ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องด้าย
สมัยนั้น ด้ายเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ ภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายถักเตียง” ตัวแม่แคร่เปลืองด้ายมาก พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เจาะตัวแม่แคร่แล้วถักเป็นตาหมากรุก” ท่อนผ้าผืนเล็กๆ เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้ มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำเป็นผ้าปูพื้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๙๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

ปุยนุ่นเกิดขึ้น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ สางนุ่นแล้วทำเป็นหมอน ปุยนุ่นมี ๓ ชนิด คือ นุ่นจากต้นไม้ นุ่นจากเถาวัลย์ นุ่นจากหญ้า”
เรื่องหมอน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้หมอนยาวขนาดกึ่งกาย(ยาวครึ่งลำตัวคน) คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมวิหารเห็น จึงตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “เหมือน คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หมอนยาวขนาดกึ่งกาย รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำหมอนพอเหมาะกับศีรษะ”
เรื่องฟูก ๕ ชนิด
สมัยนั้น มีมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายจัดฟูก ๕ ชนิดไว้ สำหรับมหาอมาตย์ คือ ฟูกขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้ ครั้นมหรสพเลิกแล้ว เขาได้ถอดเอาปลอกฟูกไป ภิกษุทั้งหลายเห็นขนสัตว์ ท่อนผ้า เปลือกไม้ หญ้าและใบไม้เป็นจำนวนมาก ที่เขาทิ้งไว้ในที่เล่นมหรสพ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฟูก ๕ ชนิด คือ ฟูก ขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้” สมัยนั้น ท่อนผ้าสำหรับใช้สอยประจำเสนาสนะเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุ้มฟูก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๙๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

เรื่องเตียงหุ้มด้วยฟูก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายปูฟูกเตียงลงบนตั่ง ปูฟูกตั่งลงบนเตียง ฟูกขาด ภิกษุ ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงหุ้มด้วยฟูก ตั่งหุ้ม ด้วยฟูก” ภิกษุปูลงไม่ได้ใช้ผ้ารองข้างล่าง ฟูกย้อยลงข้างล่าง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับ สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้ารองปูพื้นแล้วหุ้มฟูก” โจรเลิกผ้าหุ้มฟูกลักเอาไป ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ใช้เขียนแต้ม” โจรก็ยังลักเอาไปอีก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ทำตำหนิไว้” ถึงอย่างนั้นก็ยังลักเอาไปอีก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตำหนิด้วยนิ้วมือไว้”
เสตวัณณาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตสีขาวเป็นต้น
[๒๙๘] สมัยนั้น ที่อยู่อาศัยของพวกเดียรถีย์ มีสีขาว แต่พื้นทำเป็นสีดำ ทำ ฝาเป็นสีเหลือง คนทั้งหลายประสงค์จะดูที่อยู่อาศัยจึงเดินทางไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสีขาว สีดำ สีเหลืองใน วิหาร” สมัยนั้น ฝาเนื้อหยาบ สีขาวจึงไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๐๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้ เกรียงฉาบให้เรียบ ให้สีขาวเกาะติด” สีขาวก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินละเอียดแล้วใช้ เกรียงฉาบให้สีขาวเกาะติด” สีขาวก็ยังไม่ติดสนิท ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ใช้ยางไม้ แป้งเปียก” สมัยนั้น ฝาเนื้อหยาบ สีเหลืองจึงไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้ เกรียงฉาบให้สีเหลืองเกาะติด” สีเหลืองก็ยังไม่เกาะติด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ใส่ดินปนรำแล้วใช้เกรียงฉาบให้สีเหลืองเกาะติด” สีเหลืองก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่แป้งเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขี้ผึ้งเหลว” แป้งหนาเกินไปภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าเช็ดออก” สมัยนั้น พื้นหยาบไป สีดำไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๐๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้ เกรียงฉาบให้สีดำเกาะติด” สีดำก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินขุยใส้เดือนแล้วใช้ เกรียงฉาบให้สีดำเกาะติด” สีดำก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ น้ำฝาด”
ปฏิภาณจิตตปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เรื่องทรงอนุญาตภาพดอกไม้
[๒๙๙] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรม คือ ภาพสตรี ภาพบุรุษไว้ในวิหาร คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมเห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรม คือ ภาพสตรี ภาพบุรุษ รูปใดให้เขียน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ภาพลวดลายดอกไม้ ภาพลวดลายเถาวัลย์ ภาพลวดลายฟันมังกร ภาพลวดลาย ดอกจอก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๐๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

อิฏฐกาจยาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ก่ออิฐเป็นต้น
เรื่องวิหารพื้นต่ำ
[๓๐๐] สมัยนั้น วิหารมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง” ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้” ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้” เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
เรื่องวิหารมีพื้นเป็นลานโล่ง
สมัยนั้น วิหารมีพื้นเป็นลานโล่ง๑- ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะนอน ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าม่าน” ภิกษุทั้งหลายเลิกชายผ้าม่านมองดูกัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกั้นฝาครึ่งหนึ่ง” @เชิงอรรถ : @ คือมีพื้นที่มีลานเนื่องเป็นอันเดียวกับสถานที่มิใช่วิหาร มีผู้คนพลุกพล่าน (วิ.อ. ๓/๓๐๐/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๐๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๑. ปฐมภาณวาร

ภิกษุทั้งหลายก็ยังมองผ่านข้างบนฝานั้นได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตห้องภายใน ๓ ชนิด คือ ห้องคล้ายเสลี่ยง ห้องคล้ายอุโมงค์ ห้องบนเรือนโล้น”๑-
เรื่องวิหารเล็ก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายกั้นห้องไว้ตรงกลางวิหารเล็ก ไม่มีบริเวณ ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กั้นห้องไว้ด้านหนึ่งใน วิหารเล็ก แต่กั้นห้องไว้ตรงกลางในวิหารใหญ่”
เรื่องฝาวิหารชำรุด
สมัยนั้น เชิงฝาวิหารชำรุด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกรอบเชิงฝา” ฝาผนังวิหารถูกฝนสาด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตแผงกันสาด ฝาทำด้วยดินปนเถ้ากับมูลโค”
เรื่องทรงอนุญาตเพดาน
สมัยนั้น งูตกจากหลังคามุงหญ้าลงมาที่คอภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุนั้นตกใจกลัว ร้องเสียงลั่น ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปถามว่า “อาวุโส ท่านร้องทำไม” ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพดาน” @เชิงอรรถ : @ หมฺมิยคพฺภ : ห้องบนเรือนโล้น ได้แก่ห้องเรือนยอดบนดาดฟ้า หรือห้องที่มุงหลังคาโล้น @(วิ.อ. ๓/๓๐๐/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๙๘-๑๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=1778&Z=1869                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=217              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=217&items=15              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=217&items=15                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/brahmali#pli-tv-kd16:2.6.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/horner-brahmali#Kd.16.2.6



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :