ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน๑-
[๓๐๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงอาปณนิคม เกณิยชฎิลได้ทราบข่าวว่า “พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจาก ศากยตระกูล เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์ อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค‘๒- พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย พระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น @เชิงอรรถ : @ อัฏฐบาน คือ น้ำดื่ม ๘ ชนิด (ดูหน้า ๑๓๑) @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒ (เชิงอรรถ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อม ทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์ บริสุทธิ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะนำอะไรหนอไปถวายพระสมณ โคดม” ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตตะ ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ สอนมนต์ ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้สวด สอนซึ่งบทมนต์เก่าที่ท่านสวด สอนรวบรวมไว้ สอนได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้๑- ฤๅษีเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤๅษีเหล่านั้นยินดีน้ำดื่มอย่างนี้ แม้พระสมณโคดมก็ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็น่าจะยินดีน้ำดื่มอย่าง นี้บ้าง” แล้วสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเป็นอันมากให้คนหาบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ครั้นถึงแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร เกณิยชฎิลผู้ยืน ณ ที่สมควรได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม โปรดรับน้ำดื่มของข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้นำน้ำดื่มมากมายประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร @เชิงอรรถ : @ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๕๒๖/๒๓๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น เกณิยชฎิลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับ ภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และท่านเองก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์” แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลนิมนต์ว่า “พระโคดมผู้เจริญ แม้ภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ ๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า ๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด” คืนนั้น เกณิยชฎิลให้เตรียมโภชนาหารอันประณีตที่อาศรมของตนแล้วให้คนไป กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จไปที่อาศรมของเกณิยชฎิล ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ เกณิยชฎิลได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยมือของตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถานี้ว่า ยัญพิธีมีการบูชาไฟเป็นประธาน สาวิตตีฉันท์เป็นประธานของพระเวท๑- พระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานของประชาราษฎร์ มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ ดวงจันทร์เป็นประธานแห่งดาวนักษัตร ดวงอาทิตย์เป็นประธานแห่งสิ่งที่ร้อน ฉันใด พระสงฆ์ก็เป็นประธานของทายกผู้มุ่งบุญถวายทานอยู่ ฉันนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลเสร็จ จึงทรงลุกจาก อาสนะแล้วเสด็จกลับ @เชิงอรรถ : @ พวกพราหมณ์เมื่อจะสวดสาธยายพระเวท ย่อมสวดสาวิตตีฉันท์ก่อน ฉันท์นี้จึงชื่อว่าเป็นบทนำ เป็นบท @เริ่มต้นแห่งพระเวท (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๐/๔๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ

๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
ว่าด้วยเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
[๓๐๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางเมืองกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป พวกมัลลกษัตริย์ชาวกรุงกุสินาราได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมา กรุงกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ได้ทำกติกา กันว่า “ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะถูกปรับสินไหม มีจำนวน ๕๐๐ กหาปณะ” สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเป็นสหายของท่านพระอานนท์ ครั้งนั้นพระผู้มี พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงกุสินารา ลำดับนั้น พวกมัลลกษัตริย์ ชาวกรุงกุสินาราได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะรับเสด็จ พระผู้มีพระภาคแล้วได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ณ ที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน อยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์กล่าวกับมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรว่า “โรชะ ท่านรับเสด็จพระผู้มีพระภาคได้สมพระเกียรติจริงๆ” มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ต้อนรับพระพุทธ พระธรรม พระ สงฆ์ให้ใหญ่โตเลย แต่พวกญาติได้ทำกติกากันว่า ‘ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะ ถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ’ ข้าพเจ้ารับเสด็จพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ก็เพราะ กลัวพวกญาติจะปรับสินไหม” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ไม่พอใจว่า “ไฉนมัลลกษัตริย์โรชะจึงตรัสอย่างนี้เล่า” ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระ ภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “มัลลกษัตริย์โรชะผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความ เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของคนเช่นนี้มีประโยชน์มาก พระองค์โปรดทรงกระทำให้ มัลลกษัตริย์โรชะเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “การที่จะกระทำให้มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเลื่อมใสใน พระธรรมวินัย ทำได้ไม่ยาก” ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแผ่พระเมตตาจิตไปยังมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าพระวิหาร มัลลกษัตริย์โรชะพอได้รับกระแสพระเมตตาจิต ของพระผู้มีพระภาคถูกต้องจึงเที่ยวค้นหาตามพระวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโคแม่ลูกอ่อน ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน เจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการพบพระองค์” ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า “ท่านโรชะ พระวิหารหลังนั้นเขาปิดประตูเสียแล้ว โปรดสงบเสียง ท่านจงเสด็จเข้าไปทางพระวิหารหลังนั้นแล้วค่อยๆ เสด็จดำเนินไป ที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตูเถิด พระองค์จะทรงเปิดประตูรับท่าน” ขณะนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดอยู่ ค่อยๆ เสด็จดำเนินไปที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิด ประตูรับ๑- มัลลกษัตริย์โรชะจึงเสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มัลลกษัตริย์โรชะผู้นั่ง ณ ที่สมควร เมื่อทรงทราบว่ามัลลกษัตริย์โรชะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่มัลล @เชิงอรรถ : @ ทรงเปิดประตูรับ ไม่ได้หมายถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นมาเปิดประตูด้วยพระองค์เอง @แต่ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกพร้อมกับตรัสว่า “จงเปิด” ประตูก็เปิดเอง เป็นการเปิดด้วยพระทัย @(สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๑/๔๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ

กษัตริย์โรชะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้ แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของข้าพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียว อย่ารับ ของคนอื่นเลย” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ แม้อริยบุคคลอื่นๆ ผู้ได้เห็นธรรมด้วยญาณ อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนอย่างท่านก็คงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุ จงรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเราเท่านั้น อย่ารับของคนอื่นเลย’ ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงรับทั้งของท่านและของคนอื่น” [๓๐๒] สมัยนั้น ชาวบ้านจัดเตรียมภัตตาหารอันประณีตไว้ที่กรุงกุสินารา เมื่อมัลลกษัตริย์โรชะไม่มีโอกาสถวายภัตตาหาร จึงได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “อย่า กระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้” แล้วตรวจดู โรงอาหาร ไม่ทรงเห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง จึงเสด็จเข้าไป หาท่านพระอานนท์ตรัสว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะถวายภัตตาหารในที่นี้จึงคิดว่า ‘เราควรตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้’ แล้วตรวจดูโรงอาหาร ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง ถ้าข้าพเจ้าเตรียมผักสดและ ของฉันทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะทรงรับสิ่งนั้นหรือ พระคุณเจ้า” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “อาตมาจะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค” แล้วได้ นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เขาจงจัดเตรียมเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ

พระอานนท์ถวายพระพรว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงจัดเตรียมเถิด” คืนนั้นมัลลกษัตริย์โรชะให้จัดเตรียมผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก น้อมถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรด ทรงรับผักสดและของฉันทำด้วยแป้งของข้าพระองค์เถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย” พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงนำผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง กระทั่ง พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึง ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มัลลกษัตริย์โรชะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง ลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของฉันทำด้วย แป้งทุกชนิด”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=24              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=2364&Z=2519                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=86              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=86&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4166              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=86&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4166                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:35.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.35.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :