ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อัฏฐกวรรค
๑. กามสุตตนิทเทส๑-
อธิบายกามสูตร
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกามสูตร ดังต่อไปนี้ [๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่ สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ อธิบายว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม วัตถุกาม คืออะไร คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท๒- กองพลรบ๓- คลังหลวง๔- และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใด อย่างหนึ่ง (เหล่านี้) ชื่อว่าวัตถุกาม @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๓-๗๗๘/๔๘๖ @ ชนบท หมายถึง รัฐหลายๆ รัฐมารวมกัน มีกาสีชนบทและโกศลชนบท เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๔) @ กองพลรบ มี ๔ เหล่า คือ (๑) กองพลช้าง (๒) กองพลม้า (๓) กองพลรถ (๔) กองพลทหารราบ (ขุ.ม.อ. ๑/๑๔) @ คลังหลวง มี ๓ อย่าง คือ (๑) คลังทรัพย์สิน (๒) คลังพืชพันธุ์ธัญญาหาร (๓) คลังผ้า (ขุ.ม.อ. ๑/๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้ ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร๑- ที่เป็นรูปาวจร๒- ที่เป็นอรูปาวจร๓- แม้ทั้งปวง กามที่เป็นเหตุ เกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม กิเลสกาม คืออะไร คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจด้วย อำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจ ความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่อง ยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกาม ทั้งหลาย (สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า) เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๔- เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม @เชิงอรรถ : @ กามาวจร คือระดับจิตของผู้ที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของสัตว์ในกามภพทั้ง ๑๑ ชั้น คือ @(๑) อบายภูมิ ๔ (๒) มนุษยโลก (๓) สวรรค์ ๖ ชั้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖) @ รูปาวจร คือระดับจิตของผู้ได้รูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในพรหมโลก ๑๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา @จนถึงชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖) @ อรูปาวจร คือ ระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖) @ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.จู. ๓๐/๘/๓๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ผู้อยากได้กาม คือ ผู้ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามอยู่ รวมความว่า ผู้อยากได้กามอยู่ คำว่า ถ้า...แก่สัตว์นั้น ในคำว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น อธิบายว่า สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เรียกว่า วัตถุกาม คำว่า สำเร็จด้วยดี ได้แก่ สำเร็จผล สำเร็จด้วยดี ได้ ได้รับ สมหวัง ประสบ รวมความว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดย ไม่ผิด คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว คำว่า อิ่ม ได้แก่ ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความบันเทิง ความเบิกบาน ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความมีใจสูง ความมีใจแช่มชื่น ความเต็มใจ ที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑- ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ ใจนี้ ไปพร้อมกัน คือ เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกี่ยวเนื่องกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับความอิ่มเอิบนี้ @เชิงอรรถ : @ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์ @ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง @ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส @ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย, เป็นบ่อเกิด, เป็นที่ประชุม, เป็นแดนเกิดแห่งใจ @ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ @ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่างๆ ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ @ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น @(ขุ.ม.อ. ๑/๒๒-๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ ได้แก่ เป็นผู้อิ่มใจ คือ เป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจแช่มชื่น มีใจสูง บันเทิงใจ ปลาบปลื้มใจ รวมความว่า ย่อมเป็นผู้ อิ่มใจแน่แท้ คำว่า ได้ ในคำว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ได้แก่ ได้ คือ ได้แล้ว ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์(ผู้ข้องอยู่) นรชน มานพ๑- บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ คำว่า กามตามที่ต้องการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามที่ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่ สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ [๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง คำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้น ในคำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ ได้แก่ เมื่อ สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ มนุษย์ คำว่า อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง กามอยู่ อีกนัยหนึ่ง สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป เพราะกามตัณหา อธิบายว่า เหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยยานพาหนะ คือ ช้าง ม้า โค แพะ แกะ อูฐ หรือลา ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ @เชิงอรรถ : @ มานพ มาจากคำว่า มนุ หมายถึง บุตรของพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว อธิบายว่า คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย ความพอใจ ด้วยอำนาจความใคร่เกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว แก่สัตว์นั้น คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว คำว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไป ได้แก่ กามเหล่านั้นเสื่อมไป หรือสัตว์นั้นเสื่อม จากกามทั้งหลาย กามเหล่านั้นเสื่อมไปได้อย่างไร คือ เมื่อสัตว์นั้นดำรงชีพอยู่นั่นเอง โภคทรัพย์พินาศเพราะเหตุ ๘ ประการ คือ ๑. ถูกพระราชาริบ ๒. ถูกโจรปล้น ๓. ถูกไฟไหม้ ๔. ถูกน้ำท่วมพัดพาไป ๕. ถูกทายาทผู้ไม่เป็นที่รักลักขโมยไป ๖. โภคทรัพย์ที่ฝังไว้แล้วหาไม่พบ ๗. กิจการล้มเหลวเพราะจัดการไม่ดี ๘. มีคนล้างผลาญตระกูล ล้างผลาญ รุกราน ทำลายโภคทรัพย์เหล่านั้น ให้พินาศเกิดขึ้นในตระกูล กามเหล่านั้น เสียไป เสื่อมไป คือ สิ้นไป หมดไป สูญหายไป สลายไปด้วยอาการ อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

สัตว์นั้นเสื่อมจากกามทั้งหลายได้อย่างไร คือ เมื่อโภคทรัพย์เหล่านั้นยังคงอยู่อย่างเดิมนั่นแหละ สัตว์นั้นเคลื่อน ตาย สูญหายไป สลายไป สัตว์นั้นย่อมเสียไป เสื่อมไป คือ สิ้นไป หมดไป สูญหายไป สลายไปจากกามทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) โภคทรัพย์ถูกโจรปล้น พระราชาริบเอาไป ไฟไหม้ เสียหาย อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมทอดทิ้งสรีระ พร้อมทั้งทรัพย์สินไปเพราะความตาย นักปราชญ์ทราบดังนี้แล้วพึงใช้สอยและให้ทาน ครั้นให้ทานและใช้สอยตามสมควรแล้ว จึงไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงสวรรค์๑- รวมความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไป คำว่า สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวดเหมือนถูกลูกศรแทง อธิบายว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศร เหล็กแทงก็ตาม ถูกลูกศรกระดูก ลูกศรงา ลูกศรเขา หรือลูกศรไม้แทงก็ตาม ย่อม เจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันใด เพราะวัตถุกาม แปรเป็นอื่นไป ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความ คับแค้นใจย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์นั้นถูกลูกศรคือกาม และลูกศรคือ ความเศร้าโศกแทงแล้ว ย่อมเจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน เจ็บกาย เจ็บใจ รวมความว่า สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวดเหมือนถูกลูกศรแทง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๔๑/๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

[๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก
ว่าด้วยการละกามโดยเหตุ ๒ อย่าง
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดละกามได้ ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวาย อย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม คำว่า ละกามได้ อธิบายว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑- คำว่า ละกามได้ ได้แก่ ละกามได้โดยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) โดยการข่มไว้ (๒) โดยการตัดขาด บุคคลละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างไร คือ บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก เพราะให้ความยินดีเล็กน้อย จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไป แก่คนส่วนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้ ลุกลาม จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะมีความ ร้อนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่ว เวลาอันสั้น จึงละกามได้โดยการข่มไว้ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ยืมมา เพราะเป็นของ ครอบครองชั่วคราวตามกำหนด จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น เพราะเป็นเหตุ ให้หักและให้ล้ม จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ เพราะเป็นเครื่อง รองรับการตัดฟัน จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว เพราะเป็นเครื่อง ทิ่มแทง จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู เพราะเป็นสิ่งมีภัย เฉพาะหน้า จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนกองไฟ เพราะเผาผลาญ จึง ละกามได้โดยการข่มไว้
ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการข่มไว้ ๑๐ จำพวก
๑. บุคคลกำลังเจริญพุทธานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๒. บุคคลกำลังเจริญธัมมานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๓. บุคคลกำลังเจริญสังฆานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๔. บุคคลกำลังเจริญสีลานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๕. บุคคลกำลังเจริญจาคานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๖. บุคคลกำลังเจริญเทวตานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๗. บุคคลกำลังเจริญอานาปานัสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๘. บุคคลกำลังเจริญมรณานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๙. บุคคลกำลังเจริญกายคตาสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๑๐. บุคคลกำลังเจริญอุปสมานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการข่มไว้ ๘ จำพวก
๑. บุคคลกำลังเจริญปฐมฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๒. บุคคลกำลังเจริญทุติยฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๓. บุคคลกำลังเจริญตติยฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๔. บุคคลกำลังเจริญจตุตถฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๕. บุคคลกำลังเจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๖. บุคคลกำลังเจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๗. บุคคลกำลังเจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้ ๘. บุคคลกำลังเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้ โดยการข่มไว้ บุคคลชื่อว่าละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างนี้
ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการตัดขาด ๔ จำพวก
บุคคลละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างไร คือ ๑. บุคคลกำลังเจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมละกามอันเป็นเหตุไปสู่อบาย ได้โดยการตัดขาด ๒. บุคคลกำลังเจริญสกทาคามิมรรค ย่อมละกามอย่างหยาบได้โดยการตัดขาด ๓. บุคคลกำลังเจริญอนาคามิมรรค ย่อมละกามอย่างละเอียดได้โดยการตัดขาด ๔. บุคคลกำลังเจริญอรหัตตมรรค ย่อมละกามได้หมดสิ้น ไม่เหลือทุกสิ่ง ทุกประการ โดยการตัดขาด บุคคลชื่อว่าละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ผู้ใดละกามได้ คำว่า เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู อธิบายว่า งู เรียกว่า สัปปะ งูชื่อว่าสัปปะ เพราะมีความหมายอย่างไร งูชื่อว่าสัปปะ เพราะเลื้อยไป ชื่อว่าภุชคะ เพราะเลื้อยไป ด้วยขนด ชื่อว่าอุรคะ เพราะไปด้วยอก ชื่อว่าปันนคะ เพราะมุดหัวไป ชื่อว่าสิรีสปะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

เพราะนอนพาดหัวบนขนด ชื่อว่าพิลาสยะ เพราะนอนในรู ชื่อว่าคุหาสยะ เพราะ นอนในถ้ำ ชื่อว่าทาฐาวุธะ เพราะมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ชื่อว่าโฆรวิสะ เพราะมีพิษร้ายแรง ชื่อว่าทุชิวหา เพราะมีลิ้น ๒ แฉก ชื่อว่าทิรสัญญู เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ๒ แฉก บุรุษ ผู้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเดินหลบ หลีก เลี่ยง เบี่ยงหนีหัวงู ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงหลบ หลีก เลี่ยง เบี่ยงหนี กามทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู คำว่า ผู้นั้น ในคำว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก ได้แก่ ผู้ละกามได้ ตัณหาตรัสเรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยังสัตว์ ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความ หวังในบุตร ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบบ่อยๆ ธรรมชาติที่กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่อารมณ์ดีๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑- รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา @เชิงอรรถ : @ ตัณหาในนิโรธ คือตัณหาที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๑- โยคะ๒- คันถะ๓- อุปาทาน๔- อาวรณ์๕- นิวรณ์๖- เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส๗- อนุสัย๘- ปริยุฏฐาน(กิเลสที่กลุ้มรุมจิต) ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหา ดุจตาข่าย ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) อกุศลมูลคือโลภะ คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมาย อย่างไร ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่า วิสัตติกา เพราะขยายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะ สะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีราก เป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้ บริโภคสิ่งมีพิษ อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป คือ ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต @เชิงอรรถ : @ โอฆะ คือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕) @ โยคะ คือสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕) @ คันถะ ดูรายละเอียดข้อ ๙๒/๒๘๖ @ อุปาทาน คือ ความยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน @ความยึดมั่นในทิฏฐิ (๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น @วาทะของตน (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕) @ อาวรณ์ คือสภาวะที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙) @ นิวรณ์ คือสภาวะที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง (ดูความหมายข้อ ๕/๑๗) @ อุปกิเลส คือสภาวะที่ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัว มี ๑๖ อย่าง (ดูรายละเอียดข้อ ๕/๑๗) @ อนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มี ๗ คือ (๑) กามราคะ ความกำหนัดในกาม @(๒) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) ทิฏฐิ ความเห็นผิด (๔) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๕) มานะ @ความถือตัว (๖) ภวราคะ ความกำหนัดในภพ (๗) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ๑- รูปธาตุ๒- อรูปธาตุ๓- กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ๔- จตุโวการภพ๕- ปัญจโวการภพ๖- อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก(โลกคือ ขันธ์ ๕) ธาตุโลก(โลกคือธาตุ ๑๘) อายตนโลก(โลกคืออายตนะ ๑๒) คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต ๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรง ข้ามกับสติ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒ @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒ @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒ @ เอกโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยรูปขันธ์ ๑ หรือภพที่มีขันธ์ ๑ ได้แก่ อสัญญาภพ @ จตุโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยอรูปขันธ์ ๔ หรือภพที่มีขันธ์ ๔ ได้แก่ อรูปภพ @ ปัญจโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ หรือภพที่มีขันธ์ ๕ ปัญจโวการภพนี้เป็นกามภพด้วย @เป็นเอกเทศแห่งรูปภพด้วย (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ (มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ) ๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ ๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ ๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ ๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว ๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา ๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา ๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม) ๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับ(กิเลสและความทุกข์) คือนิพพาน สติ คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้ ความจำได้ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์(สติที่เป็นใหญ่) สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์(สติที่เป็นองค์แห่งการ ตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค(สติที่เป็นทางเอก) นี้แหละ ตรัสเรียกว่าสติ บุคคลผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้ว ด้วยสตินี้ ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าผู้มีสติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก อธิบายว่า ผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก รวม ความว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก [๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) นรชนใดปรารถนาเนืองๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก คำว่า ไร่นา ในคำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน ได้แก่ นาข้าวสาลี นาข้าว ไร่ถั่วเขียว ไร่ถั่วราชมาส นาข้าวเหนียว นาข้าวละมาน ไร่งา คำว่า ที่ดิน ได้แก่ ที่ปลูกเรือน ที่สร้างยุ้งฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่ คำว่า เงิน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ ตรัสเรียกว่า เงิน รวมความว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน คำว่า โค ม้า ทาส บุรุษ มีอธิบายดังนี้ โคทั้งหลายตรัสเรียกว่า โค สัตว์ทั้งหลายมีปศุสัตว์เป็นต้นตรัสเรียกว่า ม้า คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ ๑. ทาสที่เกิดภายใน(ทาสในเรือนเบี้ย) ๒. ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์(ทาสสินไถ่) ๓. ผู้สมัครเป็นทาสเอง ๔. เชลยที่ตกเป็นทาส (สมจริงดังที่วิธูรบัณฑิตโพธิสัตว์กล่าวไว้ว่า) คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิด บางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ บางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเอง บางพวกตกเป็นเชลยจึงยอมเป็นทาส๑- @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๘/๑๔๔๕/๒๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า บุรุษ ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ ๑. ลูกจ้าง ๒. กรรมกร ๓. พวกอยู่อาศัย รวมความว่า โค ม้า ทาส บุรุษ คำว่า สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก มีอธิบายดังนี้ หญิงที่มีผู้คุ้มครอง ตรัสเรียกว่า สตรี คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ ๑. พวกพ้องโดยความเป็นญาติ ๒. พวกพ้องโดยสืบตระกูล ๓. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนมนต์ ๔. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนศิลปวิทยา คำว่า กามเป็นอันมาก อธิบายว่า กามหลายอย่าง กามหลายอย่างเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าชอบใจ รวมความว่า สตรี พวกพ้อง หรือ กามเป็นอันมาก คำว่า ใด ในคำว่า นรชนใดปรารถนาเนืองๆ อธิบายว่า ผู้ใด ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้เข้าถึงฐานะอย่างใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม คำว่า นรชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ คำว่า ปรารถนาเนืองๆ ได้แก่ ปรารถนา ปรารถนาเสมอๆ ปรารถนาทั่วไป ปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป ในวัตถุกามเพราะกิเลสกาม รวมความว่า นรชนใดปรารถนา เนืองๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนใดปรารถนาเนืองๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

[๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น คำว่า อันไม่มีกำลัง ในคำว่า กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อธิบายว่า กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ อ่อนกำลัง มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม ต่ำ น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น รวมความว่า กิเลสทั้งหลายอัน ไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ ย่อมไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้นผู้ไม่มีกำลัง อ่อนกำลัง มีกำลังน้อย มี เรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม ต่ำ น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย รวมความว่า กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
คำว่า อันตรายทั้งหลาย ในคำว่า อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ อันตรายที่ปรากฏ คืออะไร คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ๑- ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร @เชิงอรรถ : @ มองคร่อ คือโรคหลอดลมโป่งพองทำให้ผอมแห้ง (ขุ.ม.อ. ๕/๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิด จากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่ เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ พากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ อันตรายที่ไม่ปรากฏ คืออะไร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้า ในคุณธรรม คือความพอใจในกาม) พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าใน คุณธรรม คือความคิดปองร้าย) ถีนมิทธนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม คือความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม คือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) วิจิกิจฉานิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม คือความลังเลสงสัย) ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) มายา(ความหลอกลวง) สาเถยยะ(ความโอ้อ้วด) ถัมภะ(ความหัวดื้อ) สารัมภะ(ความแข่งดี) มานะ(ความถือตัว) อติมานะ(ความดูหมิ่น) มทะ(ความ มัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวาย ทุกอย่าง ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขาร๑- ทุกประเภท เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ คำว่า อันตรายทั้งหลาย อธิบายว่า ชื่อว่าอันตราย เพราะมีความหมาย อย่างไร ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ @เชิงอรรถ : @ อกุสลาภิสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำของบุคคลในกรรมที่ชั่ว เป็นอกุศลกรรม ได้แก่ @อกุศลเจตนา (ขุ.ม.อ. ๕/๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศล ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม อินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความหมั่นเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความหมั่นเจริญอิทธิบาท ๔ ความหมั่นเจริญอินทรีย์ ๕ ความหมั่นเจริญพละ ๕ ความหมั่นเจริญโพชฌงค์ ๗ ความหมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์๑- ๘ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างนี้ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัยป่า ย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่ นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) (๒) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) (๓) สัมมาวาจา(เจรจา @ชอบ) (๔) สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) (๕) สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) (๖) สัมมาวายามะ(พยายามชอบ) @(๗) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) (๘) สัมมาสมาธิ(ตั้งสติมั่นชอบ) (ม.มู. ๑๒/๑๓๕/๙๔-๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลส ที่ฟุ้งขึ้น’ ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง ... เพราะจมูกได้กลิ่น ... เพราะลิ้นลิ้มรส ... เพราะกายได้รับสัมผัส ... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุ นั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้งขึ้น ท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’ ภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย”๑- ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ใน อัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น ข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน ๒. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน ๓. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน @เชิงอรรถ : @ สํ.สฬา. ๑๘/๑๕๑/๑๒๖-๑๒๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตร ภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”๑- (พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า) โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น๒- ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๔-๘๕ @ ขุ.อิติ. ๒๕/๘๘/๓๐๕, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๓-๒๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความ ทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่ เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ๒. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่ เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ๓. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่ เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม เกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก” (พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า) โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑- ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ ความไม่ยินดีกุศลธรรม ความยินดีกามคุณซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้ บาปวิตก๒- ในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น๓- ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๕, ขุ.อิติ. ๒๕/๕๐/๒๗๒, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔ @ บาปวิตก คือความตรึกเกี่ยวกับเรื่องบาป ความคิดในเรื่องบาป @ สํ.ส. ๑๕/๒๓๗/๒๕๐, ขุ.สุ. ๒๕/๒๗๔/๓๘๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น ได้แก่ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้า ครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น รวมความว่า อันตราย ทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น คำว่า นั้น ในคำว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป อธิบายว่า เพราะอันตรายนั้นๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์ จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตาม ชราทุกข์... พยาธิทุกข์... มรณทุกข์... ทุกข์คือความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ... ทุกข์เนื่องจากการ เกิดในนรก... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน... ทุกข์เนื่องจากการเกิดใน เปตวิสัย... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์... ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการอยู่ในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์... ทุกข์ที่สืบเนื่อง มาจากผู้เกิด... ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายาม ของตนเอง... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น... ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ... ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร... ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน... โรคทางตา โรคทางหู โรค ทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรค เรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บ ป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิด จากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวด ปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์ เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ทุกข์เพราะ พี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย ทุกข์เพราะความพินาศ ของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค ทุกข์ เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น รวมความว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว อธิบายว่า เปรียบเหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว คือ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้าตามรอยรั่วนั้นๆ ได้แก่ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้า ด้านหัวเรือบ้าง ด้านท้ายเรือบ้าง ด้านท้องเรือบ้าง ด้านข้างเรือบ้าง ฉันใด เพราะ อันตรายนั้นๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์... ทุกข์เพราะ ทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น เหมือนกันฉันนั้น รวมความว่า เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น [๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้ ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะ๑- ได้ เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น สัตว์เกิดเมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ คือ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย @เชิงอรรถ : @ โอฆะ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต ๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่ามีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง ... สัตว์เกิดนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ๑- รวมความว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ คำว่า ละกามทั้งหลายได้ อธิบายว่า คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม คำว่า ละกามทั้งหลายได้ อธิบายว่า พึงละกามได้โดยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) โดยการข่มไว้ (๒) โดยการตัดขาด บุคคลพึงละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างไร คือ บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก เพราะให้ความยินดีเล็กน้อย จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไป แก่คนส่วนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้ เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้ ลุกลาม จึงละกามได้โดยการข่มไว้ ... บุคคลกำลังเจริญเนวสัญญานาสัญญายตน- สมาบัติ จึงละกามได้โดยการข่มไว้ บุคคลชื่อว่าพึงละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างนี้๒- ... บุคคลชื่อว่าพึงละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ละกามทั้งหลายได้ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒-๑๓ @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๗-๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า สัตว์เกิดกำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ ไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งพยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ พึงข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) ภโวฆะ(ห้วงน้ำ คือภพ) ทิฏโฐฆะ(ห้วงน้ำคือทิฏฐิ) อวิชโชฆะ(ห้วงน้ำคืออวิชชา)ได้ รวมความว่า ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้ คำว่า เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น อธิบายว่า เปรียบเหมือน บุคคลวิด ตัก ทิ้งน้ำในเรือที่ทำให้เรือบรรทุกหนัก แล้วพึงไปถึงฝั่งได้รวดเร็วด้วยเรือ ที่เบา โดยไม่ยากนัก ฉันใด สัตว์เกิดกำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมด สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ ก็จะพึงไปถึงฝั่งได้รวดเร็ว โดยไม่ยากนัก ฉันนั้นเหมือนกัน อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท คำว่า พึงไปถึงฝั่ง ได้แก่ พึงถึงฝั่ง พึงถูกต้องฝั่ง พึงทำให้แจ้งฝั่งได้ คำว่า ถึงฝั่งได้ อธิบายว่า ผู้ใดประสงค์จะไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้ ผู้ใด กำลังไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้ ผู้ใดไปถึงฝั่งแล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พราหมณ์ ผู้ข้าม ได้แล้ว ถึงฝั่งแล้ว ยืนอยู่บนบก นี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นถึงฝั่งได้ ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญ ภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วยความ รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการละกิเลส ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญอริยมรรค ๔ ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้งนิโรธ ถึงฝั่งได้ ด้วยการเข้าสมาบัติ๑-@เชิงอรรถ : @ สมาบัติ ๘ ประกอบด้วย รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

พระอรหันต์นั้นถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยศีล ถึงความชำนาญ บรรลุ บารมีในอริยสมาธิ ถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยปัญญา ถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยวิมุตติ พระอรหันต์นั้นถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงหลีกที่เร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุ ที่ดับ พระอรหันต์นั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกล ได้แล้ว ถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว ถึงจุดจบ(นิพพาน)แล้ว รักษาพรหมจรรย์ได้แล้ว ถึง ทิฏฐิอันสูงสุด๑- แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่กำเริบแล้ว ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว ท่านกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แล้ว ละ ธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งได้แล้ว พระอรหันต์นั้นถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้แล้ว ถมคูคือกรรมได้แล้ว ถอนเสา ระเนียดคือตัณหาได้แล้ว ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ปลดธงคือมานะลงเสียแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโยคกิเลสแล้ว ละองค์ ๕ (แห่งนิวรณ์)ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมเครื่องรักษาอย่างเอก(คือสติ) มี อปัสเสนธรรม๒- ๔ อย่าง มีปัจเจกสัจจะ๓- อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาอันสละได้ โดยชอบ ไม่บกพร่อง มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับได้แล้ว มีจิตหลุด พ้นดีแล้ว มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดม @เชิงอรรถ : @ ทิฏฐิอันสูงสุด หมายถึงสัมมาทิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๖/๘๒) @ อปัสเสนธรรม คือธรรมดุจพนักพิง หรือธรรมที่พึ่งอาศัย มี ๔ อย่าง คือ (๑) สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ ของ @อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ เช่น ปัจจัย ๔ (๒) สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้น เช่น @คนพาลหรือสัตว์ร้าย (๓) สงฺขาเยกํ วิโนเทติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทา เช่น กามวิตก @(๔) สงฺขาเยกํ ปชหติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วละเสีย (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ที.ปา.อ. ๓๐๘/๒๐๔, @ขุ.ม.อ. ๖/๘๖) @ ปัจเจกสัจจะ หมายถึงทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังยึดถือ เช่น ถือว่าทรรศนะนี้เท่านั้นจริง ทรรศนะนี้ @เท่านั้นจริง (ขุ.ม.อ. ๖/๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๑. กามสุตตนิทเทส

บุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงการบรรลุปรมัตถธรรมแล้ว พระอรหันต์นั้น มิต้องก่อผลกรรม มิต้องกำจัด กำจัดได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องละกิเลส มิต้องถือมั่น ละได้แล้วดำรง ตนอยู่ มิต้องเย็บ(ด้วยตัณหา) มิต้องยก(ตนด้วยมานะ) เย็บเรียบร้อยแล้วดำรงตนอยู่ มิต้องดับ(ไฟคือกิเลส) มิต้องก่อ ดับได้แล้วดำรงตนอยู่ ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้เพราะ ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ ... ด้วยสมาธิขันธ์ ... ด้วยปัญญาขันธ์ ... ด้วยวิมุตติขันธ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ ดำรงตนอยู่ แทงตลอดสัจจะแล้ว ดำรงตนอยู่โดยการก้าวล่วงตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ดำรงตน อยู่โดยการดับไฟคือกิเลส ดำรงตนอยู่โดยไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ดำรงตนอยู่โดย การสมาทานธรรมขั้นสุดยอด ดำรงตนอยู่โดยการเสพวิมุตติ ดำรงตนอยู่ด้วยเมตตา อันบริสุทธิ์ ... ด้วยกรุณา ... ด้วยมุทิตาอันบริสุทธิ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยอุเบกขา อันบริสุทธิ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ เพราะไม่มีตัณหาทิฏฐิและมานะ ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนอยู่โดย ความเป็นผู้สันโดษ ดำรงตนอยู่ในขันธ์สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในธาตุสุดท้าย ดำรงตน อยู่ในอายตนะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในคติสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในการถือกำเนิดสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในปฏิสนธิสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในสงสาร สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในประชุม แห่งขันธ์ขั้นสุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย เป็นผู้ไกลจากข้าศึก (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก๑- รวมความว่า เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้ ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสุตตนิทเทสที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.จู. ๓๐/๒๘/๙๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑-๒๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=29&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=1&Z=486                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=29&item=1&items=29              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=29&item=1&items=29              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :