ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. รตนจังกมนกัณฑ์
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตที่จงกรมแก้ว
[๑] ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก ได้ประนมมือทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย๑- มีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก เป็นผู้สูงสุดแห่งนระ อันหมู่พรหมประนมมือทูลอาราธนาว่า ‘สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นปราชญ์ มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม ขอพระองค์โปรดแสดงอมตบท ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเถิด’ [๒] พระตถาคต ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๒- ผู้คงที่ @เชิงอรรถ : @ ธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาคือปัญญาเบาบาง (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑/๑๘) @ วิชชา หมายถึงวิชชา ๓ และวิชชา ๘, จรณะ หมายถึงจรณะ ๑๕ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๐-๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

ผู้ทรงความรุ่งเรือง ทรงไว้ซึ่งพระวรกายครั้งสุดท้าย ทรงเกิดความกรุณาในสรรพสัตว์ พระผู้มีพระภาค ผู้ศาสดา ทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า ‘พรหม สัตว์เหล่าใดผู้มีโสตประสาท จงปล่อยศรัทธามาเถิด เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะเรารู้สำคัญว่าจะลำบาก จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีต คล่องแคล่วในหมู่มนุษย์‘๑- สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐกว่ามุนี เมื่อจะทรงอนุเคราะห์เหล่าเวไนยสัตว์๒- จึงเสด็จออกจากโคนต้นอชปาลนิโครธ เสด็จถึงกรุงพาราณสี โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนบัลลังก์ที่ประเสริฐนั้น และทรงประกาศพระธรรมจักร คือทุกขสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ อันสูงสุด แก่ปัญจวัคคีย์ ในกาลนั้น พระผู้พระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรนั้นแล้ว ฤาษีปัญจวัคคีย์เหล่านั้น พร้อมด้วยหมู่พรหม และเทวดาประมาณ ๑๘ โกฏิ ได้บรรลุธรรมในการประชุมครั้งแรก สมัยต่อมาฤาษีปัญจวัคคีย์ทั้งหมด คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ @เชิงอรรถ : @ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๓/๓๐๘ และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๙/๑๕, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๑/๔๑, @สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๒ @ เวไนยสัตว์ หมายถึงเหล่าสัตว์ที่จะแนะนำให้บรรลุอรหัตตมรรคได้ (ขุ.อป.อ. ๒/๙๙/๓๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

พร้อมด้วยหมู่พรหมและเทวดาประมาณ ๑๘ โกฏิ อันพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้วิเศษโดยลำดับ ในกาลนั้น โสดาปัตติผลได้มี(แก่เหล่าเทวดา)ในการประชุมครั้งแรก ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ พระพุทธองค์ผู้ประเสริฐกว่ามุนี ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับความนั้น ได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีบริวารเป็นจำนวนมากถึง ๑๑ นหุต พระองค์ทรงใช้ประทีป ของหอม ธูป และดอกไม้เป็นต้นบูชาพระผู้มีพระภาค ในสมาคมนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงกามาทีนวกถา(ว่าด้วยโทษของกาม) ในเวลาจบพระธรรมเทศนาครั้งนั้น สัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ มีพระราชาเป็นประมุขได้บรรลุธรรม พระราชบิดาได้ทรงสดับความนั้น จึงทรงส่งทูตไป ๙ นาย ทูตเหล่านั้นพร้อมด้วยบริวาร ๙,๐๐๐ ทูลขอบรรพชากับพระมุนี ทูตเหล่านั้น พร้อมด้วยบริวารทั้ง ๙,๐๐๐ ได้บรรลุอรหัตตผล ครั้งสุดท้าย กาฬุทายีอำมาตย์กับบริวาร ๑,๐๐๐ ถือเพศภิกษุแล้ว นิมนต์พระผู้มีพระภาค พระศากยมุนีผู้ประเสริฐ ทรงรับนิมนต์แล้ว เสด็จดำเนินไปตามทางใหญ่ เสด็จพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป พระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ ได้ทรงทำปาฏิหาริย์ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโรหิณี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

พระผู้มีพระภาคผู้ศากยมุนี ผู้ประเสริฐ ประทับนั่งท่ามกลางบัลลังก์นั้น แสดงมหาเวสสันดรชาดก แก่พระราชบิดาท่ามกลางบัลลังก์นั้น สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม [๓] (พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า) มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นไร พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทรงมีกำลังฤทธิ์ และกำลังปัญญาเช่นไร มีพุทธพลัง๑- เช่นไร [๔] มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทรงมีกำลังฤทธิ์และกำลังปัญญาเช่นนี้ มีพุทธพลังเช่นนี้ [๕] เอาละ เราจักแสดงพุทธพลังอันยอดเยี่ยม จักเนรมิตที่จงกรมซึ่งประดับด้วยรัตนะในนภากาศ” [๖] เทวดาประจำภาคพื้น เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี และเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ต่างก็ยินดี ได้พากันส่งเสียงอื้ออึงกึกก้อง [๗] พื้นแผ่นดินพร้อมทั้งเทวโลกสว่างไสว โลกันตนรกจำนวนมากที่ไม่เชื่อมติดกัน และความมืดอันหนาทึบถูกขจัดไปในกาลนั้น เพราะเห็นปาฏิหาริย์อันน่าอัศจรรย์ @เชิงอรรถ : @ พุทธพลัง หมายถึงพุทธานุภาพ ทศพลญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๓/๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๘] แสงสว่างเจิดจ้าอย่างโอฬาร ได้เกิดแผ่ซ่านไปในโลกทั้ง ๒ คือในโลกนี้และโลกอื่นพร้อมด้วยเทวดา คนธรรพ์ มนุษย์ และรากษส แผ่ไปตลอดพื้นที่กว้างขวางทั้งเบื้องล่าง เบื้องบน และเบื้องขวาง [๙] พระศาสดาผู้ประเสริฐกว่าเหล่าสัตว์ ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ อันเทวดาและมนุษย์บูชา ทรงมีอานุภาพมาก มีบุญลักษณะนับร้อย ทรงแสดงปาฏิหาริย์๑- ที่น่าอัศจรรย์ ในสมาคมนั้น พระชินเจ้าผู้พระศาสดา เสด็จเหาะขึ้นในนภากาศแล้ว ทรงเนรมิตภูเขาสิเนรุราชให้เป็นที่จงกรมที่รื่นรมย์ ทวยเทพในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาลนมัสการพระตถาคตแล้ว กระทำการบูชาพุทธเจ้าในสำนักของพระชินเจ้า [๑๐] ครั้งนั้น พระศาสดาผู้มีพระจักษุ เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก อันท้าวสหัมบดีพรหมผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทูลอาราธนาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นประโยชน์ ทรงเนรมิตที่จงกรมอันสำเร็จด้วยรัตนะทุกชนิดสำเร็จดีแล้ว [๑๑] พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงมีความชำนาญในปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์๒- อาเทสนาปาฏิหาริย์๓- @เชิงอรรถ : @ ปาฏิหาริย์ หมายถึงการกระทำที่กำจัดหรือทำให้ปฏิปักษ์ยอมได้ การกระทำที่ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ หรือ @การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ @ อิทธิปาฏิหาริย์ หมายถึงปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๔/๒๑๔-๒๑๕, @ขุ.ปฏิ. (แปล) ๓๑/๓๐/๕๘๗) @ อาเทสนาปาฏิหาริย์ หมายถึงปาฏิหาริย์คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนการของจิตจนสามารถกำหนด @อาการที่หมายเล็กน้อยแล้วบอกสภาพจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้อง เป็นอัศจรรย์ @(ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๕/๒๑๕-๒๑๖, ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๗๕, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๐/๕๘๗-๕๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

และอนุสาสนีปาฏิหาริย์๑- ทรงเนรมิตที่จงกรมอันสำเร็จด้วยรัตนะทุกชนิดสำเร็จดีแล้ว [๑๒] ทรงแสดงภูเขาสิเนรุซึ่งสูงสุดในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล เป็นดุจเสาเรียงกันไปตามลำดับในที่จงกรมซึ่งทำด้วยรัตนะ [๑๓] พระชินเจ้าทรงเนรมิตที่จงกรมเลยขอบปากหมื่นจักรวาล ชานทั้ง ๒ ด้าน ที่จงกรมที่สำเร็จด้วยรัตนะ สำเร็จด้วยทองคำล้วน [๑๔] ทรงเนรมิตไพที๒- ทองคำล้วน ลาดด้วยแผ่นทองคำ อันเหมาะสมแก่ขื่อและเต้าไว้ทั้ง ๒ ข้าง [๑๕] รัตนจงกรมที่ทรงเนรมิต เกลื่อนไปด้วยทรายแก้วมณี ทรายแก้วมุกดา สว่างไปทั่วทิศ เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย [๑๖] พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๓- ทรงเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีที่รุ่งเรือง เสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่จงกรมนั้น [๑๗] เทพทั้งปวงที่มาประชุมกัน ต่างก็โปรยปรายดอกมณฑารพ ดอกปทุม และดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์ลงบนที่จงกรม [๑๘] เทพทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงได้มาประชุมกัน ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ หมอบลงกราบ [๑๙] เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี @เชิงอรรถ : @ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึงคำสอนเป็นอัศจรรย์ @ ดูเชิงอรรถหน้า ๘๖ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

ต่างก็มีจิตเบิกบาน มีใจดี พากันมองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๒๐] นาค ครุฑ หรือแม้กินนร พร้อมด้วยเหล่าเทวดา คนธรรพ์ มนุษย์ และรากษส ต่างก็ได้เห็นพระศาสดา ผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในนภากาศ [๒๑] เหล่าอาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม และอกนิฏฐพรหม ต่างองค์ก็นุ่งผ้าขาวล้วนยืนประนมมือ [๒๒] ต่างก็โปรยปรายดอกไม้ ๕ สี และดอกมณฑารพ๑- ที่เจือด้วยกระแจะจันทน์ และพากันโบกผ้าอยู่บนท้องฟ้า ครั้งนั้น ทั้งหมดต่างก็เปล่งเสียงว่า น่าอัศจรรย์ พระชินเจ้าผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก [๒๓] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงเป็นพระศาสดา ปรากฏดังเสาธง เป็นหลักชัย เป็นที่พึ่งอาศัย และเป็นประทีปของปวงสัตว์ [๒๔] เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มากในหมื่นจักรวาล๒- ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันแวดล้อมถวายบังคม [๒๕] เทพบุตรและเทพกัญญา ต่างก็เลื่อมใส มีใจยินดี พากันบูชาพระผู้องอาจกว่านรชน ด้วยดอกไม้ ๕ สี [๒๖] เทวดาทั้งหลาย ได้เห็นพระศาสดาพระองค์นั้น ต่างก็เลื่อมใส มีใจยินดี พากันบูชาพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน ด้วยดอกไม้ ๕ สี แล้วเปล่งเสียงว่า @เชิงอรรถ : @ ดอกมณฑารพ หมายถึงดอกไม้ทิพย์ (ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๙๙/๑๔๘) @ ในหมื่นจักรวาล แปลมาจากศัพท์ว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุยา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๒/๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๒๗] ‘โอ! น่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า ไม่เคยปรากฏในโลก ความอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏ’ [๒๘] เทวดาเหล่านั้นนั่งอยู่ในภพของตนๆ ได้เห็นความอัศจรรย์ในนภากาศแล้ว พากันหัวเราะดังลั่น [๒๙] เหล่าภุมมเทวดาที่ประจำอยู่ตามต้นไม้ และอากาสัฏฐเทวดาที่ประจำอยู่ตามดวงดาว ต่างก็มีความยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันประนมมือนมัสการ [๓๐] แม้พวกนาคที่มีอายุยืน มีบุญญาธิการ มีฤทธิ์มาก ต่างก็มีความบันเทิงใจ นมัสการ บูชาพระศาสดาเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน [๓๑] บรรเลงสังคีต ตีกลองกันอยู่ในอากาศกลางเวหา เพราะเห็นเหตุอัศจรรย์ในนภากาศ [๓๒] เทวดาจำนวนมาก เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ เคาะมโหระทึก บรรเลงอยู่ในนภากาศ เพราะเห็นความมหัศจรรย์ในนภากาศ [๓๓] เป็นความอัศจรรย์หนอไม่เคยปรากฏ วันนี้เกิดขนพองสยองเกล้าขึ้นแล้ว เราทั้งหลายได้ความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน ขณะเราทั้งหลายให้สำเร็จเฉพาะแล้ว’ [๓๔] เพราะได้สดับคำว่า “พุทโธ” เทวดาเหล่านั้นเกิดปีติในขณะนั้น ต่างก็ยืนประนมมือกล่าวว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๓๕] สัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในฟากฟ้า ต่างก็ประนมมือเปล่งเสียงสาธุการดังกระหึ่ม และเสียงโห่ร้องบันลือลั่น [๓๖] นาคทั้งหลายต่างก็ขับร้อง ประสานเสียง ประโคม ปรบขนด ฟ้อนรำ และต่างก็โปรยปรายดอกไม้ ๕ สี และดอกมณฑารพ ที่เจือด้วยกระแจะจันทน์ [๓๗] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระมหาวีระ ที่พระยุคลบาทของพระองค์มีจักรลักษณะเป็นรูปธงชัย รูปธงปฏาก รูปวชิราวุธ รูปแว่นแก้ว และรูปขอ [๓๘] ไม่มีใครเทียบกับพระองค์ได้ในเพราะรูปกาย ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อนึ่ง ไม่มีใครเสมอเหมือนกับพระองค์ได้ ในเพราะการประกาศพระธรรมจักร [๓๙] กำลังกายของพญาช้าง ๑๐ เชือก เท่ากับกำลังกายตามปกติของพระองค์ ไม่มีใครเสมอกับพระองค์ด้วยกำลังฤทธิ์ ทั้งไม่มีใครเสมอเหมือนกับพระองค์ได้ ในเพราะการประกาศพระธรรมจักร [๔๐] ท่านทั้งหลายจงนมัสการพระมหามุนี ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติทุกประการ ทรงประกอบด้วยองค์คุณทั้งปวง ทรงมีพระกรุณา ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกอย่างนี้ [๔๑] พระองค์ย่อมควรแก่การอภิวาท การสดุดี การไหว้ การสรรเสริญ การนมัสการ และการบูชาทุกอย่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๔๒] ข้าแต่พระมหาวีระ บุคคลผู้ประเสริฐที่สุด ในบรรดาบุคคลผู้ที่ต้องไหว้ และบุคคลที่ควรไหว้ทั้งหมดในโลกเช่นกับพระองค์ไม่มี [๔๓] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและในฌาน ยืนอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นพระองค์ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๔๔] มองดูพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน ผู้งามเหมือนต้นพญาไม้สาละที่มีดอกบานสะพรั่ง เหมือนดวงจันทร์ในท้องฟ้า และเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน [๔๕] เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้เป็นนักปราชญ์ ซึ่งมีพระรัศมีแวดล้อมอยู่ด้านละวา รุ่งเรืองเหมือนต้นพฤกษาประทีป งามเด่นเหมือนดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ [๔๖] พระสารีบุตรได้นิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูป มีกิจอันกระทำแล้ว ผู้คงที่ ผู้เป็นพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทินให้มาประชุมกันในขณะนั้น [๔๗] แล้วกล่าวว่า พระชินเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ อันทำสัตว์โลกทั้งผองให้เลื่อมใส แม้เราทั้งหลายก็จักไปกราบไหว้พระชินเจ้า ณ ที่นั้น [๔๘] มาเถิด เราทั้งปวงจักไปเฝ้าพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จักทูลถามให้บรรเทาความสงสัย [๔๙] ภิกษุผู้มีปัญญารักษาตน สำรวมอินทรีย์เหล่านั้น รับคำว่า “สาธุ” แล้วต่างก็ถือบาตรและจีวร พากันเข้าไปหา(พระสารีบุตร)อย่างรีบเร่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๕๐] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก พร้อมด้วยพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน ผู้ฝึกตนในการฝึกอันยอดเยี่ยม๑- พากันไปเฝ้าด้วยฤทธิ์ [๕๑] พระสารีบุตรผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อม เข้าเฝ้าด้วยฤทธิ์ ดังเทวดาลอยมาในฟากฟ้า [๕๒] ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีวัตรงาม มีความเคารพยำเกรง ไม่ไอ ไม่จาม พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๕๓] ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว เห็นพระสยัมภูวีรเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ลอยเด่นอยู่ในนภากาศเหมือนดวงจันทร์ในฟากฟ้า [๕๔] เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้รุ่งเรืองดังต้นพฤกษาประทีป เหมือนสายฟ้าในท้องฟ้า และเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน [๕๕] ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ดังห้วงน้ำใสแจ๋ว และดังปทุมชาติที่กำลังบาน [๕๖] ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ ประนมมือหมอบลงนอบน้อม แทบพระยุคลบาทที่มีจักรลักษณะของพระศาสดา [๕๗] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกหงอนไก่ เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและในฌาน ไหว้พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๕๘] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก ไม่มีใครเสมอได้ด้วยกำลังฤทธิ์ @เชิงอรรถ : @ อันยอดเยี่ยม หมายถึงพระอรหัตตผล (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๐-๕๑/๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกอุบลเขียว ได้บันลือมา(ด้วยวิสัยแห่งฤทธิ์) เหมือนเมฆในฤดูฝนคำรนอยู่ [๕๙] แม้พระมหากัสสปเถระผู้ผิวพรรณดั่งทองที่หลอมอยู่ในเบ้า พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศในฝ่ายธุดงค์คุณ [๖๐] พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่ เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพยจักษุ เป็นพระญาติผู้ประเสริฐของพระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ในที่ไม่ไกล [๖๑] พระอุบาลีเถระผู้ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ และสเตกิจฉา พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศในฝ่ายพระวินัย [๖๒] พระเถระผู้ฤาษีปรากฏชื่อว่าปุณณมันตานีบุตร ผู้รู้แจ้งในอรรถอันละเอียดสุขุม๑- ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายพระธรรมกถึก เป็นหัวหน้าคณะ [๖๓] พระมุนีมหาวีระผู้ทรงฉลาดในอุปมา ตัดความสงสัย ทรงทราบจิตของท่านเหล่านั้นแล้ว จึงตรัสถึงพระคุณของพระองค์ว่า [๖๔] สิ่งที่นับไม่ได้ มีที่สุด ที่บุคคลรู้ไม่ได้ ๔ อย่าง คือ (๑) หมู่สัตว์ (๒) อากาศ (๓) อนันตจักรวาล (๔) พระพุทธญาณที่หาประมาณมิได้ สิ่งเหล่านี้อันใครๆ ไม่อาจรู้แจ้งได้ @เชิงอรรถ : @ รู้แจ้งในอรรถอันสุขุม หมายถึงญาณหยั่งรู้สัจจะ ๔ และนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ของตน @(ขุ.เถร.อ. ๑/๔/๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๖๕] การที่เราจะแสดงฤทธิ์นี้ จะอัศจรรย์อะไรในโลกเล่า เพราะความอัศจรรย์ที่ทำให้เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างอื่น ยังมีอยู่อีกมากมาย [๖๖] ในกาลใด เราเป็นเทพอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ในกาลนั้น เรามีชื่อว่าสันดุสิตเทพบุตร เทวดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันแล้ว ประนมมือกล่าวอัญเชิญเราว่า [๖๗] ข้าแต่พระมหาวีระ บัดนี้ ถึงเวลาสมควรของพระองค์แล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จอุบัติในพระครรภ์มารดา ตรัสรู้อมตบทช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)เถิด [๖๘] ขณะเมื่อเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงสู่ครรภ์นั้น โลกธาตุมีหมื่นจักรวาล แผ่นดินก็ไหว [๖๙] ขณะเมื่อเรามีความรู้สึกตัว ประสูติจากพระครรภ์มารดานั้น ทวยเทพก็พากันสาธุการ หมื่นจักรวาลก็ไหว [๗๐] ในการก้าวลงสู่พระครรภ์มารดา และในการประสูติ ไม่มีใครเสมอด้วยเรา เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในการตรัสรู้ และในการประกาศพระธรรมจักร [๗๑] โอ! ความอัศจรรย์ได้มีในโลก เพราะพระพุทธเจ้าทรงพระคุณมาก โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลไหว ๖ ครั้ง มีรัศมีสว่างจ้า น่าอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์

[๗๒] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้า ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จจงกรมด้วยพระฤทธิ์ แสดงให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวโลกเห็น [๗๓] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จจงกรมอยู่ ในที่จงกรมนั่นเอง ตรัสธรรมีกถา ไม่เสด็จกลับในระหว่าง เหมือนเสด็จจงกรมอยู่ในที่จงกรมเพียง ๔ ศอก [๗๔] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและฌาน ถึงความบริบูรณ์ด้วยปัญญา ได้ทูลถามพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า [๗๕] ข้าแต่พระมหาวีระ เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน อภินิหารของพระองค์เป็นเช่นไร ข้าแต่พระวีรเจ้า พระองค์ทรงปรารถนา พระโพธิญาณอันสูงสุดในกาลไร [๗๖] ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ และอธิษฐานเป็นเช่นไร เมตตาและอุเบกขาเป็นเช่นไร [๗๗] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก บารมี ๑๐ เป็นอย่างไร อุปบารมี ๑๐ เต็มได้อย่างไร และปรมัตถบารมี ๑๐ เต็มได้อย่างไร เพราะทรงอธิษฐานกรรมอะไร เป็นอธิบดีได้อย่างไร มีบารมีได้อย่างไร นักปราชญ์เป็นเช่นไร ในโลก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเป็นเช่นไร พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม (ธรรมที่กระทำความเป็นพระพุทธเจ้า) ให้บริบูรณ์สิ้นเชิงได้อย่างไร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๗๘] พระศาสดา ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะดังเสียงนกการเวก อันพระสารีบุตรนั้นทูลถามแล้ว ทรงพยากรณ์ให้เย็นใจ และทรงทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง [๗๙] พระศาสดาทรงประกาศประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ที่พระพุทธชินเจ้าในอดีตทรงแสดงไว้ ทรงชมเชย ที่นำสืบๆ กันมาของพระพุทธเจ้า ด้วยพระพุทธญาณที่ไปตามปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า [๘๐] ท่านทั้งหลายจงทำจิตให้เกิดปีติปราโมทย์ ให้บรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศก ให้ได้สมบัติทั้งปวงแล้วจงฟังเรา [๘๑] ท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามมรรคที่ย่ำยีความเมา บรรเทาความเศร้าโศก เปลื้องตนจากสงสาร เป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง โดยความเคารพเถิด
รตนจังกมนกัณฑ์ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๕๓-๕๖๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=192              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6654&Z=6873                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=181              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=181&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=181&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :