ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
ว่าด้วยพญาวานร
(พระศาสดาทรงประกาศเนื้อความนี้ว่า) [๑๗๘] ได้มีพระราชาแห่งชนชาวกาสี ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ในกรุงพาราณสี แวดล้อมด้วยมิตรและอำมาตย์ ได้เสด็จไปยังมิคาชินอุทยาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)

[๑๗๙] ณ ที่นั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์เป็นโรคเรื้อน ขาวพราวเป็นจุดๆ และกลากเกลื้อน มีเนื้อหลุดออกจากปากแผลเช่นกับดอกทองกวาว มีร่างกายผ่ายผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น [๑๘๐] ครั้นทอดพระเนตรเห็นคนตกยาก ถึงความลำบากน่าสงสารยิ่งนัก พระราชาทรงหวาดหวั่นพระหฤทัย จึงตรัสถามว่า เจ้าเป็นยักษ์ประเภทไหน [๑๘๑] มือและเท้าของเจ้าก็ด่าง ศีรษะยิ่งด่างกว่านั้น เนื้อตัวของเจ้าก็ด่างพร้อย และมากไปด้วยกลากเกลื้อน [๑๘๒] หลังของเจ้าเป็นปุ่มเป็นปมเหมือนกับเถาวัลย์ที่ขดกลม อวัยวะของเจ้าก็เหมือนกับเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เรายังไม่เคยเห็นอะไรอื่นเป็นเช่นนี้ [๑๘๓] เจ้ามีเท้าหงิกงอ น่าหวาดเสียว มีร่างกายผ่ายผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูหิวกระหาย อดโซ เจ้ามาจากที่ไหน และจะไปไหน [๑๘๔] เจ้ามีรูปร่างอัปลักษณ์ ดูน่าเกลียด ผิวพรรณก็ทราม ดูน่ากลัว มารดาบิดาผู้ให้กำเนิดของเจ้าคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นเจ้าเลย [๑๘๕] ในชาติปางก่อนเจ้าได้ทำกรรมอะไรไว้ ได้ฆ่าคนที่ไม่ควรฆ่าหรือ หรือเพราะทำกรรมอันโหดร้ายทารุณอย่างใดไว้ เจ้าจึงประสบทุกข์อย่างนี้ (ต่อแต่นั้นไป พราหมณ์จึงกล่าวว่า) [๑๘๖] เชิญสดับเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักกราบทูล ให้พระองค์ทรงทราบตามอย่างคนฉลาด เพราะบัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้สรรเสริญคนพูดความจริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)

[๑๘๗] เมื่อข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียวเที่ยวแสวงหาโค ได้หลงล่วงเลยเข้าไปในป่าเปลี่ยวที่แห้งแล้งกันดาร เงียบสงัด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแห่งช้างนานาชนิด [๑๘๘] ข้าพระพุทธเจ้าได้หลงทางเข้าไปในป่าทึบ ซึ่งเป็นที่สัญจรไปมาแห่งเนื้อร้าย มีความหิวกระหาย ได้ท่องเที่ยวไปในป่านั้นตลอด ๗ วัน [๑๘๙] ณ ที่ป่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นต้นมะพลับต้นหนึ่ง ซึ่งอยู่หมิ่นเหม่ มีกิ่งทอดตรงไปยังปากเหว มีผลดก ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะกิน [๑๙๐] ข้าพระพุทธเจ้ากินผลที่ลมพัดหล่น ข้าพระพุทธเจ้าพอใจผลมะพลับเหล่านั้นมาก แต่ยังไม่อิ่ม จึงปีนขึ้นไปบนต้นด้วยคิดว่า จักกินให้สบายบนต้นนั้น [๑๙๑] ข้าพระพุทธเจ้ากินผลหนึ่งแล้วปรารถนาผลที่ ๒ ต่อไป แต่นั้นกิ่งมันได้หักเหมือนถูกขวานตัด [๑๙๒] ข้าพระพุทธเจ้านั้นพร้อมทั้งกิ่งไม้ มีเท้าชี้ฟ้า ศีรษะปักลงตกไปในซอกเขา ซึ่งไม่มีที่จะยึดเหนี่ยว [๑๙๓] ก็เพราะน้ำลึก ข้าพระพุทธเจ้าจึงหยั่งไม่ถึง นอนทอดอาลัยอยู่ในซอกเขานั้น ไม่น้อยกว่า ๑๐ ราตรี [๑๙๔] ต่อมา วานรตัวหนึ่งมีหางคล้ายหางโค ท่องเที่ยวไปมาตามซอกเขาเป็นประจำ ไต่ไปตามกิ่งไม้กัดกินผลไม้อยู่ ได้มาถึงสถานที่นั้น [๑๙๕] มันเห็นข้าพระพุทธเจ้ามีร่างกายผอมเหลือง ได้มีความการุญแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถามไถ่ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านชื่ออะไร ทำไมจึงมาทนทุกข์อยู่ที่นี่อย่างนี้ [๑๙๖] เป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ จงแนะนำตัวให้ข้าพเจ้าทราบด้วย ข้าพระพุทธเจ้าได้ประนมอัญชลีแล้วกล่าวแก่มันอย่างนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)

[๑๙๗] ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ประสบความพินาศ ข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะไปจากที่นี่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอบอกให้ท่านทราบ ขอท่านจงมีความเจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วย [๑๙๘] วานรผู้กล้าหาญเที่ยวไปหาก้อนศิลาที่มีน้ำหนักที่ภูเขา ผูกเถาวัลย์ที่ก้อนศิลาแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า [๑๙๙] มาเถิด มาขึ้นเกาะหลังข้าพเจ้า ท่านจงใช้แขนทั้ง ๒ ข้างกอดคอข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าจะใช้กำลังช่วยท่านขึ้นไปจากซอกเขา [๒๐๐] ข้าพระพุทธเจ้าสดับคำนั้นแล้ว จึงขึ้นเกาะหลังพญาวานรผู้มีสิริ เป็นปราชญ์ตนนั้น แล้วใช้แขนทั้ง ๒ กอดคอมันไว้ [๒๐๑] พญาวานรผู้มีเดช มีกำลังตนนั้น มีความลำบาก กระโดดพาข้าพระพุทธเจ้าขึ้นจากซอกเขานั้นด้วยความยาก [๒๐๒] ครั้นนำข้าพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้ว พญาวานรผู้เป็นบัณฑิต กล้าหาญ ได้กล่าวคำนี้ว่า เพื่อนรัก ท่านโปรดรักษาความปลอดภัยให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจักหลับสักครู่หนึ่ง [๒๐๓] สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า และเสือดาวพึงเบียดเบียนข้าพเจ้าผู้หลับไป ท่านเห็นพวกมันจงห้ามกันไว้ด้วย [๒๐๔] พญาวานรนั้นครั้นให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ป้องกันแล้ว จึงหลับไปครู่หนึ่ง ครั้งนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากลับได้ความคิดเห็นชั่วช้า โดยไม่ทันคิดให้รอบคอบว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)

[๒๐๕] วานรนี้ก็เป็นอาหารของพวกมนุษย์ เช่นเดียวกับเนื้ออื่นๆ ในป่าเหมือนกัน ถ้ากระไร เราหิวพึงฆ่าวานรนี้กิน [๒๐๖] อนึ่ง เราบริโภคอิ่มแล้วจักถือเอาเนื้อเป็นเสบียงเดินทาง จักข้ามทางกันดาร และเราจักมีเสบียงเดินทาง [๒๐๗] ทันใดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงหยิบก้อนหินแล้วทุ่มลงไป ยังกระหม่อมวานร แต่การประหารของข้าพระพุทธเจ้า ผู้มีร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะอดอาหารจึงมีกำลังด้อยไป [๒๐๘] ก็พญาวานรนั้นทะลึ่งขึ้นโดยเร็วเพราะกำลังก้อนหินที่ทุ่มลงไป มีตัวอาบไปด้วยเลือด ร้องไห้ มองดูข้าพระพุทธเจ้าด้วยดวงตา ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำตา พลางกล่าวว่า [๒๐๙] ท่านอย่าทำข้าพเจ้าเลย ขอท่านจงมีความเจริญ ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันไม่สมควรเช่นนี้ อนึ่ง ท่านได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาว ควรจะห้ามปรามคนเหล่าอื่น [๒๑๐] ท่านคนผู้กระทำกรรมที่คนอื่นทำได้ยากนัก น่าอนาถจริงหนอ เราช่วยท่านขึ้นจากเหวลึกที่ขรุขระยากที่จะขึ้นได้เช่นนี้ [๒๑๑] ท่านเป็นดุจเรานำมาจากปรโลก ยังสำคัญเราว่าเป็นคนควรประทุษร้าย ท่านนั้นเป็นคนชั่ว มีสันดานชั่วช้า จึงคิดแต่เหตุที่ชั่วนั้น [๒๑๒] โอ ท่านผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ขอท่านอย่าประสบเวทนาอันเผ็ดร้อนเลย ขอบาปธรรมอย่าได้ฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่เลย [๒๑๓] แน่ะท่านผู้มีบาปกรรม ไม่สำรวม เราไม่ไว้ใจท่าน มาเถิด ท่านจงตามหลังเราไปใกล้ๆ พอเห็นกัน [๒๑๔] ท่านพ้นแล้วจากเงื้อมมือของสัตว์ร้าย ถึงถิ่นมนุษย์แล้ว นี่แนะท่านผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม นั่นหนทาง ท่านจงไปทางนั้นตามสบายเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)

[๒๑๕] ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว วานรผู้มีปกติท่องเที่ยวไปตามขุนเขาล้างศีรษะที่เปื้อนเลือด เช็ดน้ำตาแล้วกระโดดจากที่นั้นขึ้นไปยังภูเขา [๒๑๖] ข้าพระพุทธเจ้านั้นถูกวานรนั้นแช่งด่า ถูกความกระวนกระวายเบียดเบียน มีกายเร่าร้อน จึงลงไปยังสายน้ำเพื่อจะดื่ม [๒๑๗] ห้วงน้ำทั้งปวงปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้า เหมือนเดือดพล่านเพราะไฟ เจือด้วยโลหิตเหมือนช้ำเลือดช้ำหนอง [๒๑๘] หยาดน้ำมีประมาณเพียงใดตกต้องกายของข้าพระพุทธเจ้า หัวฝีมีขนาดเท่าผลมะตูมครึ่งผลก็ผุดขึ้นมีประมาณเพียงนั้น [๒๑๙] ฝีเหล่านั้นแตกแล้ว น้ำเลือดและน้ำหนอง ไหลออกจากร่างกายของข้าพระพุทธเจ้าประดุจซากศพ ข้าพระพุทธเจ้าจะไปทางใด จะเป็นหมู่บ้านและนิคมทั้งหลายก็ตาม [๒๒๐] พวกมนุษย์ทั้งหญิงทั้งชายถูกกลิ่นเหม็นรบกวน ต่างถือท่อนไม้ ห้ามกันข้าพระพุทธเจ้าว่า เจ้าอย่ามาทางนี้ [๒๒๑] บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเสวยกรรมของตน ที่ตนเองกระทำไว้ไม่ดีในปางก่อน ข้าพระพุทธเจ้ามีทุกข์เช่นนี้ อยู่อย่างนี้ตลอด ๗ ปี [๒๒๒] เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายเท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอพระองค์อย่าทรงเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรเลย เพราะคนประทุษร้ายมิตรจัดเป็นคนเลว [๒๒๓] บุคคลใดในโลกนี้ย่อมประทุษร้ายมิตร บุคคลนั้นย่อมเป็นโรคเรื้อน โรคกลาก เกลื้อน คนผู้มีปกติประทุษร้ายมิตรเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก
มหากปิชาดกที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๖๖-๕๗๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=516              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=9618&Z=9702                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2370              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2370&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=5582              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2370&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=5582                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja516/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :