ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
๑๖. เอกธัมมบาลี
๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
[๓๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ในชมพูทวีปนี้ สวนอันน่า รื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์มี จำนวนน้อยนัก ส่วนสถานที่ที่เป็นที่ดอน ที่ลุ่ม ที่มีน้ำหลาก ที่มีตอไม้และหนาม ที่มีภูเขาสูงชันลาดต่ำมีจำนวนมากกว่า แม้ฉันใด สัตว์ที่เกิดบนบกมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่เกิดในน้ำมีจำนวนมากกว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล (๑) [๓๒๓] สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไปเกิดใน กำเนิดอื่น๑- นอกจากมนุษย์มีจำนวนมากกว่า สัตว์ที่กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบทมี จำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท ในหมู่ชาวมิลักขะผู้โง่เขลามี จำนวนมากกว่า (๒) @เชิงอรรถ : @ กำเนิดอื่น ในที่นี้หมายถึงอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และอสูรกาย @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๒๓/๔๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๔. จตุตถวรรค

[๓๒๔] สัตว์ที่มีปัญญา๑- ไม่โง่เขลา ไม่เป็นเหมือนคนหนวก คนใบ้ สามารถรู้ เนื้อความแห่งคำสุภาษิตและทุพภาษิตได้มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่มีปัญญา โง่เขลา เป็นเหมือนคนหนวก คนใบ้ ไม่สามารถรู้เนื้อความแห่งคำสุภาษิตและทุพภาษิต ได้มีจำนวนมากกว่า (๓) [๓๒๕] สัตว์ที่ประกอบด้วยปัญญาจักษุอย่างประเสริฐมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่ตกอยู่ในอวิชชา ลุ่มหลงมีจำนวนมากกว่า (๔) [๓๒๖] สัตว์ที่ได้เห็นตถาคต๒- มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่ได้เห็นตถาคตมี จำนวนมากกว่า (๕) [๓๒๗] สัตว์ที่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่ ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้มีจำนวนมากกว่า (๖) [๓๒๘] สัตว์ที่ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ได้มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ฟังธรรมแล้ว ทรงจำไว้ไม่ได้มีจำนวนมากกว่า (๗) [๓๒๙] สัตว์ที่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้มีจำนวนน้อย ส่วน สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้มีจำนวนมากกว่า (๘) [๓๓๐] สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมี จำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม แต่ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีจำนวนมากกว่า (๙) [๓๓๑] สัตว์ที่สลดใจในเหตุอันควรสลดใจมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่สลดใจ ในเหตุอันควรสลดใจมีจำนวนมากกว่า (๑๐) [๓๓๒] สัตว์ที่สลดใจ ทำความเพียรโดยแยบคายมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ สลดใจ ไม่ทำความเพียรโดยแยบคายมีจำนวนมากกว่า (๑๑) @เชิงอรรถ : @ มีปัญญา ในที่นี้หมายถึงมีปัญญา ๕ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตปัญญา (๒) ฌานปัญญา (๓) @วิปัสสนาปัญญา (๔) มัคคปัญญา (๕) ผลปัญญา (องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๒๔/๔๓๔) @ สัตว์ที่ได้เห็นตถาคต ในที่นี้หมายถึงรู้คุณของพระตถาคต ได้เห็นตถาคตด้วยจักขุวิญญาณ @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๒๖/๔๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๔๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๔. จตุตถวรรค

[๓๓๓] สัตว์ที่ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ๑- ได้เอกัคคตาจิต(จิตมี อารมณ์เป็นหนึ่ง)มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เอกัคคตาจิตมีจำนวนมากกว่า (๑๒) [๓๓๔] สัตว์ที่ได้ข้าวอันเลิศและรสอันเลิศมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่ได้ข้าวอัน เลิศและรสอันเลิศยังชีพด้วยการแสวงหาด้วยภัตที่ใส่กระเบื้องมามีจำนวนมากกว่า (๑๓) [๓๓๕] สัตว์ที่ได้อรรถรส๒- ธรรมรส๓- และวิมุตติรส๔- มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่ไม่ได้อรรถรส ธรรมรส และวิมุตติรสมีจำนวนมากกว่า เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้ได้อรรถรส ธรรมรส และวิมุตติรส” เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล (๑๔) [๓๓๖-๓๓๘] ในชมพูทวีปนี้ สวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศ อันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์มีจำนวนน้อยนัก ส่วนสถานที่ที่เป็นที่ดอน ที่ลุ่ม ที่มีน้ำหลาก ที่มีตอไม้และหนาม ที่มีภูเขาสูงชันลาดต่ำมีจำนวนมากกว่า แม้ ฉันใด สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจาก มนุษย์ไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัย (แดน เปรต)มีจำนวนมากกว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล (๑๕-๑๗) [๓๓๙-๓๔๑] สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัย มีจำนวนมากกว่า (๑๘-๒๐) [๓๔๒-๓๔๔] สัตว์ที่จุติจากเทวดากลับมาเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดใน เปรตวิสัยมีจำนวนมากกว่า (๒๑-๒๓) @เชิงอรรถ : @ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงมรรคสมาธิและผลสมาธิ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๓๓/๔๓๕) @ อรรถรส หมายถึงสามัญญผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๓๕/๔๓๖) @ ธรรมรส หมายถึงมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค @(องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๓๕/๔๓๖) @ วิมุตติรส หมายถึงอมตนิพพาน (องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๓๕/๔๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๔๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๔. จตุตถวรรค

[๓๔๕-๓๔๗] สัตว์ที่จุติจากเทวดามาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัย มีจำนวนมากกว่า (๒๔-๒๖) [๓๔๘-๓๕๐] สัตว์ที่จุติจากนรกมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่จุติจากนรกไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัย มีจำนวนมากกว่า (๒๗-๒๙) [๓๕๑-๓๕๓] สัตว์ที่จุติจากนรกไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ ที่จุติจากนรกไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัย มีจำนวนมากกว่า (๓๐-๓๒) [๓๕๔-๓๕๖] สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานมาเกิดในหมู่มนุษย์ มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัยมีจำนวนมากกว่า (๓๓-๓๕) [๓๕๗-๓๕๙] สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวน น้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัยมีจำนวนมากกว่า (๓๖-๓๘) [๓๖๐-๓๖๒] สัตว์ที่จุติจากเปรตวิสัยมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากเปรตวิสัยไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัยมีจำนวนมากกว่า (๓๙-๔๑) [๓๖๓-๓๖๕] สัตว์ที่จุติจากเปรตวิสัยไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากเปรตวิสัยไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในเปรตวิสัยมีจำนวนมากกว่า (๔๒-๔๔)
จตุตถวรรค จบ
(ชัมพุทีปเปยยาล๑- จบ)
@เชิงอรรถ : @ เริ่มตั้งแต่ข้อ ๓๒๒ ถึงข้อ ๓๖๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๔๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๔๒-๔๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=1003&Z=1058                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=205              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=205&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10315              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=205&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10315                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i179-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an1.333-377/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :