ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๑. สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ

๖. สุราปานวรรค
หมวดว่าด้วยการดื่มสุรา
๑. สุราปานสิกขาบท
ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย
เรื่องพระสาคตะ
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกอยู่ในแคว้นเจตีย์ เสด็จ ไปทางหมู่บ้านภัททวดี พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคน เดินทางได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะเลย นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว๑- มีพิษกล้า อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ นาคนั้นอย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อพวกเขากราบทูลเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ ครั้งที่ ๓ พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคนเดินทางก็ได้กราบ ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะ เลย นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ นาคนั้น อย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย” แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงนิ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงหมู่บ้านภัททวดี ประทับ อยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีนั้น @เชิงอรรถ : @ อาสีวิโส มีพิษที่เขี้ยว หรือมีพิษแล่นเร็ว ท่านอธิบายไว้ดังนี้ อาสุ สีฆํ เอตสฺส วิสํ อาคจฺฉตีติ อาสีวิโส @พิษของนาคนั้นย่อมแล่นเร็ว คือด่วน ดังนี้ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษแล่นเร็ว (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๐), อาสีติ @ทาฐา วุจฺจติ, ตตฺถ สนฺนิหิตวิโสติ อาสีวิโส อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อาสิ ท่านหมายถึงเขี้ยว ที่เขี้ยว @นั้นมีพิษฝังอยู่ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษที่เขี้ยว (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๙/๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๑. สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ

ครั้งนั้น ท่านพระสาคตะเดินเข้าไปที่ท่าอัมพติตถะจนถึงอาศรมของชฎิล ครั้นถึงแล้วได้เข้าไปในโรงบูชาไฟ ปูเครื่องลาดหญ้าแล้วจึงนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า พอนาคนั้นเห็นท่านพระสาคตะเข้ามาแล้ว ก็เป็นทุกข์ เสียใจ จึงทำให้ควัน ตลบขึ้น แม้ท่านพระสาคตะก็ทำให้ควันตลบขึ้นบ้าง นาคนั้นทนการลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟสู้ แม้ท่านพระสาคตะก็เข้าเตโชกสิณพ่นไฟสู้บ้าง ทีนั้น ท่านพระสาคตะ ครั้นปราบเดชของนาคนั้นได้แล้ว จึงเดินไปทางหมู่บ้านภัททวดี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีตามพระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีทราบข่าวว่า พระสาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่าอัมพติตถะ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงโกสัมพี ทีนั้น พวก อุบาสกและอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีพากันรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหา ท่านพระสาคตะ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีผู้ ยืนอยู่ ณที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สิ่งที่หาได้ยาก และเป็นที่ชอบใจของพระคุณท่านมีอะไรบ้าง พวกข้าพเจ้าจะจัดเตรียมอะไร ” เมื่ออุบาสกอุบาสิกากล่าวอย่างนี้ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กล่าวกับพวกอุบาสก อุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีดังนี้ว่า “มีอยู่ท่านทั้งหลาย หัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ๑- หายาก เป็นที่ชอบใจของภิกษุทั้งหลาย พวกท่านจงจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะนั้นไว้” @เชิงอรรถ : @ กาโปติกาติ กโปตปาทสมวณฺณรตฺโตภาสา. ปสนฺนาติ สุรามณฺฑสฺเสตํ อธิวจนํ แปลสรุปความได้ว่า @หัวเชื้อสุราที่มีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ (วิ.อ. ๒/๓๒๖/๔๐๔) @คำว่า ปสนฺน หัวเชื้อสุรา ในที่นี้มิได้หมายถึงน้ำใส แต่หมายถึงน้ำหัว (ตสฺสาเยวกิณฺ- @ปกฺขิตฺตาย มณฺเฑ คหิเต เมื่อใส่หัวเชื้อในสุรานั้นแล้ว จนจับตัวเป็นฝา - วิ.อ. ๒/๓๒๘/๔๐๕) รสานํ @สพฺพรสานํ อคฺคมฺหิ รเส มณฺฑสทฺโท มัณฑศัพท์ หมายถึงน้ำที่สุดยอดกว่าน้ำทั้งหมด @(ดู อภิธา. และ อภิธา.ฏีกา คาถา ๔๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๑. สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ

ครั้งนั้น พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ ไว้ทุกครัวเรือน พอเห็นท่านพระสาคตะเดินบิณฑบาตจึงได้กล่าวกับท่านพระสาคตะ ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด” ครั้นท่านพระสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะทุกๆ ครัวเรือนแล้วออกจากเมือง ได้ล้มกลิ้งที่ประตูเมือง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมาพร้อมภิกษุหลายรูป ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสาคตะนอนกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง ครั้นเห็นแล้วจึงรับสั่ง ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพาสาคตะไป” ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ช่วยกันนำท่านพระสาคตะไปที่ อาราม ให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาค แต่ท่านพระสาคตะพลิกกลับนอน หันเท้าไปทางพระผู้มีพระภาค ทีนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ก่อนนี้ สาคตะเคยมีความเคารพยำเกรงตถาคตมิใช่หรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะยังมีความเคารพ ยำเกรงตถาคตอยู่อีกหรือ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่า อัมพติตถะ มิใช่หรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะพอจะต่อสู้แม้กับ งูน้ำได้ละหรือ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “สู้ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ความจำได้หมายรู้ วิปริตไปนั้น ควรจะดื่มหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๑. สุราปานสิกขาบท บทภาชนีย์

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ควรดื่มเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของสาคตะนั้นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนสาคตะจึง ดื่มน้ำเมาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๒๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย
เรื่องพระสาคตะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๘] ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำจากแป้ง สุราที่ทำจากขนม สุราที่ทำ จากข้าวสุก สุราหมักแป้งเชื้อเหล้า สุราที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำหมักดองดอกไม้ น้ำหมักดองผลไม้ น้ำหมักดอง น้ำผึ้ง น้ำหมักดองน้ำอ้อยงบ น้ำหมักดองที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด คำว่า ดื่ม คือ ภิกษุดื่ม โดยที่สุดแม้ดื่มด้วยปลายหญ้าคาแตะ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๑. สุราปานสิกขาบท อนาปัตติวาร

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๓๒๙] ๑. ภิกษุดื่มยาดองที่มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำเมาแต่ไม่ใช่น้ำเมา ๒. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในแกง ๓. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในเนื้อ ๔. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในน้ำมัน ๕. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือน้ำอ้อยดองมะขามป้อม ๖. ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะ๑- ซึ่งไม่ใช่น้ำเมา ๗. ภิกษุวิกลจริต ๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
สุราปานสิกขาบทที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ยาดองอริฏฐะ นั้นดองด้วยน้ำมะขามป้อมเป็นต้น สี กลิ่น และรสคล้ายน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา @(วิ.อ. ๒/๓๒๙/๔๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๖๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๖๒-๔๖๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=87              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=11915&Z=11995                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=575              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=575&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9504              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=575&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9504                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc51/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc51/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :