ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๑. จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕
เรื่องภิกษุณีอุปปลวัณณา
[๔๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ภิกษุณีอุปปลวัณณาอยู่ในพระนคร สาวัตถี ครั้นเวลาเช้า นางครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังอาหารแล้ว เดินเข้าไปทางป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวัน เข้าไป ถึงป่าอันธวันแล้ว นั่งพักกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่ง. สมัยนั้น พวกโจรทำโจรกรรม ฆ่าแม่โคแล้วพากันถือเนื้อเข้าไปสู่ป่าอันธวัน. นายโจร แลเห็นภิกษุณีอุปปลวัณณานั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้วจึงดำริว่า ถ้าพวกโจร ลูกน้องของเราพบเข้า จักเบียดเบียนภิกษุณีนี้ แล้วได้เลี่ยงไปทางอื่น. ครั้นเมื่อเนื้อสุกแล้ว นายโจรนั้นได้เลือกเนื้อชิ้นที่ดีๆ เอาใบไม้ห่อแขวนไว้ที่ต้นไม้ใกล้ภิกษุณีอุปปลวัณณาแล้วกล่าวว่า เนื้อห่อนี้เราให้แล้วจริงๆ ผู้ใดเป็นสมณะหรือพราหมณ์ได้เห็น จงถือเอาไปเถิด ดังนี้แล้ว หลีกไป. ภิกษุณีอุปปลวัณณาออกจากสมาธิ ได้ยินนายโจรนั้นกล่าววาจานี้ จึงถือเอาเนื้อนั้นไปสู่ สำนัก. ครั้นราตรีนั้นผ่านไป นางทำเนื้อนั้นสำเร็จแล้ว ห่อด้วยผ้าอุตราสงค์ เหาะไปลงที่พระ- *เวฬุวัน. [๔๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน. ท่าน พระอุทายีเหลืออยู่เฝ้าพระวิหาร. จึงภิกษุณีอุปปลวัณณาเข้าไปหาท่าน ครั้นแล้วถามว่า ท่านเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน? ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรน้องหญิง พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน. อุป. โปรดถวายเนื้อนี้แด่พระผู้มีพระภาค เจ้าข้า. อุทายี. ดูกรน้องหญิง พระผู้มีพระภาคทรงอิ่มเอิบด้วยเนื้อของเธอ ถ้าเธอถวายผ้า อันตรวาสกแก่อาตมา แม้อาตมาก็จะพึงอิ่มเอิบด้วยผ้าอันตรวาสกเหมือนเช่นนั้น. อุป. ท่านเจ้าข้า ความจริง พวกดิฉันชื่อว่ามาตุคาม มีลาภน้อย ทั้งผ้าผืนนี้ก็เป็นจีวร ผืนสุดท้ายที่ครบ ๕ ของดิฉัน ดิฉันถวายไม่ได้. อุทายี. ดูกรน้องหญิง เปรียบเหมือนบุรุษให้ช้างแล้ว ก็ควรสละสัปคับสำหรับช้างด้วย ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถวายเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็จงสละผ้าอันตรวาสก ถวายแก่อาตมา. ครั้นนางถูกท่านพระอุทายีแคะไค้ จึงได้ถวายผ้าอันตรวาสกแล้วกลับไปสู่สำนัก. ภิกษุณี ทั้งหลายที่คอยรับบาตรจีวรของภิกษุณีอุปปลวัณณาได้ถามว่า แม่เจ้า ผ้าอันตรวาสกของคุณแม่ อยู่ที่ไหน? นางได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลาย จึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าอุทายีจึงได้รับจีวรจากมือภิกษุณีเล่า เพราะมาตุคามมีลาภน้อย ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้รับจีวรจากมือภิกษุณีเล่า แล้วกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่าเธอรับจีวรจากมือ ภิกษุณี จริงหรือ? ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรอุทายี นางเป็นญาติของเธอ หรือมิใช่ญาติ? อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ บุรุษที่มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังรับจีวรจากมือ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติได้ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไป เพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่ เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายี โดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ- *ความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่ง พระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๓๔. ๕. อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องภิกษุณีอุปปลวัณณา จบ.
พระอนุบัญญัติ
เรื่องแลกเปลี่ยน
[๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายตั้งรังเกียจ ไม่รับจีวรแลกเปลี่ยนของภิกษุณี ทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลาย จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงไม่รับจีวร แลกเปลี่ยนของพวกเรา ภิกษุทั้งหลายได้ยินภิกษุณีเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับจีวร แลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี เราอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ นี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๓๔.๕. ก. อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่ของ แลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องแลกเปลี่ยน จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๔๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์ อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปริญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบท แล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่า เป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย. ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่จีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้อง วิกัปเป็นอย่างต่ำ. บทว่า เว้นไว้แต่ของแลกเปลี่ยน คือ ยกเสียแต่จีวรที่แลกเปลี่ยนกัน. ภิกษุรับ เป็นทุกกฏในประโยคที่รับ เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้จีวรมา ต้องเสียสละ แก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า รับมาแล้วจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้น แต่แลกเปลี่ยนกัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา กว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า รับมาแล้วจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นแต่ แลกเปลี่ยนกัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า รับมาแล้วจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นแต่ แลกเปลี่ยนกัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๐] ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ รับจีวรจากมือ เว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย รับจีวรจากมือ เว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ เว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
[๕๑] ภิกษุรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้อุปสมบทแต่สงฆ์ฝ่ายเดียว เว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัย รับจีวรจากมือ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับจีวรจากมือ ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๕๒] ภิกษุรับจีวรของภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑ แลกเปลี่ยนกัน คือแลกเปลี่ยนจีวรดีกับ จีวรเลว หรือจีวรเลวกับจีวรดี ๑ ภิกษุถือวิสาสะ ๑ ภิกษุขอยืมไป ๑ ภิกษุรับบริขารอื่นนอก จากจีวร ๑ ภิกษุรับจีวรของสิกขมานา ๑ ภิกษุรับจีวรของสามเณรี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๗๕๒-๙๑๐ หน้าที่ ๓๒-๓๘. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=752&Z=910&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=752&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=5              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=46              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=489              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3991              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=489              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3991              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np5/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]