ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)

๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)
ว่าด้วยพระราชาพระนามว่าภัลลาติยะ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า) [๑๘๖] ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าภัลลาติยะ ท้าวเธอทรงละรัฐสีมา ได้เสด็จประพาสป่า ล่าเนื้อ เสด็จถึงภูเขาคันธมาทน์วรคีรีซึ่งมีบุปผชาตินานาพันธุ์บานสะพรั่ง เป็นแดนที่พวกกินนรสัญจรไปมา [๑๘๗] ท้าวเธอทรงประสงค์จะตรัสถาม จึงทรงห้ามฝูงสุนัข ทรงเก็บลูกธนูและแล่ง เสด็จเข้าไปใกล้สถานที่ที่กินนร ๒ ผัวเมียอยู่ [๑๘๘] ล่วงฤดูเหมันต์ไปแล้ว ที่ริมฝั่งแม่น้ำเหมวดีแห่งนี้ ไยเจ้าทั้ง ๒ ยังปรึกษากันเนืองๆ อยู่เล่า เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ ในมนุษยโลกเขารู้จักเจ้าทั้ง ๒ ว่าอย่างไร (ฝ่ายกินนรีได้ฟังพระดำรัสจึงสนทนากับพระราชาว่า) [๑๘๙] พวกเราเป็นมฤคมีร่างกายคล้ายมนุษย์ ท่องเที่ยวไปตามแม่น้ำทั้งหลาย คือ มัลลคีรีนที ปัณฑรกนที ตรีกูฏนที ซึ่งมีน้ำเย็น พ่อพราน ชาวโลกเขารู้จักพวกเราว่า กินนร (ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสว่า) [๑๙๐] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส พากันคร่ำครวญอยู่ สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันร้องไห้ไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)

[๑๙๑] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส พากันคร่ำครวญอยู่ สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันเพ้อรำพันไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้ [๑๙๒] เจ้าทั้ง ๒ เหมือนคนมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส พากันคร่ำครวญอยู่ สวมกอดกันเหมือนคนรักกับคนรัก เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ เหตุไร เจ้าทั้ง ๒ จึงพากันเศร้าโศกไม่สร่างซาอยู่ในป่านี้ (กินนรีกราบทูลว่า) [๑๙๓] พ่อพราน เราทั้ง ๒ พลัดพรากกันอยู่หนึ่งราตรี ไม่อยากจะพลัดพรากจากกัน เมื่อระลึกถึงกันและกัน จึงพากันเดือดร้อนเศร้าโศกอยู่ตลอดราตรีหนึ่งนั้น ราตรีนั้นจักไม่มีอีก (พระราชาตรัสถามว่า) [๑๙๔] เจ้าทั้ง ๒ คิดถึงทรัพย์ที่พินาศไปแล้วหรือ หรือคิดถึงบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว จึงพากันเดือดร้อนตลอดทั้งราตรีหนึ่งนั้น เราขอถามเจ้าทั้ง ๒ ผู้มีร่างกายคล้ายมนุษย์ เพราะเหตุไร เจ้าจึงแยกกันอยู่ (กินนรีกราบทูลว่า) [๑๙๕] แม่น้ำสายนี้ใดมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ปกคลุมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ไหลผ่านภูผาหิน ท่านเห็นอยู่ แม่น้ำสายนั้น สามีที่รักของดิฉันสำคัญดิฉันว่า จะติดตามไปจึงได้ข้ามไปในฤดูฝน [๑๙๖] ส่วนดิฉันมัวเลือกเก็บดอกปรู ดอกลำดวน ดอกมะลิซ้อน และดอกคัดเค้า ด้วยหวังว่า สามีที่รักของดิฉันจักได้ประดับดอกไม้ และดิฉันจักประดับดอกไม้ นอนแนบข้างสามีนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)

[๑๙๗] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกบานไม่รู้โรย ดอกราชพฤกษ์ ดอกแคฝอย และดอกย่านทราย ด้วยหวังว่า สามีที่รักของดิฉันจักได้ประดับดอกไม้ และดิฉันจักประดับดอกไม้นอนแนบข้างสามีนั้น [๑๙๘] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละที่กำลังเบ่งบาน แล้วร้อยเป็นพวงมาลัย ด้วยหวังว่า สามีที่รักของดิฉันจักสวมพวงมาลัย และดิฉันจักสวมพวงมาลัยนอนแนบข้างสามีนั้น [๑๙๙] อนึ่ง ดิฉันมัวเลือกเก็บดอกสาละที่กำลังเบ่งบาน แล้วร้อยเป็นเครื่องรองรับ ด้วยหวังว่า ดอกไม้ที่ร้อยแล้วนี่แหละ จักเป็นเครื่องปูลาดสำหรับเราทั้ง ๒ ณ สถานที่ที่เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันตลอดคืนในวันนี้ [๒๐๐] อนึ่ง ดิฉันมัวเลินเล่อบดไม้กฤษณาและไม้จันทน์ที่ศิลา ด้วยหวังว่า สามีที่รักของดิฉันจักใช้ชโลมกาย และดิฉันก็จักใช้ชโลมกายนอนแนบข้างสามี [๒๐๑] ครั้งนั้น น้ำซึ่งมีกระแสเชี่ยวกรากได้ไหลบ่ามา พัดพาเอาดอกสาละ ดอกสน และดอกกรรณิการ์ไป โดยครู่เดียวนั้นน้ำก็เต็มฝั่ง จึงเป็นการยากยิ่งที่ดิฉันจะข้ามแม่น้ำสายนี้ไปได้ [๒๐๒] คราวนั้น เราทั้ง ๒ ยืนมองกันและกันอยู่ที่ริมฝั่งทั้ง ๒ บางคราวก็ร้องไห้ บางคราวก็ร่าเริงยินดี ราตรีนั้นได้ผ่านไปอย่างยากเย็นสำหรับเราทั้ง ๒ [๒๐๓] พ่อพราน พอดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าตรู่ แม่น้ำแห้ง เราทั้ง ๒ จึงข้ามไปได้ สวมกอดกันและกัน ทั้งร้องไห้ ทั้งร่าเริงยินดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๘. ภัลลาติยชาดก (๕๐๔)

[๒๐๔] พ่อพราน ๖๙๗ ปี เมื่อก่อน เราทั้ง ๒ พลัดพรากกันอยู่ในที่นี้ ข้าแต่พระภูมิบาล ชีวิตนี้เพียง ๑๐๐ ปีเท่านั้น ใครหนอจะพึงเว้นจากภรรยาที่น่ารักใคร่ อยู่ในที่นี้ได้เล่า (พระราชาตรัสถามว่า) [๒๐๕] ก็อายุของพวกเจ้ามีประมาณเท่าไรหนอ เพื่อนรัก หากพวกเจ้ารู้ก็จงบอก เจ้าทั้ง ๒ อย่าได้หวั่นไหว จงบอกอายุแก่เรา ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากวุฑฒบุคคล หรือจากตำรา (กินนรีกราบทูลว่า) [๒๐๖] พ่อพราน ก็อายุของพวกเรามีประมาณ ๑,๐๐๐ ปี โรคอันร้ายแรงก็ไม่มีในระหว่าง ความทุกข์ก็มีน้อย มีแต่ความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เราทั้ง ๒ ยังรักใคร่กันไม่จืดจางจะต้องพากันละชีวิตไป (พระศาสดาทรงประกาศความข้อนี้ว่า) [๒๐๗] ก็พระเจ้าภัลลาติยะทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลาย ทรงดำริว่า ชีวิตเป็นของน้อยนัก จึงเสด็จกลับ ไม่เสด็จไปล่าเนื้อ ทรงบำเพ็ญทาน เสวยโภคะ (พระศาสดาครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว ทรงโอวาทพระเจ้าโกศลกับพระนาง มัลลิกาเทวีว่า) [๒๐๘] ก็มหาบพิตรทั้ง ๒ ทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลาย จงทรงเบิกบานพระทัยเถิด อย่าทรงทะเลาะกันเลย ความผิดเพราะการกระทำของตน อย่าทำให้มหาบพิตรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อน เหมือนความผิดเพราะการกระทำของตน ทำให้กินนรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อนตลอดราตรีหนึ่งเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

[๒๐๙] อนึ่ง พระองค์ทั้ง ๒ ทรงสดับถ้อยคำของอมนุษย์ทั้งหลายแล้ว จงทรงเบิกบานพระทัยเถิด อย่าทรงวิวาทกันเลย ความผิดเพราะการกระทำของตน อย่าทำให้มหาบพิตรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อน เหมือนความผิดเพราะการกระทำของตน ทำให้กินนรทั้ง ๒ ต้องเดือดร้อนตลอดราตรีหนึ่งเลย (พระนางมัลลิกาเทวีสดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว เสด็จลุกจาก อาสนะ ประคองอัญชลี ทรงชมเชยพระทศพลว่า) [๒๑๐] หม่อมฉันสดับพระธรรมเทศนามีประการต่างๆ มีใจชื่นชมยินดี พระดำรัสต่างๆ ของพระองค์ประกอบไปด้วยประโยชน์ พระองค์เมื่อทรงเปล่งพระวาจาออกมา ย่อมบรรเทาความกระวนกระวายใจของหม่อมฉันเสียได้ พระมหาสมณะผู้นำความสุขมาให้หม่อมฉัน ขอพระองค์ทรงเจริญพระชนม์ชีพยั่งยืนนานเถิด
ภัลลาติยชาดกที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๐๒-๕๐๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=504              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=8534&Z=8612                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2153              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2153&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1769              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2153&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1769                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja504/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :