ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
[๑] ในมัณฑกัปนั้นแล ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทรงขจัดความมืด๒- ใหญ่ออกไปแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ @ ความมืด หมายถึงความมืดคือโมหะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

[๒] พระองค์ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ทรงช่วยชาวโลกในหมื่นจักรวาล พร้อมทั้งเทวดาให้อิ่มหนำด้วยอมตธรรม [๓] สาวกของพระองค์แม้นั้นผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลก มีการบรรลุธรรม ๓ ครั้ง เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๔] ในกาลที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสีเสด็จจาริกไปในเทวโลก เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ [๕] ต่อมา ในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ในราชสำนักของพระชนก เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๖] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง [๗] พระขีณาสพประมาณ ๙๘,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ พระขีณาสพประมาณ ๘๘,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ [๘] พระขีณาสพผู้หลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่น ผู้ปราศจากมลทิน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ประมาณ ๗๘,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ [๙] สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีชื่อว่าสุสิมะ ตามโคตร มีตบะแก่กล้า ประชาชนยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในแผ่นดิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

[๑๐] เรานำดอกมณฑารพ ดอกปทุม และดอกปาริฉัตตกะ อันเป็นทิพย์จากเทวโลก มาบูชาพระสัมพุทธเจ้า [๑๑] แม้พระมหามุนีพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระนามว่าอัตถทัสสี ก็ทรงพยากรณ์เราว่า “ใน ๑๑๘ กัป ชฎิลนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า” พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๒] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มีพระยศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๓] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๔] กรุงชื่อว่าโสภณะ กษัตริย์พระนามว่าสาคระเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุทัสสนาเป็นพระชนนี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๕] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คืออมรคิปราสาท สุรคิปราสาท และคิริพาหนาปราสาท [๑๖] มีนางสนมกำนัล ๓๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าวิสาขา พระราชโอรสพระนามว่าเสละ [๑๗] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือม้าออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๑๘] พระมหาวีระพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้องอาจกว่านรชน มีพระยศยิ่งใหญ่ ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรที่พระอุทยานอโนมา [๑๙] พระสันตเถระและพระอุปสันตเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอภัยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า พระนามว่าอัตถทัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๐] พระธรรมาเถรีและพระสุธรรมาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นจำปา [๒๑] นกุลอุบาสกและนิสภอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก มกิลาอุบาสิกาและสุนันทาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๒] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก ทรงสง่างามดังต้นพญาไม้สาละ เหมือนดวงจันทร์เต็มดวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๕. ธัมมทัสสีพุทธวงศ์

[๒๓] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีพระรัศมีหลายร้อยโกฏิตามปกติ แผ่ไปตลอดโยชน์หนึ่งทั่ว ๑๐ ทิศทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างตลอดเวลา [๒๔] แม้พระพุทธมุนีพระองค์นั้น ผู้องอาจกว่านรชน ผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์ ผู้มีพระจักษุ ก็ดำรงอยู่ในโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ ปี [๒๕] แม้พระองค์ทรงแสดงพระรัศมีที่ไม่มีสิ่งอื่นเทียมทัน ให้สว่างไสวรุ่งโรจน์ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกแล้ว ก็ถึงสภาวะไม่เที่ยง(เสด็จดับขันธปรินิพพานไป) ดังไฟสิ้นเชื้อดับไป ฉะนั้น [๒๖] พระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าอัตถทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อโนมาราม พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
อัตถทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๑๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๖๐-๖๖๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=206              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7951&Z=7998                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=195              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=195&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=6913              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=195&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=6913                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :