ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๗. ปณามิตกถา

มูลเหตุให้เกิดการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
[๖๙] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการบรรพชา ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาในหมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมพราหมณ์ ผู้นั้นจึงได้ซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งเล่า” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “พราหมณ์นั่นได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการ บรรพชา ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาใน หมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครระลึก ความดีของพราหมณ์นั้นได้บ้าง” เมื่อตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า” “สารีบุตร เธอระลึกความดีอะไรของพราหมณ์นั้นได้” “พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นี้ พราหมณ์ นั้นได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึกความดีนี้ของพราหมณ์นั้นได้ พระ พุทธเจ้าข้า” “ดีละๆ สารีบุตร จริงอยู่ สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้กตัญญูกตเวที สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด” “ข้าพระองค์จะให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๙๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๗. ปณามิตกถา

อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว รับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบท ด้วยไตรสรณคมน์ที่เราได้อนุญาตไว้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วย ญัตติจตุตถกรรม
วิธีให้อุปสมบทและกรรมวาจาให้อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า [๗๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้ขอบวชเป็นภิกษุ)ของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็น ด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่านผู้มีชื่อนี้ เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่าน ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้ เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๙๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๗. ปณามิตกถา

ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
[๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้วได้ประพฤติไม่สมควร ภิกษุ ทั้งหลายพากันกล่าวห้ามปรามว่า “อาวุโส ท่านอย่าได้กระทำอย่างนั้น เพราะการ กระทำอย่างนั้นไม่ควร” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้ขอร้องท่านผู้มีอายุทั้งหลายว่า ‘จงให้กระผม อุปสมบท’ ท่านทั้งหลายมิได้รับการขอร้องจากกระผม ให้กระผมอุปสมบททำไม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมิได้รับการขอร้อง ไม่พึงให้ กุลบุตรอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ ภิกษุผู้ได้รับการขอร้องให้กุลบุตรอุปสมบทได้
วิธีขอการอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้ อุปสัมปทาเปกขะพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า ภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอการอุปสมบทอย่างนี้ว่า “ท่าน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอการอุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์โปรดอนุเคราะห์ยกข้าพเจ้า ขึ้นเถิด๑- เจ้าข้า” พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า @เชิงอรรถ : @ ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด หมายถึงยกขึ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ในที่นี้หมายถึงยกขึ้นจากความเป็น @สามเณร ให้ตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๗๑/๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๙๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๗. ปณามิตกถา

กรรมวาจาให้อุปสมบท
[๗๒] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้ อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่าน ผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้ อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้ อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ปากท้อง
[๗๓] สมัยนั้น ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้จัดลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ พราหมณ์คนหนึ่งมีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะ นิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร เราพึง บวชในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร” ต่อมา จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายได้ให้บรรพชาอุปสมบท ครั้นเขาบวชแล้ว ลำดับภัตตาหารได้ล้มเลิกไป ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่าน มาเถิด บัดนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตกัน” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมไม่ได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต ถ้าท่านทั้งหลายถวายผม ผมจักฉัน ถ้าไม่ถวายผม ผมจักสึก ขอรับ” ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า “อาวุโส ก็ท่านบวชเพราะเหตุแห่งปากท้องหรือ” ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๐๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๗. ปณามิตกถา

บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่ง ปากท้องเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอบวชเพราะเหตุ แห่งปากท้อง จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชใน ธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งปากท้องเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย ๔ คือ
นิสสัย ๔
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งเธอพึงทำอุตสาหะ ในโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ สังฆภัต อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต๑- ๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจน ตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน @เชิงอรรถ : @ สังฆภัต คือ ภัตตาหารถวายสงฆ์ทั้งหมด @อุทเทสภัต คือ ภัตตาหารถวายภิกษุ ๒-๓ รูป @นิมันตนภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์แล้วถวาย @สลากภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์ให้จับสลากแล้วถวาย(ตามสลาก) @ปักขิกภัต คือ ภัตตาหารถวายปักษ์(๑๕ วัน)ละ ๑ ครั้ง @อุโปสถิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันอุโบสถ @ปาฏิปทิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันแรม ๑ ค่ำ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗๑-๗๓/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๐๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๘. อาจริยวัตตกถา

๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะ คือ ควงไม้นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ ๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตร เน่านั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
อุปัชฌายวัตตภาณวารที่ ๕ จบ
ปณามิตกถา จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๗-๑๐๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=22              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=1866&Z=1974                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=85              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=85&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=893              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=85&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=893                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic28 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:28.1.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.28.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :