ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)

๑๖. ติงสตินิบาต
๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)
ว่าด้วยดาบสผู้มีความพอใจอะไร
(เทพธิดาผู้รักษาแม่น้ำกล่าวกับกิงฉันทดาบสว่า) [๑] ท่านพราหมณ์ ท่านพอใจ๑- อะไร ประสงค์อะไร ปรารถนาอะไร แสวงหาอะไรอยู่ และเพราะต้องการอะไร จึงมาอยู่แต่ผู้เดียวในฤดูร้อน (ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๒] หม้อน้ำใบใหญ่มีทรวดทรงงดงามฉันใด มะม่วงสุกที่อุดมไปด้วยสี กลิ่น และรสก็อุปไมยได้ฉันนั้น [๓] มะม่วงนั้นลอยมาตามกระแสน้ำท่ามกลางสายน้ำใส อาตมาเห็นเข้าจึงยื่นมือไปเก็บมัน นำมาเก็บไว้ในโรงบูชาไฟ [๔] แต่นั้นอาตมาเองวางมะม่วงไว้บนใบตอง ใช้มีดฝานแล้วฉัน มะม่วงนั้นระงับความหิวกระหายของอาตมาแล้ว [๕] อาตมานั้นปราศจากความกระวนกระวาย ผลมะม่วงหมดไป ก็ได้แต่ข่มความทุกข์ ยังไม่ประสบผลไม้อย่างอื่นชนิดใดชนิดหนึ่งเลย [๖] มะม่วงสุกผลใดมีรสอร่อย มีรสเป็นเลิศ น่าพอใจ ลอยมาในห้วงมหรรณพ อาตมาเก็บขึ้นมาจากทะเล มะม่วงสุกผลนั้นทำอาตมาให้ซูบผอม จักนำความตายมาให้อาตมาแน่นอน @เชิงอรรถ : @ พอใจ หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.ชา.อ. ๗/๑/๑๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)

[๗] อาตมาเฝ้าประจำอยู่เพราะเหตุใด เหตุนั้นทั้งหมด อาตมาได้บอกแก่ท่านแล้ว อาตมานั่งเฝ้าอยู่เฉพาะแม่น้ำสายที่น่ารื่นรมย์ แม่น้ำสายนี้กว้างใหญ่ไพศาล ขวักไขว่ไปด้วยปลาโลมาตัวใหญ่ๆ [๘] แม่นางผู้ไม่แอบแฝงตน แม่นางนั้นแหละจงบอกแก่อาตมาเถิด แม่นางผู้มีเรือนร่างสง่างาม นางเป็นใครกัน และมาที่นี่เพราะเหตุอะไร [๙] เทพนารีเหล่าใดผู้มีเรือนร่างประดุจแผ่นทองคำที่ขัดสีดีแล้ว หรือประดุจนางพยัคฆ์ที่เกิดอยู่ตามซอกเขา เป็นปริจาริกาของเทพ มีอยู่ในโลก [๑๐] และสตรีรูปงามเหล่าใดมีอยู่ในมนุษยโลก บรรดาเทพนารี คนธรรพ์ และหญิงมนุษย์ สตรีเหล่านั้นไม่มีรูปร่างเช่นกับแม่นาง แม่นางผู้มีลำขาอ่อนกลมกลึงประดุจแท่งทอง อาตมาถามแล้ว ขอแม่นางจงบอกนาม และเผ่าพันธุ์แก่อาตมาด้วยเถิด (เทพธิดากล่าวว่า) [๑๑] ท่านพราหมณ์ ท่านนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะ แม่น้ำโกสิกีอันน่ารื่นรมย์สายใด ข้าพเจ้าอยู่ที่วิมานมีกระแสน้ำเชี่ยว ซึ่งเป็นห้วงน้ำใหญ่สายนั้น [๑๒] ลำธารจากภูเขาจำนวนมาก ดื่นดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์ ไหลรวมกัน ตรงมาหาข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)

[๑๓] อนึ่ง ธารน้ำจากแนวป่า ก่อตัวเป็นห้วงวารีสีเขียว และธารน้ำอันเป็นที่ปลื้มใจแห่งพวกนาคเป็นจำนวนมาก ไหลมาท่วมข้าพเจ้าด้วยห้วงวารี [๑๔] สายน้ำเหล่านั้นย่อมพัดพาผลไม้หลายชนิด คือ มะม่วง ผลหว้า ขนุนสำปะลอ กระทุ่ม ผลตาล และมะเดื่อมาเนืองๆ [๑๕] ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ฝั่งแม่น้ำทั้ง ๒ หล่นลงไปในน้ำ ผลไม้นั้นย่อมลอยไปตามอำนาจกระแสน้ำโดยไม่ต้องสงสัย [๑๖] พระองค์ผู้จอมชนเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก ขอพระองค์จงสดับคำของข้าพเจ้า พระองค์ทราบอย่างนี้แล้ว อย่าทรงพอพระทัยความเกาะเกี่ยว๑- ทรงปฏิเสธเสียเถิด [๑๗] พระราชฤๅษีผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความเป็นบัณฑิตของพระองค์เลย ซึ่งพระองค์กำลังทรงพระเจริญวัย แต่กลับหวังความตาย [๑๘] พระบิดา คนธรรพ์ พร้อมทั้งเทวดา ย่อมทราบความที่พระองค์ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา อนึ่ง ฤๅษีทั้งหลายเหล่าใดในโลก ผู้สำรวมตน มีตบะ ผู้เริ่มตั้งความเพียร มียศ ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ย่อมทราบโดยไม่ต้องสงสัย (ต่อแต่นั้น ดาบสได้กล่าวว่า) [๑๙] บาปย่อมไม่เจริญแก่นรชนผู้รู้ เพราะรู้ธรรมทั้งปวง รู้ความแตกสลาย และรู้การจุติแห่งชีวิต ถ้าเขาไม่จงใจจะฆ่าผู้อื่น @เชิงอรรถ : @ หมายถึงเกาะเกี่ยวด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ชา.อ. ๗/๑๖/๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)

[๒๐] แม่นางผู้ที่หมู่ฤๅษีรู้จักกันดี เธอเป็นคนที่ผู้ลอยบาปรู้แจ้งชัดว่า เป็นผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก แม่นางผู้มีความงาม เธอย่อมแสวงหาบาปกรรม เพราะเจรจาถ้อยคำที่ไม่ประเสริฐ [๒๑] แม่นางผู้มีสะโพกงามผึ่งผาย ถ้าอาตมาจักตายที่ริมฝั่งน้ำของเธอ ชื่อเสียงอันเลวทรามจักมาถึงเธอโดยไม่ต้องสงสัย เมื่ออาตมาล่วงลับไปแล้ว [๒๒] เพราะเหตุนั้นแล แม่นางผู้มีเรือนร่างอันสวยงาม เธอจงระวังบาปกรรม เมื่ออาตมาตายไปแล้ว ขอชนทั้งปวงอย่าได้กล่าวติเตียนเธอในภายหลังเลย (เทพธิดาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า) [๒๓] เหตุนั้นข้าพเจ้าได้ทราบแล้ว ขอพระองค์ทรงอดกลั้นสิ่งที่อดกลั้นได้ยากเถิด ข้าพเจ้ายอมถวายตนและผลมะม่วงนั้นแก่พระองค์ ผู้ทรงละกามคุณที่ละได้ยาก ดำรงสันติและธรรม๑- ไว้อย่างมั่นคง [๒๔] ผู้ใดละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต้นได้ แต่ยังติดอยู่ในสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องปลาย ประพฤติอธรรมอยู่นั่นเทียว บาปย่อมเจริญแก่ผู้นั้น [๒๕] เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพระองค์ ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อยโดยส่วนเดียวเถิด ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปที่สวนมะม่วงอันร่มเย็น ขอพระองค์ปราศจากความขวนขวายอยู่เถิด @เชิงอรรถ : @ สันติ หมายถึงศีลกล่าวคือความสงบจากความทุศีล ธรรม หมายถึงสุจริตธรรม (ขุ.ชา.อ. ๗/๒๓/๑๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)

[๒๖] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงข่มอริราชศัตรู สวนมะม่วงนั้นเซ็งแซ่ไปด้วยหมู่นกที่มัวเมาด้วยรสดอกไม้ ทิพยสกุณปักษี คือ นกกระเรียน นกยูง นกเขา และนกสาลิกาก็มีอยู่ในสวนมะม่วงนี้ และในสวนนี้ยังมีฝูงหงส์ส่งเสียงร้องระงม นกดุเหว่าเร่าร้องกึกก้องปลุกเหล่าสัตว์ให้ตื่นอยู่ [๒๗] ณ สวนมะม่วงนี้ ต้นมะม่วงทั้งหลายมีปลายกิ่งโน้มลง ด้วยพวงผลดกดื่นเช่นรวงข้าวสาลี มีทั้งต้นคำ ต้นสน ต้นกระทุ่ม และผลตาลสุกห้อยย้อยอยู่เรียงราย (ดาบสเห็นเปรตเสวยทิพยสมบัติในเวลาดวงอาทิตย์ตก จึงได้กล่าวว่า) [๒๘] เธอผู้ประดับมาลา โพกภูษา ประดับอาภรณ์ สวมใส่กำไลมือกำไลแขน มีร่างกายฟุ้งไปด้วยจุรณแก่นจันทน์ ถูกบำเรอตลอดคืน ส่วนกลางวันเสวยเวทนา [๒๙] เธอมีหญิง ๑๖,๐๐๐ นางเป็นนางบำเรอ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ยังไม่เคยมี น่าขนพองสยองเกล้า [๓๐] ในภพก่อนเธอได้ทำบาปกรรมอะไรที่นำทุกข์มาให้ตน เธอทำกรรมอะไรไว้ในมนุษย์ทั้งหลาย จึงต้องมากัดกินเนื้อหลังของตน (เปรตจำดาบสนั้นได้ จึงกล่าวว่า) [๓๑] ข้าพระองค์ได้เล่าเรียนพระเวท หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย ได้ประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเหล่าอื่นตลอดกาลนาน [๓๒] ผู้หากินบนหลังคนอื่นต้องควักเนื้อหลังของตนกิน เหมือนข้าพระองค์วันนี้ต้องกัดกินเนื้อหลังของตนเอง
กิงฉันทชาดกที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๔๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๓๘-๕๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=511              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=9163&Z=9231                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2285              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2285&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=3628              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2285&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=3628                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja511/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :