ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๗. เสลสูตร๑-
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปชนบท เสด็จถึงอาปณนิคมของชาวอังคุตตราปชนบท เกณิยชฎิลได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออก ผนวชจากศากยตระกูลกำลังเสด็จจาริกอยู่ในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จไปตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระ- โคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ @เชิงอรรถ : @ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๙๖-๓๙๙/๔๙๐-๕๐๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่น รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น เกณิยชฎิลผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาดังนี้ว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก” แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก” แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี เมื่อเกณิยชฎิลทราบอาการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งเข้าไปสู่อาศรมของตนแล้วเรียก พวกมิตร คนสนิท และญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้ง ให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร เช้าวันพรุ่งนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายสละแรงกายช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยเถิด” ชนเหล่านั้น รับคำแล้ว บางพวกขุดที่ทำเตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างถ้วยโถโอชาม บางพวก จัดหาน้ำใช้น้ำฉัน บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเอง ทีเดียว
เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทธะ
สมัยนั้น เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ที่ป่าอาปณนิคม เป็นผู้มีความรู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท และไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเลื่อมใสในเสลพราหมณ์มาก ขณะนั้น เสลพราหมณ์กำลังเดินพักผ่อนพร้อมกับมาณพ ๓๐๐ คนติดตามไปห่างๆ ผ่านไป ทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกกำลังขุดที่ทำเตา ฯลฯ บางพวกปู อาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเองทีเดียว ครั้นเห็นดังนั้น จึงกล่าวกับเกณิยชฎิลดังนี้ว่า “ท่านเกณิยะ จะมีพิธีอาวาหมงคล วิวาหมงคลหรือ พิธีบูชามหายัญจะปรากฏแก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ให้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้หรือ” เกณิยชฎิลบอกว่า “ข้าแต่ท่านเสละ อาวาหมงคล วิวาหมงคลไม่มีแก่ข้าพเจ้า ทั้งพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร พร้อมทั้งข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้เลย แต่พิธีมหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า เนื่องจากพระสมณโคดมศากยบุตรผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริก ไปในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

ตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระกิตติศัพท์อันงาม ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในเช้าวันพรุ่งนี้” เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ” เกณิยชฎิลตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ” เสลพราหมณ์ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ” เกณิยชฎิลก็ตอบย้ำว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ” ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “ว่าตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ในคัมภีร์มนตร์ของพวกเราระบุว่า ‘แม้แต่เสียงประกาศ คือคำว่า พุทธะ นี้ก็หา ได้ยากในโลก’ ซึ่งมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ย่อมมี คติ ๒ ประการเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรม พระราชอำนาจแผ่ไปทั่วปฐพีมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะข้าศึกทั้ง ภายในและภายนอก มีพระราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีพระรูป สง่างามสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถจะทำลายกองทัพข้าศึก พระองค์ทรงพิชิตชัยโดย คุณธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ ซึ่งมี สมุทรสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก” เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ขณะนี้ท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาขึ้นได้กล่าวกับ เสลพราหมณ์ดังนี้ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด” เมื่อได้ฟังดังนั้น เสลพราหมณ์พร้อมทั้งมาณพ ๓๐๐ คน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า ส่งเสียงดัง ค่อยๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่ ตามลำพังดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ- โคดม ขอพวกท่านอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน” เมื่อตักเตือนศิษย์อย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์พาศิษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พลางตรวจดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ในพระวรกายพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกาย ของพระผู้มีพระภาคเป็นส่วนมาก เว้นอยู่เพียง ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับ ในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่ เร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราเป็นส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง” ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เสลพราหมณ์ได้เห็น พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ สลับกันไปมา แล้วทรงย้ายกลับมาสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองสลับกัน แล้วจึง ทรงแผ่พระชิวหาปิดบริเวณพระนลาฏทั้งหมด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เสลพราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจริง หรือไม่ เราเคยฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ต่อๆ กันมา กล่าวสอนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดง พระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ อย่ากระนั้นเลย เราควร ชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถาที่เหมาะสม” เมื่อคิดได้ดังนั้น เสลพราหมณ์จึงสดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม เฉพาะพระพักตร์ว่า [๕๕๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์ มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด [๕๕๕] เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน [๕๕๖] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่ ฉะนั้น [๕๕๗] พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้ จะเป็นสมณะไปทำไม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

[๕๕๘] พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามชนะไพรี ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต [๕๕๙] ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์ มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด [๕๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ยังธรรมจักรที่ไม่มีใครๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้ [๕๖๑] (เสลพราหมณ์กราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้หมุนไปได้ [๕๖๒] ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้หมุนไปแล้วนี้ได้ [๕๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเราให้หมุนไปแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

[๕๖๔] พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ ได้ละธรรมที่ควรละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า [๕๖๕] พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนืองๆ เป็นโอกาสที่หาได้ยาก [๕๖๖] ผู้จะปรากฏเนืองๆ ในโลก ย่อมเป็นการหาได้ยาก พราหมณ์ เรานั้น เป็นพระพุทธเจ้า เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม [๕๖๗] เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ย่ำยีมารและเสนามารได้ ควบคุมอมิตร๑- ทั้งปวงไว้ในอำนาจ ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่ [๕๖๘] (เสลพราหมณ์กล่าวดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์ จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส เป็นมหาวีระได้ตรัสไว้ เหมือนพญาราชสีห์บรรลือสีหนาทอยู่ในป่า @เชิงอรรถ : @ อมิตร ในที่นี้หมายถึงมาร ๕ คือ (๑) กิเลสมาร(มารคือกิเลส) (๒) ขันธมาร(มารคือเบญจขันธ์) @(๓) อภิสังขารมาร(มารคืออภิสังขาร) (๔) เทวปุตตมาร(มารคือเทพบุตร) (๕) มัจจุมาร(มารคือความตาย) @(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๖๗/๒๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

[๕๖๙] ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส [๕๗๐] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้ [๕๗๑] (มาณพเหล่านั้นกล่าวดังนี้) หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้ แม้เราทั้งหลายก็จะบวช ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ [๕๗๒] พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์ [๕๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) เสละ พรหมจรรย์ เรากล่าวไว้ดีแล้ว ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล๑- เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่ @เชิงอรรถ : @ ข้อ ๕๕๔-๕๗๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๑๘-๘๓๗/๔๗๖-๔๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฝ่ายเกณิยชฎิล ครั้นคืนนั้นผ่านไป สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในอาศรม ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร และจีวร เสด็จไปยังอาศรมของเกณิยชฎิลแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จากนั้น เกณิยชฎิลได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ- พุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงวางพระหัตถ์ เกณิยชฎิลเลือกเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาดังนี้ [๕๗๔] การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย [๕๗๕] ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้วก็เสด็จ ลุกจากอาสนะจากไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๗. เสลสูตร

ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์ จำนวนหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า [๕๗๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้ จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น [๕๗๗] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้ ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย [๕๗๘] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้ ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑- @เชิงอรรถ : @ ดูข้อ ๕๕๑-๕๕๒ หน้า ๖๒๘-๖๒๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๘. สัลลสูตร

[๕๗๙] ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมือกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกมาเถิด ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาเถิด
เสลสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๓๐-๖๔๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=260              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=9007&Z=9204                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=373              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=373&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5919              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=373&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5919                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/snp3.7/en/mills-sujato https://suttacentral.net/snp3.7/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :