ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

๑๐. จุนทสูตร
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร
[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร๑- เขตกรุงปาวา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามว่า “จุนทะ เธอชอบใจความสะอาดของใคร” นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาว ปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติ ความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น” “จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือ น้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ‘มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านควรลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้า จับต้องแผ่นดิน ถ้า ไม่จับต้องแผ่นดิน ต้องจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด ต้องจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด ต้องบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟต้องประคองอัญชลีนอบน้อม ดวงอาทิตย์ ถ้าไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ ต้องลงน้ำวันละ ๓ ครั้ง’ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างนี้ ข้าพระองค์ชอบใจความ สะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น” “จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอ ไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนความสะอาดใน อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง” @เชิงอรรถ : @ กัมมารบุตร หมายถึงบุตรของช่างทอง (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๖/๓๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๑๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความสะอาดในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เป็นความสะอาดในอริยวินัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จุนทะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติ ธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้แต่สตรีที่บุรุษสวมด้วย พวงมาลัยหมายไว้ จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๒๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยงคนที่ สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่แตก แยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน ๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่ เป็นไปเพื่อสมาธิ ๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่ กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จุนทะ ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ ของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูก ทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’ ๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’ จุนทะ ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๒๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แลที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอน แต่เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ ได้เลย แม้จะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้ แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้ แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้ แม้จะประคองอัญชลี นอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ก็เป็นผู้ สะอาดไม่ได้ แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ไม่ลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ก็เป็น ผู้สะอาดไม่ได้อยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็น ธรรมไม่สะอาด และเป็นเหตุก่อให้เกิดความไม่สะอาด จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จึงปรากฏมี ทั้งนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น จุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง ความ สะอาดทางใจ ๓ อย่าง ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วย จิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วง ในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ใน ปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ใน ปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดย ที่สุดแม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๒๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้าง เป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ ความสามัคคี ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่ กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่ มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๒๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร

๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’ จุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่ เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่ นั่นเอง แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะ ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ ก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ไม่ลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็นธรรมสะอาด และเป็นเหตุก่อให้เกิดความสะอาด จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จึงปรากฏมีทั้ง เทวดาและมนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น’ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทกัมมารบุตรได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
จุนทสูตรที่ ๑๐ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๓๒๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=24&siri=163              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=6275&Z=6419                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=165              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=165&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8477              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=165&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8477                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i156-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an10/an10.176.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/10/an10-176.html https://suttacentral.net/an10.176/en/sujato https://suttacentral.net/an10.176/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :