ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
(พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๙๗] คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงส่องโลกให้สว่าง ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี [๙๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีพระมาตุจฉา(น้าสาว) ของพระชินเจ้า อยู่ในสำนักของภิกษุณี ในกรุงที่น่ารื่นรมย์นั้น [๙๙] พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้ว เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น อยู่ในที่สงัดได้ตรึก(คิด)อย่างนี้ว่า [๑๐๐] “การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระอัครสาวกทั้งคู่ก็ดี ของพระราหุลก็ดี ของพระอานนท์ และของพระนันทะก็ดี เราจะไม่ได้เห็น [๑๐๑] ก่อนแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ของพระอัครสาวกทั้งคู่ ของพระมหากัสสปะ ของพระนันทะ ของพระอานนท์ และของพระราหุล เราก็จะไม่ได้เห็นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๐๒] เราผู้ที่พระโลกนาถ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงอนุญาตแล้ว พึงปลงอายุสังขารแล้วนิพพาน” [๑๐๓] ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้น แม้พระเขมาภิกษุณีเป็นต้นก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน [๑๐๔] ครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือลั่น เทพที่สถิตอยู่ในสำนักภิกษุณี ถูกความเศร้าโศกบีบคั้น [๑๐๕] บ่นเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาในที่นั้น ภิกษุณีทุกรูปพร้อมด้วยเทพเหล่านั้น ได้เข้าไปหาพระโคตมีภิกษุณี [๑๐๖] ซบศีรษะลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำนี้ว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า เพราะหม่อมฉันมีปกติอยู่ด้วยการเทียบเคียงในธรรมเหล่านั้น หม่อมฉันจึงได้อยู่ในที่สงัด [๑๐๗] แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น กลองทิพย์บันลือลั่น และหม่อมฉันได้ยินเสียงคร่ำครวญ ข้าแต่พระโคตมี จะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่” [๑๐๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีนั้น ได้บอกถึงเหตุทุกอย่างตามที่ตนได้ตรึกแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุณีทุกรูปก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนตรึกแล้วกล่าวว่า [๑๐๙] “ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการนิพพาน ที่เกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงหม่อมฉันทั้งหลายก็จักนิพพานทั้งหมด ในกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตก่อน [๑๑๐] แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ออกจากเรือน และจากภพพร้อมกับพระแม่เจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

หม่อมฉันทั้งหลายก็จักไปสู่เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน” [๑๑๑] พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน ฉันจักว่าอะไรได้เล่า” แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไป พร้อมกับภิกษุณีทั้งหมดในครั้งนั้น [๑๑๒] พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี ได้กล่าวกับทวยเทพทั้งหลายว่า “ขอเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ สำนักภิกษุณี จงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด การเห็นสำนักภิกษุณีของข้าพเจ้านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย [๑๑๓] ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นอสังขตสถาน (สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)” [๑๑๔] พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ ได้สดับคำนั้น เป็นผู้อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า “น่าสังเวชหนอ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย [๑๑๕] สำนักภิกษุณีนี้จักว่างเปล่า เพราะเว้นจากภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีผู้เป็นชิโนรสจะไม่ปรากฏ เหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่าง [๑๑๖] พระมหาปชาบดีโคตมีจะนิพพาน พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร พร้อมกับแม่น้ำ ๕๐๐ สาย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๑๗] อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า [๑๑๘] “การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร” อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ [๑๑๙] เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย [๑๒๐] ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ฉันเว้นขาดแล้ว นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว
ภาณวารที่ ๑ จบ
[๑๒๑] พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ภาระหนัก๑- ฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว [๑๒๒] กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ @เชิงอรรถ : @ ภาระหนัก หมายถึงขันธภาระ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ @(ขุ.เถร.อ. ๒/๖๐๔/๒๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๒๓] พระพุทธเจ้าและพระสัทธรรมของพระองค์ มิได้ย่อหย่อนยังดำรงอยู่ตราบใด ตราบนั้นเป็นเวลาสมควรแล้ว ที่ฉันจะนิพพาน ลูกเอ๋ย อย่าได้เศร้าโศกถึงแม่เลย [๑๒๔] พระชินเจ้า พระราหุล พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอานนท์ และพระนันทะเป็นต้น ก็ยังดำรงอยู่ ขอพระสงฆ์จงมีประโยชน์สุขร่วมกัน ขอให้เดียรถีย์จงเป็นผู้มีความโง่เขลาถูกกำจัดเสียเถิด [๑๒๕] ยศคือการย่ำยีมารแห่งวงศ์พระเจ้าโอกกากราช ฉันก็ให้รุ่งเรืองแล้ว ลูกๆ ถึงเวลาที่แม่จะนิพพานแล้วมิใช่หรือ [๑๒๖] ความปรารถนาที่แม่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นมาช้านาน จะสำเร็จแก่แม่ในวันนี้ เวลานี้เป็นเวลาที่กลองอานันทเภรีบันลือเสียง ลูกเอ๋ย น้ำตาจะมีประโยชน์อะไรแก่พวกลูก [๑๒๗] ถ้าลูกทั้งหลายจะมีความเอ็นดู หรือมีความกตัญญูในมารดา ก็ขอให้ลูกทุกคนจงทำความเพียรให้มั่น เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมเถิด [๑๒๘] พระสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งแม่ทูลอ้อนวอน จึงได้ทรงประทานการบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม่ยินดี ฉันใด ลูกทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามความยินดีนั้น ฉันนั้นเถิด” [๑๒๙] ครั้นพระนางพร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว มีภิกษุณีทั้งหลายห้อมล้อมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ไหว้แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๓๐] “ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเคยเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า ส่วนพระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสุข ที่เกิดจากพระสัทธรรม ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้เกิดแล้ว [๑๓๑] ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันเคยฟูมฟักให้เจริญเติบใหญ่แล้ว ส่วนพระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว [๑๓๒] พระองค์หม่อมฉันให้ดื่มน้ำนม อันระงับความหิวได้เพียงชั่วครู่ ส่วนหม่อมฉันพระองค์ทรงให้ดื่มแม้น้ำนม คือพระธรรมซึ่งสงบระงับได้แท้จริง [๑๓๓] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ชื่อว่ามิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน ในเพราะการเลี้ยงดูด้วยความผูกพัน หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตรขออยู่ ก็ย่อมได้บุตรเช่นนั้น [๑๓๔] มารดาใดของจอมนรชน มีพระเจ้ามันธาตุเป็นต้น มารดานั้นชื่อว่ายังบุตรให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพคือภพ ข้าแต่พระปิโยรส ส่วนหม่อมฉันผู้จมอยู่แล้ว พระองค์ทรงช่วยให้ข้ามพ้นจากสาครคือภพได้ [๑๓๕] พระนามว่า พระพันปีหลวง สตรีทั้งหลายได้มาโดยง่าย (แต่)พระนามว่า พุทธมารดา นี้ สตรีทั้งหลายได้มาโดยยากอย่างยิ่ง [๑๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ก็พระนามว่า พุทธมารดานั้นอันหม่อมฉันได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

ปณิธานน้อยใหญ่ของหม่อมฉันพระองค์ก็ทรงให้สำเร็จแล้ว ทั้งหมดนั้นพระองค์ทรงให้บริบูรณ์แล้ว [๑๓๗] หม่อมฉันปรารถนาที่จะละร่างนี้ปรินิพพาน ข้าแต่พระวีรเจ้า ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ทรงเป็นผู้นำ ขอพระองค์ทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันเถิด [๑๓๘] ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดพระยุคลบาท ที่วิจิตรด้วยลายจักร (ลายจักรก้นหอย) และธงอันละเอียดอ่อนเหมือนดอกบัวออกเถิด หม่อมฉันจะนอบน้อมพระยุคลบาทนั้น จักขอทำความรักในบุตร [๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันจะทำสรีระคือร่างกายของพระองค์ เหมือนกองทอง อันปรากฏเหมือนทับทิม ให้เป็นอันหม่อมฉันเห็นดีแล้วจึงจะนิพพาน” [๑๔๐] พระชินเจ้าทรงแสดงให้พระมาตุจฉาเห็นพระวรกาย ที่ประกอบด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วยพระรัศมีอย่างงดงาม ซึ่งเป็นเหมือนดึงดูดดวงตาของคนพาล [๑๔๑] ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ได้ซบพระเศียรลงแทบพื้นพระยุคลบาท ซึ่งเป็นลายจักรคล้ายดอกบัวบาน มีพระรัศมีดังดวงอาทิตย์แรกทอแสง แล้วได้กราบทูลว่า [๑๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์ของนรชน หม่อมฉันนอบน้อมพระองค์ ผู้เป็นธงแห่งวงศ์พระอาทิตย์ ขอพระองค์ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันในกาลสุดท้ายด้วยเถิด หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศในโลก ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระกรุณา ธรรมดาสตรีทั้งหลายรู้กันว่ามีแต่จะก่อโทษทุกประการ ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของหม่อมฉันมีอยู่ ก็ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด [๑๔๔] อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลขอบ่อยๆ ให้สตรีทั้งหลายได้บวช ข้าแต่พระองค์ผู้องอาจกว่านรชน ถ้าโทษในข้อนั้นจะมีแก่หม่อมฉัน ขอได้โปรดยกโทษนั้นด้วยเถิด [๑๔๕] ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งการยกโทษ ภิกษุณีทั้งหลาย อันหม่อมฉันสั่งสอนแล้ว ตามที่พระองค์ทรงอนุญาต ถ้าข้อนั้นจะมีการแนะนำผิด ขอได้โปรดยกโทษในข้อนั้นด้วยเถิด” [๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า) “โคตมีผู้ประดับไปด้วยคุณ ชื่อว่านิพพานก็สมควรแก่เธอ จะมีโทษอะไร เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน ตถาคตจักไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า [๑๔๗] เมื่อภิกษุสงฆ์ของตถาคตบริสุทธิ์ ไม่บกพร่อง เธอจะออกไปเสียจากโลกนี้ก็ควร เพราะในเวลาสว่าง เมื่อดวงดาวหมดแสง จันทเลขาก็เห็นเลือนไป” [๑๔๘] ภิกษุณีทั้งหลายนอกจากพระมหาปชาบดีโคตมี พากันทำประทักษิณพระชินเจ้าผู้เลิศ เหมือนกลุ่มดาวที่ติดตามดวงจันทร์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

ทำประทักษิณภูเขาพระสุเมรุ หมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้ว ยืนเพ่งดูพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า [๑๔๙] “จักษุของหม่อมฉัน ไม่เคยอิ่มด้วยการเห็นพระองค์ โสตของหม่อมฉันก็ไม่เคยอิ่มด้วยภาษิตของพระองค์ จิตของหม่อมฉันดวงเดียวเท่านั้น บรรลุธรรมจึงอิ่มด้วยรสแห่งธรรม [๑๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้ประเสริฐ เมื่อพระองค์บันลืออยู่ในท่ามกลางบริษัท กำจัดทิฏฐิมานะ ชนเหล่าใดเห็นพระพักตร์ของพระองค์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี [๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ถึงที่สุดแห่งสงคราม ชนเหล่าใดประณตน้อมพระยุคลบาทของพระองค์ ซึ่งมีพระองคุลียาว มีพระนขาแดงงดงาม มีส้นพระยุคลบาทยาว แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี [๑๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้สูงสุด ชนเหล่าใดได้สดับพระดำรัสของพระองค์ ซึ่งไพเราะน่าปลื้มใจ เผาเสียซึ่งโทษ เป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี [๑๕๓] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉัน อิ่มไปด้วยการบูชาพระยุคลบาทของพระองค์ ข้ามพ้นทางกันดารคือสงสารได้ ด้วยพระสุนทรกถาของพระองค์ผู้มีพระสิริ ฉะนั้น หม่อมฉันจึงชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๕๔] ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีผู้มีวัตรงาม ประกาศในหมู่ภิกษุสงฆ์แล้วไหว้พระราหุล พระอานนท์ และพระนันทะแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า [๑๕๕] “ดิฉันเบื่อหน่ายร่างกายซึ่งเสมอด้วยที่อยู่ของอสรพิษ เป็นรังแห่งโรค เป็นสถานที่เกิดทุกข์ มีชราและมรณะเป็นโคจร [๑๕๖] เกลื่อนกล่นไปด้วยมลทินคือซากศพต่างๆ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ปราศจากความน่าใฝ่ใจ ฉะนั้น ดิฉันจึงปรารถนาจะนิพพานเสีย ขอลูกๆ ทั้งหลายจงเข้าใจตามสมควรเถิด” [๑๕๗] พระนันทเถระและพระภัททราหุล เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก หมดอาสวะ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีปัญญา มีความเพียร ได้คิดตามธรรมดาว่า [๑๕๘] “น่าติเตียน ร่างกายที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีภาวะหวั่นไหว ปราศจากแก่นสาร เปรียบได้กับต้นกล้วย เช่นเดียวกับพยับแดดซึ่งเป็นมายา ต่ำช้าไม่มั่นคง [๑๕๙] พระโคตมีเถรีพระมาตุจฉาของพระชินเจ้านี้ ซึ่งได้เคยเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าก็ยังต้องเสด็จนิพพาน สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง” [๑๖๐] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พุทธอนุชา ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระชินเจ้า ยังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ท่านหลั่งน้ำตา คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาในที่นั้นว่า [๑๖๑] “พระโคตมีเถรีตรัสอยู่หลัดๆ ก็จะเสด็จนิพพานเสียแล้ว คงอีกไม่นานเลย แม้พระพุทธเจ้าก็จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน เหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๖๒] พระโคตมีเถรีได้ตรัสกับพระอานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมที่ลึกล้ำปานสาคร ฝักใฝ่ในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าซึ่งพร่ำรำพันอยู่ดังกล่าวมาว่า [๑๖๓] “ลูกเอ๋ย เมื่อกาลเป็นที่ร่าเริงปรากฏแล้ว พ่อไม่ควรที่จะเศร้าโศกถึงการตายของแม่ การนิพพานของแม่นั้นใกล้เข้ามาแล้ว [๑๖๔] ลูกเอ๋ย พระศาสดาลูกได้ทูลให้ทรงยินยอม จึงได้ทรงอนุญาตให้แม่บวช ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเสียใจไปเลย ความพยายามของพ่อต้องมีผล [๑๖๕] ก็บทใด ที่เจ้าลัทธิทั้งหลายผู้เก่าก่อนไม่เห็น บทนั้นอันเด็กหญิงซึ่งมีอายุ ๗ ขวบรู้แจ้งประจักษ์แล้ว [๑๖๖] พ่อจงรักษาพุทธศาสนาไว้ การเห็นลูกเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ลูกเอ๋ย แม่จะไปสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่ปรากฏ [๑๖๗] ในกาลบางคราว พระผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก ทรงเปล่งวาจาแสดงธรรม ครั้งนั้น แม่ผู้มีความอนุเคราะห์จึงกล่าววาจาที่มีความหวังว่า [๑๖๘] “ข้าแต่พระมหาวีระ ขอพระองค์จงทรงพระชนม์อยู่นานๆ ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวงเถิด ขอพระองค์ทรงอย่าชราและปรินิพพานเลย” [๑๖๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสกับแม่ผู้กราบทูลอยู่ เช่นนั้นว่า “พระนางโคตมี พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อันใครๆ ไม่ควรวิงวอน เหมือนอย่างที่เธอวิงวอนอยู่เลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๗๐] “ก็อย่างไร พระตถาคตผู้สัพพัญญู จึงชื่อว่าอันบุคคลพึงวิงวอน และอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าอันบุคคลไม่พึงวิงวอน พระองค์อันหม่อมฉันทูลถามถึงเหตุนั้นแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกเหตุนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด” [๑๗๑] “ท่านจงดูสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน นี้เป็นการวิงวอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” [๑๗๒] ต่อแต่นั้น ดิฉันไปสู่สำนักของภิกษุณี อยู่คนเดียวคิดได้อย่างแจ้งชัดว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ผู้ถึงที่สุดแห่งไตรภพ๑- ทรงพอพระทัยบริษัทที่สามัคคีกัน [๑๗๓] เอาเถิด เราจะนิพพาน อย่าได้พบเห็นความวิบัตินั้นเลย” ครั้นดิฉันคิดดังนี้แล้ว ได้เข้าเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ๒- (พระพุทธเจ้า) [๑๗๔] แล้วได้กราบทูลกาลเป็นที่ปรินิพพาน กับพระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตว่า “จงรู้กาลเองเถิด พระนางโคตมี” [๑๗๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ ไตรภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๕) @ สตฺตโม=ประเสริฐ (อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๖๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๗๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล [๑๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) “โคตมี คนพาลเหล่าใดมีความสงสัย ในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย ท่านจงแสดงฤทธิ์เพื่อการละทิฏฐิของคนพาลเหล่านั้น” [๑๗๙] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีหมอบกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า แสดงฤทธิ์เป็นอเนกประการ ตามพุทธานุญาต [๑๘๐] คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาก็ได้ [๑๘๑] ไปได้ไม่ติดขัด ดำลงไปในแผ่นดินเหมือนดำลงไปในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำโดยที่น้ำไม่แตกกระจายเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้ [๑๘๒] นั่งขัดสมาธิลอยไปในอากาศเหมือนนางนกก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ [๑๘๓] ทำสิเนรุบรรพตให้เป็นคันร่ม ทำแผ่นดินใหญ่ให้เป็นตัวร่ม พลิกเอาเบื้องล่างขึ้น เดินกั้นร่มไปมาในอากาศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๘๔] ได้ทำโลกให้สวยงามประหนึ่งเวลาอาทิตย์ ๖ ดวง อุทัยเหนือภูเขายุคันธร และได้ทำโลกให้เป็นเหมือนกลุ่มตาข่ายดอกไม้ที่ยอดภูเขายุคันธร [๑๘๕] ใช้พระหัตถ์ข้างหนึ่งกำภูเขามุจลินท์ ภูเขาสิเนรุ ภูเขามันทาระ และภูเขาทัททระไว้ได้ทั้งหมด เหมือนกำเมล็ดพันธุ์ผักกาด [๑๘๖] ใช้ปลายนิ้วพระหัตถ์บังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้ ทัดทรงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้เป็นพันๆ ดวง เหมือนทัดทรงพวงมาลัย [๑๘๗] ใช้ฝ่าพระหัตถ์ข้างหนึ่งธารน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไว้ได้ ทำฝนห่าใหญ่ให้ตกมีอาการดังสายน้ำที่ตกจากภูเขายุคันธร [๑๘๘] พระนางนั้นได้เนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พร้อมด้วยบริวารในท้องฟ้า แสดงเป็นครุฑ คชสาร ราชสีห์ ต่างบันลือร้องอยู่ [๑๘๙] พระองค์เดียวทรงเนรมิตเป็นคณะภิกษุณีนับไม่ถ้วน แล้วก็อันตรธานกลับเป็นองค์เดียวกราบทูลพระมุนีว่า [๑๙๐] “ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระองค์ เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว ขอกราบพระยุคลบาท” [๑๙๑] พระนาง ครั้นแสดงฤทธิ์อย่างต่างๆ แล้วลงจากท้องฟ้า ทรงไหว้พระพุทธองค์ผู้ทรงส่องโลกให้สว่างแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง (กราบทูลว่า) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๙๒] “ข้าแต่พระมหามุนีวีรเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันนั้นมีอายุได้ ๑๒๐ ปี เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หม่อมฉันจักนิพพาน” [๑๙๓] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดนั้น ถึงความพิศวงยิ่งนักจึงได้พากันประนมมือถามว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ผู้มีความบากบั่น พระแม่เจ้าได้ทำบุญอะไรไว้ จึงเป็นผู้มีฤทธิ์หาที่เปรียบมิได้” [๑๙๔] (พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีได้กล่าวบุพจริยาของท่านดังต่อไปนี้ว่า) พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๑๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลอำมาตย์ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี [๑๙๖] ในกาลบางคราว ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบิดา มีหมู่ทาสีห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก [๑๙๗] พระชินเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ทำฝนคือธรรมให้ตกลงอยู่ เหมือนท้าววาสวะ มีกลุ่มแห่งพระรัศมีโชติช่วง เช่นกับดวงอาทิตย์ในสารทกาล [๑๙๘] ข้าพเจ้าเห็นแล้วทำจิตให้เลื่อมใส และได้สดับสุภาษิตของพระองค์ ได้สดับพระผู้ทรงเป็นผู้นำของนรชน ทรงตั้งภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งที่เลิศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๑๙๙] จึงได้ถวายมหาทานและปัจจัยจำนวนมาก แด่พระผู้เลิศกว่านรชน ผู้คงที่พระองค์นั้น พร้อมทั้งพระสงฆ์ตลอด ๗ วัน [๒๐๐] แล้วจึงหมอบลงแทบพระยุคลบาทได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น ลำดับนั้น พระฤาษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า) ได้ตรัสในที่ประชุมใหญ่นั้นว่า [๒๐๑] “เราจักพยากรณ์สตรีผู้ที่นิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๒๐๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๐๓] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าโคตมี เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น [๒๐๔] จักเป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิต ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายรู้ราตรีนาน” [๒๐๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีใจปราโมทย์ บำรุงพระชินเจ้า ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ตายไป [๒๐๖] ข้าพเจ้าบังเกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ซึ่งให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทุกประการ ครอบงำพวกเทพเหล่าอื่นด้วยองค์ ๑๐ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๐๗] คือ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ(ธรรมารมณ์) อายุ วรรณะ สุข และยศ [๒๐๘] อนึ่ง รุ่งเรืองครอบงำเทพเหล่าอื่นด้วยความเป็นใหญ่ ข้าพเจ้าได้เป็นพระมเหสีผู้เป็นที่รัก ของท้าวอัมรินทราธิราชชั้นดาวดึงส์นั้น [๒๐๙] เมื่อข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร เป็นผู้หวั่นไหวเพราะพายุคือกรรม จึงเกิดในหมู่บ้านทาสในอาณาเขตของพระเจ้ากาสี [๒๑๐] ครั้งนั้น ทาส ๕๐๐ คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นภรรยาของหัวหน้าทาสทั้งหมดในหมู่บ้านนั้น [๒๑๑] พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ได้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ข้าพเจ้ากับญาติทุกคนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น จึงมีความยินดี [๒๑๒] ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามี เลื่อมใสแล้ว จึงช่วยกันสร้างกุฎี ๕๐๐ หลังถวาย อุปัฏฐากตลอด ๔ เดือนแล้วถวายไตรจีวร [๒๑๓] จากนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามีตายไป ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เกิดในกรุงเทวทหะ [๒๑๔] พระชนกของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าอัญชนศากยะ พระชนนีของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าสุลักขณา ต่อมา ข้าพเจ้าได้ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าสุทโธทนะ ในกรุงกบิลพัสดุ์ [๒๑๕] สตรีทุกคนเกิดในตระกูลศากยะแล้ว ได้ไปสู่พระราชวังของเจ้าศากยะทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

ข้าพเจ้าประเสริฐกว่าสตรีทุกคน ได้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้า [๒๑๖] พระโอรสของข้าพเจ้าพระองค์นั้น เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ภายหลังข้าพเจ้าพร้อมด้วยนางศากิยานี ๕๐๐ นางจึงได้บวช [๒๑๗] แล้วได้ประสบสันติสุขพร้อมด้วยนางศากิยานีผู้มีความเพียร ในครั้งนั้น ชนเหล่าใดผู้เคยเป็นสามีของพวกข้าพเจ้าในชาติก่อน [๒๑๘] ชนเหล่านั้น เคยทำบุญร่วมกันมา ประพฤติตามคำสอนที่ควรบูชา พระสุคตทรงอนุเคราะห์แล้ว ได้บรรลุอรหัตตผล [๒๑๙] ภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก นอกจากพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีนั้น ได้พากันเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า รุ่งโรจน์ เหมือนดวงดาวทั้งหลายที่โคจรเกาะกลุ่มกันไป [๒๒๐] ภิกษุณีเหล่านั้น เป็นผู้ศึกษาแล้วในบุญกรรม จึงแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ เหมือนนายช่างทองที่ได้รับการศึกษาแล้ว แสดงเครื่องประดับทองคำชนิดต่างๆ [๒๒๑] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น ครั้นแสดงปาฏิหาริย์มากมายหลายอย่างแล้ว ทำพระมุนีผู้ประเสริฐกว่าดวงอาทิตย์ พร้อมทั้งบริษัทให้ทรงพอพระทัยยินดีแล้ว [๒๒๒] ได้พากันลงจากท้องฟ้า ไหว้พระฤๅษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า) ผู้อันพระศาสดาผู้เป็นนระผู้เลิศ ทรงอนุญาตแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๒๓] (ได้กราบทูลว่า) “ข้าแต่พระวีรเจ้า น่าชมเชย พระโคตมีเถรี เป็นผู้อนุเคราะห์หม่อมฉันทั้งปวง หม่อมฉันทั้งหลายถูกพระนางอบรมด้วยบุญ จึงได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ [๒๒๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๒๕] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล [๒๒๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ๑- และในเจโตปริยญาณ๒- [๒๒๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ๓- ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว @เชิงอรรถ : @ หมายถึงหูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๐-๒๔๑/๘๐) @ หมายถึงญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เป็นต้น @(ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒-๒๔๓/๘๐-๘๑) @ หมายถึงความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน,ระลึกชาติได้ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๔-๒๔๕/๘๑-๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๒๒๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลายที่มีอยู่ ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๒๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นมหามุนี พระองค์ทรงเป็นผู้ที่หม่อมฉันทั้งหลายมีจิตเมตตา ปฏิบัติ ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหมดนิพพานเถิด” [๒๓๑] พระชินเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อเธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จักนิพพาน’ เราตถาคตจะไปกล่าวอะไรได้ ก็บัดนี้เธอทั้งหลายจงสำคัญกาลอันสมควรเถิด [๒๓๒] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นมีพระโคตมีเถรีเป็นอาทิ ไหว้พระชินเจ้าแล้ว ได้พากันลุกจากที่นั่งนั้นไป [๒๓๓] พระธีรเจ้า ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก พร้อมด้วยหมู่ชนจำนวนมาก ได้เสด็จไปส่งพระมาตุจฉาจนถึงซุ้มประตู [๒๓๔] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีทุกรูปนอกนี้ ได้พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกแล้วกราบทูลว่า “นี้เป็นการกราบพระยุคลบาทครั้งสุดท้าย [๒๓๕] นี้เป็นการเห็นพระโลกนาถครั้งสุดท้ายของหม่อมฉัน หม่อมฉันจักไม่ได้เห็นพระพักตร์ ซึ่งมีอาการดังน้ำอมฤตของพระองค์อีก [๒๓๖] ข้าแต่พระวีระผู้เลิศในโลก การกราบไหว้ของหม่อมฉัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

จักไม่สัมผัสพระยุคลบาทอันละเอียดอ่อนของพระองค์(อีก) วันนี้ หม่อมฉันจะนิพพาน” [๒๓๗] พระศาสดาตรัสว่า “จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยรูปนี้ เมื่อธรรมที่เธอเห็นแล้วตามความเป็นจริง สังขตธรรมทั้งปวงนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดี และเป็นของเลวทราม” [๒๓๘] พระมหาปชาบดีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีเหล่านั้น กลับไปยังสำนักของตนแล้ว นั่งขัดสมาธิชั้นเดียวบนอาสนะที่ประเสริฐ [๒๓๙] ครั้งนั้น อุบาสิกาทั้งหลายในที่นั้น ผู้มีความเคารพรักในพุทธศาสนา ได้สดับความเป็นไปของพระนาง ต่างก็เข้าไปนมัสการพระยุคลบาท [๒๔๐] ใช้มือตบอก ร้องไห้ คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก ล้มลงที่ภาคพื้น ดุจเถาวัลย์ที่มีรากขาดแล้วกองลง รำพันด้วยวาจาว่า [๒๔๑] “ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้ประทานที่พึ่งแก่หม่อมฉันทั้งหลาย พระแม่เจ้า อย่าได้ละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลายนิพพานเลย หม่อมฉันทุกคนขอซบเศียรอ้อนวอน” [๒๔๒] พระมหาปชาบดีเถรีลูบศีรษะของอุบาสิกาผู้มีศรัทธา มีปัญญา ซึ่งเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้ว่า [๒๔๓] “ลูกทั้งหลายเอ๋ย อย่าเลย การพร่ำเพ้อซึ่งเป็นไปในบ่วงแห่งมาร สังขตธรรมทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง มีแต่จะหวั่นไหวพลัดพรากจากกันไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๔๔] ต่อจากนั้น พระนางก็ละอุบาสิกาเหล่านั้นแล้ว เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อันยอดเยี่ยม [๒๔๕] แล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ตามลำดับ [๒๔๖] แล้วพระโคตมีเถรี ก็เข้าฌานทั้งหลายโดยปฏิโลม จนถึงปฐมฌาน เข้าฌานทั้ง ๓ จนถึงจตุตถฌาน [๒๔๗] ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วไม่มีอาสวะนิพพาน เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สายฟ้าก็ผ่าลงมาจากนภากาศ [๒๔๘] กลองทิพย์ก็บันลือลั่นขึ้นเอง เทพทั้งหลายพากันคร่ำครวญ และฝนดอกไม้ก็โปรยปรายจากอากาศลงสู่พื้นดิน [๒๔๙] แม้ภูเขาเมรุราชก็กัมปนาทหวั่นไหว เหมือนคนเต้นรำท่ามกลางโรงเต้นรำ ทะเลก็ปั่นป่วนครวญครางเพราะความเศร้าโศก [๒๕๐] เทพ นาค อสูร และพรหมต่างก็พากันสลดใจ กล่าวขึ้นในขณะนั้นเองว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เหมือนอย่างพระมหาปชาบดีเถรีนี้ ถึงความย่อยยับไปแล้ว” [๒๕๑] และพระเถรีทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา ซึ่งห้อมล้อมพระมหาปชาบดีเถรีนี้ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น พากันนิพพานไปแล้ว เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๕๒] โอ! ความประจวบกันมีความพลัดพรากเป็นที่สุด โอ! สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง โอ! ชีวิตมีความพินาศเป็นที่สุด การคร่ำครวญได้มีแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๕๓] ลำดับนั้น เทวดาและพรหมต่างก็เข้าไปเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ จึงทำความประพฤติตามโลกธรรมสมควรแก่กาล [๒๕๔] ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนท์ ผู้เป็นพหูสูต มีปัญญาดุจห้วงน้ำมาสั่งว่า “อานนท์ เธอจงไปประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ถึงการปรินิพพานของพระมารดา” [๒๕๕] ในกาลนั้น ท่านพระอานนท์หมดความแช่มชื่น มีน้ำตานองนัยนา ประกาศด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ขอภิกษุทั้งหลายจงมาประชุมกัน [๒๕๖] คือภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอรสของพระสุคตทั้งที่อยู่ในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ภิกษุณีนั้นเป็นมารดาของเรา [๒๕๗] ผู้ประคบประหงมสรีระสุดท้ายของพระมุนีให้เจริญ ด้วยน้ำนมของตน ภิกษุณีนั้น คือพระโคตมีเถรี ดับสนิทแล้วเหมือนดวงดาวดับแสงในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น [๒๕๘] พระนางทรงประกาศให้รู้ว่า ‘เป็นพุทธมารดา’ แล้วนิพพาน ซึ่งเป็นที่ที่คนแม้มีดวงตา ๕ ดวงก็มองไม่เห็น แต่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นผู้นำทรงเห็นได้ [๒๕๙] ขอพระโอรสของพระสุคต ผู้มีศรัทธาในพระสุคต หรือเป็นศิษย์ของพระมหามุนี จงทำสักการะพุทธมารดาเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๖๐] ภิกษุทั้งหลายถึงอยู่ในที่ไกลแสนไกล ได้สดับคำประกาศนั้นแล้ว ก็รีบมา บางพวกมาด้วยพุทธานุภาพ บางพวกที่ชำนาญในฤทธิ์ก็มาด้วยฤทธิ์ของตน [๒๖๑] ต่างช่วยกันยกเตียงที่พระโคตมีเถรีนอนสงบนิ่ง ขึ้นตั้งบนเรือนยอดที่ประเสริฐ สำเร็จด้วยทองคำล้วน งดงามน่ายินดี [๒๖๒] ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ๑- ต่างก็ใช้บ่ารองรับเรือนยอดไว้ เทวดาที่เหลือมีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ก็เข้าช่วยรับเรือนยอดด้วย [๒๖๓] ก็เรือนยอดทั้งหมดมี ๕๐๐ หลัง วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตขึ้น มีสีเหมือนดวงอาทิตย์ในสารทกาล [๒๖๔] ภิกษุณีทั้งหมด ผู้นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง ในที่นั้น ก็ถูกเทพทั้งหลายแบกนำออกไปตามลำดับ [๒๖๕] พื้นนภากาศถูกเพดานบังไว้ทั่ว ที่เพดานนั้นมีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ พร้อมทั้งดวงดาวที่ทำด้วยทองคำประดับติดไว้ [๒๖๖] ธงปฏาก (ธงผ้า) ได้ถูกยกขึ้นประดับไว้เป็นอันมาก เครื่องคลุมดอกไม้ที่สวยงาม ดอกบัวในอากาศมีปลายห้อยลง ส่วนดอกไม้ที่พื้นดินมีปลายชี้ขึ้น @เชิงอรรถ : @ ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ (๑) ท้าวธตรฐ (๒) ท้าววิรุฬหก (๓) ท้าววิรูปักษ์ (๔) ท้าวกุเวร @(ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๓๖/๒๖๔-๒๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๖๗] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ และดวงดาวทั้งหลายก็ส่องแสง อนึ่ง ดวงอาทิตย์แม้อยู่ในเวลาเที่ยงวัน ก็เหมือนดวงจันทร์ไม่ส่องแสงให้เร่าร้อน [๒๖๘] เทพทั้งหลายพากันบูชาด้วยของหอม และดอกไม้มีกลิ่นหอม ด้วยการประโคมดนตรี ฟ้อนรำ และขับร้องอันเป็นทิพย์ [๒๖๙] นาค อสูร และพรหม ต่างก็พากันบูชาพุทธมารดาผู้นิพพานซึ่งถูกเขานำออกไปแล้ว ตามความสามารถตามกำลัง [๒๗๐] ภิกษุณีผู้เป็นโอรสของพระสุคต ซึ่งนิพพานแล้วทั้งหมดถูกอัญเชิญไปข้างหน้า พระโคตมีเถรีผู้เลี้ยงดูพระพุทธเจ้า ผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะแล้วถูกอัญเชิญไปข้างหลัง [๒๗๑] เทวดา มนุษย์ พร้อมด้วยนาค อสูร และพรหมไปข้างหน้า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกเสด็จไปข้างหลัง เพื่อบูชาพุทธมารดา [๒๗๒] การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า หาได้เป็นเช่นการปรินิพพานของพระโคตมีเถรีไม่ การปรินิพพานของพระโคตมีเถรีอัศจรรย์ยิ่งนัก [๒๗๓] ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่มีพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น เหมือนในเวลาที่พระโคตมีเถรีนิพพาน ซึ่งมีทั้งพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๗๔] ชนทั้งหลายช่วยกันทำจิตกาธาน ซึ่งสำเร็จด้วยไม้มีกลิ่นหอมล้วนและโปรยจุรณเครื่องหอม แล้วฌาปนกิจภิกษุณีเหล่านั้นบนจิตกาธานนั้นๆ [๒๗๕] ส่วนที่เหลือถูกไฟไหม้ไปสิ้นเหลือไว้เพียงอัฐิ ก็เวลานั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าววาจา ให้เกิดความสังเวชว่า [๒๗๖] “พระโคตมีเถรีนิพพานแล้ว พระสรีระของพระนางก็ถูกเผาแล้ว กำหนดได้ว่า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านี้ คงจักมีโดยกาลไม่นาน [๒๗๗] จากนั้น ท่านพระอานนท์ถูกพระพุทธเจ้าทรงตักเตือน จึงได้น้อมนำอัฐิธาตุของพระโคตมีเถรี ซึ่งอยู่ในบาตรของพระนางเข้ามาถวายพระโลกนาถ [๒๗๘] พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ ทรงใช้พระหัตถ์ประคองอัฐิเหล่านั้น ได้ตรัสว่า “ต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้น [๒๗๙] ถึงจะมีลำต้นใหญ่โต ก็พึงหักทำลายไปได้ เพราะความไม่เที่ยง พระโคตมีเถรีก็เหมือนกัน ถึงจะเป็นใหญ่กว่าภิกษุณีสงฆ์ก็ปรินิพพานไปแล้ว [๒๘๐] ดูเถิดอานนท์ พุทธมารดาแม้ปรินิพพานแล้ว เหลือเพียงสรีรธาตุ เธอไม่ควรเศร้าโศกคร่ำครวญถึง [๒๘๑] คนอื่นๆ ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึง พระนางผู้ข้ามห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปแล้ว ละเว้นเหตุที่ทำให้เดือดร้อนได้แล้ว เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน

[๒๘๒] พระนางเป็นบัณฑิต มีปัญญามากและมีปัญญากว้างขวาง ทั้งเป็นรัตตัญญูกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทราบอย่างนี้เถิด [๒๘๓] พระโคตมีเถรีเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ [๒๘๔] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุพระโคตมีเถรีก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๒๘๕] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณก็บริสุทธิ์แล้ว เพราะฉะนั้น พระโคตมีเถรีนั้นอันใครๆ ไม่ควรเศร้าโศกถึง [๒๘๖] ความเป็นไปของไฟที่ลุกโพลงขึ้น ที่ถูกแผ่นเหล็กหนาทับไว้แล้ว ดับสนิทไปตามลำดับ ใครๆ ก็รู้ไม่ได้ ฉันใด [๒๘๗] คติของผู้หลุดพ้นโดยชอบแล้ว ซึ่งข้ามเครื่องผูกพันคือกามและโอฆะได้ บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มี เพื่อจะให้ใครๆ รู้ได้ ก็ฉันนั้น [๒๘๘] เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีสติปัฏฐานเป็นโคจร เธอทั้งหลายเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้” ได้ทราบว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทานที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๒๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๙๙-๔๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=168              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=4471&Z=4887                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=157              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=157&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=157&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap17/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :