ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทุสสทายกเถระ
(พระเอกทุสสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๕] ข้าพเจ้าเป็นคนหาบหญ้าขายอยู่ในกรุงหงสวดี เลี้ยงชีพด้วยการหาบหญ้า เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยการงานนั้น [๑๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก กำจัดความมืดมนให้พินาศไป เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในเรือนของตน คิดอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ไทยธรรมก็ไม่มี [๑๘] ข้าพเจ้ามีแต่ผ้าสาฎกผืนเดียวนี้ ไม่มีใครให้ข้าพเจ้า การตกนรกเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าจักปลูกทักษิณา [๑๙] ครั้นคิดเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้ถือผ้าผืนเดียวไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน

[๒๐] ครั้นถวายแล้ว ได้ประกาศอย่างกึกก้องว่า ข้าแต่พระมหามุนีผู้แกล้วกล้า ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ขอได้ทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้ข้ามพ้น(จากนรก)ด้วยเถิด [๒๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เมื่อจะทรงประกาศทานของข้าพเจ้า ได้ทรงกระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า [๒๒] ด้วยการถวายผ้าผืนเดียวนี้ และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น บุรุษนี้จะไม่ตกนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป [๒๓] เขาจักได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๖ ชาติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๓ ชาติ [๒๔] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน เมื่อเธอเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ คือเทวโลกหรือมนุษยโลก [๒๕] จักเป็นผู้มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีร่างกายสมส่วน จักได้ผ้านับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ตามที่ปรารถนา [๒๖] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ๑- ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า เหมือนพญาหงส์ในอากาศ @เชิงอรรถ : @ ปทุมุตตระ แปลจากศัพท์ว่า ชลชุตฺตมนายโก (ขุ.อป.อ. ๒/๒๘/๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน

[๒๗] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใดๆ คือ จะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว [๒๘] ผ้าเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าทุกย่างก้าว ข้างล่างข้าพเจ้าก็ยืนอยู่บนผ้า ข้างบนก็มีผ้าเป็นเครื่องมุงบัง [๒๙] ในวันนี้ จักรวาลพร้อมทั้งป่า ภูเขา เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาก็จะพึงคลุมด้วยผ้าได้ [๓๐] เพราะถวายผ้าผืนเดียวเท่านั้นแหละ ข้าพเจ้าเมื่อยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่๑- เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ [๓๑] ข้าพเจ้าได้ถึงความเป็นภิกษุ เพราะผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว ถึงชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย ผ้าก็ยังให้ผลแก่ข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้ [๓๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว [๓๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ @เชิงอรรถ : @ ภพน้อยภพใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความเจริญและความเสื่อม หรือสมบัติและวิบัติ ความยั่งยืนและ @ความขาดสูญ บุญและบาป (ขุ.จริยา.อ. ๒/๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๓. เอกาสนทายกเถราปทาน

[๓๔] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระเอกทุสสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกทุสสทายกเถราปทานที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๓-๓๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=12              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=403&Z=438                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=12              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=12&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=12&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap424/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :