ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๓. อิณสูตร
ว่าด้วยความเป็นหนี้
[๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความยากจนเป็นทุกข์ของ กามโภคีบุคคล๑- ในโลก” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นกู้หนี้แล้ว ย่อมใช้ดอกเบี้ย แม้การใช้ ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตาม กำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การตามทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี- บุคคลในโลก” @เชิงอรรถ : @ กามโภคีบุคคล หมายถึงผู้บริโภคกามคุณ คือ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓, @องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๐๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร

“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง ยังไม่ให้ พวกเจ้าหนี้ ย่อมติดตาม แม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันให้ พวกเจ้าหนี้ย่อมจองจำเขา แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้ความยากจนก็เป็นทุกข์ของ กามโภคีบุคคลในโลก แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การใช้ ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี- บุคคลในโลก แม้การถูกติตตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกจอง จำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก ด้วยประการฉะนี้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรม บุคคลนี้เราก็เรียกว่า เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ในอริยวินัย ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแลผู้เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อไม่มีศรัทธาใน กุศลธรรม เมื่อไม่มีหิริในกุศลธรรม เมื่อไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม เมื่อไม่มีวิริยะ ในกุศลธรรม เมื่อไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติ วจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต เรากล่าวว่าการประพฤติทุจริตเช่นนี้ของเขา เป็นการกู้หนี้ เพราะการปกปิดกายทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่วว่า ‘ขอชน เหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่น อย่ารู้เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ เพราะการปกปิดวจีทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่ว ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร

เพราะการปกปิดมโนทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาชั่วว่า ‘ขอชนเหล่า อื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า “ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้ เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ เรากล่าวว่าการปกปิดทุจริตเป็นเหตุนั้น เป็นการใช้ดอกเบี้ย เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุนี้เป็นผู้ ทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้’ เรากล่าวว่าการถูกว่ากล่าวเช่นนี้ของเขา เป็นการทวงหนี้ บาปอกุศลวิตกที่ประกอบด้วยวิปปฏิสาร(ความร้อนใจ) ย่อมครอบงำบุคคล นั้นผู้ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง เรากล่าวว่าการถูกบาปอกุศลวิตกครอบงำเช่นนี้ของเขา เป็นการถูกติดตาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแล เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นประพฤติ กายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต และประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้วย่อมถูก จองจำในเรือนจำคือนรก หรือในเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเรือนจำอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ร้ายกาจอย่างนี้ เป็นทุกข์ อย่างนี้ และทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม อย่างนี้ เหมือนเรือนจำคือนรก หรือเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย ความยากจน และการกู้หนี้ เราเรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก คนจนเมื่อกู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน เพราะการไม่ใช้คืนนั้น พวกเจ้าหนี้จึงติดตามเขา เขาย่อมเข้าถึงการถูกจองจำ การถูกจองจำนั้นแลเป็นทุกข์ของหมู่ชนผู้ปรารถนากาม ในอริยวินัย ก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร

ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ปรารถนาว่า ‘ชนทั้งหลายอย่ารู้จักเรา’ ผู้นั้นย่อมดิ้นรนพอกพูนบาปกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในที่นั้นๆ บ่อยๆ เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม รู้การทำชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน กู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน ลำดับนั้น ความดำริเกิดแต่วิปปฏิสารก่อทุกข์ทางใจ ย่อมติตตามเขาทั้งในบ้านหรือในป่า เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม รู้การทำชั่วของตนอยู่ ย่อมไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือถูกจองจำในนรก ส่วนนักปราชญ์ผู้ทำจิตให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมพ้นจากการจองจำที่เป็นทุกข์นั้น เขาเป็นผู้ถือชัยชนะในประโยชน์ทั้งสอง ของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า บุญคือการบริจาคของคฤหัสถ์นั้น ย่อมเพิ่มพูน อนึ่ง ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในอริยวินัย มีจิตประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล เราเรียกผู้นั้นแลว่า ‘ผู้มีชีวิตเป็นสุขในอริยวินัย’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร

เขาได้สุขที่ไม่อิงอามิส๑- อุเบกขา๒- ตั้งมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการได้ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลายมีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตน มีสติ รู้ชัดเหตุนั้นตามความเป็นจริง ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง๓- จิตย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะไม่ถือมั่นโดยสิ้นเชิง หากว่าเขามีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เป็นผู้คงที่ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งภวสังโยชน์ มีญาณหยั่งรู้ว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ๔-’ ญาณนั่นแลป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั่นแลเป็นสุขอันยอดเยี่ยม ญาณนั้นไม่มีความโศก ปราศจากธุลี มีความเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้
อิณสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ สุขที่ไม่อิงอามิส หมายถึงสุขในปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗) @ อุเบกขา ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาในจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗) @ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง หมายถึงพระนิพพาน สังโยชน์ทั้งปวง ได้แก่ (๑) กามราคะ @(ความกำหนัดในกาม) (๒) ปฏิฆะ(ความขัดใจ) (๓) มานะ(ความถือตัว) (๔) ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) (๕) วิจิกิจฉา @(ความลังเลสงสัย) (๖) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต) (๗) ภวราคะ(ความติดใจปรารถนาในภพ) @(๘) อิสสา(ความริษยา) (๙) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) (๑๐) อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗, @องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๕-๔๘/๑๔๑) @ หมายถึงมีปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ว่ามัคควิมุตติ หรือผลวิมุตติไม่กำเริบ เพราะไม่มีกิเลสที่ก่อความกำเริบ @คือราคะเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๕-๔๘/๑๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๕๐๗-๕๑๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=296              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=8303&Z=8388                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=316              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=316&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2843              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=316&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2843                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i314-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an06/an06.045.than.html https://suttacentral.net/an6.45/en/sujato https://suttacentral.net/an6.45/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :