ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
๗. อัตตาทานอังคะ
ว่าด้วยองค์แห่งอธิกรณ์ที่ตนพึงรับ
[๓๙๘] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้น แล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ภิกษุ ผู้ประสงค์จะรับ(ชำระ)อธิกรณ์ ควรรับอธิกรณ์ประกอบด้วยองค์เท่าไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “ข้อที่เราประสงค์ จะรับอธิกรณ์นี้ ถึงเวลาที่จะรับอธิกรณ์นี้หรือไม่ถึงหนอ” ถ้าภิกษุ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะรับอธิกรณนี้ ถึงเวลาหา มิได้” ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๐๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๙. ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ]

๗. อัตตาทานอังคะ

๒. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “ถึงเวลาที่จะรับอธิกรณ์นี้ ไม่ ใช่ยังไม่ถึงเวลา” ภิกษุนั้นพึงจารณายิ่งขึ้นอีกว่า “ข้อที่เรา ประสงค์จะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์ที่เราจะรับนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง” ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “อธิกรณ์ที่จะรับนี้ไม่จริง ไม่ใช่เรื่อง จริง” ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น ๓. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ เรื่องไม่จริง” ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า “ข้อที่เราประสงค์ จะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้มีประโยชน์ หรือไม่มี” ถ้าภิกษุพิจารณา รู้อย่างนี้ว่า “อธิกรณ์นี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ประกอบ ด้วยประโยชน์” ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น ๔. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์” ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้จะได้ภิกษุผู้เคยพบเห็นเคยคบหากันมาเป็น พวกโดยชอบธรรม โดยชอบด้วยวินัยหรือไม่” ถ้าภิกษุพิจารณารู้ อย่างนี้ว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้เราจะไม่ได้ภิกษุผู้เคยพบเห็น เคยคบหากันมาเป็นพวกโดยชอบธรรม โดยชอบด้วยวินัย” ก็ไม่ ควรรับอธิกรณ์นั้น ๕. อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ เราจะ ได้ภิกษุผู้เคยพบเห็นเคยคบหากันมาเป็นพวกโดยชอบธรรม โดยชอบ ด้วยวินัย” ภิกษุนั้นพึงพิจารณายิ่งขึ้นอีกว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้นจะเป็นเหตุให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาท สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์แบ่งแยก สงฆ์เป็นต่างๆ กันหรือไม่” ถ้าภิกษุ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้น จะเป็นเหตุ ให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกัน สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์แบ่งแยก สงฆ์เป็นต่างๆ กัน” ก็ไม่ควรรับอธิกรณ์นั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๐๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๙. ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ]

๘. โจนเกนปัจจเวกขิตัพพธัมมะ

อนึ่ง ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า “เราเมื่อรับอธิกรณ์นี้ไว้ อธิกรณ์นั้นจะไม่เป็น เหตุให้สงฆ์บาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่ง วิวาท สงฆ์แตกกัน สงฆ์ร้าวราน สงฆ์แบ่ง แยกสงฆ์เป็นต่างๆ กัน” ควรรับอธิกรณ์นั้น อุบาลี อธิกรณ์ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ ที่ภิกษุรับแล้วจักไม่กระทำให้เดือดร้อน ในภายหลัง ด้วยประการฉะนี้
๘. โจทเกนปัจจเวกขิตัพพธัมมะ
ว่าด้วยคุณสมบัติที่ผู้โจทก์พึงพิจารณา
[๓๙๙] ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณา คุณสมบัติภายในตนเท่าไร จึงจะโจทผู้อื่นได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณา คุณสมบัติภายในตน ๕ อย่าง แล้วจึงโจทผู้อื่น คือ ๑. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เรามีความ ประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติ ทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติข้อนี้เรามี อยู่หรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า “เชิญท่านสำเหนียกความประพฤติ ทางกายเสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ ๒. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ “เรามี ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความ ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง คุณสมบัติ ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีความประพฤติทางวาจา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๐๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๙. ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ]

๘. โจนเกนปัจจเวกขิตัพพธัมมะ

บริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่เสียหาย ไม่บกพร่อง ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า “เชิญท่านสำเหนียก ความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูก ตอบโต้อย่างนี้ ๓. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ “เรามี เมตตาจิต ไม่อาฆาตพยาบาทเพื่อนพรหมจารีหรือหนอ คุณสมบัติ ข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้มีเมตตาจิต ไม่อาฆาต พยาบาทเพื่อนพรหมจารี ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมถูกตอบโต้ว่า “เชิญ ท่านมีเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีเสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้น ย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ ๔. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ “เรา เป็นพหูสูต ทรงสุตะ มีการสั่งสมสุตะหรือหนอ เราได้สดับมาก ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงาม เบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อม ทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่หนอ คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ได้เป็นพหูสูต ทรง สุตะ มีการสั่งสมสุตะ ได้สดับมาก ทรงจำได้แม่นยำ คล่องปาก ขึ้นใจ รู้ชัดด้วยปัญญาซึ่งธรรมงามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามใน ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุผู้โจทก์นั้นนั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า “เชิญท่านศึกษาพระปริยัติเสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้นนั้นย่อมจะถูก ตอบโต้อย่างนี้ ๕. อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ “เรา ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัด ระเบียบถูกต้อง วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๐๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๙. ปาติโมกขัฎฐปนขันธกะ]

๙. โจทเกนอุปัฎฐาเปตัพพธัมมะ

คุณสมบัติข้อนี้เรามีหรือไม่มีหนอ” ถ้าภิกษุไม่ใช่ผู้ทรงจำปาติโมกข์ ทั้งสองได้แม่นยำโดยพิสดาร จำแนกถูกต้อง จัดระเบียบถูกต้อง วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะ(ตามข้อ ตามอักษร) ภิกษุ ผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้ว่า “เชิญท่านศึกษาพระวินัยให้ชำนาญ เสียก่อนเถิด” ภิกษุผู้โจทก์นั้นย่อมจะถูกตอบโต้อย่างนี้ อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาคุณสมบัติภายในตน ๕ อย่างนี้ จึงโจทผู้อื่น
๙. โจทเกนอุปัฏฐาเปตัพพธัมมะ
ว่าด้วยคุณสมบัติที่ผู้โจทก์พึงตั้งไว้ในตน
[๔๐๐] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง คุณสมบัติเท่าไรไว้ในตน พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง คุณสมบัติ ๕ อย่างไว้ในตน คือ ๑. เราจะกล่าวโดยกาลที่ควร จะไม่กล่าวโดยกาลไม่ควร ๒. เราจะกล่าวคำจริง จะไม่กล่าวคำเท็จ ๓. เราจะกล่าวคำสุภาพ จะไม่กล่าวคำหยาบ ๔. เราจะกล่าวคำมีประโยชน์ จะไม่กล่าวคำไร้ประโยชน์ ๕. เราจะกล่าวด้วยเมตตาจิต จะไม่มุ่งร้าย อุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน จึงโจทผู้อื่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๓๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=77              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=5890&Z=5977                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=499              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=499&items=7              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=499&items=7                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd19/en/brahmali#pli-tv-kd19:4.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd19/en/horner-brahmali#Kd.19.4.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :