ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๗. สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๔
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๖๔๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรต้องอาบัติชื่อ สัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว บอกแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้พี่น้องกันว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติ ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว คุณอย่าได้บอกแก่ใครๆ เลย. ครั้นต่อมาภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติ ชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์. สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น แก่เธอแล้ว. เธอกำลังอยู่ปริวาสอยู่ พบภิกษุรูปนั้นแล้วได้บอกภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส ผมต้อง อาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ได้ขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่อ อาบัตินั้นแก่ผมแล้ว ผมนั้นกำลังอยู่ปริวาส ผมขอบอกให้ทราบ ขอท่านจงจำผมว่าบอกให้ทราบ ดังนี้. ภิกษุนั้นถามว่า อาวุโส แม้ภิกษุรูปอื่นใด ต้องอาบัตินี้ แม้ภิกษุนั้นก็ทำอย่างนี้หรือ? ภิกษุผู้อยู่ปริวาสตอบว่า ทำอย่างนี้ อาวุโส. ภิกษุนั้นพูดว่า อาวุโส ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนี้ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ แล้ว ท่านได้บอกแก่ผมว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว คุณอย่าได้ บอกแก่ใครเลย. ภิกษุผู้อยู่ปริวาสถามว่า อาวุโส ก็ท่านปกปิดอาบัตินั้นหรือ? ภิกษุนั้นตอบว่า เป็นเช่นนั้น ขอรับ. ครั้นแล้วภิกษุผู้อยู่ปริวาสนั้นได้แจ้งเรื่องแก่ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุรู้อยู่ จึงได้ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุผู้ปกปิดอาบัตินั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอรู้อยู่ปกปิด อาบัติชั่วหยาบของภิกษุ จริงหรือ? ภิกษุผู้ปกปิดอาบัตินั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอรู้อยู่ จึงได้ปกปิดอาบัติ ชั่วหยาบของภิกษุเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๑๓. ๔. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๔๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น. ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ หรือเจ้าตัวบอก. ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ๔ และอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓. บทว่า ปิด ความว่า เมื่อภิกษุคิดเห็นว่า คนทั้งหลายรู้อาบัตินี้แล้วจักโจท จักบังคับให้ ให้การ จักด่าว่า จักติเตียน จักทำให้เก้อ, เราจักไม่บอกละ ดังนี้ พอทอดธุระเสร็จ, ต้อง อาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
[๖๔๖] อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าอาบัติชั่วหยาบ ปิด, ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุยังสงสัยอยู่ ปิด, ต้องอาบัติทุกกฏ. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่อาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุปิดอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุปิดอัชฌาจารอันชั่วหยาบก็ดี ไม่ชั่วหยาบก็ดี ของอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าอาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องอาบัติทุกกฏ. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุยังสงสัยอยู่ ปิด ต้องอาบัติทุกกฏ. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่อาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๖๔๗] ภิกษุคิดเห็นว่าความบาดหมางก็ดี ความทะเลาะก็ดี ความแก่งแย่งก็ดี การ วิวาทก็ดี จักมีแก่สงฆ์ แล้วไม่บอก ๑ ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าสงฆ์จักแตกแยกกัน หรือจักร้าว รานกัน ๑ ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าภิกษุรูปนี้เป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย จักทำอันตรายชีวิต หรือ อันตรายพรหมจรรย์ ๑ ไม่พบภิกษุอื่นที่สมควรจึงไม่บอก ๑ ไม่ตั้งใจจะปิดแต่ยังไม่ได้บอก ๑ ไม่บอกด้วยคิดเห็นว่าจักปรากฏเอง ด้วยการกระทำของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒๗๒๕-๑๒๗๘๕ หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๕. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=12725&Z=12785&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=12725&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=100              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=644              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=7513              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9702              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=7513              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9702              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc64/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc64/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]