ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)
ว่าด้วยปัญหาความมีสิริกับมีปัญญา
(พระราชาตรัสในสิริมันตปัญหาว่า) [๘๓] ท่านอาจารย์เสนกะ เราขอถามเนื้อความนี้กับท่าน ในคน ๒ ประเภทนี้ คือ คนที่มีปัญญาแต่ปราศจากสิริ หรือคนที่มียศแต่ปราศจากปัญญา ผู้ฉลาดกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ (เสนกบัณฑิตกราบทูลอย่างฉับพลันว่า) [๘๔] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน คนทั้งหลายเป็นนักปราชญ์ก็ตาม เป็นคนโง่ก็ตาม มีศิลปะก็ตาม ไม่มีศิลปะก็ตาม แม้มีชาติสกุลสูง ก็เป็นคนรับใช้ของคนมียศถึงจะมีชาติสกุลต่ำ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ (พระราชาตรัสถามมโหสธบัณฑิตซึ่งนั่งเป็นคนใหม่ในหมู่บัณฑิตว่า) [๘๕] เราขอถามท่านบ้าง พ่อมโหสธบัณฑิต ผู้มีปัญญาไม่ทราม ผู้เห็นธรรมโดยสิ้นเชิง ในคน ๒ ประเภทนี้ คือ คนโง่แต่มียศ หรือบัณฑิตแต่มีโภคทรัพย์น้อย ผู้ฉลาดกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ (พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า) [๘๖] คนโง่ทำแต่กรรมชั่ว สำคัญอิสริยยศนี้เท่านั้นว่าประเสริฐ คนโง่เห็นแต่โลกนี้ ไม่เห็นโลกหน้า จึงยึดถือเอาแต่โทษในโลกทั้ง ๒ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ที่มียศหาประเสริฐไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)

(เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านแล้วว่า) [๘๗] ศิลปะนี้ก็ดี เผ่าพันธุ์ก็ดี ส่วนแห่งร่างกายก็ดี หาจัดแจงโภคะได้ไม่ โปรดทอดพระเนตรโควินทะผู้ใบ้เพราะน้ำลาย ซึ่งไดัรับความสุขเพราะคนมีสิริย่อมคบหาเขา ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ (มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า) [๘๘] คนมีปัญญาน้อยได้รับความสุขย่อมมัวเมา แม้ถูกความทุกข์กระทบย่อมหลง ถูกความสุขและความทุกข์จรมากระทบเข้า ย่อมหวั่นไหวเหมือนปลาในฤดูร้อน ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (เสนกบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า) [๘๙] ต้นไม้ในป่าที่มีผลดก ฝูงนกย่อมบินโฉบไปมาอยู่รอบต้นฉันใด คนผู้มั่งคั่งมีทรัพย์ มีโภคะก็ฉันนั้น คนเป็นจำนวนมากย่อมคบหาเพราะเหตุแห่งประโยชน์ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ (มโหสธบัณฑิตกราบทูลคัดค้านว่า) [๙๐] คนโง่ถึงจะมีกำลังก็หายังประโยชน์ให้สำเร็จได้ไม่ นายนิรยบาลทั้งหลายย่อมฉุดคร่าคนมีปัญญาทราม ผู้คร่ำครวญถึงทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยกรรมอันโหดร้าย ไปสู่นรกที่มีเวทนาอันแรงกล้า ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)

(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๑] แม่น้ำบางสายย่อมไหลลงสู่แม่น้ำคงคา แม่น้ำเหล่านั้นทุกสายย่อมละทิ้งชื่อและโคตร(ของตน) แม่น้ำคงคาเมื่อไหลลงสู่ท้องทะเลก็ไม่ปรากฏชื่อฉันใด แม้คนมีปัญญาในโลกก็ฉันนั้น ย่อมไม่ปรากฏความสำเร็จ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ (มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๒] ทะเลใหญ่หลวงที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ซึ่งแม่น้ำน้อยใหญ่หลั่งไหลไป นับไม่ถ้วนอยู่ตลอดกาลทั้งปวง มีกำลังโอฬารอยู่เป็นนิตย์ มหาสมุทรย่อมไม่ล่วงเลยฝั่งไปได้ฉันใด [๙๓] แม้ถ้อยคำของคนโง่ก็ฉันนั้น ในกาลบางครั้งบางคราว ถึงคนมีสิริก็ไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาไปได้ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๔] ถึงแม้คนผู้ไม่สำรวมแต่มียศ ดำรงอยู่ในฐานะผู้วินิจฉัย ย่อมกล่าวเนื้อความแก่คนเหล่าอื่น ถ้อยคำของเขานั้นนั่นแลย่อมงอกงามในท่ามกลางแห่งหมู่ญาติ เพราะคนมีสิริยังคนเหล่าอื่นให้ทำตามถ้อยคำของตนนั้นได้ คนมีปัญญาหาทำได้ไม่ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)

(มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๕] เพราะเหตุแห่งคนอื่นบ้าง หรือเพราะเหตุแห่งตนบ้าง คนโง่มีปัญญาน้อยย่อมพูดเท็จได้ เขาย่อมถูกนินทาในท่ามกลางสภา แม้ในภายหลังเขาย่อมไปสู่ทุคติ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๖] คนมีปัญญาดังแผ่นดินแต่ไม่มีที่อยู่อาศัย มีทรัพย์น้อย ยากจน แม้หากจะกล่าวข้อความ ถ้อยคำของเขานั้นหางอกงามในท่ามกลางหมู่ญาติไม่ ธรรมดาสิริไม่มีแก่คนมีปัญญา ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ (มโหสธบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๗] เพราะเหตุแห่งคนอื่นบ้าง เพราะเหตุแห่งตนบ้าง คนมีปัญญาดังแผ่นดินจะไม่พูดเหลาะแหละ เขามีคนบูชาแล้วในท่ามกลางสภา แม้ในภายหลังเขาก็ไปสู่สุคติ ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า) [๙๘] ช้าง โค ม้า ต่างหูแก้วมณี และหญิงทั้งหลายเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นเครื่องอุปโภคของคนมั่งคั่ง คนผู้ไม่มั่งคั่งก็เป็นเครื่องอุปโภคของคนมั่งคั่ง ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๔. สิรีมันตชาดก (๕๐๐)

(มโหสธบัณฑิตยกเหตุผลอย่างอื่นมาว่า) [๙๙] สิริย่อมละคนโง่ผู้ไม่จัดแจงการงาน มีความคิดเลวทราม มีปัญญาทรามไปเหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้ง ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (ต่อมาเสนกบัณฑิตคิดจะทำลายวาทะของมโหสธบัณฑิต จึงกล่าวว่า) [๑๐๐] ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๕ คนนี่แหละเป็นบัณฑิต ทั้งหมดล้วนต้องประคองอัญชลีบำรุงพระองค์ พระองค์ทรงเป็นอิสระครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งภูต ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลว คนมีสิริเท่านั้นประเสริฐ (พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตเมื่อจะทำลายวาทะของเสนกบัณฑิต จึงกราบทูล พระราชาว่า) [๑๐๑] คนโง่มียศ เมื่อมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้น ก็เป็นทาสคนมีปัญญา บัณฑิตย่อมจัดการเหตุที่ละเอียดได้ คนโง่ย่อมถึงความงวยงงในเหตุนั้น ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่ถึงมียศก็หาประเสริฐไม่ (พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตสรรเสริญปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปว่า) [๑๐๒] แท้จริง ปัญญาเท่านั้นสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ สิริเป็นที่ต้องการของคนโง่ผู้ยินดีในโภคะ ส่วนญาณของท่านผู้รู้ทั้งหลายชั่งไม่ได้ คนมีสิริล่วงเลยคนมีปัญญาไปไม่ได้ไม่ว่าในกาลไหนๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๕. โรหณมิคชาดก (๕๐๑)

(พระราชาสดับดังนั้นทรงยินดีต่อการแก้ปัญหาของพระโพธิสัตว์มโหสธ จึงตรัสว่า) [๑๐๓] พ่อมโหสธบัณฑิตผู้เห็นธรรมโดยสิ้นเชิง เราได้ถามปัญหาใดกับเจ้า เจ้าก็ได้แก้ปัญหานั้นแก่เรา เราพอใจการแก้ปัญหา จึงให้โคแก่เจ้า ๑,๐๐๐ ตัว โคอุสภะและช้าง รถเทียมม้าอาชาไนยเหล่านี้ ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบล
สิรีมันตชาดกที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๘๔-๔๘๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=500              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=8244&Z=8337                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2084              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2084&items=20              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1053              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2084&items=20              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1053                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja500/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :