ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปทายิกาเถรี
(พระปัญจทีปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๖๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่ในกรุงหงสวดี มีความต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดวาอาราม [๖๒] ได้เห็นต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ ในกาฬปักข์(ข้างแรม) จึงทำจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธิ์นั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์ [๖๓] หม่อมฉันตั้งจิตคารวะประนมมือเหนือศีรษะ ประกาศถึงความโสมนัสแล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า [๖๔] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้ ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือน โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด คือขอให้ต้นโพธิ์นี้จงเปล่งรัศมีเถิด’ [๖๕] ทันใดนั้นเอง พร้อมกับที่หม่อมฉันรำพึง ต้นโพธิ์มีรัศมีดั่งทองคำล้วน โชติช่วงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน

[๖๖] หม่อมฉันนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน เมื่อถึงวันที่ ๗ หม่อมฉันได้ทำการบูชาด้วยประทีป [๖๗] ประทีป ๕ ดวง โชติช่วงล้อมรอบอาสนะ ครั้งนั้น ประทีปของหม่อมฉันโชติช่วงอยู่จนอาทิตย์อุทัย [๖๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๖๙] วิมานที่บุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อหม่อมฉัน ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เรียกว่าปัญจทีปวิมาน สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์ [๗๐] ประทีปนับไม่ถ้วนส่องสว่างล้อมรอบหม่อมฉันอยู่ ทั่วทั้งเทววิมานโชติช่วงด้วยแสงประทีป [๗๑] หม่อมฉันนั่งหันหน้าไปทางทิศบูรพา ถ้าปรารถนาจะดู ก็จะเห็นได้ทุกอย่างด้วยจักษุ ทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวาง [๗๒] หม่อมฉันปรารถนาจะเห็นกรรมดีและกรรมชั่ว ที่คนทำแล้วในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากางกั้นได้ [๗๓] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ พระองค์ [๗๔] หม่อมฉันเกิดในกำเนิดใดๆ คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ในกำเนิดนั้นๆ ประทีปนับแสนดวงส่องแสงล้อมรอบหม่อมฉัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน

[๗๕] หม่อมฉันจุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในครรภ์มารดา เมื่อหม่อมฉันอยู่ในครรภ์มารดา นัยน์ตาของหม่อมฉันมิได้หลับ [๗๖] ประทีปนับแสนดวงส่องแสงสว่างอยู่ที่เรือนคลอดของหม่อมฉัน ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญกรรม นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง [๗๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันกลับใจให้วิเศษ จึงเห็นพระนิพพานอันเป็นสภาวะเยือกเย็น ไม่มีชราและมรณะ [๗๘] พอหม่อมฉันอายุได้ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล พระพุทธเจ้าจึงให้หม่อมฉันอุปสมบท นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง [๗๙] ประทีปลุกโพลงส่องสว่างให้หม่อมฉัน ผู้อยู่ที่มณฑป โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ทุกเมื่อ นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง [๘๐] ทิพยจักษุของหม่อมฉันบริสุทธิ์ หม่อมฉันฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จอภิญญา นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง [๘๑] หม่อมฉันเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันชื่อว่าปัญจทีปา ขอกราบพระยุคลบาทของพระองค์ [๘๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน

[๘๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๘๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระปัญจทีปทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๙๔-๓๙๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=166              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=4410&Z=4453                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=155              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=155&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=155&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap15/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :