ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
เรื่องสมมติโรงอุโบสถ
[๑๕๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหาร โดยมิได้ กำหนดที่. พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า วันนี้พระสงฆ์จักทำอุโบสถที่ไหน จึงพากันกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหาร โดยมิได้กำหนดที่ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนงให้เป็นโรงอุโบสถแล้วทำอุโบสถ.
วิธีสมมติโรงอุโบสถ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ ซึ่งวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็น โรงอุโบสถ. การสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็น ผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. วิหารมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ จบ.
-----------------------------------------------------
เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน
[๑๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง. ภิกษุ ทั้งหลายประชุมกันในโรงอุโบสถทั้งสองด้วยตั้งใจว่า สงฆ์จักทำอุโบสถที่นี้ สงฆ์จักทำอุโบสถ ณ ที่นี้ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ไม่พึงสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถอนโรงอุโบสถแห่งหนึ่งแล้วทำอุโบสถ ในโรงอุโบสถ แห่งหนึ่ง.
วิธีถอนโรงอุโบสถ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ ซึ่งโรงอุโบสถมีชื่อนี้. การ ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. โรงอุโบสถมีชื่อนี้อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ ไว้ ด้วยอย่างนี้.
สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด
[๑๕๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด. ถึงวันอุโบสถ ภิกษุสงฆ์ลงประชุมกันมาก. ภิกษุทั้งหลายต้องนั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้หารือกันว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า พึงสมมติโรงอุโบสถแล้ว จึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็พวกเรานั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ อุโบสถเป็นอันพวกเรา ทำแล้ว หรือไม่เป็นอันทำหนอ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่งในพื้นที่ซึ่งสมมติแล้วก็ตาม มิได้สมมติ ก็ตาม เพราะได้ฟังปาติโมกข์ ฉะนั้นอุโบสถย่อมเป็นอันเธอได้ทำแล้วเหมือนกัน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถให้ใหญ่เท่าที่จำนง.
วิธีสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอย่างนี้. พึงทักนิมิตก่อน ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้แล้วโดยรอบเพียงไร ถ้าความ พร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ ด้วยนิมิตเหล่านั้น. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้แล้วโดยรอบเพียงไร สงฆ์สมมติ อยู่บัดนี้ ซึ่งพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ ด้วยนิมิตเหล่านั้น. การสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด. พื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอันสงฆ์สมมติแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
พระเถระลงประชุมก่อน
[๑๖๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ในวันอุโบสถ นวกภิกษุทั้งหลายในอาวาสแห่งหนึ่ง ลงประชุมกันก่อนแล้วหลีกไป ด้วยนึกว่าพระเถระทั้งหลายยังไม่มาก่อน. ต่อเวลาพลบค่ำ จึงทำอุโบสถได้. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระทั้งหลายลงประชุมก่อน.
ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
[๑๖๑] ก็โดยสมัยนั้นแล อาวาสในพระนครราชคฤห์หลายแห่ง มีสีมาอันเดียวกัน. ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้น วิวาทกันว่า ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์ จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มี พระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาวาสในพระนครราชคฤห์นี้ก็หลายแห่ง มีสีมาอันเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้นวิวาทกันว่า ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาส ของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทุกๆ รูป พึงประชุมทำอุโบสถแห่งเดียวกัน ก็หรือภิกษุผู้เถระอยู่ในอาวาสใด พึงประชุมทำอุโบสถใน อาวาสนั้น แต่สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงทำอุโบสถ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๔๒๔๓-๔๓๑๘ หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๖. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=4243&Z=4318&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=4&A=4243&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=55              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=-157              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=4337              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=4337              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php#topic8 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali#pli-tv-kd2:8.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali#BD.4.139

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]