ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๗. สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๕
เรื่องเด็กชายอุบาลี
[๖๔๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อัน เป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นในพระนครราชคฤห์ มี เด็กชายพวกหนึ่ง ๑๗ คน เป็นเพื่อนกัน เด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กเหล่านั้น ครั้งนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้หารือกันว่า ด้วยวิธีอย่างไรหนอ? เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีจะพึงอยู่เป็นสุขและไม่ต้องลำบาก ครั้นแล้วหารือกันต่อไปว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงเรียน หนังสือ ด้วยวิธีอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไป เจ้าอุบาลีก็จะอยู่เป็นสุขและไม่ต้อง ลำบาก แล้วหารือกันต่อไปอีกว่า ถึงเจ้าอุบาลีจักเรียนหนังสือ นิ้วมือก็จักระบม ถ้าเจ้าอุบาลี เรียนวิชาคำนวณ ด้วยวิธีอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไป เจ้าอุบาลีก็จะอยู่เป็นสุขและ ไม่ต้องลำบาก ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาคำนวณ เขาจักหนักอก ถ้า จะพึงเรียนวิชาดูรูปภาพ ด้วยอุบายอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไป เจ้าอุบาลีก็จะอยู่เป็น สุขและไม่ต้องลำบาก ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาดูรูปภาพ นัยน์ตาทั้ง ทั้งสองของเขาจักชอกช้ำ พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีความสุขเป็นปกติ มี ความประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงได้บวช ในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไป เจ้า อุบาลีก็จะอยู่เป็นสุขและไม่ต้องลำบาก.
ชวนกันออกบวช
[๖๔๙] เด็กชายอุบาลีได้ยินถ้อยคำที่มารดาบิดาสนทนาหารือกันดังนี้ จึงเข้าไปหาเพื่อน เด็กเหล่านั้น ครั้นแล้วได้พูดชวนดังนี้ว่า มาเถิดพวกเจ้า เราจักพากันไปบวชในสำนัก พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร. เด็กชายพวกนั้นพูดว่า ถ้าเจ้าบวช แม้พวกเราก็จักบวชเหมือนกัน. ไม่รอช้า เด็กชายเหล่านั้นต่างคนต่างก็ไปหามารดาบิดาของตนๆ แล้วขออนุญาตว่า ขอท่านทั้งหลายจงอนุญาตให้พวกข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด. มารดาของเด็กเหล่านั้นก็อนุญาตทันที ด้วยคิดเห็นว่า เด็กเหล่านี้ต่างก็มีฉันทะร่วมกัน มีความมุ่งหมายดีด้วยกันทุกคน. เด็กพวกนั้นเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชาแล้ว. ภิกษุทั้งหลายก็ได้ให้เด็กพวกนั้นบรรพชาและอุปสมบท. ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี ภิกษุใหม่เหล่านั้นลุกขึ้นร้องไห้วิงวอนว่า ขอท่านทั้งหลาย จงให้ข้าวต้ม จงให้ข้าวสวย จงให้ของเคี้ยว. ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย จงรอให้ราตรีสว่างก่อน ถ้าข้าวต้มมี จักดื่มได้ ถ้าข้าวสวยมี จักฉันได้ ถ้าของเคี้ยวมี จักเคี้ยวฉันได้ ถ้าข้าวต้มข้าวสวยหรือของ เคี้ยวไม่มี ต้องเที่ยวบิณฑบาตฉัน. ภิกษุใหม่เหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายแม้กล่าวอยู่อย่างนี้แล ก็ยังร้องไห้วิงวอนอยู่อย่างนั้น แลว่า จงให้ข้าวต้ม จงให้ข้าวสวย จงให้ของเคี้ยว ดังนี้ ย่อมถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่าย ปัสสาวะรดบ้าง ซึ่งเสนาสนะ. [๖๕๐] พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทม ณ เวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียง เด็กๆ ครั้นแล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า นั่นเสียงเด็กๆ หรือ อานนท์? จึงท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุ ทั้งหลายรู้อยู่ยังบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ให้อุปสมบท จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษเหล่านั้นรู้อยู่ จึงได้ยังบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ให้อุปสมบทเล่า? เพราะบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี เป็นผู้ไม่ อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย เป็นผู้มีปกติไม่ทนทานต่อสัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลมแดด สัตว์เสือกคลาน ต่อคำกล่าวที่เขากล่าวร้าย อันมาแล้วไม่ดี ต่อทุกขเวทนาทางกาย อันกล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันอาจผลาญชีวิตได้ ที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลมีอายุ ครบ ๒๐ ปีเท่านั้น จึงจะเป็นผู้อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย เป็นผู้มีปกติทนทานต่อสัมผัส แห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เสือกคลาน ต่อคำกล่าวที่เขากล่าวร้าย อันมาแล้วไม่ดี ต่อทุกขเวทนาทางกาย อันกล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันอาจผลาญ ชีวิตได้ที่เกิดขึ้นแล้ว การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๑๔. ๕. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน ๒๐ ให้อุปสมบท บุคคล นั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายนั้นถูกติเตียนด้วย นี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น.
เรื่องเด็กชายอุบาลี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๕๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกแก่เธอ หรือเจ้าตัวบอก. ที่ชื่อว่า มีปีหย่อน ๒๐ คือ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี. ภิกษุตั้งใจว่าจักให้อุปสมบท แล้วแสวงหาคณะก็ดี พระอาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติ ทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย พระอุปัชฌายะต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและพระอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ.
บทภาชนีย์
[๖๕๒] บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุหย่อน ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสงสัยอยู่ ให้อุปสมบท, ต้องอาบัติทุกกฏ. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท, ไม่ต้องอาบัติ. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสงสัยอยู่ ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๖๕๓] บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑ บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญมีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒๗๘๖-๑๒๘๖๘ หน้าที่ ๕๔๖-๕๔๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=12786&Z=12868&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=12786&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=101              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=648              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=7569              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9723              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=7569              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9723              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc65/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc65/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]