ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

๒๐. สัฏฐินิบาต
๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๔๙] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา เป็นผู้มีจิตมั่นคงด้วยดีภายใน จึงทำลายเสนามัจจุราชได้ [๑๑๕๐] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา จะกำจัดเสนามัจจุราชได้ เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ [๑๑๕๑] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีภายใน พึงทำลายเสนามัจจุราชได้ [๑๑๕๒] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา จะกำจัดเสนามัจจุราชได้ เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

(พระเถระหวังจะสอนหญิงแพศยา จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๕๓] น่าติ กระท่อมคือเรือนร่างสำเร็จด้วยโครงกระดูก ฉาบทาด้วยเนื้อ รึงรัดไปด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เธอยังมัวยึดถือเรือนร่างที่สัตว์อื่นหมายปองว่าเป็นของเรา [๑๑๕๔] ในร่างกายซึ่งเหมือนถุงเต็มด้วยคูถ มีหนังหุ้มห่อไว้ของเธอผู้เปรียบเหมือนนางปีศาจ มีฝีที่อก มีช่อง ๙ ช่อง หลั่งของไม่สะอาดออกอยู่เป็นนิตย์ [๑๑๕๕] เรือนร่างของเธอที่เนื่องมาแต่การปฏิบัติโดยชอบ มีช่อง ๙ ช่อง ส่งกลิ่นเหม็น ท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเว้นเสียห่างไกล เหมือนคนรักความสะอาดเห็นคูถแล้วก็หลีกเสียห่างไกล [๑๑๕๖] หากชนพึงรู้ถึงเรือนร่างของเธอเหมือนที่ฉันรู้ ก็จะพึงเว้นเสียห่างไกล เหมือนคนรักความสะอาด เห็นหลุมคูถในฤดูฝนก็หลีกเสียห่างไกล (หญิงแพศยาเกิดความสลดใจ จึงได้กล่าวตอบท่านด้วยภาษิตนี้ว่า) [๑๑๕๗] ข้าแต่ท่านสมณะผู้มีความเพียรมาก เรื่องนี้เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด แต่ผู้คนบางพวกยังจมอยู่ในร่างกายนี้ เหมือนโคแก่จมอยู่ในปลัก (พระเถระกล่าวตอบหญิงแพศยาด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๕๘] ผู้ใดประสงค์จะใช้ขมิ้น หรือแม้เครื่องย้อมอย่างอื่น ย้อมอากาศ การกระทำของผู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดความลำบากใจเท่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๑๕๙] จิตของฉันนี้เสมอด้วยอากาศ ตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์ภายใน เธอผู้มีความคิดเลวทราม เธออย่ามาหวังคนอย่างฉัน เหมือนตัวแมลงเม่าชอบเล่นกองไฟ (พระเถระเมื่อจะกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๖๐] เชิญท่านดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น [๑๑๖๑] เชิญท่านดูรูปที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูทำให้วิจิตร ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมกับผ้า [๑๑๖๒] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๑๖๓] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๑๖๔] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ๆ ที่งดงาม ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๑๖๕] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ เนื้อไม่มาติดบ่วง เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่ [๑๑๖๖] เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กัดบ่วงของนายพรานเนื้อขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป ในเมื่อนายพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

(พระเถระปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๖๗] เวลานั้นก็เกิดเหตุน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า เมื่อพระสารีบุตรผู้เพียบพร้อมด้วยอาการทุกอย่างนิพพานแล้ว [๑๑๖๘] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีสภาวะเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับไปแห่งสังขารเหล่านั้นได้โดยสิ้นเชิง เป็นความสุข [๑๑๖๙] ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยเป็นสภาวะแปรปรวน และโดยมิใช่ตัวตน ย่อมรู้แจ้งได้อย่างสุขุมลุ่มลึก เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนเนื้อทราย [๑๑๗๐] อนึ่ง ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณา เห็นสังขารทั้งหลาย โดยเป็นสภาวะแปรปรวน และโดยมิใช่ตัวตน รู้แจ้งได้อย่างละเอียด เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนทราย [๑๑๗๑] ภิกษุผู้มีสติพยายามละกามราคะ เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อโอมัฏฐะ และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้นเสีย [๑๑๗๒] ภิกษุผู้มีสติพยายามละภวราคะ๑- เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้น [๑๑๗๓] เราอันพระผู้มีพระภาคผู้อบรมพระองค์เอง ทรงไว้ซึ่งพระวรกายมีในภพสุดท้าย ทรงเตือนแล้ว ได้ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า @เชิงอรรถ : @ ความกำหนัด(ยินดี)ในภพ (ขุ.เถร.อ. ๑๑๗๒/๕๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๑๗๔] บุคคลไม่พึงบรรลุนิพพาน อันเป็นเหตุปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้ เพราะความเพียรย่อหย่อน ทั้งบรรลุไม่ได้ด้วยกำลังความเพียรนิดหน่อย [๑๑๗๕] ภิกษุนี้ยังหนุ่มและเป็นคนประเสริฐ ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร ยังทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่ [๑๑๗๖] ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระพุทธองค์ซึ่งคงที่ หาผู้เสมอเหมือนมิได้อยู่ที่ซอกเขาเข้าฌาน เหมือนสายฟ้าแลบส่องลอดเข้าไป ตามช่องภูเขาเวภาระ และภูเขาปัณฑวะ [๑๑๗๗] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัดเป็นมุนี เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ อันท้าวมหาพรหมพร้อมทั้งเทวดากราบไหว้ (พระเถระ เมื่อจะอนุเคราะห์พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ หลานชายพระสารีบุตรเถระ จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๗๘] พราหมณ์ เชิญท่านไหว้พระมหากัสสปะผู้สงบระงับ งดเว้นจากการกระทำความชั่ว อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัด เป็นมุนี เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ [๑๑๗๙] อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเป็นพราหมณ์ สืบเชื้อสายพราหมณ์ติดต่อกันมาทั้งหมดถึง ๑๐๐ ชาติ เพียบพร้อมด้วยความรู้ [๑๑๘๐] ถึงแม้จะพึงเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ จบไตรเพท การเรียนสำเร็จวิชาเป็นต้นนั้นของผู้นั้น ย่อมมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งบุญที่ได้ไหว้พระมหากัสสปะนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๑๘๑] ในเวลาเช้า ภิกษุเช่นใดเข้าวิโมกขสมาบัติ ๘ ทั้งอนุโลมและ ปฏิโลม ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว จึงเที่ยวไปบิณฑบาต [๑๑๘๒] พราหมณ์ ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้น อย่าได้ทำลายตนเสียเลย เชิญทำใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่ รีบประนมมือไหว้เสีย ศีรษะของท่านอย่าได้แตก (พระเถระเห็นพระโปฏฐิละปฏิบัติ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๘๓] พระโปฏฐิละนี้ไม่เห็นพระสัทธรรม ถูกสังสารวัฏหุ้มห่อไว้ เดินทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน [๑๑๘๔] พระโปฏฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภสักการะ ดังตัวหนอนที่ติดคูถ จึงเป็นคนเปล่า (พระเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๘๕] เชิญท่านดู ท่านพระสารีบุตรมีคุณน่าดู น่าชม หลุดพ้นได้ด้วยวิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหานทั้ง ๒ ส่วน มีจิตตั้งมั่นดีภายใน [๑๑๘๖] ผู้ปราศจากลูกศรคือราคะเป็นต้น สิ้นสังโยชน์ บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุเสียได้ ควรแก่ทักษิณา เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของหมู่มนุษย์ (พระสารีบุตรเถระเมื่อจะสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานเถระ จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๑๘๗] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้ และพรหมปุโรหิตทั้งหมดก็พา กันมายืนประนมมือนอบน้อมพระโมคคัลลานะ พร้อมกับกล่าวว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๑๘๘] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา [๑๑๘๙] พระโมคคัลลานะผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว เกิดโดยอริยชาติ ครอบงำความตายเสียได้ ไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ [๑๑๙๐] พระโมคคัลลานะรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว เหมือนท้าวมหาพรหมเป็นผู้ชำนาญในคุณคือฤทธิ์ ในจุติและอุบัติของเหล่าสัตว์ ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายได้ด้วยทิพยจักษุในกาลอันสมควร (พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อจะประกาศคุณของตนได้กล่าวภาษิตว่า) [๑๑๙๑] พระสารีบุตรเท่านั้นเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูง ทั้งทางด้านปัญญา ศีล และอุปสมะ [๑๑๙๒] พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ เราเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่างๆ ทั้งเป็นผู้ชำนาญด้วยฤทธิ์ [๑๑๙๓] ภิกษุโมคคัลลานโคตรผู้ถึงความสำเร็จโดยความเป็นผู้ชำนาญ ในสมาธิและวิชชา เป็นปราชญ์ มีอินทรีย์มั่นคงในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อันตัณหาอาศัยไม่ได้ ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลสเสียได้อย่างเด็ดขาด เหมือนช้างทำลายปลอกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดเสีย [๑๑๙๔] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว [๑๑๙๕] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเราก็ได้บรรลุแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๑๙๖] นรกที่ทุสสิมาร๑- ได้ทำร้ายพระวิธุรอัครสาวก และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นไร [๑๑๙๗] คือ นรกที่มีขอเหล็กเป็นร้อย ทั้งให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะตนทั่วถึงหมด นรกที่ทุสสิมารได้ทำร้ายพระวิธุระองค์อัครสาวก และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นนี้ [๑๑๙๘] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้กรรมและผลกรรมนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ [๑๑๙๙] วิมานทั้งหลายที่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร อยู่ได้ตลอดกัป มีสีดังแก้วไพฑูรย์งดงาม แสงไฟสว่างดุจกองไฟที่ลุกโพลง ทั้งเพียบพร้อมด้วยรัศมี มีหมู่นางอัปสรจำนวนมาก มีผิวพรรณต่างกันฟ้อนรำอยู่ [๑๒๐๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้าจะต้องได้รับทุกข์ [๑๒๐๑] ภิกษุใดอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็เห็นอยู่ ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า [๑๒๐๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ @เชิงอรรถ : @ ทุสสิมาร คือมารผู้ชอบประทุษร้าย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา

[๑๒๐๓] ภิกษุใดมีพลังฤทธิ์กล้าแข็ง ได้ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วย ปลายนิ้วเท้า ทั้งทำเทพทั้งหลายให้สลดใจ [๑๒๐๔] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ [๑๒๐๕] ภิกษุนั้นใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาทว่า มหาบพิตร ท้าวเธอทรงทราบวิมุตติซึ่งเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างไหม ท้าวสักกเทวราชถูกถามปัญหา ได้ทรงพยากรณ์ตามแนวเทศนาที่ พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้น (พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๐๖] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้วิมุตติเป็นที่สิ้นตัณหานี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ [๑๒๐๗] ภิกษุใดยืนอยู่ที่สุธรรมสภาสอบถามท้าวมหาพรหมว่า ท่านผู้เจริญ แม้วันนี้ ท่านยังมีความเห็นอยู่อย่างเมื่อก่อน หรือท่านยังเห็นอยู่ว่ารัศมีของพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งสาวกพวยพุ่งรุ่งเรืองยิ่งนัก [๑๒๐๘] ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว ได้พยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นอย่างเมื่อก่อนแล้ว [๑๒๐๙] ข้าพเจ้าเห็นว่า รัศมีของพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งสาวกเป็นไปล่วงเลยรัศมีในพรหมโลก วันนี้ ข้าพเจ้านั้นละทิ้งคำพูดของพระเจ้า ผู้เห็นว่า เราเป็นผู้เที่ยง มีความยั่งยืน เสียได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ ว่า) [๑๒๑๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้ทิฏฐินี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ [๑๒๑๑] ภิกษุใดแสดงยอดขุนเขาสิเนรุให้ชนชาวชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป เห็นกันได้ด้วยวิโมกข์ [๑๒๑๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้วิโมกข์ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์ [๑๒๑๓] ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะไหม้คนพาล แต่คนพาลกระโดดเข้าไปหาไฟที่ลุกโพลง ให้ไหม้ตัวเอง ฉันใด [๑๒๑๔] มาร ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกันทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวก นั้นแล้ว ก็จะเผาตนเอง เหมือนคนพาลถูกไฟไหม้ [๑๒๑๕] มารทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวกนั้น จึงได้ประสบสิ่งมิใช่บุญ มารผู้ชั่วช้า หรือท่านเข้าใจว่า บาปไม่ให้ผลแก่เรา [๑๒๑๖] มารผู้มุ่งแต่ความตาย เมื่อท่านทำแต่บาปท่านก็ย่อมตายด้วย ความทุกข์สิ้นกาลนาน ท่านอย่าได้รังเกียจสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วมุ่งทำร้ายภิกษุทั้งหลายเลย [๑๒๑๗] พระมหาโมคคัลลานเถระได้คุกคามมารที่ป่าเภสกฬาวันดังนี้แล้ว เพราะเหตุนั้น มารนั้นเสียใจ จึงได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล
สัฏฐินิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น และในสัฏฐินิบาตนี้มี ๖๘ ภาษิต ฉะนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๒๘-๕๓๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=400              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=8478&Z=8642                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=400              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=400&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=12299              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=400&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=12299                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thag20.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :