ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. โคตมีวรรค
หมวดว่าด้วยพระนางปชาบดีโคตมี
๑. โคตมีสูตร๑-
ว่าด้วยพระนางปชาบดีโคตมีทูลขออุปสมบท
[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอประทานวโรกาส มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระ- ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย” แม้ครั้งที่ ๒ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็กราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรง ประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้า” พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย” แม้ครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็กราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส มาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรง ประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย” @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๒/๓๑๒-๓๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง ประกาศไว้” ทรงเป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ กันแสงอยู่ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป ครั้นพระผู้มีพระภาคประทัยอยู่ ณ เขตกรุงกบิลพัสดุ์ตามพระประสงค์แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี คราวนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงปลงพระเกศา ทรงนุ่งผ้ากาสายะ เสด็จไปทางกรุงเวสาลีพร้อมด้วยนางศากิยานีจำนวนมาก เสด็จเข้าไปยังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีโดยลำดับ เวลานั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระบาท ระบม พระวรกายเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนอง พระพักตร์ ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระบาทระบม พระวรกาย เปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืน กันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู จึงถามพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า “พระนางโคตมี เพราะเหตุไร พระองค์จึงมีพระบาทระบม พระวรกายเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู” พระนางมหาปชาบดีโคตมีตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตใน พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “พระนางโคตมี ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงรออยู่สักครู่ จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตใน พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้” ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางมหาปชาบดีโคตมีนี้ มีพระบาทระบม พระวรกาย เปรอะเปื้อนฝุ่นธุลี เป็นทุกข์ เสียพระทัย น้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ประทับยืน กันแสงอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ ขอ ประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย” แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอประทาน วโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต ทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ ทางที่ดีเราควรทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยอุบายบางอย่าง” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง ประกาศไว้ จะสามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตตผลได้หรือไม่” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามาตุคามออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล ฯลฯ หรืออรหัตตผลได้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมาตุจฉา ของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก เคยประคับประคองดูแลถวายเกษียรธาร เมื่อพระชนนีสวรรคต ขอประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม๑- ๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแลเป็นการอุปสมบท๒- ของเธอ คือ ๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม๓- แก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด จนตลอดชีวิต ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึง สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต ๓. ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่าง คือ ถามอุโบสถ และไปรับโอวาทจาก ภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต ๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถาน ๓ คือ ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต ๕. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรม ข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจน ตลอดชีวิต ๖. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายให้แก่นางสิกขมานา ที่ศึกษาธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใดๆ ธรรมข้อนี้ภิกษุณี พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต @เชิงอรรถ : @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๑๔๙/๓๒๒-๓๒๓, วิ.จู. (แปล) ๗/๔๐๓/๓๑๕-๓๑๙ @ อุปสมบท ในที่นี้หมายถึงทั้งการบรรพชาและอุปสมบท (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๓) @ การกราบไหว้ หมายถึงการไม่มีมานะ(ความถือตัว) ก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ การต้อนรับ หมาย @ถึงลุกจากที่นั่งแล้วลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลีกรรม หมายถึงประนมมือทั้ง ๑๐ นิ้วไหว้ การทำสามีจิกรรม @หมายถึงทำสามีจิกรรมอันสมควรมีการปูลาดอาสนะ และการพัดให้เป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วง ละเมิดจนตลอดชีวิต อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ การรับครุธรรมนั้นแล เป็นการอุปสมบทของเธอ” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ ประการนี้ในสำนักของพระ ผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมีถึงที่ประทับ แล้วกล่าวกับ พระนางมหาปชาบดีโคตมีดังนี้ว่า “พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม ๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์ คือ ๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด จนตลอดชีวิต ฯลฯ ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึง ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม ๘ ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์” พระนางมหาปชาบดีโคตมีตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ดิฉันก็จะรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือ ชายหนุ่มผู้ชอบแต่งกายเมื่อสรงน้ำดำเกล้าแล้ว ได้พวงดอกอุบล พวงดอกมะลิ หรือพวงดอกลำดวนแล้ว ก็ใช้มือทั้งสองประคองรับไว้เหนือศีรษะ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๑. โคตมีสูตร

ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว จะไม่ล่วงละเมิด จนตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้ามาตุคามจะไม่ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ พรหมจรรย์ก็จะดำรงอยู่ได้นาน สัทธรรม จะดำรงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรม- วินัยที่ตถาคตประกาศไว้ บัดนี้ พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน ทั้งสัทธรรมจะ ดำรงอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี”๑- ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน เปรียบเหมือนตระกูลหนึ่งที่มีสตรีมาก มีบุรุษน้อย จะถูกโจรปล้นทรัพย์ทำร้ายได้ง่าย ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน เปรียบเหมือนหนอนขยอก๒- ที่ลงในนาข้าวสาลีซึ่งอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้นาข้าวนั้น คงอยู่ได้ไม่นาน @เชิงอรรถ : @ ข้อความพระดำรัสนี้มีความหมายว่า ถ้าให้สตรีบวชโดยไม่ได้บัญญัติครุธรรมไว้ก่อน เวลาผ่านไป ๕๐๐ ปี @ก็จะไม่มีพระอรหันต์บรรลุปฏิสัมภิทา แต่เมื่อบัญญัติครุธรรมไว้ก่อนที่สตรีจะบวช ในระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปี @ก็ยังมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกอยู่ ผ่านไป @อีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระอนาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี ก็ยังมีพระสกทาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปี @ก็ยังมีพระโสดาบันอยู่ สรุปว่า ปฏิเวธสัทธรรมจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี แม้ปริยัตติสัทธรรมก็จะดำรงอยู่ได้ @๕,๐๐๐ ปี เพราะปริยัติกับปฏิเวธต่างเกื้อกูลกัน (วิ.อ. ๓/๔๐๓/๔๐๐-๔๐๗, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๕) @ หนอนขยอก ในที่นี้หมายถึงแมลงเจาะกลางลำต้นข้าวแล้วทำให้รวงข้าวที่ออกมาไม่มีน้ำนม @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๑/๒๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๓๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๒. โอวาทสูตร

ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน เปรียบเหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยซึ่งอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้ไร่อ้อยนั้นคงอยู่ได้ไม่นาน อานนท์ เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการไว้ เพื่อไม่ให้ภิกษุณีล่วงละเมิดจน ตลอดชีวิต เปรียบเหมือนคนกั้นทำนบที่สระใหญ่ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออก ฉะนั้น”
โคตมีสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๓๑-๓๓๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=124              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5753&Z=5887                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=141              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=141&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5859              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=141&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5859                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i141-e.php# https://suttacentral.net/an8.51/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :