ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส๑-
อธิบายมาคันทิยสูตร
ว่าด้วยเมถุนธรรม
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมาคันทิยสูตร ดังต่อไปนี้ [๗๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรม จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่าง ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า คำว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความ พอใจในเมถุนธรรม อธิบายว่า เพราะเห็น คือ แลเห็นเหล่าธิดามาร ได้แก่ นางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจ ความกำหนัด หรือความรัก ในเมถุนธรรม รวมความว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มี ความพอใจในเมถุนธรรม คำว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและ อุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า อธิบายว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะ อุจจาระ เสมหะ เลือด มีกระดูกเป็นโครง มีเอ็นเป็นเครื่องผูกพัน มีเลือดและเนื้อเป็นเครื่อง ฉาบทา ห่อหุ้มด้วยหนัง ปิดบังด้วยผิวหนัง มีช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าออกอยู่เสมอ มีหมู่หนอนแฝงตัวอยู่ เต็มไปด้วยมลทินโทษต่างๆ นี้ อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนา จะเหยียบด้วยเท้า การสังวาส หรือการสมาคม จักมีมาจากไหนได้ รวมความว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๘๔๒-๘๕๔/๔๙๘-๕๐๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรม จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่าง ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า [๗๑] (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามว่า) หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้ ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต และการอุบัติขึ้นในภพ ว่าเป็นเช่นไร [๗๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ) การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน คำว่า เรากล่าวสิ่งนี้ ในคำว่า ... เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น อธิบายว่า เรากล่าวสิ่งนี้ คือ เรากล่าวสิ่งนั้น กล่าวเท่านี้ กล่าวเพียงเท่านี้ กล่าว ทิฏฐินี้ว่า “โลกเที่ยง ... หรือว่าหลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า ไม่เกิดอีกก็มิใช่” คำว่า ... ย่อมไม่มีแก่เรานั้น ได้แก่ ย่อมไม่มีแก่เรา คือ คำกล่าวว่า เรากล่าว เพียงเท่านี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น รวมความว่า ... ว่าเรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี- พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑- รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๕๐/๑๗๓-๑๗๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ว่าด้วยทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒ คำว่า ตกลงใจ ... แล้ว อธิบายว่า ตกลงใจแล้ว คือ วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว ชี้ขาดแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า “ข้อนี้จริง แท้ แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง ไม่วิปริต” ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่พระตถาคตพระองค์นั้น คือการ ตกลงใจแล้วถือมั่น อันพระตถาคต ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า การตกลงใจใน ธรรมทั้งหลายแล้วยึดมั่น คำว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อธิบายว่า เราเห็นโทษใน ทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐินี้ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” เป็นทิฏฐิรกชัฏ เป็นทิฏฐิกันดาร เป็นทิฏฐิที่เป็นข้าศึก เป็นการ ดิ้นรนด้วยทิฏฐิ เป็นเครื่องประกอบคือทิฏฐิ(ทิฏฐิสังโยชน์) มีทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลาย กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อ ตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิ ทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษใน ทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐินี้ว่า “โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีก ก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” เป็นทิฏฐิรกชัฏ เป็นทิฏฐิกันดาร เป็นทิฏฐิที่เป็นข้าศึก เป็นการดิ้นรนด้วยทิฏฐิ เป็นเครื่องประกอบ คือทิฏฐิ มีทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อ ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบ ระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควร ถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ที่บุคคลยึดถืออย่างนี้ แล้ว ย่อมมีคติและมีภพหน้าอย่างนั้นๆ จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกิด ในนรก เป็นไปเพื่อเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเกิดในเปตวิสัย จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง ขึ้น อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควร ถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง คำว่า เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน อธิบายว่า ความสงบภายใน คือ ความสงบ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบระงับราคะ ... โทสะ ...โมหะ ...โกธะ ...อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภทภายใน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า เมื่อเลือกเฟ้น ได้แก่ เมื่อเลือกเฟ้น คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” เมื่อเลือกเฟ้น คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” คำว่า จึงได้เห็น ได้แก่ จึงได้เห็น คือ ได้ดู ได้มองเห็น ได้แทงตลอด รวมความว่า เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสตอบว่า มาคันทิยะ การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน [๗๓] (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้) ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ คำว่า ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ พราหมณ์ เรียกว่า ความตกลงใจ คำว่า กำหนดไว้แล้ว ได้แก่ กำหนดแล้ว กำหนดไว้แล้ว คือ ปรุงแต่งไว้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า กำหนดไว้แล้ว อีกนัยหนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลายที่กำหนด ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยกัน เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ดังนี้ ในคำว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้ เป็นบทสนธิ ... คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือเป็นการกล่าวถึง การ ขนานนาม การบัญญัติ เป็นชื่อที่เรียกกัน รวมความว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถาม ดังนี้ คำว่า เหล่านั้นแล ในคำว่า มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใด ว่า ความสงบภายใน ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี คำว่า ไม่ยึดมั่น อธิบายว่า ท่านกล่าวว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ถือ คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย และกล่าวว่า มีความสงบภายใน คำว่า เนื้อความใด ได้แก่ เนื้อความที่ดีเยี่ยมใด รวมความว่า มุนีไม่ยึดมั่น ทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน คำว่า อย่างไรหนอ ในคำว่า เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้ อย่างไรหนอ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็น คำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ รวมความว่า อย่างไรหนอ คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส คำว่า ประกาศไว้ ได้แก่ ประกาศไว้ คือ ประกาศให้ทราบ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว รวมความว่า เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

[๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ) นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ คำว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจด เพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ อธิบายว่า นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิ ... เพราะสุตะ ... เพราะ ทิฏฐิและสุตะ นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะ ญาณ รวมความว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมด จดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ คำว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร อธิบายว่า นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีล ... เพราะวัตร นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ ศีลวัตร รวมความว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความ ไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็ หามิได้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ประสงค์เอาสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ ๑. ทานที่ให้แล้วมีผล ๒. ยัญที่บูชาแล้วมีผล ๓. การเซ่นสรวงมีผล ๔. ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ ๕. โลกนี้มี ๖. โลกหน้ามี ๗. มารดามีคุณ ๘. บิดามีคุณ ๙. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ๑- มีอยู่ ๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตน เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้งมีอยู่ในโลก สุตะ ประสงค์เอาเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ญาณ ประสงค์เอากัมมัสสกตาญาณ๒- สัจจานุโลมิกญาณ๓- อภิญญาญาณ๔- สมาปัตติญาณ๕- ศีล ประสงค์เอาปาติโมกขสังวร วัตร ประสงค์เอาธุดงค์๖- ๘ ข้อ คือ ๑. อารัญญิกังคธุดงค์ ๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๓. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๔. เตจีวริกังคธุดงค์ @เชิงอรรถ : @ โอปปาติกะ หมายถึง สัตว์เกิดผุดขึ้น คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย)ก็หายวับไป @ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) @ กัมมัสสกตาญาณ ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิด @เสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน หมายถึงสัมมาทิฏฐิ ๑๐ (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๗๙๓/๕๐๙) @ สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ @ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๗๙๓/๕๐๙) @ อภิญญาญาณ ญาณคือความรู้อย่างยิ่งยวดมี ๖ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ @(๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ (ที.สี.(แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/๗๗-๘๔) @ สมาปัตติญาณ ญาณในสมาบัติ ๘ (ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕) @ ดูคำแปลจากข้อ ๑๗/๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

๕. สปทานจาริกังคธุดงค์ ๖. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๗. เนสัชชิกังคธุดงค์ ๘. ยถาสันถติกังคธุดงค์ คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความ ไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็ หามิได้ อธิบายว่า บุคคลเป็นผู้บรรลุถึงความสงบภายใน เพียงเพราะสัมมาทิฏฐิ ก็หามิได้ เพียงเพราะการได้ฟังก็หามิได้ เพียงเพราะญาณก็หามิได้ เพียงเพราะศีลก็ หามิได้ เพียงเพราะวัตรก็หามิได้ คือ บรรลุถึงความสงบภายใน โดยเว้นจากธรรม เหล่านี้ก็หามิได้ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องประกอบเพื่อบรรลุ เพื่อถึง เพื่อ ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งความสงบภายใน รวมความว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความ ไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อธิบายว่า บุคคลหวังการละธรรมฝ่ายดำโดยกำจัดได้เด็ดขาด หวังการไม่ก่อตัณหาในกุศลธรรม ทั้งหลายในไตรธาตุ บุคคลละธรรมฝ่ายดำ โดยการละได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ตัดราก ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ และไม่ก่อตัณหาในกุศลธรรมทั้งหลายในไตรธาตุเพราะเหตุใด นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้ อีกนัยหนึ่ง ธรรมฝ่ายดำ นักปราชญ์ไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง บุคคลละตัณหา ทิฏฐิ และมานะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุใด นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้ รวมความว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง บุคคลละปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขารได้เด็ดขาด แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุใด นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้ รวมความว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า นักปราชญ์ ... เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึง หวังภพ อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว สงบระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า เป็นผู้สงบ คำว่า ไม่อาศัยแล้ว ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วย อำนาจตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจ ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- นักปราชญ์ละการอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการอาศัยด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัย คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... รูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัย- เภสัชบริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ... จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ไม่อาศัย คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว คำว่า ไม่พึงหวังภพ ได้แก่ ไม่พึงหวัง คือ ไม่พึงมุ่งหวัง ไม่พึงคาดหวัง กามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมความว่า นักปราชญ์ ... เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า มาคันทิยะ นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ [๗๕] (มาคันทิยพราหมณ์กราบทูล ดังนี้) หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ คำว่า หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความ หมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ อธิบายว่า นักปราชญ์ ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิ ... เพราะสุตะ ... เพราะทิฏฐิและสุตะ ... นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ หลุดพ้นไป เพราะญาณ รวมความว่า หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะ ทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ดังนี้ ในคำว่า มาคันทิยพราหมณ์กราบทูล ดังนี้ เป็นบทสนธิ ... คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ... รวมความว่า มาคันทิยพราหมณ์ กราบทูล ดังนี้ คำว่า ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร อธิบายว่า ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีล ... เพราะวัตร ... ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลและวัตร รวมความว่า ไม่กล่าว ความหมดจดเพราะศีลและวัตร คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะ ความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มี วัตรนั้นก็หามิได้ อธิบายว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ทิฏฐิก็พึงปรารถนา ... การฟัง ก็พึงปรารถนา ... ญาณก็พึงปรารถนา ... ศีลก็พึงปรารถนา ... ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า วัตรก็พึงปรารถนา ท่านไม่สามารถยอมรับโดยส่วนเดียวได้ ทั้งไม่สามารถปฏิเสธ โดยส่วนเดียวได้ รวมความว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มี วัตรนั้น ก็หามิได้ คำว่า ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน อธิบายว่า ข้าพเจ้าจึงเข้าใจอย่างนี้ คือ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอย่างนี้ว่า ธรรม ของท่านนี้ เป็นธรรมงมงาย คือ เป็นธรรมของคนเขลา ธรรมของคนหลง ธรรมของ คนไม่รู้ ธรรมของคนมีลัทธิที่หลบเลี่ยงไม่แน่นอน รวมความว่า ข้าพเจ้าจึงเข้าใจ ธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน คำว่า เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ อธิบาย ว่า สมณพราหมณ์บางพวก ถึงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะทิฏฐิว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” สมณพราหมณ์บางพวก ถึงความหมดจด คือ ความสะอาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิว่า “โลก ไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้น จริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความ หมดจดได้เพราะทิฏฐิ ด้วยเหตุนั้น มาคันทิยพราหมณ์จึงกราบทูลดังนี้ หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ [๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ) เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนืองๆ ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย คำว่า เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนืองๆ อธิบายว่า มาคันทิย- พราหมณ์อาศัยทิฏฐิถามถึงทิฏฐิ อาศัยความเกี่ยวข้องถามถึงความเกี่ยวข้อง อาศัย ความผูกพันถามถึงความผูกพัน อาศัยความกังวลถามถึงความกังวล คำว่า จึงถามเนืองๆ ได้แก่ จึงถามอยู่บ่อยๆ รวมความว่า เพราะอาศัยทิฏฐิ ทั้งหลายท่านจึงถามเนืองๆ คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว อธิบายว่า ทิฏฐิใด ท่านถือ คือ ยึดมั่น ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อแล้ว ท่านหลง คือ ลุ่มหลง หลงงมงาย ถึงความหลง ถึงความลุ่มหลง ถึงความหลงงมงาย แล่นไปสู่ความ มืดมนแล้ว ในทิฏฐินั้น รวมความว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่าน ถือมั่นไว้แล้ว คำว่า และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อธิบายว่า ท่าน ไม่ได้พบสัญญาอันสมควร สัญญาที่ถึงแล้ว สัญญาในลักษณะ สัญญาในเหตุ หรือ สัญญาในฐานะ จากธรรมนี้ คือ จากความสงบภายใน จากข้อปฏิบัติ หรือจาก ธรรมเทศนาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหนเล่า รวมความว่า และท่านก็มิได้เห็น สัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ท่านไม่ได้พบเบญจขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง หรือญาณซึ่งอนุโลม อนิจจสัญญา เบญจขันธ์ซึ่งเป็นทุกข์ หรือญาณซึ่งอนุโลมทุกขสัญญา ธรรมซึ่งเป็น อนัตตา หรือ ญาณซึ่งอนุโลมอนัตตสัญญา ธรรมเพียงแต่ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา หรือธรรมเป็นนิมิตแห่งสัญญาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหน รวมความว่า และท่าน มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น ท่านจึงประสบ คือ เห็น แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา ดูแต่ธรรมคือความงมงาย ธรรมของคนเขลา ธรรมของคนหลง ธรรมของคนไม่รู้ ธรรมของคนที่มีลัทธิหลบเลี่ยงไม่แน่นอน รวมความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบ แต่ความงมงาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มาคันทิยะ เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนืองๆ ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

[๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า) ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น คำว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้น พึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น อธิบายว่า ผู้ใดสำคัญว่า “เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา หรือ เราด้อยกว่าเขา” ผู้นั้น พึงต้องก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยความถือตัวนั้น คือ ด้วยทิฏฐินั้น หรือกับบุคคลนั้นว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัย นี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูกต้อง คำของเรามีประโยชน์ คำของท่าน ไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อนท่านกลับพูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลังท่าน กลับพูดก่อน คำที่ท่านใช้เสมอกลับติดขัด วาทะของท่านเราหักล้างได้แล้ว เราปราบปรามท่านได้แล้ว ท่านจงเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะ หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น คำว่า บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น อธิบายว่า ความถือตัว ๓ อย่างเหล่านี้ ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ ไม่เอนเอียง ในความถือตัว ๓ อย่างเหล่านั้น ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ กว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว คำว่า ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีแก่เรา รวมความว่า บุคคลไม่หวั่นไหวใน เพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า “เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อย กว่าเขา จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น” ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น [๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร ความสำคัญว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า คำว่า พราหมณ์ ในคำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง อธิบายว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว ... บุคคล นั้นไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๑- คำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง อธิบายว่า บุคคล ผู้เป็นพราหมณ์ พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง คำว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์พึงก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการ แก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยมานะอะไร ด้วยทิฏฐิอะไร หรือกับ บุคคลใดว่า “คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ... ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ... หรือหาก ท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึง โต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ในพระอรหันต์ใด ในคำว่า ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ กว่าเขา (หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด อธิบายว่า ในพระ อรหันต์คือ พระขีณาสพใด ไม่มีความถือตัวว่า “เราเสมอเขา” ไม่มีความถือดีว่า “เราเลิศกว่าเขา” ไม่มีความดูหมิ่นว่า “เราด้อยกว่าเขา” คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความถือตัวนั้นพระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา(หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด คำว่า พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ คือ พึงโต้เถียง พึงก่อการทะเลาะ ก่อการ บาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยเหตุอะไร ด้วยทิฏฐิ อะไร หรือกับบุคคลใดว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จง แก้ไขเถิด” รวมความว่า พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร ความสำคัญว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า [๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน ครั้งนั้นแล หาลินทกานิคหบดี เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ กราบ ท่านพระมหากัจจายนะแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหา- กัจจายนะว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้ ในมาคันทิยปัญหา อันมาใน อัฏฐกวรรคว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน ข้าแต่ท่านมหากัจจายนะผู้เจริญ เนื้อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วโดยย่อนี้ พึงทราบโดยพิสดารอย่างไร ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ท่านคหบดี รูปธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะในรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า การเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เวทนาธาตุ ... สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูก พันไว้ด้วยราคะในสังขารธาตุ ตรัสเรียกว่า การเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย ท่านคหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย และความยึดมั่น อันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งรูปธาตุ พระ ตถาคต ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียก พระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย” ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่น อันเป็นเหตุที่ใจเข้าไป ตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งเวทนาธาตุ ... สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ ... วิญญาณธาตุ พระตถาคต ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียก พระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่าน ไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร คือ ความเที่ยวซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือ รูปนิมิต ... สัททนิมิต ... คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต ตรัสเรียกว่า “ผู้เที่ยวซ่าน ไปหาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร คือ ความซ่านไปหา และความผูกพันกับที่อาศัย คือ รูปนิมิต ... สัททนิมิต ... คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไป หาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ เพลิดเพลินร่วมกัน เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขา มีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อ ใยในกาม เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ ไม่เพลิดเพลิน ร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็มิได้ ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่าน คหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ เร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกาม ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจาก ตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้” เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น มีความ มุ่งหวังอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล “เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้” เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความ ปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้” ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนา อย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้” เธอก็ ไม่ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวัง อัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า “ท่านไม่รู้ ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ท่านคหบดี บุคคลกล่าว ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า “ท่านไม่รู้ ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าว ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล ท่านคหบดี ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมาคันทิยปัญหา อันมาใน อัฏฐกวรรคว่า บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน ดังนี้แล ท่านคหบดี เนื้อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ พึงทราบโดย พิสดารอย่างนี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน [๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น คำว่า เหล่าใด ในคำว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ได้แก่ ทิฏฐิทั้งหลาย คำว่า สงัด ได้แก่ ว่าง สงัด เงียบ จากกายทุจริต ... จากวจีทุจริต ... จาก มโนทุจริต ... จากราคะ ... ว่าง สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท คำว่า พึงเที่ยวไป ได้แก่ พึงเที่ยวไป คือ พึงอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิ เหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก คำว่า ผู้นาคะ ในคำว่า ผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ถึง ชื่อว่า บุคคลผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป ตรัสเรียกว่า ความชั่ว (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้นาคะ๑- บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างนี้ บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างไร คือ บุคคลไม่ถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ถึงโทสาคติ(ลำเอียงเพราะชัง) ไม่ถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ถึงภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ไม่ดำเนินไป ด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจ อุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างนี้ บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างไร คือ กิเลสเหล่าใดอริยบุคคลละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นก็ ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละ ได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ... ด้วยอนาคามิมรรค ... ด้วยอรหัตตมรรค อริยบุคคล นั้นก็ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างนี้ คำว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า บุคคลผู้ นาคะ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจง ยึด จับ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิเหล่านั้น ได้แก่ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจงว่า “โลกเที่ยง ... โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจา ยึดถือทิฏฐิเหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๘/๔๓๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด อธิบายว่า น้ำ ตรัสเรียกว่า เอละ น้ำ ตรัสเรียกว่า อัมพุ ดอกบัว ตรัส เรียกว่า อัมพุชะ ก้านขรุขระ ตรัสเรียกว่ามีหนาม น้ำ ตรัสเรียกว่า วารี ดอกบัว เกิดในน้ำ ตรัสเรียกว่า วาริชะ น้ำ ตรัสเรียกว่า ชละ เปือกตมตรัสเรียกว่า โคลนตม ดอกบัวเกิดในน้ำ อยู่ในน้ำ (แต่) ไม่ติด ไม่ติดแน่น ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม คือ ไม่ถูกน้ำและโคลนตมติดแล้ว ติดแน่นแล้ว แปดเปื้อนแล้ว ฉันใด รวมความว่า ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อน ในกามและโลก ฉันนั้น เป็นคำอุปไมยที่ทำอุปมาให้สมบูรณ์ คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี คำว่า ผู้กล่าวเรื่องความสงบ อธิบายว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ คือ กล่าวเรื่องที่ป้องกัน กล่าวเรื่องที่หลีกเร้น กล่าวเรื่องที่พึ่ง กล่าวเรื่องที่ไม่มีภัย กล่าวเรื่องที่ไม่คลาดเคลื่อน กล่าวเรื่องอมตธรรม กล่าวเรื่องนิพพาน รวมความว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ... ฉันนั้น คำว่า ไม่ยินดี อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑- ตัณหาที่ตรัสเรียกว่าความยินดีนั้น มุนีใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้ สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ยินดี คือ ผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ... จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน คือผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย ความยินดีแล้ว ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คายความยินดีแล้ว @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลาย ความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็น แล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี อย่างนี้ คำว่า ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก อธิบายว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑- คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก คำว่า แปดเปื้อน ได้แก่ ความแปดเปื้อน ๒ อย่าง คือ (๑) ความแปดเปื้อน ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อน ด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ๒- มุนีละความแปดเปื้อนด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความแปดเปื้อนด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ย่อมไม่ติด ไม่ติดแน่น ไม่แปดเปื้อนในกามและในโลก คือ เป็นผู้ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิติด ติดแน่น แปดเปื้อน ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง(ในกามและในโลก)แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า มุนีผู้ กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒ @ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย คำว่า ไม่ ในคำว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัว ด้วยอารมณ์ที่รับรู้ เป็นคำปฏิเสธ คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่อง เห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ มุนีนั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชราและมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น อีกนัยหนึ่ง มุนีนั้น ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลายแล้ว อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลายแล้ว อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะรู้แจ้งธรรม ๗ ประการแล้ว คือ ๑. รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ ๒. รู้แจ้งวิจิกิจฉา ๓. รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส ๔. รู้แจ้งราคะ ๕. รู้แจ้งโทสะ ๖. รู้แจ้งโมหะ ๗. รู้แจ้งมานะแล้ว มุนีนั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ) บุคคลวิจัยเวททั้งหมดของสมณพราหมณ์ที่มีอยู่ เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑- คำว่า ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ มุนีนั้น ละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือ ญาณแล้ว มุนีนั้น ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาหาทิฏฐินั้น โดยเห็นเป็นสาระอีก รวมความว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ คำว่า มุนีนั้นย่อมไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า มุนีนั้น ย่อมไม่ถึง คือ ไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปหา ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ความถือตัว ด้วย รูปที่รู้แล้ว ด้วยเสียงบอกเล่าของผู้อื่น หรือด้วยสมมติของมหาชน รวมความว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ คำว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น อธิบายว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและ ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน เบื้องหน้า ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ มุนีนั้นละ ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่ พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด มุนีนั้น ก็ชื่อว่าไม่มีตัณหาและ ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน เบื้องหน้า ด้วยเหตุนั้น รวมความว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น คำว่า ไม่ถูกกรรม ในคำว่า ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป อธิบายว่า มุนี ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรือ อาเนญชาภิสังขาร รวมความว่า ไม่ถูกกรรม @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า ไม่ถูก ... และสุตะนำไป อธิบายว่า มุนี ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูก พาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยความหมดจดด้วยสุตะ ด้วยเสียงบอกเล่าของผู้อื่น หรือด้วย การสมมติของมหาชน รวมความว่า ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป คำว่า มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย อธิบายว่า คำว่า การนำเข้าไป ได้แก่ การนำเข้าไป ๒ อย่าง คือ (๑) การนำเข้าไปด้วย อำนาจตัณหา (๒) การนำเข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการนำเข้าไปด้วยอำนาจ ตัณหา ... นี้ชื่อว่าการนำเข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- มุนีนั้นละการนำเข้าไปด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการนำเข้าไปด้วย อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการนำเข้าไปด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการนำ เข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว มุนีนั้น ชื่อว่าไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไป คือ ไม่เข้า ไปติด ไม่เข้าไปถึง ไม่ติดใจ ไม่น้อมใจเชื่อ ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องในที่อาศัยทั้งหลายแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า มุนีนั้น ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย [๘๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้น ย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก @เชิงอรรถ : @ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

คำว่า มุนีเว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด อธิบายว่า ผู้ใดเจริญอริยมรรค ที่มีสมถะเป็นเบื้องต้น ผู้นั้น ย่อมข่มกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้ว ตั้งแต่ต้น เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้ว พระอรหันต์ย่อมละได้เด็ดขาดทั้งกิเลสเครื่อง ร้อยรัด โมหะ นิวรณ์ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญาและทิฏฐิสัญญา ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รวมความว่า มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่อง ร้อยรัด คำว่า มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง อธิบายว่า ผู้ใด เจริญอริยมรรค ที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ผู้นั้น ย่อมข่มความลุ่มหลงได้ตั้งแต่ต้น เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้ว พระอรหันต์ย่อมละได้เด็ดขาดทั้งโมหะ กิเลสเครื่องร้อยรัด นิวรณ์ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา ตัดรากถอน โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น ต่อไปไม่ได้ รวมความว่า มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง คำว่า ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบ กระทั่งกันในโลก อธิบายว่า ชนเหล่าใด ถือสัญญา คือ กามสัญญา พยาบาท- สัญญา วิหิงสาสัญญา ชนเหล่านั้น ย่อมกระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายกัน ด้วย อำนาจสัญญา กล่าวคือ พระราชาทรงวิวาทกับพระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับ กษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาทกับคหบดีก็ได้ มารดา วิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับ บิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่สาว น้องสาวก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้น ก่อการทะเลาะ ก่อการ บาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง และก่อการวิวาทกัน ก่อการมุ่งร้ายเพราะสัญญานั้น ก็ทำร้ายกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง เพราะทำร้ายกันนั้น ชนเหล่านั้นก็เข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง ชนเหล่าใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส

ถือทิฏฐิว่า “โลกเที่ยง ... หรือ หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่ เกิดอีกก็มิใช่” ชนเหล่านั้น ย่อมกระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายกัน ด้วยอำนาจทิฏฐิ ได้แก่กระทบกระทั่ง คือ ทำร้ายศาสดาโดยศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอนโดย ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะโดยหมู่คณะ ทิฏฐิโดยทิฏฐิ ปฏิปทาโดยปฏิปทา มรรคโดยมรรค อีกนัยหนึ่ง ชนเหล่านั้น ย่อมวิวาทกัน คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกันว่า “ท่านไม่รู้จักธรรมวินัยนี้ ... หรือ หากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ชนเหล่านั้น ยังละอภิสังขารไม่ได้ เพราะยังละ อภิสังขารไม่ได้ จึงกระทบกระทั่งกันในคติ กระทบกระทั่งกันในนรก กระทบกระทั่ง กันในกำเนิดเดรัจฉาน กระทบกระทั่งกันในเปตวิสัย กระทบกระทั่งกันในมนุษยโลก กระทบกระทั่งกันในเทวโลก กระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายคติด้วยคติ ... การถือ กำเนิดด้วยการถือกำเนิด ... ปฏิสนธิด้วยปฏิสนธิ ... ภพด้วยภพ ... สงสารด้วยสงสาร ... วัฏฏะด้วยวัฏฏะ ได้แก่ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป กระทบกระทั่งกัน คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก รวมความว่า ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยว กระทบกระทั่งกันในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสุตตนิทเทสที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๒๑๗-๒๔๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=29&siri=9              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=4023&Z=4611                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=321              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=29&item=321&items=53              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=6967              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=29&item=321&items=53              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=6967                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :