ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๘. สัลลสูตร
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แก่อุบาสกคนหนึ่งผู้โศกเศร้าเพราะบุตรตาย ด้วยพระคาถาดังนี้) [๕๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีนิมิต๑- ใครๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์ [๕๘๑] วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี แม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา [๕๘๒] สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น [๕๘๓] ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ไม่มีนิมิต หมายถึงไม่มีกิริยาอาการบ่งบอกว่าจะตาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๘๐/๒๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๘. สัลลสูตร

[๕๘๔] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า [๕๘๕] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่ กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้ หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้ [๕๘๖] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่ รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตนๆ ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น [๕๘๗] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑- เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก [๕๘๘] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง ๒ นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ [๕๘๙] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่ จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง๒- [๕๙๐] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่ ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง @เชิงอรรถ : @ ข้อ ๕๘๒-๕๘๗ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙/๑๔๒-๑๔๗, ขุ.ชา (แปล) ๒๘/๑๑๙/๒๐๑ @ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๐/๓๖๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๘. สัลลสูตร

[๕๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่ ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์๑- [๕๙๒] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น [๕๙๓] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น [๕๙๔] อาการใดๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย อาการนั้นๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป๒- การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด [๕๙๕] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน [๕๙๖] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก ควรกำจัดความคร่ำครวญ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๖๙ @ หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป @และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’ ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๙๔/๒๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๙. วาเสฏฐสูตร

[๕๙๗] ธีรชนผู้มีปัญญา ฉลาดปราชญ์เปรื่อง ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป เหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลาม ฉะนั้น [๕๙๘] บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน ควรกำจัดความคร่ำครวญ ความทะยานอยาก และโทมนัสของตน ควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน [๕๙๙] บุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ถึงความสงบใจ ล่วงพ้นความเศร้าโศกได้ทั้งหมด ไม่มีความเศร้าโศก ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว
สัลลสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๔๑-๖๔๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=261              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=9205&Z=9255                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=380              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=380&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=6411              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=380&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=6411                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta8 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.08.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.08.irel.html https://suttacentral.net/snp3.8/en/mills https://suttacentral.net/snp3.8/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :