ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททกาปิลานีเถรี
(พระภัททกาปิลานีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๔๔] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒๔๕] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นภริยาของเศรษฐีชื่อว่าวิเทหะ มีรัตนะมาก ในกรุงหงสวดี [๒๔๖] บางคราวเศรษฐีนั้นพร้อมด้วยชนที่เป็นบริวาร เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นดังสุริยเทพบุตร ได้ฟังพระธรรมอันนำความสิ้นทุกข์ทั้งปวงมาให้ ของพระพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๔๗] พระองค์ทรงเป็นผู้นำประกาศสรรเสริญภิกษุ ผู้เป็นสาวกรูปหนึ่งว่า เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์ หม่อมฉันได้ฟังแล้ว ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้คงที่ตลอด ๗ วัน [๒๔๘] แล้วซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทปรารถนาตำแหน่งนั้น ก็ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐแห่งนระ เมื่อจะทรงให้บริษัทร่าเริง [๒๔๙] ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ เพื่อทรงอนุเคราะห์เศรษฐีว่า ‘ดูก่อนบุตร เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนา จงเป็นผู้เย็นใจเถิด [๒๕๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๕๑] เธอจักมีนามปรากฏว่ากัสสปะ ตามโคตร เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๒๕๒] เศรษฐีได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต [๒๕๓] พระองค์ทรงประกาศศาสนาให้รุ่งเรืองแล้ว ย่ำยีเดียรถีย์ผู้หลอกลวงได้แล้ว ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ (คือผู้ที่ควรแนะนำได้) พระองค์พร้อมทั้งพระสาวกปรินิพพานแล้ว [๒๕๔] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศในโลกนั้นปรินิพพานแล้ว เพื่อจะบูชาพระศาสดา เศรษฐีนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

จึงเชิญญาติและมิตรมาประชุมแล้ว พร้อมกับญาติและมิตรเหล่านั้นได้สร้าง [๒๕๕] พระสถูปรัตนะสูงได้ ๗ โยชน์ ซึ่งมีความรุ่งเรืองเหมือนดวงอาทิตย์ และเหมือนต้นพญาไม้สาละที่กำลังมีดอกบานสะพรั่ง [๒๕๖] หม่อมฉันได้ให้ช่าง ๗ คนใช้รัตนะ ๗ ประการ ทำตุม ๗๐๐,๐๐๐ ใบ ซึ่งโชติช่วงเหมือนไฟไหม้ไม้อ้อ [๒๕๗] หม่อมฉันบรรจุน้ำมันหอมจนเต็ม ตามประทีปไว้ ณ พระสถูปนั้น เพื่อบูชาพระศาสดา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอนุเคราะห์สรรพสัตว์ [๒๕๘] หม่อมฉันให้ช่างทำหม้อ ๗๐๐,๐๐๐ ใบ ใส่รัตนะต่างๆ จนเต็มครบทุกใบ เพื่อบูชาพระศาสดา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๕๙] ในระหว่างกลางหม้อทุก ๘ ใบ ยกพวงทองตั้งประดับไว้ ซึ่งมีรัศมีรุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์ในสารทกาล [๒๖๐] ที่ประตูทั้ง ๔ มีเสาระเนียดซึ่งทำด้วยรัตนะ ทั้งมีแผ่นกระดานที่ทำด้วยรัตนะน่ารื่นรมย์ ยกขึ้นไว้ย่อมงดงาม [๒๖๑] คูและปล่องที่สร้างไว้อย่างดี ก็รุ่งโรจน์ ธงรัตนะที่ยกขึ้นไว้ล้วนงามไพโรจน์ [๒๖๒] พระเจดีย์ที่สร้างด้วยรัตนะนั้น สร้างไว้อย่างสวยงาม มีสีสุก มีรัศมีรุ่งโรจน์ดุจดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๖๓] พระสถูปของหม่อมฉันมี ๓ ด้าน ด้านหนึ่งบรรจุหรดาล ด้านหนึ่งบรรจุมโนศิลา ด้านหนึ่งบรรจุแร่พลวงไว้จนเต็ม [๒๖๔] หม่อมฉันให้ช่างทำเครื่องบูชาที่น่ายินดีเช่นนี้แล้ว ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ผู้กล่าวธรรมที่ประเสริฐ ตามกำลัง จนตลอดชีวิต [๒๖๕] หม่อมฉันกับเศรษฐีนั้น ทำบุญเหล่านั้น โดยประการทั้งปวงจนตลอดชีวิต แล้วได้ไปเกิดในสุคติภพร่วมกัน [๒๖๖] เสวยสมบัติทั้งหลายทั้งในเทวดาและในมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิดร่วมกับเศรษฐีนั้น ปานประหนึ่งว่าเงาติดตามตัว [๒๖๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำ ทรงมีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๒๖๘] ครั้งนั้น ท่านเศรษฐีได้เกิดเป็นพราหมณ์ ในกรุงพันธุมดี เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นผู้มั่งคั่งด้วยคุณธรรม แต่เป็นคนจนแสนจนด้วยทรัพย์ [๒๖๙] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นพราหมณีของพราหมณ์นั้น มีความคิดอย่างเดียวกัน บางครั้งพราหมณ์นั้นเข้าเฝ้าพระมหามุนี [๒๗๐] ซึ่งประทับนั่งทรงแสดงอมตบทอยู่ในหมู่ชน ได้ฟังธรรมแล้วเบิกบานใจ ได้ถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่ง [๒๗๑] มีผ้านุ่งผืนเดียวกลับไปเรือน แล้วได้บอกหม่อมฉันว่า ‘น้องหญิง เชิญอนุโมทนามหาบุญเถิด ผ้าสาฎกพี่ได้ถวายพระพุทธเจ้าไปแล้ว’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๗๒] ขณะนั้น หม่อมฉันมีความเอิบอิ่มประนมมือ อนุโมทนาว่า ‘ข้าแต่สามี ผ้าสาฎกท่านถวายดีแล้ว แด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้คงที่’ [๒๗๓] พราหมณ์มีความสุข ประดับตกแต่งแล้ว เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงพาราณสีที่น่ารื่นรมย์ [๒๗๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นพระมเหสีผู้ประเสริฐกว่าพวกนางสนม เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของท้าวเธอ เพราะความรักที่มีในกาลก่อน [๒๗๕] พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์ ผู้เที่ยวบิณฑบาต ทรงเบิกบานพระทัย ได้ถวายอาหารบิณฑบาตที่มีราคามาก [๒๗๖] นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไว้ ทรงสร้างรัตนมณฑปซึ่งประดับด้วยทองมีรัศมีเปล่งปลั่ง ที่พวกช่างทองได้ทำไว้ซึ่งสูงประมาณ ๑๐๐ ศอก [๒๗๗] ท้าวเธอทรงเลื่อมใส รับสั่งให้นิมนต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด แล้วได้ทรงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ซึ่งเข้ามาในพระราชนิเวศน์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง [๒๗๘] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ร่วมถวายทานนั้นกับพระเจ้ากาสี ได้เกิดในกาสิกคามในกรุงพาราณสีอีก [๒๗๙] พระเจ้ากาสีกับพระภาดามีความสุขอยู่ในตระกูลกุฎุมพีที่เจริญ หม่อมฉันเป็นภรรยาของพี่ชายคนโต ปรนนิบัติสามีอย่างดี [๒๘๐] น้องชายของสามีหม่อมฉัน เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว นำอาหารของพี่ชายไปถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อพี่ชายผู้ซึ่งเป็นสามีของหม่อมฉันมาถึงแล้ว จึงได้บอก(สามี)ให้ทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๘๑] เขาไม่ยินดีทาน จากนั้น หม่อมฉันก็ได้ให้อาหาร ที่ตนนำมาเพื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแก่สามีนั้น สามีนั้นได้ถวายอาหารนั้น แก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นอีก [๒๘๒] ขณะนั้น หม่อมฉันโกรธจึงเทอาหาร ที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทิ้งเสีย ได้ถวายบาตรที่เต็มด้วยเปือกตม แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คงที่นั้น [๒๘๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นใบหน้า มีจิตสงบของท่าน ทั้งในการให้ การรับ การเคารพ และการประทุษร้าย จึงสลดใจมาก [๒๘๔] หม่อมฉันมีจิตเลื่อมใสรับบาตรมาแล้ว ใช้น้ำหอมอย่างดีล้างจนสะอาด บรรจุน้ำตาลกรวดกับเปรียงจนเต็มบาตรแล้วถวายคืน [๒๘๕] หม่อมฉันเกิดในภพใดๆ ก็มีรูปงาม เพราะถวายทาน แต่มีกลิ่นตัวเหม็น เพราะการย่ำยีที่กระทำไม่สมควรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า [๒๘๖] เมื่อพระเจดีย์ของพระธีรเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ซึ่งสามีหม่อมฉันได้ให้สร้างสำเร็จแล้ว หม่อมฉันมีความยินดี ได้ถวายแผ่นอิฐทองคำอย่างดีอีก [๒๘๗] ชุบอิฐนั้นให้ชุ่มด้วยของหอม ๔ ชนิด จึงพ้นจากโทษที่มีกลิ่นตัวเหม็น กลายเป็นผู้มีรูปทรงสมส่วนไปทั่วสรรพางค์กาย [๒๘๘] ให้ช่างใช้รัตนะ ๗ ประการทำถาด ๗,๐๐๐ ถาด เต็มไปด้วยเปรียง และไส้เป็นพันๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๘๙] ใส่ไปแล้วตามประทีปตั้งไว้ ๗ แถว เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใส [๒๙๐] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันมีส่วนในบุญนั้นโดยพิเศษ สามีของหม่อมฉันไปเกิดในแคว้นกาสี มีนามปรากฏว่าสุมิตตะ [๒๙๑] หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา มีความสุขอันเขาประดับตกแต่งแล้ว เป็นที่รัก ครั้งนั้น สามีของหม่อมฉันได้ถวายผ้าโพกศีรษะเนื้อดี แก่พระปัจเจกมุนี [๒๙๒] แม้หม่อมฉันก็มีส่วนแห่งทานนั้น อนุโมทนาทานที่ประเสริฐ สามีได้ไปเกิดในกำเนิดแห่งชาวโกลิยะในแคว้นกาสีอีก [๒๙๓] ครั้งนั้น สามีของหม่อมฉันพร้อมด้วยบุตร ของชาวโกลิยะ ๕๐๐ คน ได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ [๒๙๔] นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้วได้ถวายไตรจีวร ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา เป็นผู้ปฏิบัติกุศลกรรมบถ [๒๙๕] สามีจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เป็นพระราชาพระนามว่านันทะ มียศมาก แม้หม่อมฉันก็ได้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ เป็นผู้มีสมบัติให้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ [๒๙๖] พระเจ้านันทะนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนามว่าพรหมทัต ครั้งนั้น พระปัจเจกมุนี ๕๐๐ องค์ถ้วน ผู้เป็นพระโอรสของนางปทุมวดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๒๙๗] หม่อมฉันได้บำรุงจนตลอดชีวิต นิมนต์ให้พักอยู่ในพระราชอุทยานแล้ว และบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว [๒๙๘] หม่อมฉันทั้ง ๒ ได้สร้างเจดีย์หลายองค์ แล้วก็พากันออกบวช เจริญอัปปมัญญา แล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก [๒๙๙] จุติจากพรหมโลกแล้ว สามีของหม่อมฉัน เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อปิปผลายนะ ที่ประเทศมหาติตถะ มารดาชื่อสุมนเทวี บิดาเป็นพราหมณ์โกสิยโคตร [๓๐๐] หม่อมฉันเป็นธิดาของกบิลพราหมณ์ มารดาชื่อสุจิมตี ในมัททชนบท นครสากละที่ประเสริฐสุด [๓๐๑] บิดาหล่อรูปของหม่อมฉันด้วยทองคำแท่งแล้ว ถวายรูปหล่อแก่พระกัสสปธีรเจ้า ผู้เว้นจากกามทั้งหลาย [๓๐๒] พราหมณ์ปิปผลายนะนั้นเป็นหนุ่ม ไปตรวจดูงานในกาลบางคราว เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ถูกกาเป็นต้นจิกกินแล้ว เกิดความสลดใจ [๓๐๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นเมล็ดงาที่มีอยู่ในเรือน ซึ่งนำออกผึ่งแดด เห็นกาจิกกินหนอนอยู่ ได้ความสลดใจ [๓๐๔] ครั้งนั้น พราหมณ์ปิปผลายนะผู้เป็นปราชญ์ออกบวช หม่อมฉันก็ออกบวชตาม อยู่บำเพ็ญศีลพรตของปริพาชก ๕ ปี [๓๐๕] เมื่อพระนางโคตมีผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้าทรงผนวชแล้ว หม่อมฉันได้เข้าไปหาพระนาง และเป็นผู้อันพระพุทธเจ้าสั่งสอนแล้ว [๓๐๖] โดยกาลไม่นานนัก หม่อมฉันก็ได้บรรลุอรหัตตผล โอ! เรามีพระมหากัสสปเถระผู้มีสิริ เป็นกัลยาณมิตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน

[๓๐๗] พระกัสสปเถระเป็นพุทธบุตร เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า มีจิตตั้งมั่นดี รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เห็นสวรรค์และอบาย [๓๐๘] อนึ่ง ท่านถึงความสิ้นชาติ เป็นมุนีอยู่จบอภิญญา ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ผู้มีวิชชา ๓ [๓๐๙] ภัททกาปิลานีก็เหมือนกัน ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชเสียได้ ทรงร่างกายนี้เป็นที่สุด ชนะมารพร้อมทั้งเสนามารแล้ว [๓๑๐] หม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นโทษในโลกแล้วพากันบวช เป็นผู้สิ้นอาสวะ ฝึกตนแล้ว มีความเย็น ดับสนิทแล้ว [๓๑๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๑๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล [๓๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระภัททกาปิลานีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภัททกาปิลานีเถริยาปทานที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๘๗-๔๙๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=178              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=5751&Z=5881                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=167              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=167&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=167&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap27/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :