารณาเถิด. ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้สำหรับ ภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ถ้าวัตถุปรากฏ บุคคลไม่ปรากฏ เธอจงระบุคคลนั้นมาเดี๋ยวนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ในวันปวารณาว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บุคคลนี้ปรากฏ วัตถุไม่ปรากฏ ถ้าความพร้อม พรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงงดบุคคล แล้วปวารณาเถิด. ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้สำหรับ ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ถ้าบุคคลปรากฏ วัตถุไม่ปรากฏ เธอจงระบุวัตถุนั้นมาเดี๋ยวนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ในวันปวารณาว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุและบุคคลนี้ปรากฏ ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงงดวัตถุและบุคคลแล้ว ปวารณาเถิด. ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้ สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ และพร้อมเพรียงกัน ถ้าวัตถุและบุคคลปรากฏ เธอจงระบุวัตถุ และบุคคลนั้นมาเดี๋ยวนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากวัตถุปรากฏก่อนปวารณา ภายหลังบุคคลจึงปรากฏ ควรพูดขึ้น. หากบุคคลปรากฏก่อนปวารณา ภายหลังวัตถุจึงปรากฏ ก็ควรพูดขึ้น. หากวัตถุและบุคคลปรากฏ ก่อนปวารณา. ถ้าเมื่อทำปวารณาแล้ว ฟื้นเรื่องนั้นขึ้นเป็นปาจิตติยะ เพราะฟื้นเรื่องขึ้น.
ภิกษุก่อความบาดหมางเป็นต้น
[๒๕๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันที่เคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท ณ สถานที่ใกล้เคียงของภิกษุเหล่านั้น มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อ ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษา อยู่ด้วยประสงค์ว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย. ภิกษุเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า ณ สถานที่ใกล้เคียงของพวกเรา มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษาอยู่ ด้วยมุ่งหมายว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้ พวกเราจะพึง ปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ มากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง. ณ สถานที่ใกล้เคียงของภิกษุเหล่านั้น มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อความ บาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษาอยู่ ด้วยมุ่งหมายว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของพวกภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทำอุโบสถ ๒ คือ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือ ๓ อุโบสถ คือ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ให้เป็นอุโบสถ ๑๔ ค่ำ ด้วยประสงค์ว่า ไฉนพวกเราพึงปวารณา ก่อนภิกษุเหล่านั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น มาสู่อาวาส ภิกษุพวกเจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงรีบประชุม ปวารณาเสียโดยเร็ว ครั้นแล้วพึงแจ้งว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกเราปวารณากันเสร็จแล้ว ท่านทั้งหลายจะสำคัญสถานใด ก็จงทำสถานนั้นเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น ไม่แจ้งให้ทราบก่อนมาสู่อาวาสนั้น พวกภิกษุ เจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นแล้ว รับบาตรจีวร พึงต้อนรับด้วยน้ำดื่ม. พึงเสแสร้งกล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วไปปวารณานอกสีมา. ครั้นแล้วพึงแจ้งว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกเราปวารณากันเสร็จแล้ว ท่านทั้งหลายจะสำคัญสถานใด ก็จงทำสถานนั้นเถิด. ถ้าได้วิธีการนั้นอย่างนี้ การได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ภิกษุ เจ้าถิ่นผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเจ้าถิ่นทั้งหลายทราบว่า ขอท่านเจ้าถิ่นทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ในบัดนี้ พึงปวารณาในวันกาฬปักที่จะมาถึงเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด. พวกเธออันภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของพวกเรา พวกเราจะ ยังไม่ปวารณาก่อนละ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงอยู่คอยไปถึงวันกาฬปักษ์นั้น ภิกษุเจ้าถิ่น ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้พวกภิกษุเจ้าถิ่นทราบว่า ขอท่านเจ้าถิ่นทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ในบัดนี้เถิด พวกเราพึงปวารณาในวันชุณหปักษ์ที่จะ มาถึงเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโส ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด. พวกเธออันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของพวกเรา พวกเราจะยังไม่ปวารณา ก่อนละ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงอยู่คอยไปถึงวันชุณหปักษ์แม้นั้น ภิกษุ เหล่านั้นทุกรูปไม่ปวารณา ก็ต้องปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุอาพาธงดปวารณาของภิกษุ ผู้ไม่อาพาธ ภิกษุอาพาธนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านกำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม อาวุโส ขอท่านจงรออยู่จนกว่าจะหายอาพาธ หายอาพาธแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุอาพาธถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุผู้ไม่อาพาธงดปวารณา ของภิกษุผู้อาพาธ ภิกษุผู้ไม่อาพาธนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุรูปนี้แล กำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม อาวุโส ขอท่าน จงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปนี้หายอาพาธ ภิกษุนั้นหายอาพาธแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุ ผู้ไม่อาพาธถูกว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุอาพาธงดปวารณาของภิกษุ อาพาธๆ นั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายกำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม โปรดรออยู่ก่อนจนกว่าจะหายอาพาธด้วยกัน หายอาพาธด้วยกันแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุผู้อาพาธนั้นถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุผู้ไม่อาพาธงดปวารณา ของภิกษุผู้ไม่อาพาธ. ทั้งสองฝ่าย สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนเป็นการสงฆ์ปรับอาบัติตามธรรม แล้วจึงปวารณาเถิด.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๗๑๓๑-๗๓๗๐ หน้าที่ ๒๙๒-๓๐๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=7131&Z=7370&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=4&A=7131&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=77              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=-245              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=7177              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=7177              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i224-e.php#topic16 https://suttacentral.net/pli-tv-kd4/en/brahmali#pli-tv-kd4:16.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd4/en/horner-brahmali#Kd.4.16

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]