ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

๓. เถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถระ
๑. สารีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระ
(พระอานนทเถระกล่าวว่า)๑- ต่อไปนี้ ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังประวัติ ในอดีต ชาติของพระเถระทั้งหลาย (ต่อไป) (พระสารีบุตรเถระบรรลุสาวกบารมีญาณแล้วได้อุทานขึ้นว่า) [๑๔๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อลัมพกะ (ใกล้ๆ ภูเขาลัมพกะนั้น) เขาสร้างอาศรม และสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า [๑๔๒] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า มีแม่น้ำสายหนึ่งมีฝั่งตื้น ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ มีทรายสะอาดเรี่ยรายกระจายอยู่ทั่ว [๑๔๓] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ไม่มีเงื้อมยื่นง้ำออกมา น้ำมีรสดี ไม่มีกลิ่น ไหลไป ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๔๔] ในแม่น้ำ มีฝูงจระเข้ ฝูงมังกร ฝูงตะโขง และฝูงเต่า แหวกว่ายไปมา ในแม่น้ำสายนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน ฝูงปลานกกระจอก ว่ายเวียนไปมา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม @เชิงอรรถ : @ พระอานนทเถระบอกให้พระเถระทั้งหลายผู้ร่วมทำปฐมสังคายนาตั้งใจฟัง (แปลเพิ่มตาม ขุ.อป.อ. ๑/๑๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๔๖] ที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำ หมู่ไม้ดอก ไม้ผล ห้อยระย้าอยู่ทั้ง ๒ ฝั่ง ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๔๗] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๑๔๘] ต้นจำปา ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นกากะทิง ต้นบุนนาค และต้นการะเกด มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๑๔๙] ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นกุหลาบ มีดอกบานสะพรั่ง ต้นปรู และต้นมะกล่ำหลวง ก็มีดอกบานสะพรั่งอยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๑๕๐] ต้นลำเจียก ต้นกล้วย ต้นพิกุล และต้นมะลิซ้อน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๕๑] ต้นกรรณิการ์ ต้นกรรณิการ์เขา ต้นประดู่ ต้นอัญชัน มากมาย ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๕๒] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา ต้นแคฝอย มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๑๕๓] ต้นราชพฤกษ์ ต้นอัญชันเขียว ต้นกระทุ่ม และต้นพิกุล มากมาย ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๕๔] ถั่วดำ ถั่วเหลือง ต้นกล้วย ต้นมะงั่ว งอกงามด้วยน้ำหอม ออกฝัก ออกผล(เป็นทองคำ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม) [๑๕๕] (ในบึงใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม บางกอมีเกสรกำลังแย้ม บางกอมีเกสร(ในกลีบ)ร่วงหล่น บางกอมีดอกบานสะพรั่งอยู่ในบึง ในครั้งนั้น [๑๕๖] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม เหง้าบัวเลื้อยไปทั่ว กอกระจับมีใบดารดาษ งดงามอยู่ในบึง ในครั้งนั้น [๑๕๗] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี ต้นอุตตลี และต้นชบา มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ อยู่ใกล้ๆ บึง ในครั้งนั้น [๑๕๘] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน ฝูงปลาสังกุลา(ปลาลูกดอก) และฝูงปลาทอง อาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น [๑๕๙] (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงจระเข้ ฝูงตะโขง๑- ฝูงปลาฉนาก๒- ฝูงผีเสื้อน้ำ(ยักษ์ร้าย)ฝูงงูหลาม ฝูงงูเหลือมอาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น [๑๖๐] (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงนกพิราบ ฝูงนกเป็ดน้ำ ฝูงนกจักรพาก๓- ฝูงนกกาน้ำ ฝูงนกดุเหว่า ฝูงนกแก้ว และนกสาลิกา อาศัยสระนั้นหากิน @เชิงอรรถ : @ ตะโขง มีลักษณะคล้ายจระเข้แต่ปากเรียวและยาวกว่า อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ปลาร้าย @ ปลาฉนาก ได้แก่ปลามีปากมีลักษณะเป็นกระดูกแข็งยื่นออกไปเป็นก้านยาวมีฟันทั้ง ๒ ข้างคล้ายฟันเลื่อย @ จักรพาก หรือ จักรวาก คู่ของนกนี้ต้องพรากจากกันครวญถึงกัน ในเวลากลางคืน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๖๑] ฝูงนกกวัก (ไก่เถื่อน ไก่ป่า) ฝูงไก่ป่า ฝูงนกนางนวล ฝูงนกต้อยตีวิด ฝูงนกแขกเต้า อาศัยสระนั้นหากิน (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) [๑๖๒] ฝูงหงส์ ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง ฝูงนกดุเหว่า ฝูงไก่งวง ฝูงนกช้อนหอย๑- ฝูงนกโพระดก (นกกระจอก นกออก) อาศัยสระนั้นหากิน [๑๖๓] ฝูงนกแสก (นกเค้าแมว นกทึดทือ) ฝูงนกหัวขวาน ฝูงนกออกขาว (นกเขา) ฝูงนกเหยี่ยวดำ ฝูงนกกาน้ำ มากมาย อาศัยสระนั้นหากิน [๑๖๔] ฝูงเนื้อฟาน (อีเก้ง) ฝูงหมูป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอก (หมาป่า หมาใน) ฝูงแรด ฝูงละมั่ง ฝูงเนื้อทราย อาศัยสระนั้นหากิน [๑๖๕] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว ช้างตระกูลมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง๒- (ไม่ทำอันตราย) อาศัยสระนั้นหากิน [๑๖๖] เหล่ากินนร (สัตว์ครึ่งคนครึ่งนก) ฝูงวานร คนทำงานในป่า สุนัขไล่เนื้อ นายพราน อาศัยสระนั้นหากิน [๑๖๗] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด๓- ต้นมะซาง ต้นหมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดูกาล อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า @เชิงอรรถ : @ นกช้อนหอย นกกินปลา ปมฺปกา ลิงลม ก็แปล @ ตกมัน ๓ แห่ง คือ นัยน์ตา ใบหู และลูกอัณฑะ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๕/๒๖๑, ๖๕๗/๓๗๗ @ ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีผลคล้ายมะปราง รสเปรี้ยวๆ หวานๆ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๗/๒๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๖๘] ต้นคำ๑- ต้นสน ต้นกระทุ่ม สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน เผล็ดผลเป็นประจำ อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า [๑๖๙] ต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม เหล่านั้น เผล็ดผลเป็นนิตย์ [๑๗๐] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม๒- ต้นกะเม็ง๓- ต้นขัดมอน๔- มีอยู่มากมายใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๑๗๑] ใกล้ๆ อาศรม(ของข้าพเจ้า)มีบึงน้ำที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี มีน้ำใสเย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ [๑๗๒] (สระน้ำเหล่านั้น) ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวขาบ๕- สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเฝื่อน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ [๑๗๓] ครั้งนั้น๖- ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรม ซึ่งสร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ ในป่ามีไม้ดอกไม้ผล สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ดังกล่าวมานี้ [๑๗๔] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีล๗- สมบูรณ์ด้วยข้อวัตร มีปกติเพ่งฌาน @เชิงอรรถ : @ ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นแสด หรือต้นคำแสด ก็เรียก @ ต้นดอกซ่อนกลิ่น @ ต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นสีม่วง ใบเขียวขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยารักษาโรคเด็ก @ ต้นข้าวต้ม ต้นขัดมอน ก็เรียก เปลือกเหนียว ดอกเหลือง เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ใช้ทำไม้กวาดได้ @ บัวสีน้ำเงินแก่อมม่วง @ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงในครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นดาบส (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๓/๒๖๒) @ มีศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

ยินดีในฌานในกาลทุกเมื่อ สำเร็จอภิญญาพละ ๕ ๑- ประการ [๑๗๕] ข้าพเจ้ามีศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ทั้งหมดนั้น เป็นพราหมณ์ มีชาติตระกูล มียศ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ [๑๗๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเข้าใจตัวบท(หลักไวยากรณ์) ฉลาดในการพยากรณ์ สำเร็จวิชาทำนายลักษณะ วิชาอิติหาสศาสตร์ และไตรเพทอันเป็นธรรมของตน พร้อมทั้งวิชานิฆัณฑุศาสตร์ และวิชาเกฏุภศาสตร์๒- [๑๗๗] ศิษย์ของข้าพเจ้าฉลาดในลางบอกเหตุ ในนิมิตร และในลักษณะ เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในเรื่องดิน ในภาคพื้นดิน และในอากาศ [๑๗๘] ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้มักน้อย มีปัญญารักษาตน บริโภคแต่น้อย ไม่โลภ สันโดษตามมีตามได้ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๑๗๙] ศิษย์ของข้าพเจ้ามีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌาน เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น ปรารถนาความหมดกังวล ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ @เชิงอรรถ : @ อภิญญาพละ ๕ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และตาทิพย์ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๓) @ วิชาทำนายลักษณะ หมายถึงคัมภีร์ประกาศลักษณะของหญิงและบุรุษชาวโลกทั้งหมดมีทุกข์และสุข @อิติหาสศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ชี้แจงคำพูดที่ท่านกล่าวว่า อิติห อาสา @นิฆัณฑุศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น @เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยวิชาการกวี (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๖/๒๖๓, ดูเชิงอรรถเล่ม ๙ ข้อ ๒๕๖) @ไตรเพท หมายถึงพระเวท ๓ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๘๐] ศิษย์ของข้าพเจ้าสำเร็จอภิญญา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา๑- เหาะไปมาทางอากาศได้ เป็นนักปราชญ์ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๑๘๑] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น สำรวมทวารทั้ง ๖ ไม่หวั่นไหว๒- รักษาอินทรีย์ และไม่คลุกคลี เป็นนักปราชญ์๓- หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก [๑๘๒] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่งขัดสมาธิ การยืน และการจงกรม ตลอดคืน [๑๘๓] ศิษย์ของข้าพเจ้าไม่กำหนัดในวัตถุที่น่ากำหนัด ไม่ขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง ไม่ลุ่มหลงในวัตถุที่น่าลุ่มหลง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก [๑๘๔] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ด้วยการแข่งดีทดลองแสดงฤทธิ์อยู่เป็นนิตย์ บันดาลให้แผ่นดินไหวได้ [๑๘๕] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เมื่อจะเล่น ก็เล่นฌาน(เข้าฌาน) ไปนำผลหว้ามาได้ [๑๘๖] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป @เชิงอรรถ : @ บาลี เปตฺติเก โคจเร รตา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา หมายถึงยินดีในอาหารที่ได้ไม่ใช่ออกปากขอ @(ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๔) @ ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหว (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๑/๒๖๕) @ เป็นนักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีราชสีห์และเสือ @เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๘๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส) ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง ท้องฟ้าถูกดาบส ๑,๐๒๔ รูป ปิดบังไว้แล้ว [๑๘๘] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง [๑๘๙] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น พวกหนึ่งตักน้ำอาบ [๑๙๐] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร) ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก [๑๙๑] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้ว ประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า [๑๙๒] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์ [๑๙๓] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา [๑๙๔] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป ใครๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้ ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๑๙๕] ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า บางพวกยืนและเดินจงกรม บางพวกถือการนั่งเป็นวัตร บางพวกฉันใบไม้ที่หล่นเอง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก [๑๙๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นมีปกติอยู่ด้วยการแผ่เมตตา แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ยกตน ไม่ข่มใครๆ [๑๙๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นไม่สะดุ้งกลัวอะไร เหมือนราชสีห์ มีกำลังเหมือนพญาคชสาร หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เหมือนพญาเสือโคร่ง ย่อมมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า [๑๙๘] พวกวิทยาธร พวกเทวดา นาค คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ ทานพ(อสูร) ครุฑ อาศัยสระนั้นหากิน [๑๙๙] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นเกล้าชฎา คอนบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์ เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อาศัยสระนั้นหากิน [๒๐๐] ครั้งนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้เหมาะสมกันและกัน มีความเคารพต่อกันและกัน ศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย [๒๐๑] ศิษย์เหล่านั้นเดินเข้าแถวกัน เงียบเสียง สำรวมดี ทั้งหมดเข้ามากราบข้าพเจ้าด้วยเศียรเกล้า [๒๐๒] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน อยู่ในอาศรมแห่งนั้นมีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้สงบ มีตบะ [๒๐๓] อาศรมของข้าพเจ้าหอมด้วยกลิ่น ๒ อย่าง คือกลิ่นศีลของเหล่าฤๅษีและกลิ่นดอกไม้ ผลไม้ของต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่รู้คืนและวัน ความไม่พอใจมิได้มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสั่งสอนศิษย์ของตนได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง [๒๐๕] เมื่อดอกไม้บานและผลไม้สุก มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๒๐๖] ข้าพเจ้าออกจากสมาธิแล้ว มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญารักษาตน คอนหาบบริขาร(ดาบส)เข้าป่าไป [๒๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาจนชำนาญ ในลางบอกเหตุ ในความฝันและในลักษณะทั้งหลาย ทรงจำบทแห่งมนตร์ที่แพร่หลายอยู่ [๒๐๘] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน ทรงประสงค์วิเวก ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์ [๒๐๙] พระองค์ผู้เป็นมุนีผู้เลิศ ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ เสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ [๒๑๐] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีแสงสว่างเจิดจ้า น่ารื่นรมย์ใจ ทรงรุ่งเรืองดังดอกบัวเขียว เป็นดุจแท่นบูชาไฟ สว่างเจิดจ้า [๒๑๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงรุ่งเรืองดุจต้นพฤกษาประทีป๑- @เชิงอรรถ : @ ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๔-๕๕/๑๓๑, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๕/๗๙, ๓๐/๑๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

ดุจสายฟ้าสว่างจ้ากลางอากาศ ดุจต้นพญาไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งอยู่ [๒๑๒] พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นผู้ประเสริฐ มีความเพียรมาก เป็นพระมุนีผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เวไนยสัตว์ได้อาศัยการพบเห็นนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ [๒๑๓] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว จึงได้ตรวจดูลักษณะว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่ เอาละ เราจะดูพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ๑- [๒๑๔] ที่พื้นฝ่าพระบาทอันยอดเยี่ยมปรากฏมีจักรมีกำตั้งพัน ข้าพเจ้าได้เห็นลักษณะทั้งหลายของพระองค์แล้ว จึงถึงความแน่ใจในพระตถาคต [๒๑๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดสถานที่นั้นแล้ว ได้นำดอกไม้มา ๘ ดอก บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๒๑๖] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ พระองค์นั้นแล้ว จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า นมัสการพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๒๑๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ประทับอยู่ด้วยพระญาณอันใด ข้าพเจ้าจักประกาศพระญาณอันนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าวเถิด @เชิงอรรถ : @ ผู้มีพระจักษุ หมายถึงทรงมีจักษุ ๕ (คือ มังสจักษุ ตาเนื้อ มีพระเนตรงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว @และเห็นไกล ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ปัญญาจักษุ ตาปัญญา พุทธจักษุ ตาพระพุทธเจ้า คือทรงทราบ @อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ สมันตจักษุ ตาเห็นรอบ @ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๓/๒๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๑๘] (ดาบสสุรุจิกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคอโนมทัสสีว่า)๑- ข้าแต่พระสยัมภู ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ ขอพระองค์จงทรงช่วยสัตว์โลกนี้ให้พ้นจากสังสารวัฏเถิด๒- สัตว์เหล่านั้นอาศัยการพบเห็นพระองค์แล้ว จะข้ามกระแสแห่งความสงสัยได้ [๒๑๙] พระองค์ทรงเป็นศาสดา เป็นยอด เป็นธงชัย เป็นเสาหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง เป็นดุจดวงประทีปของเหล่าสัตว์ เป็นผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย [๒๒๐] ข้าแต่พระสัพพัญญู น้ำในมหาสมุทรสามารถที่จะประมาณได้ด้วยมาตราตวง แต่พระญาณของพระองค์ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้เลย [๒๒๑] ข้าแต่พระสัพพัญญู แผ่นดินยังสามารถที่จะนำมาวางไว้บนตราชั่งแล้วชั่งดูได้ แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะชั่งดูได้ [๒๒๒] ข้าแต่พระสัพพัญญู อากาศยังสามารถที่จะใช้เชือกหรือนิ้วมือวัดดูได้ แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะวัดดูได้ [๒๒๓] น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดและแผ่นดินทั้งสิ้น บุคคลก็ยังข้ามได้ แต่พระพุทธญาณ ไม่ควรโดยการนำมาเปรียบเทียบ @เชิงอรรถ : @ พระดาบสสุรุจิเป็นอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระได้พบพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตามข้อความในคาถาข้างต้น @ได้กล่าวชมเชยพระองค์ @ พ้นจากสังสารวัฏ หมายถึงให้สิ้นจากสงสารแล้วให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๘/๒๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ๑- จิตของสัตว์เหล่าใดแล่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก สัตว์ผู้มีจิตเหล่านั้นได้อยู่ในข่ายคือญาณของพระองค์ [๒๒๕] ข้าแต่พระสัพพัญญู พระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ๒- อย่างสูงสุดทั้งสิ้นด้วยพระญาณใด พระองค์ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ทั้งหลายด้วยพระญาณนั้น [๒๒๖] (พระเถระทั้งหลายผู้ทำสังคายนากล่าวว่า) ท่านสุรุจิดาบสนั้น ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว จึงปูลาดหนังสัตว์นั่งลงบนแผ่นดิน [๒๒๗] (ดาบสสุรุจินั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า) ผู้คนกล่าวกันในบัดนี้ว่า ขุนเขา๓- หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์เช่นกัน [๒๒๘] ภูเขาสิเนรุก็สูงสุดเท่านั้น ภูเขาสิเนรุนั้น ทั้งด้านยาว ทั้งด้านกว้างถึงเพียงนั้น ก็ยังถูกบดให้ละเอียดเป็นแสนโกฏิด้วยการนับ [๒๒๙] ข้าแต่พระสัพพัญญู เมื่อตั้งคะแนนไว้๔- ผงแห่งภูเขาสิเนรุก็จะพึงหมดสิ้นไปก่อน แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะนับได้ [๒๓๐] ผู้ใดพึงเอาข่ายตาถี่ๆ ขึงล้อมน้ำไว้ สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ก็จะพึงเข้าไปอยู่ภายในข่าย ฉันใด @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถ หน้า ๓๖ ในเล่มนี้ @ พระโพธิญาณ หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๕/๒๗๑) @ ขุนเขา หมายถึงขุนเขาพระสุเมรุ (ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแผ่นดินของสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งมี @พระอินทร์อยู่) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๗/๒๗๒) @ ตั้งคะแนน หมายถึงนับพระญาณของพระองค์ (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๙/๒๗๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เดียรถีย์มากมายบางพวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเข้าไปสู่ป่าทึบคือทิฏฐิ ถูกความยึดถือทำให้ลุ่มหลง [๒๓๒] เดียรถีย์เหล่านั้นเข้าไปภายในข่าย๑- เพราะพระญาณอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ซึ่งมีปกติเห็นสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรขัดขวาง เดียรถีย์เหล่านั้นหาล่วงเลยพระญาณของพระองค์ไปไม่ [๒๓๓] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ออกจากสมาธิแล้วตรวจดูทิศ [๒๓๔] พระสาวกนามว่านิสภะ ของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นมุนี มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เป็นผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ แวดล้อมแล้ว๒- [๒๓๕] ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้บริสุทธิ์ ผู้ได้อภิญญา ๖ ๓- ผู้คงที่ ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๒๓๖] สาวกเหล่านั้นยืนกลางอากาศ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคนั้น ได้กระทำประทักษิณ ประนมมือ นมัสการแล้วลงมาเฝ้า ณ สำนักพระพุทธเจ้า [๒๓๗] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ @เชิงอรรถ : @ ข่าย ในที่นี้หมายถึงข่ายคือพระญาณของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๒/๒๗๓) @ ผู้คงที่ หมายถึงผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๔/๒๗๓) @ อภิญญา ๖ หมายถึงความรู้ยิ่งคือ อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้, ทิพพโสต หูทิพย์, เจโตปริยญาณ @ทายใจคนอื่นได้, ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้, ทิพพจักขุ ตาทิพย์, อาสวักขยญาณ @ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป (องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒/๔๑๒-๔๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๓๘] พระสาวกนามว่าวรุณะ ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วทูลถามพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า [๒๓๙] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อะไรหนอ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระโอษฐ์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นจะไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์ โดยไม่มีเหตุ [๒๔๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า [๒๔๑] เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ใช้ดอกไม้บูชาเรา และชมเชยญาณของเราเนืองๆ ขอท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๒๔๒] เทวดาทั้งปวง ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วมาประชุมกัน เทวดาเหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๒๔๓] หมู่เทวดาผู้มีฤทธิ์มากทั้ง ๑๐ โลกธาตุ๑- เหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรมจึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๒๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๔๕] เครื่องดนตรี ๑,๐๖๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จักบำรุงบำเรอผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า @เชิงอรรถ : @ ๑๐ โลกธาตุ หมายถึง หมื่นจักรวาล (ที.ม.อ. ๒/๓๓๑/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๔๖] สตรีสาวล้วน ๑๖,๐๐๐ นาง ประดับตกแต่งสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี [๒๔๗] มีหน้ากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๔๘] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ [๒๔๙] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๒๕๐] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ผู้นี้จักไปเกิดเป็นมนุษย์ นางพราหมณีชื่อสารี จักตั้งครรภ์ [๒๕๑] ผู้นี้จักปรากฏนามว่าสารีบุตร ตามชื่อและโคตรของมารดา จักเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม [๒๕๒] จักเป็นผู้ไม่มีความกังวล ละทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช เที่ยวแสวงหาทางแห่งความสงบทั่วแผ่นดินนี้ [๒๕๓] ในกัปที่นับมิได้นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๕๔] ดาบสนี้จักมีนามว่าสารีบุตร เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นอัครสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๒๕๕] แม่น้ำภาคีรถีนี้ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ ไหลลงสู่มหาสมุทร ทำมหาสมุทรให้เต็ม ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๕๖] สารีบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักเป็นผู้สามารถแกล้วกล้าในไตรเพท จักสำเร็จปัญญาบารมี แล้วให้หมู่สัตว์อิ่มเอิบได้ [๒๕๗] ตั้งแต่ป่าหิมพานต์จนถึงทะเลมีห้วงน้ำกว้างใหญ่ ในช่วงระหว่างนี้ มีกองทรายอยู่ขนาดเท่าใด คำนวณนับไม่ได้ [๒๕๘] แม้กองทรายขนาดเท่านั้นสามารถจะคำนวณนับได้ โดยไม่มีเหลือด้วยการนับวิธีใด แต่ปัญญาของสารีบุตรจะมีที่สุดโดยวิธีนับนั้นๆ ก็หามิได้ [๒๕๙] เมื่อตั้งคะแนนไว้ บรรดาทรายในแม่น้ำคงคาก็จะพึงหมดสิ้นไป แต่ปัญญาของสารีบุตรหาหมดสิ้นไปไม่ [๒๖๐] คลื่นในมหาสมุทรคำนวณนับไม่ได้ ปัญญาของสารีบุตร จักไม่มีที่สุดอย่างนั้นเหมือนกัน [๒๖๑] สารีบุตรนั้นจักทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงโปรดปรานแล้ว สำเร็จปัญญาบารมีเป็นอัครสาวก(ของพระองค์) [๒๖๒] สารีบุตรนั้น จักประพฤติตามพระธรรมจักร ที่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ผู้คงที่ ทรงประกาศไว้แล้ว บันดาลเม็ดฝนคือธรรมให้ตกลงโดยชอบ [๒๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ จักทรงตั้ง(สารีบุตร)ไว้ในตำแหน่งอัครสาวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๖๔] โอ ! กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญญาธิการ แด่พระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีแล้ว สำเร็จบารมีในจำนวนคุณทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นกรรมที่ทำไว้ดีแล้วหนอ [๒๖๕] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้ แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว ดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว [๒๖๖] ข้าพเจ้านั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง ที่ไม่หวั่นไหวคือนิพพาน อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เลือกเฟ้นเจ้าลัทธิทั้งปวงจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ [๒๖๗] คนเป็นไข้พึงแสวงหายารักษา พึงสะสมทรัพย์ทั้งปวงไว้เพื่อพ้นจากความเจ็บไข้ ฉันใด [๒๖๘] ข้าพเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง คืออมตนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ จึงได้บวชเป็นฤๅษี ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกัน [๒๖๙] ข้าพเจ้าเพียบพร้อมด้วยชฎาและภาระ(บริขาร) นุ่งห่มหนังสัตว์ สำเร็จอภิญญา ได้ไป(เกิด)ยังพรหมโลก [๒๗๐] เว้นศาสนาของพระชินเจ้าเสียแล้ว ก็หาความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอกไม่ได้ เหล่าสัตว์ผู้มีปัญญาย่อมบริสุทธิ์ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า [๒๗๑] สิ่งที่สำเร็จด้วยการทำของตนนั้น ไม่เป็นดังที่ได้ยินกันต่อๆ มาว่า เป็นอย่างนี้ๆ ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ จึงเที่ยวไปในลัทธิที่ผิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๗๒] คนที่ต้องการแก่นไม้ตัดต้นกล้วยแล้วผ่า ก็จะไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น เขาย่อมเป็นผู้ไร้แก่นไม้ ฉันใด [๒๗๓] เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างกัน ถึงจะมีจำนวนมาก ก็เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ดุจต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นไม้ ฉะนั้น [๒๗๔] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ได้ละทิ้งโภคสมบัติมากมายแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
ภาณวารที่ ๑ จบ
[๒๗๕] (พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า)๑- ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพราหมณ์นามว่าสัญชัย ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท [๒๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พราหมณ์นามว่าอัสสชิ สาวกของพระองค์ ซึ่งหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก มีเดชแผ่ไป เที่ยวบิณฑบาตในครั้งนั้น [๒๗๗] ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้ประเสริฐนั้น ผู้มีปัญญา เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี มีจิตสงบ เบิกบานดุจดอกปทุมที่แย้มบาน [๒๗๘] เพราะเห็นท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มีจิตบริสุทธิ์ องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร ความคิดของข้าพเจ้าจึงเกิดขึ้นว่า ท่านผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์ @เชิงอรรถ : @ ตั้งแต่คาถานี้ไปพระเถระได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องราวของท่าน สมตามข้อความในธรรม @บทอรรถกถาด้วย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๗๙] ท่านผู้นี้ เคลื่อนไหวกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส รูปงาม สำรวมดี ฝึกฝนแล้วในอุบายเครื่องฝึกอย่างสูงสุด คงจะเป็นผู้เห็นทางอมตะ [๒๘๐] ทางที่ดี เราควรจะถามท่านผู้มีประโยชน์อย่างสูงสุด ผู้มีจิตยินดี หากท่านถูกเราถามแล้วจักตอบ เราก็จะย้อนถามท่านอีก ในครั้งนั้น [๒๘๑] ข้าพระองค์ได้เดินตามไปข้างหลังท่านผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต รอคอยโอกาสอยู่เพื่อจะสอบถามทางอมตะ [๒๘๒] จึงเข้าไปหาท่านซึ่งอยู่ในระหว่างถนนแล้วถามว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความเพียร ท่านมีโคตรตระกูลอย่างไร เป็นศิษย์ของใคร [๒๘๓] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้วก็ไม่ครั่นคร้าม เป็นดังพญาไกรสรราชสีห์ตอบว่า ท่านผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก อาตมาเป็นศิษย์ของพระองค์ [๒๘๔] (ข้าพระองค์ได้ถามต่อไปว่า) ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ท่านผู้มียศยิ่งใหญ่เกิดตามมา ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าของท่านเป็นเช่นไร ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านโปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด [๒๘๕] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้ว จึงแสดงบททุกบทที่ลึกซึ้งละเอียด สำหรับกำจัดลูกศรคือตัณหา สำหรับเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงว่า [๒๘๖] ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้ [๒๘๗] เมื่อพระอัสสชิเถระแก้ปัญหาแล้ว ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผลที่หนึ่ง(โสดาปัตติผล) เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส เพราะได้ฟังคำสอนของพระชินเจ้า [๒๘๘] ข้าพระองค์ได้ฟังคำของพระมุนีแล้ว ได้เห็นธรรมอันสูงสุด หยั่งรู้พระสัทธรรมจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า [๒๘๙] ถ้ามีเพียงเท่านั้น ธรรมนี้นั่นแหละ(ที่ข้าพเจ้าพึงบรรลุ) ท่านรู้แจ้งทางที่ไม่เศร้าโศก๑- ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นแล้ว ล่วงเลยมาหลายหมื่นกัป [๒๙๐] ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาธรรม ได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด (บัดนี้)ได้บรรลุความประสงค์นั้นแล้ว จึงมิใช่เวลาที่ข้าพเจ้าจะประมาท [๒๙๑] ข้าพระองค์ที่พระอัสสชิเถระให้ยินดีแล้ว บรรลุทางที่ไม่หวั่นไหว๒- เมื่อจะไปเสาะหาสหาย จึงได้ไปยังอาศรม [๒๙๒] สหายของข้าพระองค์ ผู้ได้ศึกษามาดี เพียบพร้อมด้วยอิริยาบถ เห็นข้าพระองค์แต่ไกลเทียว จึงได้กล่าวคำนี้ว่า [๒๙๓] ท่านมีหน้าตาผ่องใส ปรากฏประหนึ่งว่าจะเป็นมุนี ท่านได้บรรลุอมตนิพพานหรือได้บรรลุบทคือพระนิพพานอันไม่จุติ @เชิงอรรถ : @ ทางที่ไม่เศร้าโศก หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๘๙/๒๗๘) @ ทางที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงการถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๙๑/๒๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๒๙๔] ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงาม เป็นเหมือนผู้ฝึกฝนตนมาแล้ว เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอก ไม่หวั่นไหว พราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีการฝึกฝนมาดี จึงสงบระงับแล้ว ในทางเป็นที่ฝึก [๒๙๕] ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรม ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว ถึงตัวท่านก็จะบรรลุอมตธรรมนั้นได้ พวกเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด [๒๙๖] สหายนั้นอันข้าพระองค์ให้ศึกษาอย่างดีแล้ว จึงรับคำว่า ดีละ แล้วได้จูงมือกันมายังสำนักของพระองค์ [๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จักบวชในสำนักของพระองค์ อาศัยคำสอนของพระองค์อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๒๙๘] ท่านโกลิตะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์เลิศด้วยปัญญา ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จะร่วมมือกันทำศาสนาให้งดงาม [๒๙๙] (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด จึงได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด (แต่บัดนี้)เพราะได้อาศัยทัศนะของพระองค์ ความดำริของข้าพระองค์จึงเต็ม [๓๐๐] หมู่ไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมแย้มบานในฤดูกาล กลิ่นทิพย์หอมอบอวลไปทำให้สรรพสัตว์ยินดี (ฉันใด) [๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมแสวงหากาลเวลาเพื่อจะแย้มบาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๐๒] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ๑- ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ [๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต๒- ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย [๓๐๔] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๐๕] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๐๖] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๐๗] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์ เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๐๘] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค) ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล๓- มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ @เชิงอรรถ : @ ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๒/๒๗๙) @ พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๓/๒๘๐) @ ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๘/๒๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๐๙] ท่านเหล่านั้นทั้งที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี ทั้งที่เป็นพระอนาคามี และที่เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ปราศจากมลทิน(คือกิเลส) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๑๐] สาวกของพระองค์จำนวนมาก ฉลาดในสติปัฏฐาน๑- ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ทุกท่านแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๑๑] ท่านเหล่านั้นฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในการเจริญสมาธิ หมั่นประกอบสัมมัปปธาน แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๑๒] ท่านเหล่านั้นได้วิชชา ๓ ๒- ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ ถึงความสำเร็จแห่งปัญญา แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ศิษย์ของพระองค์เป็นเช่นนี้ เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก มีเดชแผ่ไป แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๓๑๔] พระองค์มีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม ผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์ ย่อมทรงงดงามดังดวงจันทร์ [๓๑๕] ต้นไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมงอกงามไพบูลย์บนแผ่นดิน ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเผล็ดผล (โดยลำดับ) @เชิงอรรถ : @ สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา @(ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๐/๒๘๐) @ วิชชา ๓ หมายถึง (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ ระลึกชาติได้ @(๒) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม (๓) อาสวักขยญาณ @ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้ (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๗, ๓๕๓/๒๔๕, @องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๐๒/๒๔๓-๒๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ (เป็นเช่นกับต้นไม้) ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้ผลเป็นอมตะ [๓๑๗] แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี [๓๑๘] เมื่อแม่น้ำหลายสายนั้นไหลไป(ถึงทะเล)ทะเลย่อมรองรับไว้ แม่น้ำเหล่านั้นย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าทะเล ฉันใด [๓๑๙] วรรณะทั้ง ๔ ๑- เหล่านี้ก็ฉันนั้น มาบวชในสำนักของพระองค์แล้ว ก็ย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าพุทธบุตร [๓๒๐] ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรอยู่ในอากาศ มีแสงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่ดาวในโลกทั้งหมด ฉันใด [๓๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศิษย์แวดล้อม ก็ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ [๓๒๒] คลื่นเกิดขึ้นในน้ำลึกย่อมไม่ล่วงเลยล้นฝั่งไปได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบฝั่งเป็นระลอก กระจายหายไปหมด ฉันใด [๓๒๓] เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างกัน เป็นชนจำนวนมาก พวกเขาต้องการจะกล่าวธรรม แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้ [๓๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าเดียรถีย์เหล่านั้น เข้ามาหาพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน ครั้นมาถึงสำนักของพระองค์แล้ว ก็จะกลายเป็นจุรณไป @เชิงอรรถ : @ วรรณะทั้ง ๔ หมายถึงตระกูล ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๗-๓๑๙/๒๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๒๕] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด [๓๒๖] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร) ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น [๓๒๗] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ (แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด [๓๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น [๓๒๙] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ ย่อมแย้มบานในเดือน ๑๒ ไม่ล่วงเลยเดือน ๑๒ นั้นไป เพราะเดือน ๑๒ นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด [๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้ ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น [๓๓๑] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์ แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด [๓๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๓๓] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์ เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย [๓๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์๑- ทรงได้วิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ [๓๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์ [๓๓๖] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว เหลียวดูทิศทั้ง ๔ จึงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง [๓๓๗] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้ ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด [๓๓๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้ เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น [๓๓๙] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น [๓๔๐] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบๆ กันมาแก่ชุมนุมชน [๓๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่ ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์ @เชิงอรรถ : @ เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๓๓-๓๓๔/๒๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๔๒] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร๑- จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ [๓๔๓] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน [๓๔๔] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้ [๓๔๕] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๓๔๖] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง๒- พึงประกาศคุณโดยประการต่างๆ ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้ พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้ [๓๔๗] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน @เชิงอรรถ : @ สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม @(ขุ.อป.อ. ๑/๓๔๒/๒๘๒) @ กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย @อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุกๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง @ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่งๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า @นั้นอีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๔๘] ก็ถ้าใครๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ) ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า [๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๕๐] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์ วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า [๓๕๑] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้ แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว [๓๕๒] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา เขาต้องลำบากเพราะของหนัก เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย [๓๕๓] ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กอง๑- เผาไหม้อยู่ เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ๒- โดยประการนั้น ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด [๓๕๔] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒/๒๘๓, ๔๘๙-๔๙๐/๓๓๖) @ ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒-๓๕๓/๒๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

กิจที่ควรทำทั้งหมด๑- ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว [๓๕๕] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์ [๓๕๖] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน ๑,๐๐๐ คนก็ได้ [๓๕๗] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์ [๓๕๘] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน๒- ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ [๓๕๙] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์ [๓๖๐] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ ได้ฌานและวิโมกข์๓- เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ @เชิงอรรถ : @ กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค @(ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๔/๒๘๔) @ สัมมัปปธานมี ๔ คือ (๑) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว @(๓) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ปา. ๑๑/๓๑๐/๒๐๑) @ วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้นๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่ @ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ ๘ (อฏฺฐนฺนํ โลกุตฺตรวิโมกฺขานญฺจ ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๐/๒๘๔) คือ @๑-๒-๓. ผู้เจริญกสิณต่างๆ แล้วได้รูปฌาน ๔; ๔-๖-๗. ผู้ได้อรูปฌาน ๔; ๘. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ @ดูอีก (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๖๑] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด๑- เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้ ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี๒- ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ [๓๖๒] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว๓- (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น [๓๖๓] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าอโนมทัสสี [๓๖๔] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร๔- นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ [๓๖๕] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท๕- อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหนๆ สักคราวเลย @เชิงอรรถ : @ คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ.เถร.อ. ๒/๔๓๓ (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น @ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม @กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ @ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้ @ เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต @ คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๒/๒๘๔) @ ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๔/๒๘๕) @ หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ @สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ ๗๕๔), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว @ประพฤติชั่ว, @เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๖๖] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด [๓๖๗] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่นๆ ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า) เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด [๓๖๘] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า [๓๖๙] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๗๐] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า อยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น [๓๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก [๓๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ละความเพียร หมายถึงละความเพียรในการเจริญฌาณ สมาธิและมรรคเป็นต้น @มีการศึกษาน้อย หมายถึงเว้นจากคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ @ไม่มีมารยาท หมายถึงไม่มีมารยาทในบุคคลมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๕/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้อยู่อย่างอิสระ [๓๗๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ ๑- วิโมกข์ ๘ ๒- และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว๓- ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สารีปุตตเถราปทานที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิ- @สัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ @ปรีชาแจ้งในภาษา (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ @มีไหวพริบ (องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๐/๑๗๐, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๒๕/๔๖๑) @ วิโมกข์ ๘ คือ (๑) ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนด @วัตถุในกายของตน เช่น สีผม) (๒) ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (ได้แก่ อรูปฌาน @๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก) (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (ได้แก่ ฌานของ @ผู้เจริญวรรณกสิณกำหนดสีที่งาม หรือเจริญอัปปมัญญา) (๔) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดย @ประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพระไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดย @มนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ (๕) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง @วิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (๖) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดย @ประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรเลย (๗) เพราะล่วงเสียซึ่ง @อากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ (๘) เพราะล่วงเสียซึ่งเนว- @สัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, @องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙) หรือ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ หรือ รูปฌาน และอรูปฌาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖) @ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำให้สำเร็จแล้ว หมายถึงคำสั่งสอนเป็นอนุศาสนีและโอวาท @ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าให้สำเร็จด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๒๖-๕๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=290&Z=675                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=3              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=3&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=6204              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=3&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=6204                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap3/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :