ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
ว่าด้วยโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
[๔๕] ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. พระราชาในโลกนี้ประทับอยู่กับพระมเหสี ภิกษุเข้าไปในที่นั้น พระมเหสี ทรงเห็นภิกษุนั้นแล้วทรงยิ้มแย้ม หรือภิกษุเห็นพระมเหสีแล้วยิ้มแย้ม พระราชาจะทรงสงสัยในอาการนั้นอย่างนี้ว่า “คนทั้ง ๒ นี้คงได้ทำ หรือ จักทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระ ราชวังชั้นในประการที่ ๑ ๒. พระราชาทรงมีพระราชกรณียกิจมาก เสด็จไปหาหญิงคนใดคนหนึ่งแล้ว ทรงระลึกไม่ได้ หญิงนั้นตั้งครรภ์กับพระองค์ พระราชาก็จะทรงสงสัยใน การตั้งครรภ์นั้นอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาใน พระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้ เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๒ ๓. รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งในพระราชวังชั้นในหายไป พระราชาก็จะทรง สงสัยในการที่รัตนะนั้นหายไปนั้นว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะ เข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้ น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๓ ๔. เรื่องลับภายในพระราชวังชั้นในแพร่งพรายออกมาภายนอก พระราชาก็ จะทรงสงสัยในเรื่องลับที่แพร่งพรายออกมาภายนอกนั้นอย่างนี้ว่า “เว้น บรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๙๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๕. อักโกสวรรค ๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร

น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวัง ชั้นในประการที่ ๔ ๕. ในพระราชวังชั้นใน บิดาปรารถนาจะฆ่าบุตร หรือบุตรปรารถนาจะฆ่าบิดา คนทั้ง ๒ นั้น ต่างก็จะสงสัยอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่น จะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของ บรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๕ ๖. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งต่ำไว้ในตำแหน่งสูง คนทั้งหลาย ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๖ ๗. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งสูงไว้ในตำแหน่งต่ำ คนทั้งหลาย ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๗ ๘. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลไม่สมควร คนทั้งหลายที่ไม่พอใจใน การส่งกองทัพไปนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลี กับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษใน การเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๘ ๙. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลสมควร รับสั่งให้กลับเสียในระหว่างทาง คนทั้งหลายที่ไม่พอใจในการให้กองทัพกลับเสียในระหว่างทางนั้น จะมี ความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะ เป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ประการที่ ๙ ๑๐. พระราชวังชั้นในเป็นที่คับคั่งไปด้วยช้าง คับคั่งไปด้วยม้า คับคั่งไปด้วยรถ มีรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ซึ่งเป็น สิ่งที่ไม่สมควรแก่บรรพชิต นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ประการที่ ๑๐ ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการนี้แล
ราชันเตปุรัปปเวสนสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๙๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๙๘-๙๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=24&siri=43              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=1956&Z=2005                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=45              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=45&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7805              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=45&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7805                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i041-e.php#sutta5 https://suttacentral.net/an10.45/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :