ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรี ๑๘,๐๐๐ รูป
(พระเถรี ๑๘,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๔๒๖] ภิกษุณีที่สมภพในศากยตระกูล ๑๘,๐๐๐ รูป มีพระยโสธราเถรีเป็นประธาน เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๔๒๗] ภิกษุณีทั้ง ๑๘,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นผู้มีฤทธิ์มาก กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว ได้กราบทูลตามกำลังว่า [๔๒๘] ‘ข้าแต่พระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันทั้งหลายมีชาติ ชรา พยาธิ และมรณะสิ้นแล้ว ถึงอมตบทที่สงบ ไม่มีอาสวะ [๔๒๙] ข้าแต่พระมหามุนีผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ในกาลก่อนความพลั้งพลาดของหม่อมฉันแม้ทั้งหมดก็มีอยู่ ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่าเป็นความผิด ขอพระองค์โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด’ [๔๓๐] (พระบรมศาสดาตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา จงแสดงฤทธิ์และตัดความสงสัยของบริษัททั้งมวลเท่าที่มีอยู่เถิด’ [๔๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระ พระยโสธราเถรีเป็นหญิงที่น่าพอพระทัยน่ารักน่าชม ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งปวงเป็นปชาบดีของพระองค์ เมื่อสมัยที่ยังครองฆราวาสวิสัย [๔๓๒] ข้าแต่พระมหาวีระ บรรดาหญิงจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ นาง หม่อมฉันทั้งหลายเป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๓๓] สตรีทั้งหมดประกอบด้วยรูปสมบัติและอาจารสมบัติ ดำรงอยู่ในวัยสาว พูดจาไพเราะ ยำเกรงต่อหม่อมฉันทั้งหลาย เหมือนพวกมนุษย์ยำเกรงเทวดา [๔๓๔] ในกาลนั้น หม่อมฉันจำนวน ๑๘,๐๐๐ นาง ทั้งหมด เป็นผู้สมภพในศากยตระกูล พระยโสธราเถรีและหม่อมฉัน ๑,๐๐๐ นาง เป็นประธาน เป็นใหญ่ [๔๓๕] ข้าแต่พระมหามุนี บรรดาหม่อมฉัน ๑,๐๐๐ นาง หม่อมฉันทั้งหลายผู้ก้าวล่วงกามธาตุ ดำรงอยู่ในรูปธาตุ มีรูป(มีฤทธิ์)ไม่เหมือนกัน๑- [๔๓๖] พระเถรีเหล่านั้น ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แสดงฤทธิ์ถวายพระศาสดา แสดงฤทธิ์มากมายหลายอย่างต่างๆ กัน [๔๓๗] คือแสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล ศีรษะเท่าอุตตรกุรุทวีป ทวีปทั้ง ๒ ให้เป็นปีกทั้ง ๒ ข้าง ชมพูทวีปให้เป็นลำตัว [๔๓๘] แสดงมหาสมุทรด้านทิศใต้ให้เป็นกำหาง กิ่งไม้ต่างๆ ให้เป็นขนปีก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ให้เป็นนัยน์ตา ภูเขาพระสุเมรุให้เป็นหงอน [๔๓๙] แสดงภูเขาจักรวาลให้เป็นจะงอยปาก นำต้นหว้าพร้อมทั้งราก เข้ามาใกล้แล้วไหว้และพัดวีพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๒, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๐๐๗-๑๐๑๖/๖๕๓-๖๖๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๔๐] แสดงเป็นช้าง ม้า ภูเขา ทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภูเขาพระสุเมรุและเป็นท้าวสักกจอมเทพ [๔๔๑] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระวีรเจ้า ผู้มีพระจักษุ ทรงเป็นผู้นำของนรชน หม่อมฉันทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งยศ ซึ่งสำเร็จแล้วด้วยกุศลธรรมที่อบรมมานานเพื่อพระองค์ ขอกราบพระยุคลบาท [๔๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ [๔๔๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๔๔๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันทั้งหลาย เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๔๔๕] การพบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลก พระองค์ก็ได้แสดงแล้วแก่หม่อมฉันทั้งหลาย ข้าแต่พระมหามุนี อธิการจำนวนมากของหม่อมฉันทั้งหลาย ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๔๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้เป็นพระมุนี ขอพระองค์พึงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่า ของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๔๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลาย งดเว้นอนาจารในสถานที่ไม่สมควร แม้ชีวิตก็ยอมสละแล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๔๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย เพื่อต้องการให้เป็นภรรยาของผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๔๔๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย เพื่ออุดหนุนผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๔๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๔๕๑] หม่อมฉันทั้งหลายยอมสละชีวิตหลายพันโกฏิกัป ด้วยคิดว่าจักทำความพ้นภัย จึงยอมสละชีวิต [๔๕๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยหวงเครื่องประดับ ผ้านานาชนิดที่ติดตัวอยู่ และภัณฑะของหญิง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๕๓] ข้าแต่พระมหามุนี ทรัพย์ ข้าวเปลือก ปัจจัยเครื่องบริจาค บ้าน นิคม ไร่ นา บุตร ธิดา หม่อมฉันทั้งหลายก็บริจาคแล้ว [๔๕๔] ช้าง ม้า โค ทาสี นางบำเรอ มากมายนับไม่ถ้วน หม่อมฉันทั้งหลายก็บริจาคแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๕๕] พระองค์ทรงปรึกษาหม่อมฉันทั้งหลายว่า ‘เราทั้งหลายจะให้ทานแก่พวกยาจก’ เมื่อพระองค์ให้ทานที่ประเสริฐอยู่ หม่อมฉันทั้งหลายก็ไม่เคยเสียใจ [๔๕๖] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลาย ยอมรับทุกข์ทรมานมากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน ในสงสารเป็นอเนก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๕๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลายได้รับความสุข ย่อมอนุโมทนา และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๔๕๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญธรรม โดยมรรคที่สมควร เสวยสุขและทุกข์แล้ว ได้บรรลุซึ่งพระโพธิญาณ [๔๕๙] การที่พระองค์และหม่อมฉันทั้งหลายพบพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าพรหมเทพ และพระนามว่าโคดมแล้วพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นที่พึ่งสัตว์โลกเหล่าอื่นอีกก็มาก [๔๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการของหม่อมฉันทั้งหลายมีมาก เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาพุทธธรรมอยู่ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้เป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ [๔๖๑] ใน ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระมหาวีระพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๖๒] ประชาชนในปัจจันตประเทศต่างมีใจยินดี ทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว ช่วยกันแผ้วถางทางซึ่งเป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน [๔๖๓] ครั้งนั้น พระองค์เกิดเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ กำลังตกแต่งหนทางเพื่อพระสุคต ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงกำลังเสด็จมา [๔๖๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมด ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ถือดอกไม้ที่เกิดจากข้อไปสู่สมาคม [๔๖๕] สมัยนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้มีบริวารยศมาก เป็นพระมหาวีระ ทรงพยากรณ์สุเมธดาบสผู้มีใจสูง [๔๖๖] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรกำลังทรงประกาศกรรม ของสุเมธดาบส ยกย่องฤาษีผู้มีใจสูงอยู่ แผ่นดินก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก [๔๖๗] เทพกัญญา มนุษย์ และหม่อมฉันทั้งหลาย พร้อมทั้งเทวดา พากันใช้สิ่งของที่ควรบูชาต่างๆ บูชาแล้วปรารถนา [๔๖๘] พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าทีปังกร ทรงพยากรณ์เขาเหล่านั้นว่า ‘ในวันนี้ ชนเหล่าใดมีความปรารถนา ชนเหล่านั้นจักสำเร็จพร้อมหน้ากัน [๔๖๙] ในกัปซึ่งหาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์พระดำรัสใดแก่หม่อมฉันทั้งหลาย หม่อมฉันทั้งหลายเมื่ออนุโมทนาพระดำรัสนั้น จึงเป็นผู้ทำอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๗๐] หญิงทั้งหลายทำจิตให้เลื่อมใสในกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น จึงได้บังเกิดในกำเนิดเทวดาและมนุษย์นับชาติไม่ถ้วน [๔๗๑] ครั้นเสวยสุขและทุกข์ในเทวดาและมนุษย์แล้ว เมื่อถึงภพสุดท้าย จึงมาเกิดในศากยตระกูล [๔๗๒] มีรูปสมบัติ โภคสมบัติ ยศ และศีล สมบูรณ์ด้วยองค์สมบัติทั้งปวง ได้รับสักการะอย่างยิ่งในตระกูลทั้งหลาย [๔๗๓] พรั่งพร้อมไปด้วยโลกธรรม คือ ลาภ สรรเสริญ สักการะ มีจิตไม่ประกอบด้วยทุกข์ อยู่อย่างผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ [๔๗๔] สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ในครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอุปการะของนารีทั้งหลาย ไว้ภายในพระราชมณเฑียรและในขัตติยบุรีว่า [๔๗๕] นารีผู้มีอุปการะ ๑ นารีผู้เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ นารีผู้แนะนำประโยชน์ให้ ๑ นารีผู้ทำความอนุเคราะห์ให้ ๑ [๔๗๖] บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่ควรประพฤติธรรมให้ทุจริต เพราะบุคคลผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’ [๔๗๗] หม่อมฉันทั้งหลายละการครองเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ทันถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ ๔ [๔๗๘] คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัยมากมาย เข้ามาถวายหม่อมฉันทั้งหลาย เหมือนคลื่นในมหาสมุทร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

[๔๗๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๔๘๐] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๔๘๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๔๘๒] หม่อมฉันทั้งหลายได้รับทุกข์หลายอย่าง และสุขสมบัติหลายอย่าง ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้สมบัติทุกอย่าง ด้วยประการฉะนี้ [๔๘๓] บุคคลผู้ถวายตนของตนแด่พระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อต้องการบุญก็ย่อมพรั่งพร้อมด้วยสหาย บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นอสังขตะ [๔๘๔] กรรมทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตสิ้นไปแล้ว กรรมทั้งปวงของหม่อมฉันทั้งหลายสิ้นแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันทั้งหลายขอกราบไหว้พระยุคลบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรค

[๔๘๕] พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน เราจะกล่าวอะไรให้มากเล่า บุคคลที่เป็นทาสที่นับว่าสัตว์ก็บรรลุถึงอมตบทแล้ว’ ได้ทราบว่า ภิกษุณี ๑๘,๐๐๐ รูปมีพระยโสธราเถรีเป็นประธาน ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทานที่ ๑๐ จบ
กุณฑลเกสีวรรคที่ ๓ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน ๔. สกุลาเถริยาปทาน ๕. นันทาเถริยาปทาน ๖. โสณาเถริยาปทาน ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน ๘. ยโสธราเถริยาปทาน ๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ ๔๗๘ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๑๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๑๐-๕๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=181              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6078&Z=6203                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=170              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=170&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=170&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap30/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :